เยื่อตาขาวอักเสบเป็นหนึ่งในโรคตาที่พบได้บ่อยในสุนัข มีลักษณะอาการของโรคหลากหลาย เช่น เยื่อตาขาวบวม น้ำตาไหลมากกว่าปกติซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตน้ำตามากเกินไปหรือท่อน้ำตามีการระบายไม่สม่ำเสมอ ภาวะตาแดงซึ่งเกิดจากหลอดเลือดในเยื่อตาขาวขยายตัวจากการถูกกระตุ้นโดยสิ่งเร้าต่าง ๆ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดทำให้เยื่อตาขาวมีสีแดงมากขึ้น และแผลหลุมที่เยื่อตาในกรณีมีการอักเสบรุนแรงจากการติดเชื้อบางชนิดหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก เป็นต้น จะเห็นได้ว่าอาการของโรคเยื่อตาขาวอักเสบนั้นคล้ายกับโรคตาชนิดอื่น ๆ ไม่มีอาการจำเพาะต่อโรค นอกจากนั้นยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของโครงสร้างภายในดวงตา ความผิดปกติของโครงสร้างรอบ ๆ ดวงตา หรือโรคทางระบบ ซึ่งสามารถเป็นผลมาจากทั้งโรคไม่ติดเชื้อและโรคติดเชื้อ ทั้งนี้ตัวอย่างสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการเยื่อตาขาวอักเสบในสุนัข มีดังนี้
1. เยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis)
เยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ในสุนัขสังเกตได้ค่อนข้างยากหากตัวสุนัขไม่ได้แสดงอาการผิดปกติชัดเจน ในรายที่มีอาการแพ้น้อยอาจมีการดำเนินไปของโรคแบบเรื้อรังเนื่องจากไม่เป็นที่สังเกตของเจ้าของ อีกทั้งพฤติกรรมบางอย่างของสุนัขที่เป็นผลมาจากการแพ้ยังคล้ายคลึงกับพฤติกรรมทั่วไปของสัตว์ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของเข้าใจว่าเป็นวิสัยปกติของสุนัขและไม่ทันสังเกตความผิดปกติ เช่น ยกอุ้งเท้าเกาตา และหรี่ตาไม่สู้แสง เป็นต้น นอกจากนี้อาการต่าง ๆ ที่กล่าวไปนั้นยังคล้ายกับอาการตาอักเสบที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนั้น การสังเกตอาการสัตว์ การซักประวัติ การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจพื้นฐานทางจักษุอย่างครบถ้วนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ควรปฏิบัติ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยแยกแยะโรคภูมิแพ้ขึ้นตาออกจากโรคตาชนิดอื่น ๆ ได้ เยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ที่พบได้ในสุนัขแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. เยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ชนิด atopy (atopic conjunctivitis) เป็นชนิดของภาวะเยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ ที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัข โดยจะแสดงอาการหลัก ๆ ได้แก่ คันตา เยื่อตาขาวบวม เยื่อตาขาวแดง และน้ำตาไหลมากกว่าปกติ ส่วนในรายที่มีการแพ้อย่างเรื้อรังและอาการรุนแรงอาจมีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ทั้งนี้สุนัขที่มีภาวะภูมิแพ้ประเภทนี้ส่วนใหญ่พบว่าเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) อยู่แต่เดิมด้วย
2. การแพ้ยา (drug hypersensitivity) ยาที่ใช้รักษาโรคตามีหลายประเภท แต่จะมีตัวยา 2 ชนิดที่สุนัขมักมีประวัติแพ้ยาบ่อย ได้แก่ neomycin และกลุ่มยา carbonic anhydrase inhibitors โดยรอยโรคบริเวณดวงตาของสุนัขที่แพ้ยาจะค่อนข้างรุนแรง เช่น ผิวหนังรอบดวงตาถลอกเป็นแผลหลุม เปลือกตาอักเสบ และมีกระจกตาอักเสบ เป็นต้น
3. แมลงสัตว์กัดต่อย (insect bites and sting) สุนัขสามารถแสดงอาการแพ้พิษแมลงทางดวงตาได้แม้จะถูกแมลงกัดต่อยบริเวณอื่นของร่างกายที่ไม่ใช่ตำแหน่งดวงตาโดยตรง ซึ่งอาการที่พบจะไม่หลากหลายแต่สังเกตได้ชัดเจนและรวดเร็วหลังได้รับพิษ ได้แก่ เยื่อตาขาวแดง และดวงตาบวมทั้งสองข้างอย่างรุนแรง
การรักษาอาการเยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้ในสุนัขมักนิยมใช้ยาประเภทเฉพาะที่สำหรับโรคตาเป็นหลัก โดยอาการแพ้แบบ atopy ช่วงแรกจะใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการอักเสบเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ส่วนระยะยาวหรือในรายที่มีอาการแพ้เรื้อรังจะใช้ cyclosporine 0.2-2% กับ tacrolimus 0.01-0.04% ซึ่งมีทั้งชนิดน้ำและขี้ผึ้งป้ายตา หากสุนัขเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่แล้วก็มักใช้ยารักษาโรคผิวหนังควบคู่ไปด้วย หากสุนัขมีภาวะกระจกตาอักเสบและตาแห้งแนะนำให้ใช้สารหล่อลื่นดวงตาร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสที่สารก่อภูมิแพ้จะเข้าถึงดวงตากับคงสภาพความชุ่มชื้นของผิวดวงตาให้เป็นปกติ นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการให้สุนัขสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ และควรสวมปลอกคอกันเลีย (Elizabethan collar) ป้องกันไม่ให้สุนัขเกาบริเวณดวงตาขณะอยู่ในกระบวนการรักษา สำหรับสุนัขที่มีภาวะเยื่อตาขาวอักเสบจากภูมิแพ้จากการแพ้ยา ให้ถอนยาโรคตาทุกชนิดที่ใช้อยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนี้ให้พิจารณาจ่ายยาสเตียรอยด์ควบคุมความรุนแรงของอาการ หลังจากนั้นค่อย ๆ กลับมาใช้ยาโรคตาแต่ละชนิดอีกครั้งเพื่อวินิจฉัยตัวยาที่เป็นสาเหตุของการแพ้ เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ตัวยาดังกล่าวในอนาคต สุดท้ายคือกรณีที่สุนัขตาอักเสบจากการแพ้พิษแมลงหรือสัตว์ต่าง ๆ เบื้องต้นจะใช้ยาสเตียรอยด์แบบออกฤทธิ์ทางระบบก่อน จากนั้นจึงค่อยใช้รูปแบบเฉพาะที่ร่วมกับยาต้านฮิสตามีน (antihistamine)
2. โรคภูมิคุ้มกัน (immune-mediated conjunctivitis)
หากสุนัขมีอาการเยื่อตาขาวอักเสบโดยที่ตรวจไม่พบสิ่งแปลกปลอมภายในดวงตาหรือความผิดปกติของโครงสร้างดวงตา อาจมีแนวโน้มว่ามีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของตัวสัตว์เองที่ทำงานผิดปกติ เนื่องจากเมื่อทำการตรวจวินิจฉัยรอยโรคเพิ่มเติมก็จะพบโครงสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ปรากฏอยู่ด้วย ตัวอย่างอาการตาอักเสบจากโรคภูมิคุ้มกันที่พบได้ในสุนัขมีดังนี้
2.1 ปลอกหุ้มตาอักเสบ (episcleritis) เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณตาขาวชั้นตื้น ๆ และเนื้อเยื่อที่เรียกว่า episclera สุนัขจะมีอาการเยื่อตาขาวแดงและหนาตัวผิดปกติ และอาจพบกระจกตาอักเสบร่วมด้วย ซึ่งพบเป็นข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ การอักเสบของปลอกหุ้มตาในสุนัขมักพบอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ การอักเสบแบบแผ่กระจาย (diffuse episcleritis) กับการอักเสบแบบมีตุ่มนูน (nodular granulomatous episcleritis) หากเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบการสะสมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ภายในชั้นเนื้อเยื่อตาขาว เช่น ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) พลาสมาเซลล์ (plasma cell) และ ฮีสติโอไซต์ (histiocyte) เป็นต้น รวมไปถึงเซลล์ชนิดไฟโบรบลาสต์ (fibroblast) ด้วย
2.2 กระจกตาอักเสบเรื้อรัง (atypical pannus) โดยทั่วไปโรคภูมิคุ้มกัน pannus จะเกิดบริเวณกระจกตาและเยื่อตาขาว แต่สำหรับ atypical pannus พบว่ารอยโรคอยู่แค่บริเวณเยื่อตาขาวเป็นหลัก ซึ่งสุนัขบางสายพันธุ์จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ได้แก่ เยอรมัน เชพเพิร์ด (German shepard) เกรย์ฮาวด์ (Greyhound) และเบลเยี่ยม ชีพด็อก (Belgian sheepdog) สุนัขจะมาด้วยอาการหนังตาที่สาม (third eyelid; nictitating membrane) มีลักษณะคล้ายกับพื้นหินกรวด (cobblestone granulation tissue) กล่าวคือ มีการหนาตัว สีแดงปนสีคล้ำทั้งสองข้าง และมีตุ่มนูนขนาดเล็กขึ้นอยู่ด้วย เมื่อตรวจวินิจฉัยตัวอย่างชิ้นเนื้อเพิ่มเติมจะพบการสะสมของเซลล์เม็ดสี เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์กับพลาสมาเซลล์ และเซลล์พังผืด
การรักษาเยื่อตาอักเสบจากระบบภูมิคุ้มกันนิยมรักษาด้วยยาเฉพาะที่เป็นหลัก โดยช่วงแรกในระยะเวลาสั้น ๆ จะใช้ยาสเตียรอยด์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบ จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นยา cyclosporine กับ tacrolimus ซึ่งยาสองชนิดนี้สามารถให้ในระยะยาวได้เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อสุนัขมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ยาสเตียรอยด์
3. เยื่อตาขาวอักเสบที่เกิดจากการระคายเคือง (frictional irritant conjunctivitis)
เมื่อมีวัตถุหรือสิ่งแปลกปลอมเสียดสีหรือรบกวนโครงสร้างผิวดวงตาและยังไม่ถูกกำจัดออกไป จะทำให้เกิดการอักเสบซ้ำ ๆ จนส่งผลให้สุนัขเกิดการระคายเคืองที่ดวงตาตามมา สุนัขอาจมีอาการเยื่อตาขาวแดง เยื่อตาขาวบวม และขี้ตาขุ่น ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองนั้นมีทั้งปัจจัยภายนอกอย่างสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดอยู่ในดวงตา และปัจจัยภายใน เช่น มีเนื้องอก dermoid ที่กระจกตา เนื้องอกหนังตา ภาวะเปลือกตาม้วนเข้าหรือม้วนออกอย่างผิดปกติ และขนตาขึ้นผิดที่ เป็นต้น จึงควรทำการตรวจดวงตาอย่างถี่ถ้วนเพื่อวินิจฉัยสิ่งที่เป็นต้นเหตุของการระคายเคือง และรักษาโดยการกำจัดสิ่งดังกล่าวออกจากบริเวณดวงตา หากเป็นสิ่งแปลกปลอมภายนอกก็ให้นำออกไป ส่วนกรณีที่มีก้อนเนื้อ เปลือกตาม้วนผิดปกติ และขนตาขึ้นผิดที่ให้พิจารณาผ่าตัดแก้ไขหรือเอาออก
4. เยื่อตาขาวอักเสบที่เกิดจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (traumatic conjunctivitis)
สุนัขที่ดวงตาบาดเจ็บจากการถูกกระแทกหรือถูกของมีคมมักมาด้วยอาการตาอักเสบบวมอย่างรุนแรง และอาจมีแผลหลุมที่เยื่อบุตาร่วมกับภาวะเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้การวินิจฉัยทำได้ค่อนข้างยาก เบื้องต้นจึงควรลดอาการบวมก่อนแล้วค่อยทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อรักษาต่อไป โดยการรักษามักใช้วิธีประคบเย็นกับให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่ก็อาจพิจารณาให้ยา NSAIDs ทางระบบเพื่อลดอาการตาบวม หรือให้ยาต้านปฏิชีวนะทางระบบร่วมด้วยในกรณีที่เยื่อบุตาทุกชั้นได้รับความเสียหายหนักจนเป็นแผลลึก
5. เยื่อตาขาวอักเสบที่เกิดจากไวรัสเฮอร์ปีส์ (herpesvirus)
Canine herpesvirus-1 (CHV-1) เป็นไวรัสที่อยู่ใน genus Varicellovirus และ family Herpesviridae พบการป่วยได้ในประชากรสุนัขทั่วโลก สามารถติดเข้าสู่สุนัขได้ทุกช่วงอายุผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตัวที่มีเชื้อ เช่น น้ำลาย น้ำตา และละอองลอยที่แพร่กระจายในอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ในลูกสุนัขสามารถได้รับเชื้อจากแม่สุนัขที่มีเชื้อตั้งแต่ช่วงตั้งท้องด้วย สุนัขที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในสถานที่แออัดมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะกับรายที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างลูกสุนัขแรกเกิดกับสุนัขอายุมาก เชื้อ CHV-1 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปแฝงตัวอยู่ที่ปมประสาทของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 เป็นหลัก ทำให้สุนัขกลายเป็นพาหะนำโรคไปตลอดชีวิต และกระตุ้นให้อาการป่วยกำเริบกับเฉดเชื้อออกมาได้ทุกเมื่อหากอยู่ภายใต้ภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ภาวะเครียด ป่วยด้วยโรคที่ต้องรับยาปรับภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น
สุนัขที่ติดเชื้อ CHV-1 จะแสดงอาการหลัก ๆ อยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสืบพันธุ์ ระบบหายใจ และดวงตา ในส่วนของอาการทางดวงตานั้นไม่จำเพาะต่อโรค แต่อาการที่พบบ่อยและสังเกตเห็นชัดที่สุดในสุนัขป่วย ได้แก่ เยื่อตาขาวอักเสบ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตากระตุก ตาไม่สู้แสง เยื่อตาขาวแดง เยื่อตาขาวบวม น้ำตาไหลมากกว่าปกติซึ่งอาจมีเมือกหรือเมือกหนองปนอยู่ด้วยในกรณีที่การดำเนินไปของโรครุนแรงขึ้น เปลือกตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และแผลหลุมที่กระจกตา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรอยโรคที่เป็นจุดสังเกตได้อีก 2 ลักษณะ ได้แก่ แผลหลุมกับจุดเลือดออกบริเวณเยื่อตาขาว เนื่องจากรอยโรคเหล่านี้ไม่ค่อยปรากฏในโรคเยื่อตาอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ มากนัก จึงเป็นจุดสังเกตให้สามารถสงสัยว่าสุนัขอาจติดเชื้อ CHV-1 ได้ การป่วยจากการติดเชื้อ CHV-1 ในลูกสุนัขกับสุนัขอายุมากหรืออยู่ในช่วงภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะแสดงอาการป่วยค่อนข้างรุนแรง ซึ่งตรงข้ามกับสุนัขโตเต็มวัยภูมิคุ้มกันปกติที่เมื่อป่วยแล้วมักแสดงอาการน้อยกว่า สามารถวินิจฉัยได้ด้วยการสังเกตอาการเบื้องต้น ตรวจร่างกาย ตรวจพื้นฐานทางจักษุ และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งของสุนัขป่วยไปตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการซึ่งจะนิยมใช้วิธี polymerase chain reaction (PCR) หรือวิธีแยกเชื้อไวรัส (virus isolation)
อาการป่วยจากเชื้อ CHV-1 สามารถหายเองได้กรณีที่สุนัขมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงเพียงพอ แต่ตัวสุนัขก็จะมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายไปตลอดช่วงชีวิต ส่วนลูกสุนัขโดยเฉพาะช่วงแรกเกิดมีโอกาสรอดชีวิตต่ำเนื่องจากความรุนแรงของอาการป่วยสร้างความเสียหายให้โครงสร้างดวงตาหลายโครงสร้าง แม้รอดชีวิตมาได้ก็มักป่วยด้วยโรคตาหรือโรคทางระบบอื่น ๆ แบบเรื้อรังในภายหลัง สำหรับการรักษาโรคนี้ยังไม่มีรูปแบบการรักษาที่จำเพาะ จะนิยมใช้วิธีรักษาตามอาการ หรือใช้ยาต้านไวรัสประเภทเฉพาะที่ เช่น idoxuridine trifluridine และ cidofovir ร่วมด้วยเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วยกับโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามตัวยา cidofovir พบว่าอาจมีความเป็นพิษต่อดวงตาสุนัข จึงควรพิจารณาเลือกใช้ยาชนิดดังกล่าวอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้เป็นตัวเลือกหลักในการรักษา
6. พยาธินัยน์ตา (eyeworm)
พยาธินัยน์ตาในสุนัขมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Thelazia callipaeda จัดอยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม (nematode) เป็นปรสิตตัวสำคัญที่ก่อโรค thelaziosis มีโฮสต์แท้ (definitive host) เป็นสัตว์ปศุสัตว์ สัตว์กลุ่มกระต่าย สัตว์กินเนื้อ เช่น แมว และสุนัขจิ้งจอก เป็นต้น และที่สำคัญยังสามารถติดต่อสู่คนได้ด้วย (zoonosis) พยาธินัยน์ตามีโฮสต์กึ่งกลาง (intermediate host) เป็นแมลงวันผลไม้สปีชีส์ Phortica เช่น P. variegata ซึ่งพบในแถบทวีปยุโรปกับอเมริกาเหนือ P. okadai และ P. kappa ที่พบในแถบทวีปเอเชีย เป็นต้น
แมลงวันจะตอมกินสารคัดหลั่งจากดวงตาสุนัขป่วยโรคพยาธิแล้วรับตัวอ่อนพยาธิระยะที่ 1 เข้ามา จากนั้นตัวอ่อนก็เจริญต่อในทางเดินอาการของแมลงวันจนเข้าสู่ตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ เมื่อแมลงวันไปตอมดวงตาของสุนัขตัวถัดไปก็จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดต่อเข้าสู่ดวงตา แล้วตัวอ่อนก็พัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัยต่อไป ตัวพยาธิจะชอนไชบนเยื่อผิวดวงตาหรืออยู่ตามหนังตาที่สาม ทำให้สุนัขเกิดการระคายเคือง อาจพบอาการเยื่อตาขาวอักเสบแดง เปลือกตาอักเสบ เยื่อตาขาวบวม น้ำตาไหลมากกว่าปกติ ในกรณีที่อักเสบมากอาจมีหนองร่วมด้วย หากไม่ได้รับการรักษา ในระยะยาวอาจส่งผลให้สุนัขตาบอดได้ ในส่วนของการรักษาจะนิยมใช้วิธีการชะล้างดวงตาเพื่อเอาตัวพยาธิออก จากนั้นให้ยาต้านปรสิตซึ่งมีตัวเลือกหลายรูปแบบ เช่น ยาหยด moxidectin 2.5% ร่วมกับ imidacloprid 10% ยากิน milbemycin oxime ผสม praziquantel หรือให้ sarolaner 1.2 mg/kg ผสมกับ moxidectin 24 µg/kg และ pyrantel 5 mg/kg เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
1. Bezerra-Santos MA, Mendoza-Roldan JA, Sgroi G. et al. 2022. Efficacy of a formulation of sarolaner/moxidectin/pyrantel (Simparica Trio®) for the prevention of Thelazia callipaeda canine eyeworm infection. Parasites Vectors 15. 370.
2. Castro MDS, David MBM, Gonçalves EC, Siqueira AS, Virgulino RR, Aguiar DCF. 2022. First molecular detection of canine herpesvirus 1 (CaHV-1) in the Eastern Brazilian Amazon. J Vet Sci. 23.
3. Delgado E, Gomes É, Gil S. et al. 2023. Diagnostic approach and grading scheme for canine allergic conjunctivitis. BMC Vet Res 19. 35.
4. Evermann JF, Ledbetter EC, Maes RK. 2011. Canine reproductive, respiratory, and ocular diseases due to canine herpesvirus. Vet Clin North Am Small Anim Pract. 41. 1097-120.
5. Ledbetter EC. 2021. Diagnosing, Treating, and Managing Causes of Conjunctivitis in Dogs and Cats. Todayveterinarypractice. 55-64.
6. Marino V, Gálvez R, Mascuñán C, Domínguez I, Sarquis J, Montoya A, et al. 2021. Update on the treatment and prevention of ocular thelaziosis (Thelazia callipaeda) in naturally infected dogs from Spain. Int J Parasitol. 51. 73–81.
7. Rolbiecki L, Izdebska JN, Franke M, Iliszko L, Fryderyk S. 2021. The Vector-Borne Zoonotic Nematode Thelazia callipaeda in the Eastern Part of Europe, with a Clinical Case Report in a Dog in Poland. Pathogens. 10. 55.
8. Schwartz AB, Lejeune M, Verocai GG, Young R, Schwartz PH. 2021. Autochthonous Thelazia callipaeda Infection in Dog, New York, USA, 2020. Emerg Infect Dis. 27. 1923-1926.
9. Tropical Council for Companion Animal Parasites (TroCCAP). 2019. Guidelines for the diagnosis, treatment and control of canine endoparasites in the tropics. [online]. Available: https://www.troccap.com/canine-guidelines/. Accessed date: 3 July 2023.