แนวทางการดูแลสัตว์ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมที่สัตวแพทย์ควรรู้
โรคลิ้นหัวใจเสื่อม (degenerative mitral valve disease; DMVD) คือหนึ่งในชนิดของโรคหัวใจที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัข โดยเฉพาะในสุนัขสายพันธุ์เล็ก เช่น Cavalier King Charles Spaniels, Dachshunds, Miniature หรือสุนัขในกลุ่ม Toy Poodles โดยมักพบในสุนัขที่มีอายุมาก ซึ่งหากตรวจวินิจฉัยพบว่าสุนัขป่วยด้วยโรคหัวใจชนิดนี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา และการดูแลตลอดชีวิต การให้ความรู้ ความเข้าใจกับเจ้าของจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการรักษาจะไม่สามารถสำเร็จได้โดยปราศจากความร่วมมือของเจ้าของ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความเข้าใจแนวทางการดูแลสัตว์ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อม โดยสรุปสาระสำคัญส่วนหนึ่งจาก ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs ปี 2019 เพื่อสามารถแนะนำ และให้ความรู้กับเจ้าของได้อย่างถูกวิธี
1. การให้ยา : การรักษาโรคลิ้นหัวใจเสื่อม จำเป็นต้องให้ยาที่สอดคล้องกับความผิดปกติ และอาการที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่ควรเน้นย้ำกับเจ้าของ คือการให้ยาต้องตรงตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ห้ามหยุดยา หรือปรับขนาดยาด้วยตนเอง เพราะอาจเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติอื่น ๆ ตามมา เช่น ไม่สามารถชะลอความเสื่อมของหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติเมื่อให้ยา pimobendan มากเกินขนาด (overdose) เป็นต้น โดยการให้ยาจะเริ่มต้นเมื่อสัตว์เข้าสู่ stage B2 (มีข้อบ่งชี้ถึงโครงสร้างหัวใจที่ผิดปกติ แต่ไม่มีการแสดงอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว) จนถึง stage D (ระยะท้ายของโรคหัวใจที่มีการดื้อต่อยาที่ใช้ในการรักษา) สามารถแบ่งกลุ่มยาที่มีความสำคัญต่อการรักษาโรคลิ้นหัวใจเสื่อมออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
- a. ยาที่มีฤทธิ์ในการลด preload เช่น ยาขับปัสสาวะ (diuretics) เพื่อช่วยลดการสะสมของของเหลวภายในร่างกาย และยาขยายหลอดเลือด (venodilators) ที่มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด vein เป็นต้น
- b. ยาที่มีฤทธิ์ในการลด afterload เช่น ยาในกลุ่ม vasodilators, ยาในกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEi), ยาในกลุ่ม calcium channel blockers หรือยาในกลุ่ม pulmonary vasodilators เป็นต้น
- c. ยาที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ เช่น pimobendan ซึ่งออกฤทธิ์ในการกระตุ้นการบีบตัวของหัวใจให้ดีขึ้น โดยแนะนำให้เริ่มต้นการให้ยาตั้งแต่สัตว์อยู่ใน stage B2 ในขนาดยา 0.25-0.3 mg/kg ผ่านทางการกิน โดยแนะนำให้กินก่อนอาหารเพื่อลดโอกาสการรบกวนการดูดซึมของตัวยาจากอาหาร ให้ทุก 12 ชั่วโมง โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
2. การให้อาหาร : คำแนะนำในการปรับอาหารสามารถให้ได้ตั้งแต่สัตว์อยู่ใน stage B2 โดยปรับอาหารเป็นสูตรที่มีการควบคุมปริมาณโซเดียม มีปริมาณโปรตีน และพลังงานมากเพียงพอต่อความต้องการเพื่อช่วยให้สัตว์คงสภาพร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ ทั้งนี้การให้คำแนะนำเรื่องอาหารจะเน้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อโรคหัวใจมีการพัฒนาเข้าสู่ stage C เนื่องจากเป็นระยะที่ร่างกายมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลว (cardiac cachexia) โดยจุดมุ่งหมายของการให้อาหารคือการคงสภาพ body condition score (BCS) และ muscle condition score (MCS) ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คงระดับ maintain calorie intake ให้อยู่ที่ประมาณ 60 kcal/kg BW โดยอาจมีการเสริมสารอาหารบางชนิด เพื่อบำรุงหัวใจให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น ทอรีน โอเมก้า 3 โพแทสเซียม แมกนีเซียม วิตามินบี คาร์นิทีน หรือโคเอนไซม์คิวเท็น เป็นต้น
3. การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายควรระมัดระวังโดยเฉพาะในสัตว์ที่แสดงอาการหัวใจล้มเหลว เพราะหัวใจไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สัตว์แสดงอาการเหนื่อยง่าย และไม่ทนต่อการออกกำลังกาย (exercise intolerance) การฝืนออกกำลังกายหนักเกินไปอาจเป็นเหตุให้สัตว์เป็นลมหมดสติ และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ควรแนะนำให้เจ้าของสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด และออกกำลังกายในรูปแบบที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดินเป็นระยะทางสั้น ๆ เป็นต้น
สิ่งสำคัญของการรักษาสัตว์ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อม คือ การให้ยาที่ถูกต้องตามสภาพร่างกาย และอาการของสัตว์ ตลอดจนการเข้ารับการตรวจประเมินอย่างเหมาะสม การให้ความรู้กับเจ้าของจึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ละเลยไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารอย่างเหมาะสม เลือกระดับภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เจ้าของสามารถรับสารได้อย่างครบถ้วน เพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงของตนได้อย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง
1. Atkins, C., Bonagura, J., Ettinger, S., Fox, P., Gordon, S., Haggstrom, J., Hamlin, R., Keene, B., Luis-Fuentes,V. and Stepien, R. 2009. Guidelines for the diagnosis and treatment of canine chronic valvular heart disease. J. Vet. Intern. Med. 23:1142-1150.
2. Bruce W. Keene., Clarke E. Atkins., John D. Bonagura., Philip R. Fox., Jen Haggstrom., Virginia Luis Fuentes., Mark A Oyama., John E. Rush., Rebecca S and Masami U. 2019. ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs. J. Vet. Intern. Med. 33:1127-1140.