ในปัจจุบันสัตว์เลี้ยงและเจ้าของมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นทำให้มีโอกาสสูงที่จะสัมผัสเชื้อหรือพาหะจากสัตว์ โดยเฉพาะแมวที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความน่ารักและขี้อ้อนแต่ก็มีเขี้ยวเล็บและความไวเป็นอาวุธ ดังนั้นนอกจากสัตวแพทย์จะต้องดูแลสุขภาพสัตว์แล้วยังต้องให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงเรื่องโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและวิธีการป้องกันด้วย ซึ่งใน 2019 AAFP Feline Zoonoses Guidelines ได้แบ่งโรคตามการแพร่เชื้อและการติดต่อไว้ 5 ลักษณะ ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร, โรคจากการโดนกัดหรือข่วน, โรคตาและระบบทางเดินหายใจ, โรคระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ และโรคที่ติดต่อผ่านพาหะ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดการเพื่อป้องกันโรคไว้ด้วย

1. โรคระบบทางเดินอาหาร

เชื้อจะออกมากับอุจาระและปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ติดต่อสู่คนผ่านการกิน มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่สามารถไชเข้าผิวหนังได้ด้วย เช่น พยาธิปากขอ Ancylostoma spp. เชื้อส่วนมากจะอยู่ในระยะก่อโรคเลยหลังออกจากตัวแมว เช่น เชื้อแบคทีเรียและ Giardia spp. ก่ออาการท้องเสียในคนทั่วไป, Cryptosporidium felis ก่ออาการท้องเสียรุนแรงในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น เชื้อบางชนิดหลังออกจากตัวแมวแล้วต้องการเวลาเพื่อเข้าสู่ infective stage ก่อน เช่น Toxocara cati แมวติดจากการกินสัตว์ที่มีพยาธิตัวกลมนี้ เช่น นก แมลงสาบ หรือติดสู่ลูกผ่านรกหรือนมแม่ได้ อาการในคนบางรายพบ Ocular หรือ Visceral larva migrans ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้, Ancylostoma spp. ติดสู่คนผ่านการกินหรือไชเข้าผิวหนัง ในเด็กอาจทำให้เกิดภาวะเลือดจางและขาดสารอาหารได้, Toxoplasma gondii การติดต่อสู่คนหลัก ๆ จะเป็นการกิน tissue cysts ในเนื้อดิบ แต่ก็มีโอกาสติดจากการกิน fecal oocysts จากแมวได้ หากติดในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก เชื้อจะผ่านทางรกไปสู่ลูกทำให้แท้งหรือมีปัญหาระบบประสาทโดยเฉพาะการมองเห็นและมีความผิดปกติในระบบอื่นด้วย

ในการตรวจสุขภาพแมวที่รับมาเลี้ยงใหม่ ควรทำการตรวจ fecal smear หรือ fecal floatation ด้วยทุกครั้ง สำหรับแนวทางการให้ยาปฏิชีวนะกรณีแมวท้องเสีย จะให้ในกรณีที่มีภาวะ sepsis, bacteremia, salmonellosis, campylobacteriosis หรือกรณีอื่นที่มีความจำเป็นเท่านั้น รูปแบบที่ให้แนะนำเป็นแบบฉีดเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยาจากการ ได้ยาไม่ครบขนาดเนื่องจากการดูดซึมไม่ดี หากเป็นกรณีนอกเหนือจากนี้แนะนำให้ปรับเรื่องอาหารและเสริม probiotic สัตว์ก็สามารถหายเองได้ ในการป้องกันแมวทุกตัวควรได้รับยาถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน, ไม่ควรให้แมวกินเนื้อดิบหรือ ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ, ไม่ควรให้แมวล่าหรือกินสัตว์พาหะ เช่น แมลงสาบ นก หนู จิ้งจก, เจ้าของควรล้างมือหลังจับ ตัวแมวและสิ่งแวดล้อมรวมถึงก่อน-หลังสัมผัสอาหารและกินอาหารที่ปรุงสุกหรือผ่านการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น

2. โรคจากการโดนกัดหรือข่วน

เป็นลักษณะโรคที่พบได้บ่อยที่สุดใน 5 ลักษณะ เชื้อในกลุ่มนี้ที่พบเป็นประจำ คือ เชื้อราต่าง ๆ และเชื้อ Bartonella henselae ในอึหมัดบนเล็บแมว ก่อโรคแมวข่วน (cat scratch disease), เชื้อที่มีความสำคัญทางการแพทย์ คือ Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) แต่การรับเชื้อ MRSA จะเป็นแบบ reverse zoonosis คือ แมวรับเชื้อจากคนแล้วติดกลับสู่คน และอีกเชื้อคือ ไวรัสพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษา ยังพบการระบาดในประเทศและสามารถติดต่อจากแมวสู่คนและแมวสู่แมวได้

สำหรับเชื้อราและโรคแมวข่วนสามารถป้องกันได้โดยการรักษาความสะอาด เสริมภูมิคุ้มกันให้แมว ใช้ยากำจัดพยาธิภายนอกที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมหมัด และหากเจ้าของถูกกัดหรือข่วนแล้วควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ส่วนโรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้แมว ปัจจุบันวัคซีนในแมวมีความหลากหลายมากขึ้นและมีการพัฒนาให้ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้าบางชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้นานถึง 3 ปี (แต่ในประเทศไทยยังคงแนะนำให้ฉีดกระตุ้นทุกปีเพื่อประสิทธิภาพการป้องกันสูงสุด) หรือมีการพัฒนาเป็นวัคซีนที่ไม่ใช้ adjuvant ซึ่งจะช่วยลดผลข้างเคียงที่อาจพบหลังการฉีดวัคซีน เช่น การแพ้วัคซีน การอักเสบบริเวณที่ฉีด การเกิด fibrosarcoma หรือมีการรวมเชื้อหลายชนิดไว้ในวัคซีนเข็มเดียวเพื่อลดความเครียดในการจับบังคับและง่ายต่อการจัดการ โดยรวมหัด-หวัด-พิษสุนัขบ้า-FeLV

3. โรคตาและระบบทางเดินหายใจ

เชื้อกลุ่มนี้ติดต่อผ่านการสูดดม respiratory secretion ตัวอย่างเช่น Bordetella bronchiseptica ซึ่งเป็นเชื้อที่พบได้ในทางเดินหายใจแมวอยู่แล้ว สามารถติดในกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำเท่านั้น, Chlamydia felis มักไม่พบอาการแต่ในบางรายพบเยื่อบุตาอักเสบและความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ, Francisella tulerensis ก่อโรคไข้กระต่าย (Tularemia, Rabbit fever) ติดต่อผ่านการสูดดมละอองหรือกินน้ำปนเปื้อนเชื้อ ทำให้มีไข้สูงฉับพลัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโตและ sepsis ตามมา มักพบในทวีปยุโรปและอเมริกา ประเทศในทวีปเอเชียที่มีรายงานโรคได้แก่ จีน แมงโกเลีย รัสเซีย และคาซัคสถาน ส่วนไทยมีการรายงานครั้งเดียวในปี 2551 จากกระต่ายที่นำเข้าจากพื้นที่โรคระบาด, Yersinia pestis ก่อโรคกาฬโรค (Plague) แต่ประเทศไทยไม่พบการระบาดตั้งแต่ปี 2495 ทั้ง F. tulerensis และ Y. pestis ก่อโรครุนแรงมากในคนและสามารถติดต่อผ่านทางการถูกเห็บหรือแมลงดูดเลือดกัดได้ด้วย ดังนั้นแมวที่นำเข้าจากประเทศที่ยังมีการระบาดและมีอาการระบบทางเดินหายใจควรได้รับการตรวจยืนยันก่อน สำหรับเชื้อไวรัสที่ติดต่อในระบบนี้ ได้แก่ Avian influenza virus มีรายงานการติดต่อจากแมวสู่คนครั้งเดียวเท่านั้นในปี 2016 แต่ไม่ได้มีเป็นปัจจัยเสี่ยงในการระบาดของ AI ในคน เนื่องจากผู้ดูแล shelter ที่ติดไวรัสสัมผัสสารคัดหลั่งจากแมวที่มีเชื้อมาเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันตามสุขอนามัยที่เหมาะสมประกอบกับไม่พบการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อสู่ผู้อื่นต่อและเชื้อที่ติดคือ H7N2 ซึ่งเป็น low pathogenic avian influenza (LPAI) จึงไม่ได้ก่ออาการป่วยรุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้

4. โรคระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์

โรคติดต่อที่พบในระบบปัสสาวะ คือโรคฉี่หนู การติดต่อสู่คนส่วนใหญ่จะมาจากการติดจากแหล่งน้ำ บางส่วนติดจากเชื้อในปัสสาวะสุนัข ส่วนการติดจากแมวยังไม่มีรายงานเนื่องจากแมวส่วนมากจะสร้าง antibody ที่สามารถควบคุมเชื้อได้อยู่แล้ว ในแมวที่ติดเชื้อจึงไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย และจากการศึกษาสามารถตรวจพบ DNA ของเชื้อได้แต่ไม่พบ เชื้อมีชีวิตในปัสสาวะแมว ส่วนโรคที่พบในระบบสืบพันธุ์ คือ Q fever เกิดจากเชื้อ Coxiella burnetii เป็นเชื้อ rickettsia ติดต่อสู่คนผ่านการโดนเห็บกัดหรือหายใจเอาละอองเชื้อเข้าไปหรือสัมผัสสารคัดหลั่งโดยเฉพาะจากระบบสืบพันธุ์ เช่น น้ำนม ปัสสาวะ น้ำคร่ำ รก หรือสัมผัสทางอ้อมกับวัตถุที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง แมวที่มีเชื้อจะไม่แสดงอาการป่วยแต่บางกรณีอาจพบแท้งในช่วงท้ายได้ ส่วนในคนจะทำให้แท้ง คลอดก่อนกำหนด ลิ้นหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ปอดอักเสบได้ ในอเมริกาพบว่า แมว 8.5% ตรวจพบ DNA ของเชื้อจากตัวอย่างมดลูก ดังนั้นนอกจากเจ้าของสัตว์ที่ควรป้องกันตนเองแล้ว สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องควรสวมถุงมือและหน้ากากทุกครั้งก่อนการสัมผัสแมวที่กำลังจะคลอด แมวที่แท้งลูก เนื้อเยื่อมดลูกและสารคัดหลั่งจากระบบสืบพันธุ์

5. โรคที่ติดต่อผ่านพาหะ

พาหะที่นำโรคสู่คน ได้แก่ หมัดแมว (Ctenocephalides felis) ส่งต่อเชื้อ Bartonella spp., Rickettsia felis ก่อโรค Rickettsiosis กลุ่มไข้ผื่น (spotted fever group) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษามีโอกาสเกิด vasculitis รุนแรงและเสียขีวิตได้ ในประเทศไทยมักพบการระบาดบริเวณเขตชายแดน, เห็บ ส่งต่อเชื้อ B. burgdorferi และ A. Phagocytophilum ก่อโรค Human granulocytic anaplasmosis (HGA), ยุง นำเชื้อ West Nile virus, ยุงและริ้นฝอยทราย นำเชื้อ Leishmania spp. โดยในไทย มีรายงานการติดเชื้อในคนล่าสุดปี 2556 และในสุนัขล่าสุดปี 2561 ทั้งสองกรณีอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากโดนแมลงพาหะกัดแล้ว การโดนข่วนโดยที่มีอึของหมัดอยู่บนเล็บแมว ก็มีโอกาสติดเชื้อ Bartonella spp. ได้ หรือการที่คนกินหมัดที่มีเชื้อ Dipylidium caninum ก็ทำให้ติดพยาธิตัวตืดชนิดนี้ได้ การติดเชื้อแบบนี้พบมากในเด็กที่เล่นบนพรมกับแมวหรือใช้พรมร่วมกับแมว เพื่อป้องกันการติดต่อผ่านพาหะเหล่านี้แมวทุกตัวควรได้รับยาป้องกันพยาธิภายนอกเป็นประจำ และกำจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นแหล่งของพาหะด้วย

โดยสรุปแล้วเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แมวทุกตัวควรได้รับยากำจัดพยาธิภายนอกและภายในก่อนย้ายเข้าบ้าน จากนั้นหลังจากกักโรคครบ 7 วันควรพาไปทำวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าและกระตุ้นซ้ำทุกปี, ควรทำความสะอาดบริเวณ ที่อยู่ของสัตว์และตัวบ้านเป็นประจำ ไม่ให้หมักหมมหรือมีสัตว์พาหะ เช่น ริ้นฝอยทราย แมลงสาบ หนู, สวมถุงมือทุกครั้ง ที่สัมผัสและล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสแมวหรือสิ่งแวดล้อมของแมว, ล้างมือก่อน-หลังประกอบอาหารและรับประทานอาหาร, อาหารและน้ำที่แมวและเจ้าของบริโภคต้องผ่านการปรุงสุกหรือฆ่าเชื้อแล้ว หากปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้และให้ความรู้ความตระหนักแก่เจ้าของได้ก็จะช่วยลดอุบัติการณ์โรคติดต่อสู่คนได้ แต่กรณีที่พบว่าแมวติดโรคสัตว์สู่คนไปแล้วสัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำการจัดการและการทำความสะอาด และเจ้าของแมวควรพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป และหากโรคนั้นอยู่ในพรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 (พิษสุนัขบ้า ไข้หวัดนก ฉี่หนู) เจ้าของหรือสัตวแพทย์ที่ดูแลต้องแจ้งแก่สำนักงานปศุสัตว์ในท้องที่นั้นภายใน 12 ชั่วโมง หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ้างอิงข้อมูล

Michael R Lappin, et al. 2019 AAFP Feline Zoonoses Guidelines. Journal of Feline Medicine and Surgery. 2019. P1008-1021