การทำวัคซีนในสุนัขนับเป็นเวชศาสตร์สำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำกับเจ้าของ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคให้กับสุนัข และลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน อย่างไรก็ตาม แผนการทำวัคซีนในสุนัขแต่ละตัวอาจมีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากข้อควรคำนึง ทั้งปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ช่วงอายุ พื้นฐานทางระบบภูมิคุ้มกันของสุนัข รูปแบบการเลี้ยงดู และความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคที่แตกต่างกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการเลือกทำวัคซีนในสุนัขทั้งสิ้น บทความนี้จะพาคุณหมอไปอัพเดตแนวทางการฉีดวัคซีนโดยอ้างอิงจาก 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines ซึ่งออกโดย American Animal Hospital Association (AAHA)
การทำวัคซีนในสุนัขแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. วัคซีนหลัก (core vaccine) และ 2. วัคซีนทางเลือก (noncore vaccine) โดยมีรายละเอียดดังนี้
วัคซีนหลัก (core vaccine) คือวัคซีนที่แนะนำให้ทำในสุนัขทุกตัวเพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข (canine distemper virus; CDV) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบในสุนัข (canine adenovirus; CAV) และ วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบในสุนัข (canine parvovirus; CPV) นอกจากนี้สำหรับประเทศไทยยังจัดให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (rabies) เป็นหนึ่งในวัคซีนหลักเนื่องจากเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonosis) ที่มีความอันตราย และสามารถพบการระบาดได้ในประเทศอีกด้วย
สำหรับประสิทธิภาพในการทำวัคซีนกลุ่มวัคซีนหลักในสุนัข พบว่าสามารถให้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างดีหากวางโปรแกรมในการทำวัคซีนอย่างเหมาะสม ซึ่งประเภทของวัคซีนที่แนะนำให้ใช้คือวัคซีนเชื้อเป็น ประเภท modified-live vaccine หรือ recombinant vaccine เนื่องจากสามารถกระตุ้นได้ทั้ง cell mediated immunity (CMI) และ humoral mediated immunity (HMI) ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนเชื้อตาย ยกเว้นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่แนะนำให้ใช้แบบวัคซีนเชื้อตาย (inactived vaccine) เนื่องจากให้ผลการสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตัววัคซีนไม่สามารถทำให้สัตว์เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้

ช่วงอายุที่แนะนำให้เริ่มการทำวัคซีน (วัคซีนหลัก)

หากเป็นสุนัขแรกเกิด (อายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 16 สัปดาห์) แนะนำให้วางโปรแกรมการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 ครั้ง โดยเริ่มต้นที่อายุ 6-8 สัปดาห์ จากนั้นฉีดซ้ำในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา และให้วัคซีนเข็มสุดท้ายที่อายุ 16 สัปดาห์ขึ้นไป จากนั้นฉีดเข็มกระตุ้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปี (นับจากเข็มสุดท้ายในช่วงอายุ 16 สัปดาห์) แล้วจึงเปลี่ยนมาให้เข็มกระตุ้น (boosters) ทุก 3 ปี เหตุผลที่มีการระบุจำนวนครั้งขั้นต่ำ และช่วงอายุในการทำวัคซีนลูกสุนัข เนื่องจากช่วงแรกเกิด ลูกสุนัขจะได้รับภูมิคุ้มกันที่ส่งต่อมาจากแม่ (maternally-derived antibody; MDA) ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวอาจรบกวนการทำงานของวัคซีน ส่งผลให้การทำวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ โดยช่วงอายุที่ระดับ MDA จะยังคงสูงอยู่ภายในร่างกายของลูกสุนัขอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละตัว ทั้งนี้พบว่าลูกสุนัขที่มีระดับ MDA สูง อาจไม่พบการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนเลยจนถึงช่วงอายุ 12-14 สัปดาห์ การทำวัคซีนจึงควรวางการฉีดเข็มสุดท้ายไว้ที่ช่วงอายุ 16 สัปดาห์นั่นเอง

สำหรับสุนัขโตที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากแม่หลงเหลืออยู่แล้ว (อายุมากกว่า 16 สัปดาห์ขึ้นไป) แนะนำให้วางโปรแกรมการฉีดวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง โดยเริ่มต้นได้ทันทีภายหลังการตรวจสุขภาพ และพบว่าสุนัขมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้ควรเว้นช่วงของการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มให้ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง จากนั้นฉีดเข็มกระตุ้นอีกภายในระยะเวลา 1 ปี (นับจากเข็มที่สอง) แล้วจึงเปลี่ยนมาให้เข็มกระตุ้นทุก 3 ปี

ช่วงอายุที่แนะนำให้เริ่มการทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

แนะนำให้วางโปรแกรมการฉีดวัคซีนออกเป็น 2 ครั้ง โดยเริ่มต้นที่อายุ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และฉีดเข็มต่อมาโดยเว้นช่วงของการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มให้ห่างกัน 2-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งเมื่อสุนัขอายุ 1 ปี และฉีดกระตุ้นทุก 1 หรือ 3 ปี ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน

วัคซีนทางเลือก (noncore vaccine) คือวัคซีนที่สัตวแพทย์ควรพิจารณาให้สัตว์ตามความเสี่ยงของการสัมผัสโรค โดยพิจารณาจากปัจจัยทางด้านวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม (มีการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ในพื้นที่หรือไม่) และโอกาสการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคฉี่หนู (canine leptospirosis vaccine) วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (canine Bordetella vaccine) วัคซีนป้องกันโรคไลม์ (canine lyme vaccine) หรือวัคซีนป้องกันโรคหวัดสุนัข (canine influenza vaccine) เป็นต้น
การทำวัคซีนคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้สุนัขมีภูมิคุ้มกันต่อโรค สามารถเติบโต และมีสุขภาพดีได้สมวัย นอกจากการจัดตารางโปรแกรมวัคซีนตามคำแนะนำแล้ว สัตวแพทย์ยังควรรับรู้ถึงกระบวนการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกัน ข้อควรระวังหลังการทำวัคซีน การจัดเจ็บวัคซีนอย่างเหมาะสม และการให้ความรู้กับเจ้าของภายหลังการทำวัคซีน ซึ่งในส่วนนี้คุณหมอสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้จากไกด์ไลน์ฉบับเต็ม หรือเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.aaha.org/aaha-guidelines

อ้างอิงข้อมูล

1. Day, MJ., Horzinek, MC., Schultz, RD. and Squires, RA. 2016. WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract, 57(1).

2. Ellis J, Marziani E, Aziz C, Brown CM, Cohn LA, Lea C, Moore GE, Taneja N 2022. 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines. [online]. Available : https://www.aaha.org/aaha-guidelines/2022-aaha-canine-vaccination-guidelines/home/. Accessed 30 September 2022.

3. Khantawee, N. 2016. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในสุนัข. [online]. Available : https://www.readvpn.com/Topic/Info/3509b503-4f68-4808-a181-9931a5473b1b. Accessed 30 September 2022.