ประวัติศาสตร์การริเริ่มเลี้ยงแมวสามารถย้อนไปได้ไกลถึง 12,000 ปีก่อน บ่งบอกได้ว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงเก่าแก่ของมนุษย์มาช้านาน ไม่ว่ายุคสมัยไหนสังคมมนุษย์ก็ไม่เคยขาดแมว และในปัจจุบันที่พื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์มีจำกัด ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มเลี้ยงแมวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นสัตว์ขนาดเล็ก สามารถเลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลิน คลายเหงา หลายครัวเรือนที่ไม่ต้องการมีทายาทเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต ก็หันมาเลี้ยงแมวแทนและดูแลอย่างดีเหมือนลูกแท้ ๆ คนหนึ่ง ความใกล้ชิดที่มากขึ้นระหว่างแมวกับสังคมมนุษย์ทำให้มนุษย์มีการสังเกต ค้นคว้าเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับแมวมากขึ้น เช่น สายพันธุ์ พฤติกรรม อาหาร รูปแบบที่อยู่อาศัย และที่สำคัญคือเรื่องโรคภัยไข้เจ็บในแมว โรคในแมวมีทั้งโรคไม่ติดเชื้อและโรคติดเชื้อ ซึ่งในส่วนของโรคติดเชื้อนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ปรสิตภายนอก และปรสิตภายใน
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโรคติดเชื้อในแมวโดยเน้นโรคที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสรวมไปถึงการป้องกัน เนื่องจากเชื้อไวรัสเป็นจุลชีพก่อโรคสำคัญที่พบได้บ่อยในแมว และบางชนิดก็ก่อโรคอันตรายร้ายแรงที่ติดต่อสู่คนได้ เพื่อให้ผู้อ่านและทาสแมวทุกท่านสามารถให้คำแนะนำผู้เลี้ยงคนอื่น ๆ และวางแผนดูแลเหล่าเจ้านายสี่ขาให้ปลอดภัยจากไวรัสวายร้ายเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม

1. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

มีสาเหตุมาจากเชื้อ Rabies virus ซึ่งอยู่ใน family Rhabdoviridae แม้ชื่อไทยของโรคจะระบุว่าเป็นสุนัข แต่ในความเป็นจริงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ เช่น แมว กระต่าย โค กระบือ ม้า เสือ กวาง แรคคูน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสัตว์เลี้ยงจะพบจำนวนสุนัขป่วยมากกว่าแมว แมวสามารถติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าผ่านทางน้ำลายของสัตว์มีเชื้อซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลจากการถูกกัด กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ หรือหายใจเอาเชื้อเข้าไปขณะอยู่ในสถานที่ที่มีสัตว์เป็นแหล่งรังโรค เช่น ถ้ำค้างคาว เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวค่อนข้างกว้างตั้งแต่หน่วยอาทิตย์ไปจนถึงหลายเดือน หรืออาจเป็นปี โดยจะเพิ่มจำนวนในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกกัด แล้วเคลื่อนตัวไปตามเส้นประสาทเข้าไปอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง จากนั้นก็จะแพร่เชื้อไปสะสมอยู่ที่โครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งหลัก ๆ ได้แก่ ต่อมน้ำลาย แมวที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป พบได้ 2 แบบ ได้แก่ มีความดุร้ายมากขึ้น ซึ่งพบได้ได้บ่อยในแมวส่วนใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ กับอีกแบบหนึ่ง คือ ซึม หวาดกลัว หลบซ่อนตัว เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น แมวจะมีอาการตาเข คางตก ไม่สามารถขยับหนวดได้ กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน ชัก กล้ามเนื้อกระตุก เป็นอัมพาตและเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้ด้วยการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้า หรือตรวจหาเชื้อไวรัสหลังแมวป่วยเสียชีวิตโดยส่งตัวอย่างสมองไปตรวจยืนยันด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคมีความอันตรายสูงเพราะเมื่อสัตว์ป่วยติดเชื้อและแสดงอาการออกมาแล้วจะไม่มีวิธีรักษา ในส่วนของแมวมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายใน 3-4 วันหลัง ทั้งยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อสู่คนได้ผ่านการถูกกัดโดยสัตว์ที่มีเชื้อ และผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิต 100% จึงนับว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ทางสาธารณสุขทั้งคนและสัตว์ในประเทศที่ยังไม่ปลอดโรคนี้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย

2. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว (Feline Leukemia)

โรคมะเร็งเลือดขาวในแมวหรือที่เรียกว่า โรคลิวคีเมียในแมว เกิดจาก Feline leukemia virus (FeLV) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม retrovirus ที่สามารถเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตนเองจาก RNA เป็น DNA ได้หลังเข้าสู่ตัวโฮสต์ เป็นโรคที่ไม่มีการติดต่อมาสู่คน แมวทุกช่วงอายุสามารถติดเชื้อ FeLV ได้ แต่ในลูกแมวมักมีแนวโน้มอาการรุนแรงกว่าแมวโต แมวที่มีเชื้อสามารถขับเชื้อออกมาในสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะ และน้ำนม เป็นต้น แต่จะมีปริมาณที่สุดในน้ำลาย ด้วยเหตุนี้แมวจึงมักติดเชื้อผ่านการเลียขนให้กัน อยู่ใกล้ชิดกัน ส่วนในลูกแมวก็ได้รับเชื้อโดยตรงจากแม่แมว เมื่อเชื้อ FeLV เข้าสู่ร่างกายแมวแล้วจะมีรูปแบบการติดเชื้อดังนี้
1. Progressive infection เชื้อไวรัสจะเริ่มแบ่งตัวที่ต่อมทอนซิล จากนั้นก็จะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านเม็ดเลือดขาวชนิด lymphocyte กับ monocyte เรียกการติดเชื้อในช่วงนี้ว่า primary viremia ในช่วงนี้เชื้อจะมีการแพร่เข้าไปในไขกระดูก ส่งผลให้เกล็ดเลือดกับเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ติดเชื้อไปด้วยและเกิด secondary viremia ตามมา ภูมิคุ้มกันของแมวในสถานะนี้ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สามารถต่อต้านหรือควบคุมปริมาณเชื้อไวรัสได้จึงสามารถตรวจเจอแอนติเจนของเชื้อในเลือด และแมวยังขับเชื้อออกมาได้ในปริมาณมากซึ่งมีความเสี่ยงติดต่อไปยังแมวตัวอื่น ๆ ในกรณีที่เจ้าของเลี้ยงแมวหลายตัวรวมกัน นอกจากนี้แมวที่ป่วยในรูปแบบนี้อาจเกิดโรคอื่น ๆ ทีเกี่ยวข้องกับ FeLV ร่วมด้วยได้ เรียกว่า FeLV-associated disease เช่น lymphoma และ bone marrow suppression เป็นต้น
2. Regressive infection แมวที่ติดเชื้อในรูปแบบนี้ผ่านการเกิด primary viremia มาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถคุมการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามต่อเข้าไปในไขกระดูก โดยปกติอาการจะสงบ ตรวจไม่พบแอนติเจนในเลือดและไม่มีการขับเชื้อออกมา แต่ถ้าแมวตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดหรืออยู่ในสถานะติดเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วยจนภูมิคุ้มกันตก เชื้อ FeLV ก็สามารถทำให้อาการต่าง ๆ กำเริบขึ้นมาอีกครั้งได้ทุกเมื่อ
3. Abortive infection เป็นรูปแบบที่ภูมิคุ้มกันของแมวแข็งแรงเพียงพอจะควบคุมปริมาณเชื้อไวรัส แมวติดเชื้อที่อยู่ในรูปแบบนี้จะไม่มีการขับเชื้อ ตรวจไม่พบแอนติเจนหรือ proviral DNA แต่ยังตรวจเจอแอนติบอดีได้
แมวที่ติดเชื้อ FeLV ยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย สิ่งที่ผู้เลี้ยงทำได้คือดูแลคุณภาพชีวิตแมวให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสม มีความเครียดต่ำเพื่อคงประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน พาไปรักษาตามอาการกับสัตวแพทย์ และให้สัตวแพทย์ตรวจสุขภาพแมวประจำปีเพื่อประเมินสถานะการติดเชื้อว่าอยู่ในช่วง progressive หรือ regressive ซึ่งเบื้องต้นทำได้ด้วยชุดตรวจแอนติเจนเชื้อ FeLV และวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันได้ด้วยวิธี PCR, RT-PCR หรือ ELISA และในกรณีที่ผู้เลี้ยงอุปการะแมวมาใหม่ ช่วงแรกควรแยกเลี้ยงจากแมวฝูงเดิมในบ้านเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อระหว่างแมวด้วยกัน พาไปพบสัตวแพทย์ตรวจหาเชื้อ FeLV ยืนยันผลลบเป็นที่แน่ชัดเมื่อใดค่อยปล่อยเข้าไปอยู่รวมกัน

3. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (Feline Immunodeficiency)

มีอีกชื่อเรียกว่า โรคเอดส์ในแมว เกิดจากเชื้อ Feline immunodeficiency virus (FIV) ที่อยู่ในกลุ่ม retrovirus เช่นเดียวกับเชื้อ FeLV แต่ต่าง genus กัน ช่วงแรกที่แมวได้รับเชื้อจะอยู่ใน acute phase อาจมีไข้ชั่วคราว ต่อมน้ำเหลืองบวม มีอาการเบื่ออาหาร เมื่อเวลาผ่านไปจะเข้าสู่ asymptomatic phase แมวจะไม่แสดงอาการทางคลินิก แต่สามารถขับเชื้อออกมากับน้ำลายได้ เชื้อ FIV จะทำให้เม็ดเลือดขาว T-lymphocyte ชนิด CD4+ (helper T-cell) กับชนิด CD8+ (cytotoxic T-cell) มีจำนวนลดลง ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อจุลชีพแทรกซ้อนชนิดอื่น ๆ ตามมา เนื่องจากแมวที่ป่วยโรคนี้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจึงทำให้แสดงอาการทางคลินิกได้หลากหลายรูปแบบไม่จำเพาะ โดยมักพบการติดเชื้อในช่องปากไม่ว่าจะเป็นเหงือกอักเสบ (gingivitis) ปริทันต์อักเสบ (periodontitis) และแผลหลุมบริเวณกระพุ้งแก้มกับเพดานปาก (stomatitis) อาการผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย รา หรือโปรโตซัว และอาจพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนด้วย การวินิจฉัยเชื้อ FIV สามารถคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยชุดตรวจหาแอนติบอดี และทำการวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันได้อย่างแม่นยำด้วยวิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น PCR หรือ ELISA เป็นต้น เชื้อ FIV ไม่มีรายงานการติดต่อสู่คน จำเพาะต่อแมวบ้านและสัตว์ในตระกูลแมว ในส่วนของแมวบ้านจะติดผ่านเลือดกับน้ำลายเป็นซึ่งมักเกิดจากการทะเลาะกัดกับแมวที่มีเชื้อ เป็นสถานการณ์พบได้บ่อยในแมวเพศผู้เนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าวหวงถิ่นและชอบออกไปเตร็ดเตร่ข้างนอก ดังนั้นแมวที่ถูกเลี้ยงแบบระบบเปิด สามารถออกไปพบเจอแมวจรตัวอื่น ๆ ก็มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้รับเชื้อ FIV เมื่อเทียบกับแมวที่ถูกเลี้ยงในระบบปิด ปัจจุบันโรคเอดส์แมวยังไม่มีวิธีรักษาให้หาย โดยทั่วไปจะเน้นรักษาอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงในการดูแลแมวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และควรพาไปทำหมันทั้งแมวเพศเมียและโดยเฉพาะเพศผู้เพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าวและนิสัยชอบออกไปนอกบ้าน

4. โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (Feline Infectious Peritonitis; FIP)

FIP เป็นหนึ่งในโรคจากไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว ก่อโรคโดยเชื้อ Feline coronavirus (FCoV) ซึ่งอยู่ใน family Coronaviridae เช่นเดียวกันกับโคโรนาไวรัสที่ก่อโรค COVID-2019 แต่ต่างกันตรงที่ FCoV ไม่ติดต่อสู่คนและอยู่ใน genus Alphacoronavirus ส่วนไวรัสโควิดนั้นอยู่ใน genus Betacoronavirus โรค FIP มักพบในแมวที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะแมวที่ถูกเลี้ยงไว้รวมกันอย่างแออัด เช่น บ้านที่มีแมวหลายตัว สถานพักพิงสัตว์ เป็นต้น และในแมวที่มีความเครียดสูง มีเชื้อ FeLV หรือ FIV เป็นทุนเดิมก็มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ FCoV เช่นกัน แมวที่มีเชื้อสามารถขับเชื้อออกมากับอุจจาระ เชื้อจึงติดต่อไปสู่แมวตัวอื่นในฝูงได้ง่ายผ่านการใช้ชามอาหาร ชามน้ำ และกระบะทรายร่วมกัน แมวที่เป็น FIP มีทั้งที่แสดงอาการชัดเจนและไม่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของรายที่แสดงอาการนั้นก็พบได้หลายระบบ ไม่ค่อยจำเพาะต่อโรค แต่ก็จะมีอาการเด่น ๆ ที่สังเกตเห็นแล้วสามารถสันนิษฐานว่ามีแนวโน้มเป็นได้ ได้แก่ ท้องมาน (ascites) เนื่องจากมีของเหลวในช่องท้อง (abdominal effusion) และอาจพบของเหลวในช่องอกด้วย (thoracic effusion) แต่ในขณะเดียวกันก็มีแมวป่วย FIP หลายตัวที่ไม่พบของเหลวในส่วนต่าง ๆ ตามที่กล่าว และอาจพบเป็นรอยโรค pyogranulomatous แทน ส่วนอาการทางคลินิกอื่น ๆ ที่พบได้นั้น ยกตัวอย่างเช่น อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร อ่อนแรง น้ำหนักลด ผิวหนังอักเสบ ม่านตาอักเสบ อาการทางระบบประสาท เป็นต้น การวินิจฉัยโรค FIP เบื้องต้นสามารถทำได้ในห้องตรวจด้วยการสังเกตอาการ ในกรณีที่แมวป่วยมีของเหลวคั่งอาจพาไป X-ray หรือตรวจด้วย ultrasound ทำการเก็บตัวอย่างของเหลวไปย้อมดูองค์ประกอบใต้กล้องจุลทรรศน์ นำไปทำการทดสอบที่เรียกว่า Rivalta test แต่สุดท้ายจะวินิจฉัยยืนยันได้อย่างแม่นยำนั้นต้องใช้วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย การรักษาแมวที่เป็น FIP นั้นทำได้ยากเนื่องจากไม่มียาจำเพาะต่อการรักษา ทำได้เพียงรักษาแบบพยุงอาการ หากแมวแสดงอาการไม่มากก็อาจอยู่ได้เป็นเดือน ๆ แต่หลังจากนั้นอาจทรุดลงเรื่อย ๆ และเสียชีวิต ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้แมวสัมผัสเชื้อ FCoV ตั้งแต่แรก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือผู้เลี้ยงควรดูแลแมวอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่เลี้ยงแมวรวมกันเป็นจำนวนมากเกินไปหรืออยู่ในสถานที่แออัดที่เสี่ยงทำให้แมวเกิดความเครียดได้ง่าย

5. โรคไข้หัดแมว (Feline Distemper)

โรคไข้หัดแมวมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โรคลำไส้อักเสบติดต่อในแมว (Feline infectious enteritis) และโรคเม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำในแมว (Feline panleukopenia) เป็นต้น มีสาเหตุมาจากเชื้อ Feline parvovirus (FPV) ซึ่งมีสารพันธุกรรมเป็น DNA สายเดี่ยว คล้ายกับเชื้อ parvovirus ที่พบในสุนัข แมวติดเชื้อนี้ได้จากการแพร่โดยตรงระหว่างแมวด้วยกัน และจากการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพราะตัวเชื้อมีความทนทานสูง จึงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานานหลายเดือนจนถึงหลายปี เชื้อ FPV จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่เซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กบริเวณ crypt ส่งผลให้โครงสร้าง villi ได้รับความเสียหาย แมวที่ป่วยส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ หากมีอาการมักพบการอาเจียน ซึมและมีไข้ เบื่ออาหาร ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ มีการบวมของต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มีภาวะสมองน้อยเจริญพร่อง (cerebellar hypoplasia) เมื่อตรวจค่าโลหิตวิทยาจะพบว่ามีค่าเม็ดเลือดขาวรวมต่ำ ซึ่งในแมวที่อายุน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะลูกแมวจะแสดงอาการชัดเจน ค่อนข้างเฉียบพลันรุนแรงถึงชีวิต การวินิจฉัยโรคไข้หัดแมวสามารถทำได้ในห้องตรวจด้วยการสังเกตอาการ ใช้ชุดตรวจแอนติเจนสำหรับตรวจหาเชื้อ parvovirus ในสุนัข การทำ ultrasound ซึ่งจะพบการหนาตัวของผนังลำไส้เล็กและชั้นเยื่อเมือกของลำไส้เล็กบางกว่าปกติ หรือเก็บตัวอย่างเลือดกับอุจจาระส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถึงแม้โรคไข้หัดแมวจะไม่มียารักษาจำเพาะ แต่แมวป่วยก็สามารถหายจากโรคได้ด้วยการรักษาแบบพยุงอาการ ให้สารน้ำ อาหาร และอาหารเสริม เพื่อดูแลสภาพร่างกายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันสัตว์จนสามารถตอบสนองต่อเชื้อเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. โรคทางเดินหายใจส่วนต้นในแมว (Feline Upper Respiratory Tract Disease; URTD)

หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ไข้หวัดแมว (cat flu) หลัก ๆ มักเกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ Feline herpes virus-1 (FHV-1) และ Feline calicivirus (FCV) และอาจพบเชื้อแบคทีเรียอีก 2 ชนิดเป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดโรคด้วย ได้แก่ Bordetella bronchiseptica และ Chlamydophila felis โรคไข้หวัดแมวพบได้บ่อยในแมวที่อยู่ตามสถานที่ที่เลี้ยงแมวไว้เป็นจำนวนมากและอยู่รวมกันอย่างแออัด นอกจากนั้นแมวที่มีการติดเชื้ออื่น ๆ อยู่แล้ว เช่น FIV หรือ FeLV ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดแมวได้ง่ายเช่นกัน ทั้งเชื้อ FHV-1 และ FCV ไม่พบรายงานการติดต่อสู่คน สามารถแพร่กระจายสู่แมวปกติผ่านการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของแมวมีเชื้อ เชื้อ FHV-1 จะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจชัดเจนกว่า โดยลูกแมวจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าแมวโต แมวที่ป่วยจะมีไข้ ซึม จาม น้ำมูกน้ำตาไหล เยื่อจมูกอักเสบ (rhintis) เยื่อตาอักเสบ (conjunctivitis) บางรายอาจพบอาการจำเพาะต่อโรคที่ดวงตา เรียกว่า dendritic ulcer แม้แมวหายจากอาการป่วยแล้ว เชื้อ FHV-1 ก็ยังสามารถแฝงอยู่ในปมประสาทและทำให้อาการกำเริบขึ้นมารวมถึงขับเชื้อได้ทุกเมื่อหากแมวมีภาวะเครียด ส่วนเชื้อ FCV นั้นจะทำให้แมวมีอาการช่องปากอักเสบเรื้อรัง (chronic stomatitis) แผลหลุมที่ลิ้น จามและมีน้ำมูกใส ในรายที่ติดเชื้อ FCV รูปแบบ systemic virulent จะมีความรุนแรงของโรคมากกว่า แมวโตจะแสดงอาการทางคลินิกรุนแรงกว่าลูกแมว โดยมักมีแผลหลุมหรือผิวหนังหลุดลอกตามริมฝีปาก จมูก ใบหูและอุ้งเท้า มีการอักเสบของหลายระบบในร่างกาย การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว แมวสามารถขับเชื้อ FCV ออกมาได้ 30 วันหลังติดเชื้อ บางรายก็ขับเชื้อออกมาได้ตลอดชีวิต แต่ส่วนใหญ่มักหายจากโรคนี้ได้เองและกำจัดไวรัสไปจากร่างกายได้หมด การวินิจฉัยโรคไข้หวัดแมวสามารถทำได้โดยการสังเกตอาการในห้องตรวจ เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากตา จมูก และปากส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งจะทำการวินิจฉัยด้วยวิธี virus isolation PCR หรือ ELISA ต่อไป ในการรักษาโรคไข้หวัดแมวที่เกิดจากเชื้อ FHV-1 และ FCV ไม่มียาต้านที่จำเพาะต่อการรักษา ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการและรักษาแบบพยุงอาการ

การป้องกันโรคไวรัสในแมวด้วยการทำวัคซีน

รายละเอียดของวัคซีนป้องกันไวรัสทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นสำหรับแมวที่เลี้ยงในประเทศไทยมีดังนี้
1. วัคซีนหลัก (core vaccine) แมวทุกตัวต้องได้รับเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่รุนแรงและมีการแพร่ระบาดทั่วโลก

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ลูกแมวควรได้รับวัคซีนเข็มแรกเมื่ออายุได้ 12 สัปดาห์ และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 ปี หลังจากนั้นต้องได้รับเข็มกระตุ้นซ้ำทุกปี ส่วนในแมวโตที่ไม่เคยมีประวัติทำวัคซีนให้ฉีดเข็มแรกแล้วกระตุ้นซ้ำทุกปีหลังจากนั้น

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคไข้หัดแมว (FPV) สามารถเริ่มให้ครั้งแรกได้ตั้งแต่ลูกแมวอายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นให้ครั้งถัด ๆ ไปทุก 2-4 สัปดาห์จนกระทั่งลูกแมวมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 สัปดาห์ กระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี หลังจากนั้นให้กระตุ้นซ้ำทุกปี ส่วนในแมวโตจะให้ 2 ครั้งโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน 2-4 สัปดาห์ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากนั้นกระตุ้นซ้ำทุกปี

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคไข้หวัดแมวที่เกิดจากเชื้อ FHV-1 เริ่มให้ครั้งแรกได้ตั้งแต่ลูกแมวอายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นให้ครั้งถัด ๆ ไปทุก 2-4 สัปดาห์จนกระทั่งลูกแมวมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 สัปดาห์ กระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 6 เดือนหรือ 1 ปี หลังจากนั้นให้กระตุ้นซ้ำทุกปี ส่วนในแมวโตจะให้ 2 ครั้งโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นกระตุ้นซ้ำทุกปี

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคไข้หวัดแมวที่เกิดจากเชื้อ FCV กำหนดการทำวัคซีนเช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันไวรัส FHV-1

2. วัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) พิจารณาให้ตามความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความชุกของโรคในพื้นที่

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคลิวคีเมียในแมว (FeLV) ให้ครั้งแรกได้ตั้งแต่ลูกแมวอายุ 8 สัปดาห์ ครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรก 3-4 สัปดาห์ ครั้งถัดไปเมื่ออายุ 1 ปี ส่วนแมวโตจะให้ 2 ครั้งห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และหลังจากนั้นทั้งสองกลุ่มให้ทำการกระตุ้นซ้ำทุกปีโดยพิจารณาจากความเสี่ยงในการติดเชื้อของสัตว์ อย่างไรก็ตามโปรแกรมนี้เหมาะสำหรับแมวที่มีผลตรวจเชื้อ FeLV เป็นลบเท่านั้น ทุกครั้งก่อนทำวัคซีนจึงควรตรวจหาเชื้อ FeLV ก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับวัคซีนโดยไม่จำเป็น

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (FIV) ในลูกแมวจะให้วัคซีน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ ครั้งถัดไปห่างกัน 2-3 สัปดาห์ และให้อีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ในแมวโตจะให้ 3 ครั้งเช่นกัน แต่ละครั้งห่างกัน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นทั้งสองกลุ่มควรได้รับการกระตุ้นซ้ำทุกปีโดยพิจารณาจากความเสี่ยงในการติดเชื้อของสัตว์ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากต้องการตรวจระดับภูมิคุ้มกันเพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีน ควรใช้ชุดตรวจที่สามารถแยกแยะแอนติบอดีที่สร้างจากการติดเชื้อและสร้างจากการให้วัคซีน หรือใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการในการตรวจยืนยัน

3. วัคซีนที่ไม่แนะนำให้ใช้ (not-recommended vaccine) เนื่องจากไม่มีข้อมูลผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อที่เพียงพอ

- วัคซีนป้องกันไวรัสโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (FIP)

อ้างอิงข้อมูล :

1. Beall MJ, Buch J, Clark G, Estrada M, Rakitin A, Hamman NT, Frenden MK, Jefferson EP, Amirian ES and Levy JK. 2021. Feline Leukemia Virus p27 Antigen Concentration and Proviral DNA Load Are Associated with Survival in Naturally Infected Cats. Viruses. 13. 302.

2. Brunt S, Solomon H, Brown K and Davis A. 2021. Feline and Canine Rabies in New York State, USA. Viruses. 13. 450.

3. Day MJ, Horzinek MC, Schultz RD and Squires RA. 2016. WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract. 57: E1-E45.

4. Henzel A, Brum M, Lautert C, Martins M, Lovato L and Weiblen R. 2012. Isolation and identification of feline calicivirus and feline herpesvirus in Southern Brazil. Brazilian journal of microbiology: [publication of the Brazilian Society for Microbiology]. 43. 560-8.

5. Hofmann-Lehmann R and Hartmann K. 2020. Feline leukaemia virus infection: A practical approach to diagnosis. Journal of Feline Medicine and Surgery. 22(9):831-846.

6. Isaya R, Ciccarelli S, Enache D, et al. 2021. Gastrointestinal ultrasonographic findings in cats with Feline panleukopenia: a case series. BMC Vet Res. 17. 20.

7. Little S, Levy J, Hartmann K, et al. 2020. AAFP Feline Retrovirus Testing and Management Guidelines. Journal of Feline Medicine and Surgery. 22(1):5-30.

8. Martins N, Rodrigues A, Gonçalves S, Abreu-Silva A, Oliveira R, Reis J and Melo F. 2015. Occurrence of feline immunodeficiency virus (FIV) and feline leukemia (FeLV) in São Luís-MA. American Journal of Animal and Veterinary Sciences. 10. 187-192.

9. Miller C, Abdo Z, Ericsson A, Elder J and VandeWoude S. 2018. Applications of the FIV Model to Study HIV Pathogenesis. Viruses. 2018; 10(4):206.

10. Rehme T, Hartmann K, Truyen U, Zablotski Y, Bergmann M. 2022. Feline Panleukopenia Outbreaks and Risk Factors in Cats in Animal Shelters. Viruses. 14(6):1248.

11. Teixeira BM, Taniwaki SA, Menezes PMM, et al. 2019. Feline immunodeficiency virus in Northern Ceará, Brazil. Journal of Feline Medicine and Surgery Open Reports. 5(2).

12. Thayer V, Gogolski S, Felten S, Hartmann K, Kennedy M, Olah GA. 2022. 2022 AAFP/EveryCat Feline Infectious Peritonitis Diagnosis Guidelines. Journal of Feline Medicine and Surgery. 24(9):905-933.

13. Walter J, Foley P, Yason C, Vanderstichel R and Muckle A. 2020. Prevalence of feline herpesvirus-1, feline calicivirus, Chlamydia felis, and Bordetella bronchiseptica in a population of shelter cats on Prince Edward Island. Can J Vet Res. Jul;84(3):181-188.

14. Yin Y, Li T and Wang C, et al. 2021. A retrospective study of clinical and laboratory features and treatment on cats highly suspected of feline infectious peritonitis in Wuhan, China. Sci Rep. 11. 5208.

15. รสมา ภู่สุนทรธรรม. 2561. เวชศาสตร์โรคแมว. กรุงเทพฯ: ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.