พยาธิที่พบในแมวทั้งพยาธิภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร และพยาธิภายใน เช่น พยาธิในลำไส้ พยาธิในปอด มีหลายชนิดที่ก่อโรคร้ายแรงในแมวและติดต่อสู่คนได้ สำหรับพยาธิภายนอกและพยาธิภายในลำไส้ เจ้าของและสัตวแพทย์ล้วนแต่รู้จักและคุ้นเคยกับพยาธิเหล่านี้กันเป็นอย่างดีแล้ว ในที่นี้จึงจะขอพูดถึงพยาธิในปอดที่เริ่มพบการติดเชื้อมากขึ้นทั่วโลกและแมวโดยแมวบางตัวอาจไม่แสดงอาการ หรือก่ออาการคล้ายการแพ้อากาศหรือหวัดแมวทำให้ถูกมองข้ามไป แต่สำหรับลูกแมวหรือแมวที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือรับพยาธิมาจำนวนมาก อาจทำให้อาการร้ายแรงจนเสียชีวิตได้จากการที่มีพยาธิอุดตันทางเดินหายใจ ปอดเป็นพังพืด-ยุบตัว, ระบบหายใจล้มเหลว หรืออาจเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่นในกรณีของแมวที่เสียชีวิตขณะผ่าตัดทำหมัน (anesthetic-associated death) ในโครงการ trap-neuter-release ของอเมริกา ที่พบว่ามีพยาธิในปอดและคาดว่าเกิดจากพยาธิทำให้ปอดมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศน้อยลงและทำให้เสียชีวิต
กลุ่มพยาธิตัวกลม ตัวแรกคือ Aelurostrongylus abstrusus เป็นพยาธิที่พบการรายงานมากที่สุด วงจรของการติดต่อ คือ เชื้อจากสิ่งแวดล้อมจะไชเข้าสู่ intermediate host ที่ 1 ซึ่งเป็นสัตว์กลุ่ม mollusk ได้แก่ หอย ทาก จากนั้น intermediate host ที่ 2 (paratenic host) เช่น สัตว์ฟันแทะ, กบ, กิ้งก่า, งู และนก จะมากินหอย ทาก แมวจะได้รับเชื้อจากการกิน paratenic host เหล่านี้ และพยาธิตัวเต็มวัยจะฝังตัวเป็น nodule อยู่ใน bronchiole, alveolar duct และ alveoli พยาธิตัวที่สองคือ O. rostratus จะพบใน bronchial mucosa ของสัตว์กลุ่มแมวป่าและสุดท้ายคือ Troglostrongylus spp. พบการรายงานมากทั้งในกลุ่มแมวป่าและแมวบ้าน พบใน trachea, bronchi, และ T. brevior สามารถพบใน bronchiole ได้ด้วย ทั้ง A. abstrusus และ Troglostrongylus spp. มี intermediate host ร่วมกัน คือ หอย ประกอบกับเชื้อสามารถออกมากับเมือก (pedal mucous secretion) แล้วอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำได้แม้หอยที่เป็น host จะตายไปแล้ว ทำให้พบติดเชื้อร่วมกันได้บ่อยและ Troglostrongylus spp. นอกจากการกินแล้วยังคาดว่าติดต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกหรือน้ำนมได้และเป็นพยาธิในปอดที่ทำให้ลูกแมวเสียชีวิตมากที่สุดอีกด้วย
พยาธิแส้ม้า Eucoleus aerophilus (ชื่อเดิม Capillaria aerophile) มีการรายงานทั่วโลก สามารถติดในสัตว์กลุ่ม carnivore รวมถึงคนได้ด้วยแต่ยังมีการรายงานน้อย พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในขั้นใต้ submucosa โดยตัวอ่อนจะเคลื่อนที่จากลำไส้เล็กเข้าสู่ alveoli ผ่านหลอดเลือดและเจริญเป็นตัวเต็มวัยใน bronchiole และ bronchi แมวจะติดจากการกินตัวอ่อนในสิ่งแวดล้อมหรือคาดว่าอาจจะติดจากการกิน paratenic host เช่น ไส้เดือน
พยาธิใบไม้ Paragonimus spp. จะเข้าไชเข้าสู่ intermediate host ที่ 1 คือ หอยน้ำ จากนั้นจะเจริญและไชเข้าสัตว์กลุ่ม crustacean เช่น กุ้ง กั้ง ปู เพื่อเจริญเป็นระยะติดต่อ (metacercaria) ดังนั้นการกินกุ้ง กั้ง ปูที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่ 145 องศาเซลเซียสจึงเป็นสาเหตุหลักของการติดพยาธิปอดในคน รองลงมาคือติดจากการกิน paratenic host เช่น หนู กระต่าย ไก่ หมูป่าที่มีเชื้อ ส่วนแมวติดจากการกิน paratenic host

อาการ

แมวบางตัวอาจไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการไม่รุนแรง เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต, ไอแบบมีเสมหะ หายใจแรง ใช้ช่องท้องหายใจ มีเสียง end-respiratory crackles และจากการที่พยาธิอาศัยและไข่ไว้ในชั้นเยื่อบุของ alveoli, bronchiole และ bronchi ทำให้เกิด granulomatous reaction, fibrosis, emphysema อาจถึงขั้น pneumothorax ได้, มี hypertrophy และ hyperplasia ของกล้ามเนื้อเรียบในหลอดเลือดแดงในปอด อาจทำให้เกิด hypertension, pulmonary hemorrhage, lung consolidation และในระยะยาวจะพัฒนาเป็น Right-sided heart disease รายที่รุนแรงอาจมี pulmonary regurgitation ด้วย ดังนั้นหากแมวที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจและมี regurgitation ควรตรวจสงสัยพยาธิในปอดด้วย และจากการเคลื่อนที่ของพยาธิจากลำไส้มายังปอด อาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น S. typhimurium, Pseudomonas spp., E. coli จนทำให้มี pleural effusion ความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับชนิด-จำนวนของพยาธิ ปริมาตรปอด-ขนาดทางเดินหายใจของสัตว์และระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ในส่วนของระบบภูมิคุ้มกัน immune-mediated reaction type I, III, IV จะช่วยตัดวงจรชีวิตลดปริมาณพยาธิได้แต่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ดังนั้นจะช่วยลดความรุนแรงระยะยาวได้แต่รอยโรคที่เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถหายได้

การวินิจฉัย

การตรวจจากตัวอย่างอุจจาระเพื่อดูตัวอ่อนระยะ L1 สามารถทำได้ 3 วิธี คือ 1. fresh fecal smear ควรใช้ตัวอย่างปริมาณเท่าเหรียญบาทและตรวจภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อให้ยังสามารถเห็นตัวอ่อนเคลื่อนไหวได้ 2. fecal floatation เป็นการตรวจที่มีความไวต่ำและต้องระวังเรื่องความเข้มข้นของสารละลายที่ใช้ เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อ L1 ได้ 3. Baermann migration method เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหาพยาธิแต่มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง และหากผลเป็นลบ ต้องทำซ้ำต่ออีก 3 ครั้งเพื่อยืนยัน อย่างไรก็ตามทั้ง 3 วิธีไม่สามารถตรวจในระยะ prepatent period ซึ่งกินระยะเวลานาน 1-2 เดือนได้และแม้จะเห็นตัว L1 ก็ไม่สามารถแยกชนิดพยาธิได้ เนื่องจาก L1 มีลักษณะคล้ายกันมาก ปัจจุบันมีการตรวจระดับโมเลกุลด้วยวิธี Nested-PCR จากตัวอย่างอุจจาระ, tracheal swabs/wash, BAL cytology วิธีนี้สามารถตรวจหาในระยะ prepatent period และตรวจแยกชนิดพยาธิได้เลย หรืออาจตรวจจากตัวอย่างเลือดเพื่อหา antibody โดยจะพบที่ 3 สัปดาห์หลังการติดเชื้อ แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็น antibody จากที่เคยติดเชื้อหรือกำลังติดเชื้ออยู่ ส่วนผล CBC อาจพบเป็น leukocytosis, eosinophilia, lymphocytosis, coagulopathy จากภาพ x-ray จะพบปอดมีลักษณะเป็น alveolar pattern รองลงมาคือ bronchial และ interstitial lung pattern และมักพบ bronchial wall หนาตัว, มี pulmonary nodule, หลอดเลือด pulmonary artery ขยายตัวร่วมด้วย

การรักษา

การรักษาต้องกำจัดพยาธิควบคู่ไปกับการบรรเทาอาการ โดยยาที่ใช้กำจัดพยาธิปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ แบบกินและแบบหยดหลัง สำหรับแบบกินแนะนำให้ใช้ fenbendazole โดยมีขนาดและระยะเวลาในการรักษาที่ต่างกันตั้งแต่ 20 mg/kg นาน 5 วัน ถึง ขนาด 50 mg/kg นาน 15 วัน เช่น หากเป็น A. abstrusus ให้กินขนาด 25-50 mg/kg bid นาน 10-14 วัน หรืออาจใช้ Milbemycin oxime (4mg)+praziquantel (10mg) กิน 3 ครั้งห่างกัน 15 วัน หรือหากเป็นรูปแบบหยดหลัง ซึ่งส่วนมากจะรักษาได้เพียง A. abstrusus จะมีหลายตัวยาออกฤทธิ์ เช่น Imidacloprid 10%+moxidectin 1%, Emodepside 2.1%+praziquantel 8.6% ทั้งคู่มีประสิทธิภาพเท่ากับการให้ fenbendazole 3 วัน สำหรับ Imidacloprid+moxidectin ใช้เวลารักษา 14-21 วัน, Selamectin (6mg/kg) กำจัดพยาธิได้หมดใน 30-60 วัน ส่วนการรักษากรณีสงสัยแมวติดพยาธิ Troglostrongylus spp. ร่วมด้วย ควรใช้ Fipronil 8.3%+(S)-methoprene 10%+eprinomectin 0.4%+praziquantel 8.3% ที่ออกฤทธิ์ต่อทั้ง A. abstrusus และ Troglostrongylus spp. และมีประสิทธิภาพทั้งในการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ ด้านการบรรเทาอาการมีแนวทางเช่นเดียวกับการรักษาโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ broad-spectrum, ให้ corticosteroid ขนาดลดอักเสบ, กรณีที่มี pleural effusion หรือ pneumothorax ปริมาณมากควรเจาะออกและให้ออกซิเจน

การป้องกัน

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการรายงานโรคพยาธิในปอดแมว แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีโรคนี้อยู่ในพื้นที่และการที่โรคพยาธิในปอดมีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในปอด, toxoplasmosis, respiratory mycoses, feline bronchial disease/asthma, foreign bodies, pulmonary tumor รวมถึงส่วนใหญ่ตอบสนองกับ corticosteroid เช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้มองข้ามโรคพยาธิในปอดและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมได้ ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเริ่มจากการถ่ายพยาธิตั้งแต่อายุ 2 สัปดาห์ หากสัตว์มีความเสี่ยงต่ำอาจเริ่มที่ 3 สัปดาห์ จากนั้นถ่ายทุกๆ 2 สัปดาห์ จนอายุ 10 สัปดาห์ แล้วจึงปรับเป็นโปรแกรมถ่ายพยาธิปกติ คือ ถ่ายทุก 1 เดือน หรือ ทุก 3-6 เดือน และถ่ายพยาธิในแม่แมวที่กำลังจะผสมหรือแมวท้องด้วย ด้านสิ่งแวดล้อมควรลดการสัมผัสกับสัตว์พาหะ เช่น การล่าหรือเล่นกบ กิ้งก่า งู นก หนู ไส้เดือน ร่วมกับการหยดยาที่มีฤทธิ์ป้องกัน ซึ่งในปัจจุบันมีตัวยาให้เลือกหลากหลาย ทั้งที่ออกฤทธิ์ต่อพยาธิในปอดทั้ง 2 ชนิดและออกฤทธิ์ครอบคลุมถึงพยาธิภายในและพยาธิภายนอกด้วย

เอกสารอ้างอิง

Maria Grazia Pennisi et al. Lungworm disease in cats: ABCD guidelines on prevention and management. Journal of Feline Medicine and Surgery. 2015. 626-636

Donato Traversa and Angela Di Cesare. Diagnosis and Management of Lungworm Infections in Cats. Journal of Feline Medicine and Surgery. 2016. 7-20