วัคซีนนั้นประกอบไปด้วยเชื้อโรคที่ถูกทำให้อ่อนกำลังลง หรืออาจเป็นเชื้อโรคที่ตายแล้ว โดยเชื้อโรคเหล่านี้ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เมื่อร่างกายได้รับวัคซีน วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคชนิดนั้นๆขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์อาจพบว่าสัตว์นั้นมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากจนเกินไป (Hypersensitivity) จนส่งผลให้เกิดอาการแพ้วัคซีนได้ โดยอาจแบ่งปฏิกิริยา Hypersensitivity ออกได้เป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ Hypersensitivity type I, II, III และ IV ทั้งนี้ชนิดของ Hypersensitivity ที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมวที่แพ้วัคซีนได้แก่ Hypersensitivity type I ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึง Hypersensitivity type I เป็นหลัก
Hypersensitivity type I หรืออาจเรียกว่า Immediate hypersensitivity เนื่องจากปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นมักมีการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมากมักเกิดภายในไม่กี่นาทีภายหลังการได้รับวัคซีน ดังนั้นแล้วสัตวแพทย์อาจพิจารณาให้สัตว์ที่ได้รับวัคซีนนั้นรอดูอาการแพ้ภายหลังการได้รับวัคซีนที่โรงพยาบาลสัตว์ประมาณ 15 – 25 นาที เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการแพ้วัคซีนได้อย่างทันท่วงที¹
อาการทางคลินิก อาการทางคลินิกนั้นอาจพบได้ตั้งแต่อาการแพ้เพียงเล็กน้อย จนถึงอาการรุนแรงซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งสุนัขและแมวอาจมีอาการทางคลินิกที่แตกต่างกัน ดังนี้ สุนัขมักมีอาการ หน้าบวม เนื้อเยื่อรอบดวงตาบวม คัน ตุ่มนูนบวมแดง ช็อก ทั้งนี้มักไม่ค่อยพบอาการอาเจียน หรือท้องเสียในสุนัข สำหรับแมวมักมีอาการหน้าบวม หายใจลำบาก อาเจียนและท้องเสีย²
กลไกการเกิด Hypersensitivity type I เกิดจากการทำงานของ Immunoglobulin E (IgE) , Mast cells และ Basophils ที่มากเกินไปต่อส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่งของวัคซีน เช่น เชื้อโรค (Antigen) ยาปฏิชีวนะ และ อาหารเลี้ยงเซลล์ (Culture medium) ที่ใช้ในการผลิตวัคซีน เป็นต้น ปัจจุบันแม้จะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า Hypersensitivity type I ในสุนัขและแมวนั้นเกิดจากส่วนประกอบใดของวัคซีน แต่ส่วนประกอบที่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการแพ้วัคซีนในสุนัขนั้นคือ สารที่มีต้นกำเนิดมาจากวัว เช่น Fetal calf serum ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ใช้สำหรับการเลี้ยงเซลล์เพื่อผลิตวัคซีน³ ในปัจจุบันบริษัทผลิตวัคซีนจึงมีความพยายามที่จะผลิตวัคซีนโดยลดการใช้สารที่มีต้นกำเนิดมาจากวัวให้ได้มากที่สุด⁴
ความชุกของการเกิดการแพ้วัคซีน จากการสำรวจการแพ้วัคซีนในสุนัขหลังจากได้รับวัคซีนไป 3 วันพบว่า สุนัขที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กิโลกรัมมีอัตราการแพ้วัคซีนสูงกว่าสุนัขที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 10 กิโลกรัม² แต่อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ไม่ควรลดขนาดของวัคซีนเอง เนื่องจากขนาดของวัคซีนนั้นไม่ได้คำนวนจากน้ำหนักสุนัขเหมือนกับยาทั่วไป ปริมาณของเชื้อในวัคซีนถูกคำนวนให้เหมาะสมกับการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในสุนัขแต่ละตัวอยู่แล้ว ดังนั้นแล้วห้ามแบ่ง หรือลดขนาดวัคซีนเองอย่างเด็ดขาด ในประเทศอเมริกามีการคิดค้นวัคซีนในปริมาณที่เหมาะสมกับสุนัขพันธุ์เล็กแล้ว โดยวัคซีน 1 โดสจะมีปริมาตร 0.5 มิลลิลิตร แต่มีปริมาณของเชื้อที่เทียบเท่ากับวัคซีนในขนาด 1 มิลลิลิตร⁴
การดูแลสุนัขและแมวที่มีการแพ้วัคซีน สัตวแพทย์ควรพิจารณาให้การรักษาตามอาการและความรุนแรงของอาการทางคลินิก สำหรับการแพ้วัคซีนที่ไม่รุนแรง ได้แก่ หน้าบวม คัน สัตวแพทย์สามารถให้ยาที่ช่วยลดการอักเสบ เช่น สเตียรอยด์ หรือ Antihistamine ได้⁴ สำหรับภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้อย่างเฉียบพลัน (Acute anaphylaxis) มีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
1. พิจารณาให้ Epinephrine 1:1000 ที่ขนาด 0.01 mg/kg โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยอาจให้ซ้ำทุก 5 – 15 นาทีหากจำเป็น ในกรณีที่อาการแพ้รุนแรงมากและเกิดการเช็อกให้พิจารณาให้ Epinephrine 1:10,000 ในขนาด 0.1 mg/kg เข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ¹
2. ในกรณีที่มีอาการหายใจลำบาก อาจพิจารณาสอดท่อช่วยหายใจ หรือให้ Oxygen
3. ในกรณีที่สุนัขและแมวมีความดันต่ำ พิจารณาให้ Isotonic crystalloid fluid (เช่น Normal saline หรือ Lactated ringer solution) เข้าทางหลอดเลือด โดยอาจให้ในขนาดที่สูงถึง 90 ml/kg ในสุนัข และ 60 ml/kg ในแมวหากจำเป็น¹
4. อาจให้ยาในกลุ่ม H1-antihistamine เช่น diphenhydramine ทุก 8 – 12 ชั่วโมง หากจำเป็น¹
5. ในกรณีที่อาการสุนัขและแมวดีขึ้นแล้ว อาจพิจารณาให้ Fast acting glucocorticoid ผ่านหลอดเลือดดำเพื่อป้องกันการแพ้ในระยะท้าย (Late-phase response)¹
สำหรับสุนัข และแมวที่เคยแพ้วัคซีนนั้นเมื่อครบกำหนดวัคซีนในครั้งถัดไป สัตวแพทย์ควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนหรือไม่ ในกรณีที่แพ้วัคซีนที่จัดเป็น Core vaccine เนื่องจากการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุนัขและแมวจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนอีกครั้งที่อายุมากกว่า 16 สัปดาห์ ในกรณีนี้สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ในขนาดที่ลดการอักเสบแก่สัตว์เลี้ยงก่อนที่จะให้วัคซีน และติดตามอาการแพ้วัคซีนอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่แพ้วัคซีนที่จัดเป็น Noncore vaccine สัตวแพทย์อาจพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนเป็นชนิดๆไป⁴

อ้างอิงข้อมูล

1. Tizard IR. Adverse consequences of vaccination. 2021. Vaccines for Veterinarians. 2021.115–130.e1. doi: 10.1016/B978-0-323-68299-2.00019-8. Epub 2020 Jul 10. PMCID: PMC7348619.

2. Moore GE, Guptill LF, Ward MP, Glickman NW, Faunt KK, Lewis HB, Glickman LT. Adverse events diagnosed within three days of vaccine administration in dogs. J Am Vet Med Assoc. 2005 Oct 1;227(7):1102-8. doi: 10.2460/javma.2005.227.1102. PMID: 16220670.

3. Ohmori K, Masuda K, Maeda S, et al. IgE reactivity to vaccine components in dogs that developed immediate-type allergic reactions after vaccination. Vet Immunol Immunopathol 2005;104(3–4):249–56.

4. Day MJ, Horzinek MC, Schultz RD, Squires RA; Vaccination Guidelines Group (VGG) of the World Small Animal Veterinary Association (WSAVA). WSAVA Guidelines for the vaccination of dogs and cats. J Small Anim Pract. 2016 Jan;57(1):E1-E45. doi: 10.1111/jsap.2_12431. PMID: 26780857; PMCID: PMC7166872.