รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วงจรของพยาธิหนอนหัวใจ หรือ Dirofilaria immiits เริ่มจากยุงที่เป็นพาหะไปกัดและรับ L1 จากสุนัขมาและใช้เวลา 10-14 วัน ในการเจริญเป็น L3 ซึ่งเป็นระยะติดโรค (infective stage) เมื่อยุงที่มี L3 ไปกัดสุนัข จะปล่อย L3 เข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง และเจริญเป็น L4 โดยใช้เวลา 45-60 วัน จากนั้นจึงเข้าสู่กระแสเลือด และเคลื่อนเข้าสู่หลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีที่ปอด จากระยะ L3 จนเจริญเป็นพยาธิตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน
แอนติเจนจากพยาธิหนอนหัวใจและ Wolbachia ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในตัวพยาธิแบบ symbiosis จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น โดยเฉพาะที่ปอด นอกจากนั้นยังทำให้เกิด antigen-antibody complex เกิดความเสียหายที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ที่ไต ทำให้เกิด glomerulonephritis ได้ นอกจากนั้นพยาธิที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีทำให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือด และอาจเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันในปอดสูงขึ้นได้ (pulmonary hypertension) พยาธิอาจจะเคลื่อนเข้าสู่หัวใจด้านขวา และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลว หากจำนวนพยาธิมากอาจทำให้เกิดการอุดตันภายในห้องหัวใจและหลอดเลือด เรียกภาวะนี้ว่า “caval syndrome” เมื่อติดพยาธิหนอนหัวใจ สุนัขอาจแสดงอาการไอ หายใจลำบากจากภาวะปอดอักเสบ เมื่อตรวจร่างกายอาจได้ยินเสียงเมอร์เมอร์ จากภาวะลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว และสุนัขอาจมีภาวะท้องมาน ตับโต หลอดเลือด jugular ขยายใหญ่จากภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลว
การวินิจฉัยการติดพยาธิหนอนหัวใจ สามารถทำได้โดยการตรวจแอนติเจนโดยใช้ชุดสอบ ร่วมกับการตรวจหาตัวอ่อนระยะ L1 หรือ ไมโครฟิลาเรียในกระแสเลือด ในกรณีที่ตรวจไม่พบไมโครฟิลาเรีย แต่ผลตรวจแอนติเจนเป็นบวก เรียกภาวะนี้ว่า “occult infection” ชุดทดสอบจะตรวจหาแอนติเจนของระบบสืบพันธุ์พยาธิตัวเต็มวัยเพศเมีย ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเริ่มตรวจพยาธิหนอนหัวใจในลูกสุนัขที่อายุ 7-8 เดือนขึ้นไป หรือจนกระทั่งมีพยาธิเจริญเป็นตัวเต็มวัยแล้ว ผลลบเทียมจากการตรวจแอนติเจนอาจเกิดจาก การติดพยาธิเพศผู้เพศเดียว พยาธิยังเจริญไม่เต็มที่ การใช้ชุดทดสอบไม่ถูกวิธี การเกิด antigen-antibody complex ทำให้ตรวจไม่พบแอนติเจนที่เป็นอิสระ (free antigen) ในกระแสเลือด การถ่ายภาพรังสีช่วยในการบอกความรุนแรงของรอยโรคที่ปอด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่หัวใจเนื่องจากการติดพยาธิ โดยอาจพบลักษณะ interstitial หรือ alveolar lung patterns เนื่องจากภาวะปอดอักเสบ พบการขยายใหญ่ของหัวใจด้านขวา และหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรี ส่วนการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) อาจพบพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยอยู่ในหัวใจ อย่างไรก็ตามหากมีพยาธิตัวเต็มวัยจำนวนไม่มากหรือพยาธิยังคงอาศัยอยู่ในแขนงหลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรีส่วนปลายเป็นหลัก อาจตรวจไม่พบพยาธิตัวเต็มวัยด้วยวิธีการนี้

การป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจสามารถทำได้โดยการให้ยากลุ่ม macrocyclic lactone ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทั้งรูปแบบยากิน ยาฉีด ยาหยดหลัง บางผลิตภัณฑ์สามารถออกฤทธิ์กำจัดปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร และปรสิตภายใน เช่น พยาธิในลำไส้ได้ด้วย สัตวแพทย์ควรแนะนำผลิตภัณฑ์ตามความเหมาะสมของเจ้าของและสุนัขแต่ละตัว

โดยการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ สามารถเริ่มทำการป้องกันได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 2 เดือน ในกรณีที่สุนัขอายุเกิน 7 เดือนและยังไม่เคยได้รับยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมาก่อน หรือเจ้าของต้องการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกัน หรือประวัติการป้องกันไม่สม่ำเสมอ ควรมีการตรวจแอนติเจนเพื่อยืนยันการไม่พบพยาธิตัวเต็มวัยก่อนเริ่มโปรแกรมการป้องกันใหม่ทุกครั้ง

นอกจากการให้ยาป้องกันการติดพยาธิโดยตรงอาจลดโอกาสที่สุนัขจะสัมผัสยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ไล่ยุ่ง (mosquito repellant) หรือ กำจัดยุง (insecticide) จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการให้ยาที่มีฤทธิ์ไล่และกำจัดยุง ร่วมกับยากลุ่ม macrocyclic lactone สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจให้ดีขึ้นได้

ขั้นตอนการจัดการสุนัขที่ติดพยาธิหนอนหัวใจสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำของ American Heartworm Society (2018) ตามตารางด้านล่าง