ปรสิตภายนอก เป็นอีกสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคผิวหนังในสุนัข โรคเรื้อนเป็นโรคผิวหนังจากปรสิตภายนอก คือไร (mite) หรือที่เราเรียกกันว่า ไรขี้เรื้อน ไรขี้เรื้อนที่พบได้ในสุนัขมี 2 ชนิด ได้แก่ ไรขี้เรื้อนแห้ง และไรขี้เรื้อนเปียก
ไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptes spp.) มักอาศัยในผิวหนังชั้น stratum corneum โดยเฉพาะบริเวณขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลังด้านนอก จึงทำให้สุนัขมีอาการคันอย่างรุนแรง บางรายอาจเกิดผิวหนังอักเสบ ขนร่วง ตุ่มแดง สะเก็ดรังแค (scale) คราบสะเก็ดแห้ง (crust) หรือเกิดลักษณะผิวแห้งหนา (lichenification) ร่วมด้วย
ส่วนไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex spp.) หรือไรขี้เรื้อนขุมขน เกิดจากการเจริญเพิ่มจำนวนของตัวไรขี้ ที่อาศัยอยู่ในรูขุมขน ๆ บริเวณใบหน้า หัว รอบตา ลำตัว ขา ฝ่าเท้า และอุ้งเท้า เมื่อภูมิคุ้มกันของสุนัขผิดปกติ จะทำให้ไรชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลให้สุนัขขนร่วง มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ แผลหลุม แผลโพรงทะลุ มีกลิ่นตัว (กลิ่นคาวปลาเค็ม) และรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ตามมา
การรักษาโรคไรขี้เรื้อนแห้งมีหลายวิธี ขึ้นกับตัวสัตว์และงบประมาณของเจ้าของ อาจฉีดยา Ivermectin การหยดหลังด้วย Selamectin หรือ Moxidectin หรือป้อนยาในกลุ่ม Isoxazolines ส่วนโรคขี้เรื้อนเปียก อาจรักษาโดยการ ฉีดยา Ivermectin อาบน้ำด้วยแชมพูมีส่วนผสมของ benzoyl peroxide หรือ chlorhexidine การพ่นหรือทายา Amitraz ซึ่งยาอาจมีผลข้างเคียง และมีข้อควรระวังในสุนัขแต่ละตัวแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะตรวจได้ผลลบต่อการขูดตรวจผิวหนังติดกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน และควรให้ยาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ รวมถึงเฝ้าระวังว่ามีการกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีกหรือไม่ในระยะเวลา 1 ปี หากไม่พบจึงจะถือว่าได้สุนัขนั้นหายจากโรคไรขี้เรื้อนนั้นแล้ว สาเหตุที่โรคไรขี้เรื้อนนั้นสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกแม้ว่าจะรักษาหายแล้ว จากหลายปัจจัย เช่น การกลับไปสัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขตัวอื่นทีมีไรขี้เรื้อน การมีปัญหาสุขภาพที่โน้มนำให้ง่ายต่อการเจริญของตัวไร หรือแม้กระทั่งความสามารถและความร่วมมือในการจัดการโรคของเจ้าของสัตว์เอง ดังนั้นสัตวแพทย์ควรวางแผนและให้คำแนะนำแก่เจ้าของในการรักษาและป้องกันโรคไรขี้เรื้อนอย่างละเอียด
จะเห็นว่าการรักษาไรขี้เรื้อน ต้องใช้เวลาในการรักษาร่วมกับการติดตามผลเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน กว่าที่สุนัขหายจากการติดเชื้อ ทางที่ดีที่สุดจึงแนะนำให้ป้องกันปรสิตภายนอกอย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันมียากลุ่ม Isoxazolines มีประสิทธิภาพทั้งในการกำจัดปรสิตภายนอก ได้แก่ เห็บ หมัด ไรในหู ไรขี้เรื้อนแห้ง ไรขี้เรื้อนเปียก โดยมีอยู่ 3 ตัวยา ได้แก่ Afoxolaner, Fluralaner และ Sarolaner ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึง Afoxolaner ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและที่ peripheral neuromuscular sites ของแมลงและปรสิตพวกสัตว์ขาปล้อง และยับยั้งตัวรับของสารสื่อประสาทคือ gamma-aminobutyric acid (GABA) ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทของปรสิต ทำให้อัมพาตแบบหดเกร็ง (spastic paralysis) และตายในที่สุด โดยพบว่ายากลุ่มนี้จะจับกับตัวรับของแมลงได้ดี มากกว่าตัวรับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทำให้เป็นพิษกับแมลง แต่ปลอดภัยกับสุนัข
Afoxolaner เป็นยาในกลุ่ม กลุ่ม Isoxazolines ที่ได้รับการรับรองจาก FDA ในการต้านปรสิตภายนอกของสุนัข ได้แก่ เห็บ Dermacentor variabilis (American dog tick) Ixodes scapularis (Black – legged tick) Amblyomma americanum (Lone star tick) และ R. sanguineus ต้านหมัด C. felis ในยุโรปมีข้อบ่งใช้ในการต้าน R. sanguineus, D. reticulatus และ I. ricinus ต้านหมัด C. felis และ C. canis แต่นอกจากเห็บหมัดแล้ว Afoxolaner ยังได้รับการรับรองให้ใช้ในการป้องกันและรักษาไรขี้เรื้อนทั้งไรขี้เรื้อนแห้ง (Sarcoptes scabiei) และไรขี้เรื้อนเปียก (Demodex canis)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายงานการศึกษาประสิทธิภาพในการใช้ Afoxolaner เดือนละครั้ง เพื่อรักษาสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อนเปียก (generalized demodicosis) (Lebon et al., 208) พบว่าจำนวนไรลดลง 87.6%, 96.5% และ 98.1% ในวันที่ 28, 56 และ 84 ตามลำดับ อีกทั้งอาการและรอยโรคจากไรขี้เรื้อนเปียกยังลดลงแต่ละเดือนอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้ยานี้ในการรักษา scabies ในสุนัขที่ให้ประสิทธิภาพดีด้วยเช่นกัน
Afoxolaner ยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับสัตว์ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกัน เช่น สุนัขที่มีปัญหา immune mediated diseases สุนัขที่เป็นเนื้องอกต้องได้รับยาเคมีบำบัด หรือสุนัขที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ที่ต้องได้รับยารักษาอาการคันในกลุ่ม Immune modulator เนื่องจากอาจไม่จำเป็นต้องหยุดใช้ยากดภูมิคุ้มกันในขณะรักษาโรคไรขี้เรื้อน อีกทั้งยังพบว่ายา Afoxolaner ช่วยในการป้องกันโรคไรขี้เรื้อนเปียกในลูกสุนัข เพราะสามารถเริ่มให้ในสุนัขได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กก.นอกจากนี้การป้องกันปรสิตอย่างต่อเนื่องในสุนัขก่อนผสมพันธุ์ ยังช่วยป้องกันการเกิด Juvenile demodicosis ในสุนัขสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงอีกด้วย ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยากลุ่ม Isoxazolines ในสุนัขท้องหรือให้นมลูก แต่มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาไม่มีผลต่อการตั้งท้องและการพัฒนาของตัวอ่อนในท้อง นอกจากนี้มีรายงานผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (พบน้อยกว่าร้อยละ 5) เช่น อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนแรง และควรระวังการใช้ในสัตว์ที่มีโรคลมชัก
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบปรสิตภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเห็บ หมัด ไรขี้เรื้อนแห้ง ไรขี้เรื้อนเปียก หรือไรในหู สิ่งสำคัญคือการจัดการกับตัวปรสิต ทั้งปรสิตบนตัวสัตว์ และปรสิตในสิ่งแวดล้อม รักษาอาการคัน และการติดเชื้อแทรกซ้อน และที่สำคัญสัตวแพทย์ยังควรแนะนำให้เจ้าของป้องกันปรสิตเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์ปลอดภัยจากปรสิต
เอกสารอ้างอิง
Beugnet, F. et al., 2016. Efficacy of oral afoxolaner for the treatment of canine generalized demodecosis. Parasite (23), 14. Available online at: www.parasite - journal.org
Lebon et al.. 2018. Efficacy of two formulation of afoxalaner (NexGard and NexGard Spectra) for the treatment of generalised demodicosis in dog, in veterinary dermatology referral centers in Europe. BMC Veterinary Research. Available online at: https://parasitesandvectors.biomedcentral.com/articles/10.1186/s13071-018-3083-2
Mueller, Ralf & Rosenkrantz, Wayne & Bensignor, Emmanuel &Karaś‐Tęcza, Joanna & Paterson, Tara & Shipstone, Michael. (2020).Diagnosis and treatment of demodicosis in dogs and cats. Veterinary Dermatology. 31. 5-27. 10.1111/vde.12806.