Dilated cardiomyopathy (DCM)

Dilated cardiomyopathy (DCM) เป็นโรคที่กล้ามเนื้อหัวใจมีการบีบตัวลดลง ทำให้เลือดคั่งค้างอยู่ภายในหัวใจ เกิดเป็นภาวะหัวใจโตตามมา ต่อมาเมื่อหัวใจสูญเสียการทำงานมากขึ้น ยังอาจเกิดการคั่งของเลือดในหลอดเลือดภายในอวัยวะต่าง ๆ จนเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ท้องมาน หรือการสะสมของของเหลวในช่องท้องหรือช่องอกตามมา เป็นภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) ในที่สุด
สาเหตุการเกิดโรค DCM นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีรายงานการศึกษาที่พบว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรมของสุนัขบางสายพันธุ์, การขาดทอร์รีน (Taurine deficiency), การขาดคาร์เนทีน (Carnitine deficiency), ผลจากการได้รับเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เช่น ได้รับยา Doxorubicin เป็นเวลานาน หรือเกิดจากการติดเชื้อ เช่น Parvovirus, Ehrilichia canis เป็นต้น

อาการ

โรคนี้พบได้บ่อยในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ได้แก่ Dobermanns, Irish wolfhound, Newfoundlands, และกลุ่มพันธุ์ Spaniel โดยสุนัขที่เป็นโรค DCM ส่วนใหญ่จะแสดงอาการไอเรื้อรัง หอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก น้ำหนักลด ท้องมาน เบื่ออาหาร เป็นลม หรือบางรายอาจเป็นรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้โดยการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูขนาดของหัวใจ และการสะสมของของเหลวในช่องอกและช่องท้อง อย่างไรก็ตามวิธีการที่ดีที่สุด คือ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจ ทั้งเรื่องการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจโต เป็นต้น

การรักษา

แนวทางการรักษา จะขึ้นกับปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ โดยหากสามารถรักษาตามสาเหตุได้อย่างทันท่วงที สุนัขอาจไม่ต้องรักษาด้วยยาหัวใจตลอดชีวิต ในทางกลับกันหากสุนัขตรวจพบโรคช้าประกอบกับไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียหน้าที่อย่างถาวร การรักษาสุนัขกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องให้ยาหัวใจอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อควบคุมการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

การรักษากรณีที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือสาเหตุจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง จะใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เพื่อชะลอความรุนแรงของโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตของสุนัข โดยยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคนี้คือยา pimobendan ที่ช่วยเพิ่มการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดส่งไปเลี้ยงร่างกายดีขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2002 มีรายงานว่าสุนัข Doberman Pincher ที่เป็นโรค DCM และได้รับยา pimobendan จะมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานกว่าสุนัขที่ได้รับยาหลอกด้วยเวลา 1 ปี เทียบกับ 3 เดือน ต่อมาในปี ค.ศ. 2012 มีการศึกษาขนาดใหญ่ชื่อ “PRO TECTclinicaltrial” ที่ประเมินผลการให้ยา pimobendan ในสุนัข Doberman Pinscher ที่เป็นโรค DCM และยังไม่แสดงอาการ (pre-clinical dilated cardiomyopathy) ว่าสามารถชะลอเวลาในการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ตลอดจนป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันได้ด้วยเวลา 718 วัน ในกลุ่มที่ได้รับ pimobendan เทียบกับ 441 วันในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกนอกจากนี้ยังมีการศึกษาการใช้ pimobendan ในสุนัข Irish Wolfhounds ที่เป็นโรค DCM ที่ยังไม่แสดงอาการ และหัวใจล้มเหลว ที่ให้ผลการศึกษาที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย

นอกจาก pimobendan แล้ว ยังมีการให้ยากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ยากลุ่ม ACE inhibitors เช่น Enalapril, Benazepril และ Ramipril ในการช่วยลดความดันโลหิต หรือกรณีสุนัขแสดงอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น หายใจลำบาก มีน้ำท่วมปอด ควรพิจารณาให้ยาขับน้ำ เช่น Furosemide ร่วมด้วย เพื่อลดภาวะคั่งน้ำและการสะสมของของเหลวในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้หากสุนัขมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจพิจารณาให้ Digoxin เพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามยากลุ่มในกลุ่ม ACE inhibitors และยาขับน้ำนั้น ยังส่งผลต่อการทำงานของไต ดังนั้นเมื่อมีการให้ยากลุ่มนี้จึงควรต้องตรวจการทำงานของไตร่วมด้วย

การดูแลด้านอื่น ๆ

นอกจากการรักษาทางยาแล้ว การดูแลสุนัขที่เป็นโรค DCM สัตวแพทย์ยังควรแนะนำให้เจ้าของปรับกิจกรรมการออกกำลังกายของสุนัข เพื่อลดอาการหอบและเหนื่อยง่าย เช่น เปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดิน หรือปรับลดระยะทางหรือระยะเวลาการออกกำลังกาย ในส่วนของอาหาร ควรเลือกอาหารในกลุ่มโปรตีนคุณภาพสูงที่ให้พลังงานมาก เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะผอมแห้งในสุนัขโรคหัวใจ (cardiac cachexia) นอกจากนี้ยังควรควบคุมระดับเกลือในอาหารร่วมด้วย เพราะระดับเกลือที่สูงอาจส่งผลต่อของเหลวในร่างกายโดยเฉพาะสุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว ในขณะที่ระดับเกลือที่ต่ำอาจส่งผลให้สุนัขอ่อนแรงได้

สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุด คือการแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขไปตรวจหัวใจเป็นประจำ เพราะจะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถตรวจพบโรคหัวใจในระยะเริ่มแรกได้ เนื่องจากบางครั้งหากวินิจฉัยจนทราบสาเหตุ อาจสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ ส่วนกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุ ก็ยังสามารถชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย นอกจากนี้ในการดูแลสุนัขที่เป็น DCM ในระยะยาว สัตวแพทย์ควรกำชับให้เจ้าของให้ยาอย่างเคร่งครัด และหมั่นพาสุนัขมาตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังภาวะหัวใจล้มเหลวที่อาจเกิดตามมาได้

เอกสารอ้างอิง

1.Luis Fuentes V, Corcoran B, French A et al. 2002. A double-blind, randomized, placebo-controlled studyof pimobendanin dogs with dilated cardiomyopathy. J Vet Intern Med.16(3):255–61

2.O’Grady MR, Minors SL, O’Sullivan ML, Horne R. 2008. Effectof pimobendanoncasefatalityrate in Doberman Pinschers with congestive heart failure caused by dilated cardiomyopathy. J Vet Intern Med.22(4):897-904.

3.Summerfield, N.J., Boswood, A., O’Grady, M.R., Gordon, S.G., Dukes-McEwan, J., Oyama, M.A., Smith, S.,Patteson, M., French, A.T., Culshaw, G.J., Braz-Ruivo, L., Estrada, A., O’sullivan, M.L., Loureiro, J., Willis, R.,Watson, P. 2012. Efficacy of pimobendan in the prevention of congestive heart failure or sudden deathin Doberman Pinschers with preclinical dilated cardiomyopathy (the PROTECT study). J. Vet. Intern. Med.26:1337-1349.

4.Vollmar AC, Fox PR. 2016. Long-term Outcome of Irish Wolfhound Dogs with Preclinical Cardiomyopathy, Atrial Fibrillation, or Both Treated with Pimobendan, Benazepril Hydrochloride,orMethyldigoxin Monotherapy. J Vet Intern Med. 30(2):553-9.