อัพเดตแนวทางการฉีดวัคซีนในแมว

การทำวัคซีนในแมว นับเป็นแนวทางการป้องกันโรคที่มีความสำคัญ เพราะสามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการทำวัคซีนในแมวนั้นมีแนวทางปฏิบัติ และข้อจำกัดที่สัตวแพทย์ควรรู้เพื่อสามารถวางโปรแกรมการทำวัคซีนได้อย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความรู้จักกับโปรแกรมวัคซีนมาตรฐาน และข้อปฏิบัติที่ควรรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับสัตว์ในความดูแลของตนได้อย่างเหมาะสม อ้างอิงจากแนวทางการฉีดวัคซีนในแมวซึ่งออกโดย American Animal Hospital Association ที่มีชื่อว่า 2020 AAHA/AAFP Feline Vaccination Guidelines
การทำวัคซีนในแมว นับเป็นกระบวนในการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง (active immunization) ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการป้องกันโรคติดเชื้อทั้งในแมวที่เลี้ยงตัวเดียวภายในบ้าน และแมวที่เลี้ยงร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญซึ่งสามารถช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ได้ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการทำวัคซีนของแมวแต่ละตัวย่อมมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ประเภทของวัคซีนที่เลือกใช้ เชื้อก่อโรค และพื้นฐานทางระบบภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์ ดังนั้นนี่เองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้ความรู้กับเจ้าของว่าการทำวัคซีนเป็นเพียงแนวทางในการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในปัจจุบัน ไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าสัตว์จะไม่มีโอกาสในการติดเชื้อเลย เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่อาจตามมาในอนาคต
สำหรับโปรแกรมวัคซีนที่สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. วัคซีนกลุ่มหลัก (core vaccine) คือ วัคซีนที่แนะนำให้ทำในแมวทุกตัวเพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนป้องกันเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (FHV-1) วัคซีนป้องกันเชื้อแคลิซีไวรัสในแมว (FCV) วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว (FPV) วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) และวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียในแมว (FeLV) สำหรับแมวที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี

2. วัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) คือ วัคซีนที่สัตวแพทย์ควรพิจารณาให้สัตว์ตามความเสี่ยงของการสัมผัสโรค โดยพิจารณาจากปัจจัยทางด้านวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม (มีการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ในพื้นที่หรือไม่) และโอกาสการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียในแมว (FeLV) สำหรับแมวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี วัคซีนป้องกันเชื้อ Chlamydia felis และวัคซีนป้องกันเชื้อ Bordetella bronchiseptica นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยโดยชมรมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคแมวแห่งประเทศไทยยังพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรค feline infectious peritonitis (FIP) เป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือกที่สัตวแพทย์สามารถพิจารณาให้ในรายที่มีความเสี่ยงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนกลุ่มที่ไม่แนะนำ (not recommended) เนื่องจากให้ผลในการป้องกันโรคที่ยังไม่ชัดเจน และอาจให้ผลในการป้องกันโรคที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะยังไม่กล่าวถึงในบทความนี้
โดยทั่วไป ลูกแมว หรือแมวที่มีอายุน้อยมักมีความเสี่ยงต่อการติดโรคมากกว่าแมวโต แมวในกลุ่มนี้จึงควรที่จะได้รับการทำวัคซีนเป็นหนึ่งในโปรแกรมการดูแลสุขภาพ (wellness program) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สัตวแพทย์ควรคำนึงถึงในการทำวัคซีนลูกแมว คือระดับภูมิคุ้มกันที่ลูกแมวได้มาจากแม่ หรือที่เรียกว่า maternally derived antibody (MDA) ผ่านทางน้ำนมเหลือง (colostrum) ซึ่งมักดูดซึมภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด นับเป็นหนึ่งในกระบวนการทางภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ปกป้องลูกแมวในช่วงแรกเกิด โดย MDA ดังกล่าวอาจรบกวนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน ผ่านทางการยับยั้งกระบวนการสร้าง immunoglobulin G (IgG) และทำให้ antigen ในวัคซีนไม่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ (neutralize vaccine antigens) อย่างไรก็ตามระดับ MDA จะลดลงตามช่วงวัย จนเมื่อลูกแมวอายุได้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่จะลดลง และระดับ IgG และ IgA ในเลือดของลูกแมวจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงอายุ 5-7 สัปดาห์ จึงกล่าวได้ว่าช่วงอายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนที่ระดับ MDA ของลูกแมวลดลงนี้ คือช่วงที่ลูกแมวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามธรรมชาติได้สูง ทั้งนี้ระยะเวลา 1 เดือนดังกล่าวเป็นเพียงค่าเฉลี่ย ลูกแมวบางตัวอาจมีระดับ MDA สูงในเลือดได้นานมากกว่า 1 เดือน ด้วยเหตุนี้เอง การทำวัคซีนในลูกแมวจึงอาจเกิดความล้มเหลว (vaccine failure) ได้ เพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าว แนวทางการฉีดวัคซีนในแมวจึงแนะนำให้ทำการวางแผนการฉีดวัคซีนในแมวโดยฉีดกระตุ้นซ้ำทุก 2-4 สัปดาห์ จนลูกแมวมีอายุได้ 16-18 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้วัคซีนสามารถทำการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้โดยได้รบการรบกวนจาก MDA น้อยที่สุด ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ฉีดในลูกแมวอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์เพื่อหลีกเลี่ยงการพัฒนา หรือก่อโรคอันมีสาเหตุมาจากวัคซีน (vaccine organism-associated disease) และหลีกเลี่ยงผลของวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ระดับ MDA ที่ลดลงยังส่งผลให้เกิดช่วงระยะเวลาที่เรียกว่า window of susceptibility หรือช่วงระยะเวลาที่ระดับ MDA สูงเพียงพอต่อการรบกวนการกระตุ้นของวัคซีน แต่ไม่มากพอที่จะป้องกันการติดเชื้อตามธรรมชาติได้ ช่วงระยะเวลาดังกล่่าวจึงเป็นช่วงที่ลูกแมวเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัตวแพทย์สามารถลดช่วงของระยะเวลาดังกล่าวได้โดยลดระยะเวลาความห่างของการฉีดวัคซีนลง ทั้งนี้เมื่อทำการฉีดวัคซีนในลูกแมวภายหลังการลดลงของระดับ MDA ได้สำเร็จ ตัวไกด์ไลน์ยังแนะนำให้ทำการฉีดเข็มกระตุ้น (booster) อีกภายหลัง 3-4 สัปดาห์ต่อมา โดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่มเชื้อตาย (inactivated vaccines) ซึ่งหมายความว่าหลังจากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายในช่วงการลดลงของระดับ MDA แล้ว ยังต้องเผื่อระยะเวลาในการฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปอีก 3-4 สัปดาห์นั่นเอง
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากแนวทางการฉีดวัคซีนฉบับนี้ คือข้อแนะนำในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยในอดีตได้มีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภายในระยะเวลา 1 ปีหลังจากการเริ่มทำวัคซีนชุดเริ่มต้น (initial kitten series) และฉีดซ้ำอีกในทุก ๆ 3 ปี แต่จากการศึกษากลับพบว่าลูกแมว 1 ใน 3 อาจเกิดความล้มเหลวจากการทำวัคซีนเข็มสุดท้ายที่ 16 สัปดาห์ และเกิดการรบกวนของระดับ MDA ได้ที่อายุ 20 สัปดาห์ จึงแนะนำให้ทำการฉีดวัคซีน feline viral rhinotracheitis-calicivirus-panleukopenia เข็มกระตุ้นที่อายุ 6 เดือน แทนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 1 ปี และฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว (FPV) วัคซีนป้องกันเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (FHV-1) และวัคซีนป้องกันเชื้อแคลิซีไวรัสในแมว (FCV) ที่อายุ 6 เดือน เพื่อลดช่วงระยะเวลาของ window of susceptibility ลงในลูกแมว
การทำวัคซีนในแมวมักมีประสิทธิภาพสูง สามารถให้ผลลัพธ์ในการป้องกันโรค (preventable fraction) ซึ่งหมายถึงแมวที่ได้รับการทำวัคซีนจะไม่สามารถเกิดการพัฒนาของโรคต่อไปได้ (sterilizing immunity) เช่น การทำวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว (FPV) โรคลิวคีเมียในแมว (FeLV) และโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) เป็นต้น หรือให้ผลลัพธ์ในการลดความรุนแรงของโรค (mitigatable fraction) เช่น การทำวัคซีนป้องกันเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (FHV-1) และป้องกันเชื้อแคลิซีไวรัสในแมว (FCV) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์อื่น ๆ เช่น ลดการแพร่ระบาดของเชื้อ ป้องกันการเกิดอาการจำเพาะต่อโรค หรือป้องกันการเสียชีวิต ยังคงมีข้อจำกัดในบางประการ
การทำวัคซีนจึงจัดเป็นสิ่งสำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญ และคำนึงถึงข้อจำกัดก่อนทุกครั้งที่จะวางแผนการทำวัคซีนในแมว เพื่อประโยชน์ และประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากข้อแนะนำในการทำวัคซีนแล้ว ใน 2020 AAHA/AAFP Feline Vaccination Guidelines ยังคงพูดถึงการวางแผนที่เหมาะสมต่อแมวที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน เลี้ยงในฝูงหรือพื้นที่แตกต่างกัน ข้อควรระวังภายหลังการทำวัคซีน การรับมือกับ feline injection-site sarcomas และแนวทางการให้ความรู้กับเจ้าของภายหลังการทำวัคซีน ในส่วนนี้คุณหมอสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากไกด์ไลน์ฉบับเต็ม หรือเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.aaha.org/aaha-guidelines

แหล่งอ้างอิง

1. Amy, ESS., Gary, OB., Ellen, MC., Philip, HK., Ernest, PP., Jane, S. and Mark EW. 2020. 2020 AAHA/AAFP Feline Vaccination Guidelines. J Feline Med Surg. 2020 (22) : 813-830.

2. Day, MJ., Horzinek, MC., Schultz, RD., et al. 2016. WSAVA guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract. 2016(57) : 1–45.

3. Scherk, MA., Ford, RB., Gaskell, RM., et al. 2013. 2013 AAFP Feline Vaccination Advisory Panel Report. J Feline Med Surg. 2013(15) : 785–808.