พยาธิ หรือปรสิตภายใน นับเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญ ทั้งในแง่การดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และการดูแลสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากพยาธิหลายชนิดสามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่ผู้เลี้ยง ก่อให้เกิดปัญหาโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (zoonosis) ได้ การให้ความสำคัญกับการป้องกันพยาธิภายในในสัตว์เลี้ยง ทั้งสุนัข และแมวจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญที่สัตวแพทย์ควรให้ความสนใจ
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การป้องกันพยาธิภายในสัมฤทธิ์ผล คือการให้การป้องกันทั้ง 3 แง่มุม คือ การดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม การป้องกันพยาธิในตัวสัตว์ และการระมัดระวังตคัวของเจ้าของ บทความนี้จะพาคุณหมอไปทำความเข้าใจในทั้ง 3 แง่มุม และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อสามารถให้ความรู้กับเจ้าของสัตว์ได้อย่างถูกต้องต่อไป

แง่มุมที่ 1 : การดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมนับเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้พยาธิภายในสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นซึ่งนับเป็นสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้พยาธิหลายชนิดเกิด การพัฒนา เช่น พยาธิตัวกลม (nematode) สามารถพัฒนาเป็นพยาธิระยะติดเชื้อ (infective stage) ได้เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 16°C และพยาธิตัวตืด (cestode) สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 30°C เป็นต้น เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม และพยาธิเกิดการพัฒนาเป็นระยะติดเชื้อ โอกาสในการระบาดของพยาธิภายในจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้การระบาดของพยาธิส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับไข่พยาธิ หรือตัวอ่อนที่ปนเปื้อนออกมากับอุจจาระของสัตว์ การดูแลรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมจึงเป็นการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในสัตว์ และมนุษย์ ทั้งนี้พยาธิภายในหลายชนิดมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง (อาจนานหลายเดือนถึงหลายปี) อีกทั้งในธรรมชาติยังมีโฮสต์ข้างเคียง (paratenic host) หรือโฮสต์ตัวกลางซึ่งเป็นตัวแพร่โรคโดยที่พยาธิจะเข้าไปอาศัยอยู่ภายในร่างกายโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงระยะ (stage) ได้แก่ นก หนู และหอย เป็นต้น ส่งผลให้พยาธิสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานยิ่งขึ้น การจัดการพยาธิภายในจึงมีความซับซ้อนและยากต่อการกำจัดให้หายไปอย่างถาวร
คำแนะนำที่สัตวแพทย์สามารถมอบให้เจ้าของเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อม มีดังนี้
1. ควรเก็บ และทำความสะอาดอุจจาระของสัตว์เลี้ยงโดยทันที หลีกเลี่ยงการทิ้งในชักโครก หรือใกล้กับแหล่งที่มีพืชผลทางการเกษตร หรืออาหาร หลีกเลี่ยงการใช้อุจจาระสัตว์ในการทำปุ๋ย หรือรดน้ำพืชผลทางการเกษตร
2. สุนัขและแมวที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าพบการติดพยาธิควรได้รับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อม และสัตว์ตัวอื่น ๆ ในกรณีตรวจติดตาม สัตวแพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธี faecal examination ได้ โดยควรแนะนำให้เจ้าของทำการตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะสัตว์ที่แสดงอาการต้องสงสัย หรือมีอาการป่วยเป็นประจำ
3. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อย หรือเลี้ยงโดยให้สัตว์อาศัยอยู่บนพื้นดิน เนื่องจากไข่ของพยาธิหลายชนิดสามารถคงอยู่ได้นานในพื้นดิน (หลายเดือนจนถึงหลายปี) โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ควรปูพื้นด้วยวัสดุที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และคงทนต่อสารทำความสะอาด
4. ในกรณีรับสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรทำการกักโรค และถ่ายพยาธิก่อนนำเข้าฝูง เพื่อลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อ
5. สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็ก ควรป้องกันสนาม กระบะทราย หรือของเล่นไม่ให้สัตว์เลี้ยงสามารถเข้าถึงได้ เช่น ตุ๊กตา ลูกบอล เนื่องจากพฤติกรรมของสัตว์ จะชอบกัดแทะสิ่งของ และนำของเล่นเหล่านี้ออกไปเล่นในสิ่งแวดล้อม ที่อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนของไข่พยาธิ และเกิดการติดพยาธิจากสัตว์มาสู่คนได้ โดยเฉพาะแมวจะชอบอุจจาระ และปัสสาวะในกระบะทราย อาจทำให้กระบะทรายเกิดการปนเปื้อนได้ สำหรับกระบะทรายควรมีการเปลี่ยนทรายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเพื่อลดโอกาสในการสะสมเชื้อ
6. การสัมผัสแสงแดด ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และลดความชื้น (desiccation) ทำให้พยาธิบางส่วนตายลง เป็นการลดโอกาสในการเพิ่มจำนวนของพยาธิภายในบางส่วนได้ ควรแนะนำให้เจ้าของนำอุปกรณ์ของสัตว์เลี้ยงตากแดดเป็นประจำเมื่อมีโอกาส โดยอาจทำหลังจากนำอุปกรณ์เหล่านั้นไปทำความสะอาดด้วยสารทำความสะอาดที่เหมาะสม

แง่มุมที่ 2 : การป้องกันพยาธิในตัวสัตว์

การป้องกันพยาธิในตัวสัตว์เป็นวิธีการที่ได้ผล และสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำในสัตว์เลี้ยงทุกตัว สำหรับการป้องกันพยาธิภายใน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การถ่ายพยาธิ และ 2. การให้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายใน
การถ่ายพยาธิ : สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่สัตว์มีอายุ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นเว้นช่วงถ่ายอีกครั้งทุก ๆ 2 สัปดาห์ จนสัตว์มีอายุ 8-10 สัปดาห์ จากนั้นถ่ายเป็นประจำทุก 3-4 เดือน หรือปรับความถี่ตามความเสี่ยงของการสัมผัสพยาธิในตัวสัตว์ เช่น การเลี้ยงร่วมกันหลายตัว หรือการอาศัยอยู่ในเขตการระบาดของพยาธิ เป็นต้น ทั้งนี้ควรทำร่วมกับการให้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายในเป็นประจำทุกเดือนเพื่อลดโอกาสในการได้รับเชื้อ
ตัวอย่างยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้ในสุนัข และแมว เช่น praziquantel, pyrantel และยาในกลุ่ม benzimidazole (BZD) และ pro-BZDs เช่น febentel, fenbendazole, mebendazole และ oxibendazole เป็นต้น
การให้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายใน : ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ในการป้องกันพยาธิภายในหลายยี่ห้อที่ได้รับการทดลอง และยืนยันแล้วว่ามีความปลอดภัยต่อสัตว์ พบการรายงานการแพ้ผลิตภัณฑ์ต่ำ และให้ผลในการป้องกันเป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตในสัตว์เลี้ยงที่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบันมักอยู่ในรูปยาสูตรผสม (combination drug) เพื่อขยายขอบเขตของการออกฤทธิ์ ช่วยให้การป้องกันปรสิตครอบคลุมทั้งปรสิตภายนอก และภายใน เช่น ตัวยา afoxolaner และ milnemycin oxime ในรูปแบบเม็ดเคี้ยวสำหรับสุนัข ช่วยในการป้องกันปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไรขี้เรื้อน ไรหู และป้องกันปรสิตภายใน เช่น พยาธิแส้ม้า พยาธิหลอดอาหาร พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิในปอด พยาธิตา และพยาธิหนอนหัวใจ เป็นต้น หรือ ตัวยา fipronil, (S)-methoprene, eprinomectin และ praziquantel ในรูปแบบยาหยดหลังสำหรับแมว ช่วยในการป้องกันปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไข่หมัด ไรขี้เรื้อน ไรหู และป้องกันปรสิตภายใน เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิในปอด พยาธิปากขอ พยาธิตัวกลม พยาธิกระเพาะปัสสาวะ และพยาธิหนอนหัวใจ เป็นต้น สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทราบถึงตัวยาของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ประสิทธิภาพในการป้องกัน ตลอดจนผลข้างเคียงเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้เจ้าของสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงของตนได้ต่อไป

แง่มุมที่ 3 : การระมัดระวังตัวของเจ้าของ

สัตว์เลี้ยงนับเป็นตัวการการแพร่ระบาดที่สำคัญของโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สัตวแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าวตามหลักสุขภาพหนึ่งเดียว (one health) พยาธิภายในกลุ่มที่สามารถพบได้บ่อย และพบการแพร่ระบาดมาสู่มนุษย์ได้ ได้แก่ พยาธิไส้เดือนกลุ่ม Toxoxara spp. ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทางการกินไข่พยาธิระยะติดเชื้อ (infective egg) พยาธิปากขอกลุ่ม Ancylostoma spp. ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านทางการกินไข่พยาธิ และชอนไชของพยาธิตัวอ่อนระยะติดเชื้อ (filariform larva) เป็นต้น การระมัดระวังตัวจากเจ้าของจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดการเพิ่มจำนวนของพยาธิ ซึ่งเป็นการลดโอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อมาสู่สัตว์ หรือมนุษย์ด้วยกันเองได้
ข้อแนะนำที่สัตวแพทย์สามารถให้แก่เจ้าของเกี่ยวกับการระมัดระวังตัวจากพยาธิภายใน มีดังนี้
1. ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยส่วนบุคคล (good personal hygiene) ด้วยการล้างมือภายหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง และก่อนรับประทานอาหารเป็นประจำ
2. ช่วยดูแล และสอนให้เด็กรู้จักการรักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือเล่นในบริเวณที่มีความเสี่ยง สอนให้เด็กรู้จักการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสการสะสมของเชื้อโรค
3. สวมถุงมือทุกครั้งเมื่อทำสวน หรือทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยง
4. ล้างผัก ผลไม้ และพืชผลทางการเกษตรให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง
5. ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงด้วยการอาบน้ำ และหวีขนเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสในการปนเปื้อนของไข่พยาธิ
6. สวมใส่รองเท้าทุกครั้งเมื่อสัมผัสกับพื้นดิน หรือพื้นที่มีโอกาสในการปนเปื้อนกับไข่พยาธิ
ทั้งนี้ข้อปฏิบัติเหล่านี้ควรทำเป็นประจำ โดยเฉพาะกับผู้ที่มีโอกาสในการสัมผัส หรือทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น เกษตรกร สัตวแพทย์ สัตวบาล หรือผู้ฝึกสอนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ตลอดจนผู้ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบต่อการติดเชื้อสูง เช่น เด็ก คนท้อง ผู้ป่วยที่มีระดับภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือผู้ป่วยด้วยโรคทางระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เป็นต้น
การป้องกันพยาธิในสุนัข และแมว นับเป็นสิ่งสำคัญต่อการดูแลสุขภาพทั้งในสัตว์เลี้ยง และมนุษย์ สัตวแพทย์ควรให้ความสำคัญ และให้ความรู้กับเจ้าของสัตว์เป็นประจำเมื่อมีโอกาส เพื่อลดโอกาสในการแพร่ระบาด และป้องกันโรคต่อไปในอนาคต

อ้างอิง

1. Adolph, C. 2015. Top 5 GI parasites in companion animal practice. Clinician’s Brief. 11-14.

2. European Scientific Counsel Companion Animal Parasites (ESCCAP). 2021. ESCCAP Guideline : Worm Control in Dogs and Cats. [Online]. Available : https://www.esccap.org/uploads/docs/oc1bt50t_0778_ESCCAP_GL1_v15_1p.pdf. Accessed January 13, 2023.

3. Marietta, V. and Jerrold, AT. 1956. Effect of Temperature on Larval Development of the Cestode, Hymenolepis diminuta. Exp Parasitol. 5 (6): 580-586

4. National Office of Animal Health (NOAH). 2023. Companion Animal Parasite Control. [online]. Available : https://www.noah.co.uk/topics/companion-animals/companion-animal-parasite-control/. Accessed January 15, 2023.