ในสุนัขหรือแมวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง นอกจากคุณภาพชีวิตจะแย่ลงจากการเกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้นในอวัยวะที่เกี่ยวข้องแล้ว มักพบความเจ็บปวดที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งอีกด้วย มะเร็งมีระยะ M1 ที่สามารถเกิดการแพร่กระจายได้และก่อให้เกิดความรุนแรงจากความเจ็บปวดที่สัมพันธ์กับมะเร็งซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตในช่วงเวลาสุดท้ายของสัตว์ ความเจ็บปวดจากมะเร็งเกิดขึ้นจากการแทรกตัวของเซลล์มะเร็งไปยังเส้นประสาท กระดูก เนื้อเยื่ออ่อน เส้นเอ็น นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากความตึงของพื้นผิวหรือการอุดตันของอวัยวะภายใน โดยสามารถแบ่งความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Nociceptive pain หรือความเจ็บปวดที่เกิดจากการแทรกตัวของก้อนมะเร็งที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนและการอักเสบรอบ ๆ ก้อนมะเร็ง ได้แก่ Somatic pain ที่เกิดจากการเจ็บปวดโดยตรงจากการแทรกตัวของเซลล์มะเร็งไปยังกล้ามเนื้อโครงร่างและเนื้อเยื่ออ่อนหรือเส้นเอ็น ส่วน Visceral pain เกิดจากการแทรกตัวของเซลล์มะเร็ง การกดทับ หรือลักษณะที่ผิดรูปร่างของอวัยวะภายในช่องท้อง ช่องอก หรือช่วงบริเวณกระดูกเชิงกราน 2. Neuropathic pain เป็นความเจ็บปวดที่เกิดจากการแทรกตัวของเซลล์มะเร็งไปยังเส้นประสาทหรือไขสันหลัง
โดยปกติแล้วก้อนมะเร็งสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ทั้ง 2 รูปแบบ ความเจ็บปวดจากมะเร็งส่งผลลบต่อคุณภาพชีวิตสัตว์เช่นเดียวกับการลดความสามารถของการทำงานพื้นฐานในอวัยวะนั้น ๆ รวมไปถึง การ metabolism ภายในเซลล์ และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลง จึงต้องการความร่วมมือของเจ้าของสัตว์ร่วมกับสัตวแพทย์ในการจัดการกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์ โดยสัตวแพทย์จำเป็นต้องสื่อสารกับเจ้าของเพื่อให้เจ้าของช่วยสังเกตและประเมินความเจ็บปวดของสัตว์จากพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น การเปลี่ยนแปลงท่าทางการเดิน การเคลื่อนไหว การดูแลตัวเอง ความอยากอาหาร ความกระหายน้ำ การเลียบริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำ ๆ การส่งเสียงร้องเรียก อัตราการหายใจ การขับถ่ายเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือที่ช่วยในการประเมินความเจ็บปวดของสัตว์ในรูปแบบมาตรฐาน ได้แก่ Visual analogue scale และ Numerical rating scale1 เพื่อช่วยในการแสดงผลระดับความเจ็บปวดของสัตว์ออกมาในรูปคะแนน และสามารถเปรียบเทียบเพื่อดูประกอบการรักษาได้
การจัดการกับความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งสามารถทำได้โดยการจัดการกับก้อนมะเร็งโดยตรงซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจ็บปวด เช่นการผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การใช้รังสีบำบัด และพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์โดยการให้ยาบรรเทาอาการปวดระหว่างรอการจัดการกับก้อนมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรง
การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกเป็นสิ่งที่ควรทำในการจัดการกับสาเหตุของความเจ็บปวดโดยตรงหากสามารถทำได้ โดยก่อนและหลังผ่าตัดควรมีแนวทางการบรรเทาอาการเจ็บปวดอย่างเหมาะสม พบว่าการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกสามารถลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากก้อนมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ลักษณะของก้อนเนื้อ การแพร่กระจายของก้อนเนื้อ ตัวอย่างก้อนเนื้อมะเร็งที่สามารถทำการผ่าตัดได้ ได้แก่มะเร็งในช่องปากสุนัข เช่น Squamous cell carcinoma, ก้อนมะเร็งที่ผิวหนัง เช่น fibrosarcoma, cutaneous mast cell tumor, ก้อนมะเร็งเต้านม, ก้อนมะเร็งที่ตับและม้าม นอกจากนี้ การผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกยังช่วยลดการเกิดความเจ็บปวดจาก paraneoplastic syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากสารที่หลั่งออกมาจากเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย
การใช้รังสีบำบัดมักใช้เพื่อการรักษาก้อนมะเร็งที่มักเห็นผลในการรักษาและเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ได้แก่ เนื้องอกในโพรงจมูก เช่น carcinoma, sarcoma, lymphoma เนื้องอกภายในช่องปาก เช่น ameloblastoma, squamous cell carcinoma แต่อาจเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น oral mucositis, acute moist dermatitis, colitis, conjunctivitis เป็นต้น โดยอาการเหลานี้สามารถบรรเทาความเจ็บปวดได้เบื้องต้นโดยการใช้ยาในกลุ่ม NSAID หรือการใช้ยาในกลุ่ม Opioid
การใช้เคมีบำบัดมักใช้เพื่อรักษาก้อนมะเร็งที่เห็นผลได้ชัดเจนในการรักษาหรือมะเร็งชนิดที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้ เช่น lymphoma หรือใช้ในกรณีที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกทั้งหมดได้ นอกจากนี้การใช้เคมีบำบัดยังเป็นที่นิยมในกรณี Transitional cell carcinoma อีกด้วย
การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดการกับความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดการกับก้อนมะเร็งโดยตรงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ควรพิจารณา โดยยาที่ใช้เป็นหลักได้แก่ กลุ่มยา NSAID และ Opioid
NSAID (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) มักถูกใช้เป็นหลักในการจัดการกับความเจ็บปวดทั่วไปโดยมีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการเกิด Prostaglandins และ Leukotrienes จาก Arachidonic acid โดยเอนไซม์ COX จึงมักใช้เป็นหลักเพื่อลดการเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดไข้ในแมว และมีความสำคัญในการใช้เพื่อควบคุมบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังจากผ่าตัด นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถใช้จัดการกับภาวะเจ็บปวดเรื้อรังได้โดยมีการใช้อย่างเหมาะสม การให้ปริมาณยาที่เหมาะสม และคอยติดตามอาการของสัตว์อย่างต่อเนื่อง การใช้ยา NSAID มักให้ผลตอบสนองดีในกรณีความเจ็บปวดปานกลางจนถึงมากจากการแพร่กระจายไปยังกระดูก การกดทับของกล้ามเนื้อและกระดูก หรือขยายตัวตึงของเยื่อบุช่องอกและช่องท้อง ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Meloxicam โดยปริมาณที่ให้อยู่ที่ 0.3 mg/kg ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรืออาจให้ในปริมาณ 0.1 mg/kg ทางการกินในวันแรก แล้วปรับเป็น 0.05 mg/kg วันละครั้งในวันถัดไป ข้อควรระวังในการใช้ยาคือ ในระหว่างการให้ยา meloxicam ไม่ควรให้พร้อมกับยาในกลุ่ม steroid ยาที่ส่งผลเสียต่อตับและไต นอกจากนี้ควรระวังการใช้พร้อมกับยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด Digoxin Fluconazole และ Phenobarbital นอกจากนี้ยังมี Carprofen ซึ่งมักใช้ในสุนัขมากกว่าแมว ปริมาณที่แนะนำอยู่ที่ 4 mg/kg วันละครั้ง โดยการใช้ยาในกลุ่มนี้ต้องระมัดระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น สามารถทำได้โดยการตรวจดูการทำงานของตับ ไต และค่าทางโลหิตวิทยาต่าง ๆ เช่น BUN Creatinine ALT ALP CBC เป็นต้นเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของค่าตับและค่าไตที่อาจเกิดขึ้นเพื่อช่วยพิจารณาปรับการใช้ยาให้เหมาะสม หรืออาจดูอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น มีการถ่ายเป็นเลือด การอาเจียน อ่อนแรง ไม่อยากอาหารร่วมด้วยเป็นต้น เนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ NSAID คือพิษต่อตับและไต
Opioid เป็นกลุ่มยาที่ใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางไปถึงรุนแรง โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือตัวยาจะไปจับกับ Opioid receptors ที่อยู่ใกล้กับระบบประสาท Peripheral และ Central ลดการส่งสารกระตุ้นระบบประสาท เกิดการอัมพาตที่จุดส่งกระแสประสาท และยับยั้งการเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น ยาที่ใช้ ได้แก่ Buprenorphine ปริมาณยาที่ควรได้รับอยู่ที่ 0.01-0.03 mg/kg ทุก 6-8 ชั่วโมง ในรูปแบบยาฉีด (ความเข้มข้นอยู่ที่ 0.3 mg/ml) อาจให้ทางใต้ผิวหนัง เข้ากล้าม หรือเข้าทางเส้นเลือด หรืออาจให้ทางการกิน ซึ่งเหมาะกับการจัดการกับภาวะเจ็บปวดเรื้อรัง โดยคุณสมบัติที่ดีของการให้ยาผ่านทางการกินคือไม่ทำให้น้ำลายไหลเยิ้มและมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดในระดับอ่อนจนถึงกลางได้เป็นอย่างดี ข้อควรระวังในการให้ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ อาจพบอาการเบื่ออาหาร ง่วงซึม ม่านตาขยาย อาเจียนได้เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. Holton LL, Scott EM, Nolan AM, et al. Comparison of three methods used for assessment of pain in dogs. J Am Vet Med Assoc 1998;212(1):61-6.
2. Fan M. T., 2005. Treating cancer pain in dogs and cats. [online]. Available : https://www.dvm360.com/view/treating-cancer-pain-dogs-and-cats. Accessed date : 2 October 2023
3. Fan M. T., 2014. Pain management in veterinary patients with cancer. Vet clin anim. 44(2014): 989-1001