การเลือกใช้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดในแมวนั้นจัดเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอย่างหนึ่งของสัตวแพทย์ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ไม่แสดงอาการเจ็บปวดที่ชัดเจน บ่อยครั้งสัตวแพทย์จึงไม่สามารถประเมินความเจ็บปวดของแมวได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ร่างกายของแมวนั้นยังมีระบบเมแทบอลิซึมยาที่ใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้ยาค้างอยู่ในร่างกายได้นาน และก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายได้ง่าย อีกทั้งยาที่ได้รับการรับรองให้ใช้สำหรับลดความเจ็บปวดในแมวในปัจจุบันยังมีน้อย โดยยาบรรเทาปวดทางสัตวแพทย์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในแมวนั้นส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) และ opioids
1. ยากลุ่ม NSAIDs ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการลดไข้ และลดอักเสบ บ่อยครั้งที่อาการอักเสบนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด โดยยาในกลุ่มนี้สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cyclooxygenase-1 (COX-1) และ/หรือ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยผลิตสารสื่ออักเสบ หรือ prostaglandin ในปัจจุบันมียากลุ่ม NSAIDs ให้สัตวแพทย์เลือกใช้อย่างมากมาย สัตวแพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ยาในกลุ่มนี้จากความสามารถในการยับยั้งการทำงาน COX เนื่องจาก COX-1 นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร การสร้างเกล็ดเลือด และการทำงานของไต ดังนั้นยากลุ่ม NSAIDs ที่มีฤทธิ์ยับยั้ง COX-1 อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น การเกิดแผลของกระเพาะอาหาร เป็นต้น แต่ COX-2 นั้นมีแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบมากกว่า ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ยาในกลุ่ม NSAIDs ที่เหมาะสมนั้นควรมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของ COX-2 มากกว่าประสิทธิภาพในการยับยั้งการทำงานของ COX-1 เช่น meloxicam และ robenacoxib เป็นต้น
1.1 Meloxicam เป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐอเมริกาให้ใช้โดยการฉีดผ่านทางใต้ผิวหนังในแมว 1 ครั้งเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ/อาการเจ็บปวดหลังผ่าตัด โดยขนาดที่แนะนำคือ 0.3 mg/kg นอกจากนี้ meloxicam ยังมีในรูปแบบของยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับกินอีกด้วย จากการศึกษาพบว่าแมวสามารถกินยาน้ำแขวนตะกอนนี้ได้ค่อนข้างง่าย¹ แม้ว่ายาน้ำแขวนตะกอนนั้นจะยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA ให้ใช้ในแมว อย่างไรก็ตามมีการใช้ Meloxicam ในรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอนเป็นยานอกข้อบ่งใช้ (off-label use) ในการลดปวด-ลดอักเสบในแมว โดยขนาดที่แนะนำจาก International Society of Feline Medicine (ISFM) และ American Association of Feline Practitioners (AAFP) คือ 0.1 mg/kg 1 ครั้งในวันแรก จากนั้นลดเหลือ 0.05 mg/kg วันละ 1 ครั้งในวันถัดไป หรือให้ในขนาด 0.05 mg/kg 1 ครั้งในวันแรก จากนั้นลดเหลือ 0.025 mg/kg วันละ 1 ครั้งในวันถัดไป² โดยสัตวแพทย์อาจพิจารณาใช้ meloxicam ในการบรรเทาอาการเจ็บปวดระยะเรื้อรังในแมวได้³ แต่อย่างไรก็ตามต้องพึงระวังเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการให้ meloxicam เช่นกัน โดยเฉพาะกรณีที่ให้ meloxicam ระหว่างการผ่าตัด และต่อเนื่องหลังจากผ่าตัด เนื่องจากมีรายงานการเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้
1.2 Robenaxib เป็นยาที่ได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐอเมริกาให้ใช้ในการบรรเทาอาการปวด และอาการอักเสบหลังผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับกระดูก และผ่าตัดทำหมันทั้งเพศผู้และเพศเมียในแมว โดยทาง FDA รับรองการใช้ยา Robenaxib 3 วันในแมวที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 4 เดือน และน้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 2.5 กิโลกรัมเท่านั้น โดยแนะนำให้ใช้ในขนาด 1 mg/kg โดยให้วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน โดยในปัจจุบัน robenaxib มีในรูปแบบยาเม็ด
แม้ว่ายาในกลุ่ม NSIADs นั้นจะมีประสิทธิภาพที่ดีในการระงับความเจ็บปวด แต่อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ควรหลีกเลี่ยงการให้ยากลุ่มนี้พร้อมกับ furosemide และควรระมัดระวังเป็นพิเศษในกรณีที่ให้ยากลุ่ม NSAIDs พร้อมกับยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors รวมถึงยาที่มีความสามารถในการจับกับโปรตีนได้ดี เช่น phenobarbital, digoxin, cyclosporine, cefovecin เป็นต้น อีกทั้งยังควรระมัดระวังอย่างยิ่งกรณีที่แมวนั้นมีภาวะแห้งน้ำ ความดันต่ำ และโรคหัวใจ ในกรณีที่จำเป็นต้องให้ยา NSAIDs ในแมวกลุ่มดังกล่าว แมวควรได้รับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือด รวมถึงเฝ้าระวังอาการข้างเคียงเป็นพิเศษ
2. ยากลุ่ม Opioids ยาในกลุ่มนี้เหมาะกับการให้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแบบฉับพลัน แต่ในบางครั้งก็สามารถใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดเรื้อรังได้เช่นกัน สัตวแพทย์อาจพิจารณาให้ยาในกลุ่ม opioids ร่วมกับยาซึมก่อนผ่าตัด จากการศึกษาพบว่าการให้ยา buprenorphine ก่อนผ่าตัด และระหว่างการเย็บปิดแผลทำหมันแมวเพศเมียนั้นสามารถลดปวดในแมวได้ยาวนานถึง 6 ชั่วโมง⁴ อย่างไรก็ตามในกรณีที่ต้องการให้ยากลุ่ม opioids ทั้งก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัดนั้นไม่แนะนำให้ให้ยากลุ่มนี้ผ่านทางใต้ผิวหนัง แต่ควรให้ผ่านทางการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือผ่านทางหลอดเลือดดำแทน⁵ ปัจจุบันทาง FDA ของสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองยาในกลุ่ม buprenorphine ในรูปแบบเข้มข้นเป็นพิเศษ โดยยาดังกล่าวมีฤทธิ์ในการระงับปวดในแมวได้ถึง 24 ชั่วโมง
เอกสารอ้างอิง

¹Gunew M, Menrath V, Marshall R. Long-term safety, efficacy and palatability of oral meloxicam at 0.01–0.03 mg/kg for treatment of osteoarthritic pain in cats. J Feline Med Surg 2008; 10: 235–41.

²Gowan RA, Lingard AE, Johnston L, et al. Retrospective case-control study of the effects of long-term dosing with meloxicam on renal function in aged cats with degenerative joint disease. J Feline Med Surg 2011; 13:752-761.

³Sparkes AH, Heiene R, Lascelles BD, et al. IS FM and AAFP consensus guidelines: Long-term use of NS AIDs in cats. J Feline Med Surg 2010; 12:521-538.

⁴Evaluation of the perioperative analgesic efficacy of buprenorphine, compared with butorphanol, in cats J Am Vet Med Assoc 2014; 245: 195–202.

⁵Giordano T, Steagall PV, Ferreira TH, et al. Postoperative analgesic effects of intravenous, intramuscular, subcutaneous or oral transmucosal buprenorphine administered to cats undergoing ovariohysterectomy. Vet Anaesth Analg 2010; 37: 357–366.