การจัดการไรขี้เรื้อนในสุนัข

โรคผิวหนังในสุนัขเป็นอีกหนึ่งปัญหายอดนิยมที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ หรือ สุนัขจรจัด โดยโรคที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับแรกๆหรือพามาพบสัตวแพทย์ คงจะหนีไม่พ้น “โรคไรขี้เรื้อน” มีสาเหตุมาจากปรสิตภายนอก คือ ตัวไร (Mite) ซึ่งโรคไรขี้เรื้อนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการแสดงอาการทางคลินิกและชนิดของตัวไรที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ โรคไรขี้เรื้อนเปียก ซึ่งมีสาเหตุมาจากไร Demodex และไรขี้เรื้อนแห้ง ที่มีไร Sarcoptes เป็นสาเหตุ

ไรขี้เรื้อนเปียก

ไรขี้เรื้อนเปียก (ชื่อวิทยาศาสตร์ Demodex canis , ชื่อสามัญ Demodex Mites) หรือที่อาจรู้จักกันในชื่อไรขี้เรื้อนรูขุมขน เนื่องจากไรขี้เรื้อนชนิดนี้มักอาศัยอยู่ในรูขุมขน (hair follicle) เป็นส่วนใหญ่และพบได้บ้างที่ต่อมไขมันของผิวหนัง (sebaceous glands) โดยอาศัยอยู่ด้วยการกินซีบัม (sebum) และเซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว (cell debris) ของเยื่อบุรูขุมขนเป็นอาหาร ไรขี้เรื้อนเปียกจัดอยู่ในกลุ่มแมลงที่เป็นปรสิตภายนอก (Ectoparasite) มีขนาดเล็ก ลำตัวมีลักษณะเรียวยาว คล้ายตัวหนอน ตัวเต็มวัยจะมีขา 8 ขา เพศเมียจะมีขนาดความยาว 300 ไมโครเมตร ส่วนเพศผู้จะยาว 250 ไมโครเมตร

รูป 1 ไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัขภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (ซ้าย) ตัวอย่างรอยโรคไรขี้เรื้อนเปียก (ขวา)
รูป 2 ตำแหน่งของรอยโรคบนผิวหนังที่สัมพันธ์กับโรคไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัข

โดยแท้จริงแล้วไรขี้เรื้อนเปียกสามารถพบได้ปกติบนผิวหนังของสุนัข แต่ไรขี้เรื้อนจะไม่ก่อโรคทางคลินิกเนื่องจากมีปริมาณน้อย และสุนัขที่แข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันที่คอยทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียก ดังนั้นหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะทำให้ไรขี้เรื้อนเปียกสามารถเพิ่มจำนวนขึ้น และไชเข้าทำลายรูขุมขน ทำให้เกิดอาการขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีเม็ดตุ่ม มีตุ่มหนอง ผิวหนังเยิ้มแฉะ มีแผลหลุม ผิวหนังอักเสบ มีเลือดออก มีกลิ่นตัว เกิดรูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) ซึ่งเป็นลักษณะอาการของโรคไรขี้เรื้อนตามมา

ความรุนแรงของโรคไรขี้เรื้อนเปียกสามารถแบ่งเป็น 2 ระดับ ตามวิการของโรค ได้แก่

1) แบบเฉพาะที่ (Localized demodicosis) มักพบได้บ่อย ประมาณ 90% อาการไม่รุนแรง โดยจะพบรอยโรค 1-5 ตำแหน่ง บริเวณแก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า โดยสุนัขแสดงอาการขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีแผลอักเสบเป็นตุ่มแดงๆ เล็กๆ ซึ่งอาจหายได้เองหากสุนัขแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันดีพอ หรืออาจลุกลามจนกลายเป็นแบบกระจายทั่วตัว

2) แบบกระจายกระจายทั่วตัว (Generalized demodicosis) พบได้น้อย มักเกิดขึ้นในสุนัขโตที่มีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป หรือในสุนัขที่มีภาวะของโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ฮอร์โมนที่ผิดปกติ หรือการรักษาที่มีการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน โดยจะพบรอยโรคมากกว่า 5 จุด สุนัขจะแสดงอาการของการอักเสบของผิวหนังรุนแรง ขนร่วง ตุ่มหนองแตกออก เป็นแผลคันเกา มีเลือดออก ผิวหนังมีลักษณะหนาตัวและมีสีคล้ำขึ้น พบได้ตั้งแต่ใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณอุ้งเท้าที่เกิดการบวม อักเสบ แดง มีตุ่มหนอง และทำให้สุนัขเจ็บปวดมากเวลาเดินหรือลงน้ำหนัก

ไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัข

ไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัข (ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarcoptes scabiei var canis) ตัวไรชนิดนี้จะขุดผิวหนังชั้นนอก (superficial) เป็นโพรงเพื่อสืบพันธุ์วางไข่ และกินเศษผิวหนังเป็นอาหาร โดยมักพบได้บ่อยในบริเวณที่มีขนน้อย เช่น ตามขอบใบหู ใต้ท้อง ข้อศอกและข้อเท้าของขาหลังด้านนอก นอกจากนี้ยังพบว่าโรคไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัขถือเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic) โดยก่อให้เกิดโรคหิดในคน ไรขี้เรื้อนแห้งจัดอยู่ในกลุ่มแมลงที่เป็นปรสิตภายนอก (Ectoparasite) มีขนาดเล็ก เช่นเดียวกันกับไรขี้เรื้อนเปียก แต่ตัวเต็มวัยจะมีลักษณะเป็นทรงกลม ไม่มีตา มีขาสี่คู่ ตัวเมียมีขนาด 0.30-0.45 มม ตัวผู้มีขนาด 0.25-0.35 มม

รูป 3 ไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัขภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (ซ้าย) ตัวอย่างรอยโรคไรขี้เรื้อนแห้ง (ขวา)
รูป 4 ตำแหน่งของรอยโรคบนผิวหนังที่สัมพันธ์กับโรคไรขี้เรื้อนแห้งในสุนัข

สุนัขที่เป็นโรคไรขี้เรื้อนแห้งจะแสดงอาการคันตามตัว อาการคันจะเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ขนร่วงและเริ่มพัฒนาเป็นสะเก็ดแผลที่หนาตัวตามมา โดยรอยโรคที่สามารถพบสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

1.ระยะเฉียบพลันมาก (Peracute) รอยโรคจะคล้ายคลึงอาการแพ้ที่ผิวหนัง

2.ระยะเฉียบพลัน (Acute) จะพบลักษณะของผื่นราบสลับนูนแดง (erythematous maculopapular) ปะทุขึ้นมา ซึ่งเป็นผลให้เกิดสะเก็ดเลือดบนผิวหนังและทำให้ขนร่วงตามมา

3. ระยะเรื้อรัง (Chronic) จะพบว่าของผิวหนังมีการหนาตัวและมีสีที่เข้มขึ้นกระจายทั่วบริเวณรอยโรค (diffuse exfoliation with hyperpigmented lichenification) และพบการหนาตัวเป็นแคลลัส (Hyperkeratotic calluses) บริเวณศอกและข้อเท้า

นอกจากนี้สุนัขบางตัวอาจไม่พบการพัฒนารอยโรคที่ผิวหนังถึงแม้ว่าจะมีอาการคันมากก็ตาม ในขณะที่สุนัขที่มีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน จะพบรอยโรคขยายกว้างแต่มักมีอาการคันค่อนข้างน้อย

การวินิฉัยโรคไรขี้เรื้อนในสุนัข

สัตวแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้โดยการขูดตรวจผิวหนังเพื่อตรวจหาตัวไร ไข่ หรือมูลของไร โดยขูดผิวหนังชั้นนอก (superficial skin scrapings) ในกรณีต้องการตรวจวินิฉัยโรคไรขี้เรื้อนแห้ง

ในขณะที่การวินิจฉัยโรคไรขี้เรื้อนเปียกต้องขูดตรวจผิวหนังชั้นลึก โดยต้องขูดให้มีเลือดออกเล็กน้อย (deep skin scrapings) เนื่องจากไรขี้เรื้อนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนซึ่งอยู่ในผิวหนังชั้นลึกกว่าไรขี้เรื้อนแห้ง หรือถ้าสุนัขมีรอยโรคอยู่บริเวณที่ขูดตรวจได้ยาก เช่น รอบตา อาจใช้วิธีดึงขนเพื่อมาส่องตรวจทางกล้องจุลทรรศน์แทนได้ หรือทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจ (biopsy)

นอกจากนี้ยังสามารถวินิจฉัยได้จากหลักฐานอื่น ๆ เช่น ประวัติ อาการ และการทดสอบ pinnal-pedal response ( อาการคันที่ควบคุมไม่ได้ เกาบริเวณสะโพกเมื่อมีการเกาที่ใบหู) โดยสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อนแห้งจะให้ผลบวกต่อการทดสอบนี้ นอกจากนี้อาการที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการรักษาไรก็เป็นตัวบ่งชี้ได้เช่นกัน

การรักษา

การรักษาสุนัขที่เป็นโรคไรขี้เรื้อนเปียกที่มีวิการแบบทั่วร่างสามารถทำได้โดยการให้ยาเพื่อไปควบคุมจำนวนประชากรไรขี้เรื้อนเปียกให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่พบในสุนัขปกติ หรือลดลงมาในจำนวนที่ร่างกายสามารถควบคุมได้ โดยยารักษาทางระบบ (Systemic therapy) ที่สามารถใช้จัดการกับไรขี้เรื้อนเปียก ได้แก่

- Milbemycin oxime (1 – 2 mg/kg/day PO)

- Ivermectin (0.4 mg/kg SC q7d หรือ 0.3 - 0.6 mg/kg/day PO)

- Moxidectin (0.2 to 0.5 mg/kg/day PO)

- 2.5% Moxidectin spot on (มักพบอยู่ในรูปผสมร่วมกับ 10% imidacloprid) ใช้ทุกสัปดาห์

- Doramectin (0.6 mg/kg SC q7d ต่อเนื่อง 5–20 สัปดาห์ หรือ 0.6 mg/kg/day PO ต่อเนื่อง 4–35 สัปดาห์) หรืออาจใช้ยารักษาเฉพาะที่ (Topical therapy) เช่น

- Amitraz ความเข้มข้น 0.025 - 0.06% ด้วยการอาบหรือแช่ทุก 1 – 2 สัปดาห์ ควรตัดขนให้สั้นลงเพื่อทำให้การสัมผัสยาง่ายขึ้น

- ในรายที่เป็นไรขี้เรื้อนเปียกเฉพาะจุด หรือ เป็นทั่วร่างแต่ไม่รุนแรงมากนัก แนะนำให้ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ chlorhexidine หรือ benzoyl peroxide อาบทุกสัปดาห์

ไรขี้เรื้อนแห้ง

โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคขี้เรื้อนแห้งทางระบบรวมถึงยาในรูปแบบหยดหลังนั้นพบว่าให้ประสิทธิภาพดีกว่าการใช้เพียงยาเฉพาะที่

โดยยารักษาทางระบบ (Systemic therapy) ที่สามารถใช้ได้ ได้แก่

- Ivermectin (0.2 – 0.4 mg/kg SC q14d 3 – 4 ครั้ง หรือ 0.2 – 0.4 mg/kg/day PO q7d 4 – 6 ครั้ง)

- Doramectin (0.2 – 0.6 mg/kg SC q7d 4 – 6 ครั้ง)

- Moxidectin (0.2 – 0.3 mg/kg q7d SC 3 – 4 ครั้ง หรือ 0.2 – 0.3 mg/kg/day PO q7d 4 – 6 ครั้ง)

- 2.5% moxidectin และ 10% imidacloprid topical spot on ใช้ทุก 2 – 4 อาทิตย์ 4 – 6 ครั้ง

- Selamectin topical spot on ใช้ทุก 2 – 4 อาทิตย์ 3 – 4 ครั้ง

หรือใช้ยาที่ใช้รักษาเฉพาะที่ (Topical therapy)

- Amitraz ความเข้มข้น 025% – 0.03% อาบหรือแช่ทุก 1 – 2 สัปดาห์ 4 – 6 ครั้ง โดยห้ามล้างออก แต่อาจตัดขนให้สั้นลงเพื่อทำให้การสัมผัสยาง่ายขึ้น

- 2% – 3% lime sulfur อาบหรือแช่ทุก 7 วัน 4 – 6 ครั้ง ห้ามล้างออก

- Fipronil spray ขนาด 3-6 ml/kg พ่นที่ผิวหนัง ทุก 2 – 3 สัปดาห์ 3 ครั้ง สามารถใช้ได้ดีในรายที่ยังไม่มีอาการชัดเจน

ในการรักษาโรคไรขี้เรื้อนในสุนัขทั้งแบบเปียกและแบบแห้งหากพบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย ควรทำการรักษาร่วมกับการใช้แชมพูที่มีฤทธิกำจัดเชื้อแบคทีเรียหรือแชมพูที่มีประสิทธิภาพในการลดการอักเสบของต่อมไขมัน (Anti-seborrheic shampoo) เพื่อช่วยขจัดผิวหนังที่เป็นรังแคและคราบได้ง่ายขึ้น และอาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะแบบกินในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียทั่วร่าง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบบ generalized superficial pyoderma หรือ deep pyoderma

นอกจากนี้ในสุนัขที่แสดงอาการอาการคันที่รุนแรง สามารถการให้ยากลุ่ม glucocorticoid เช่น prednisolone (1 mg/kg PO sid 3 – 7 วัน) หรือ oclacitinib (0.4 – 0.6 mg/kg PO bid 3 – 7 วัน) เพื่อบรรเทาอาการ แต่ทั้งนี้ควรคำนึงด้วยว่าปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนขอไรขี้เรื้อนนั้นสืบเนื่องมาจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันด้วยหรือไม่ หากมีควรแก้ไขภาวะต่างๆที่มีผลกดภูมิคุ้มกัน เช่น หยุดการให้ยาที่กดภูมิคุ้มกัน ปรับสภาพการให้อาหารและปรับปรุงการเลี้ยงดู รวมไปถึงการถ่ายพยาธิภายในทางเดินอาหารอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามการจัดการโรคไรขี้เรื้อนทั้งชนิดเปียกและชนิดแห้งในสุนัขด้วยการใช้ยาไม่ว่าจะเป็นยารักษาทางระบบหรือยารักษาเฉพาะที่ควรระมัดระวังในการใช้ยาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสุนัขที่มีความไวต่อยากลุ่ม macrocyclic lactone คือ Ivermectin, Doramectin และ Moxidectin เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเป็นพิษต่อระบบประสาทได้ และในสุนัขที่ให้ยากลุ่ม systemic azole therapy (เช่น ketoconazole, itraconazole) ไม่ควรให้ร่วมกับ extra label (high-dose) macrocyclic lactone เช่น ivermectin เพราะจะทำให้เกิด ivermectin sensitivity และก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาทได้

การรักษาโรคไรขี้เรื้อนด้วยวิธีต่างๆ ดังที่กล่าวมาควรทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะตรวจได้ผลลบต่อการทำการขูดตรวจผิวหนังติดกัน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน และควรให้ยาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ รวมถึงเฝ้าระวังว่ามีการกลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีกหรือไม่ในระยะเวลา 1 ปี หากไม่พบจึงจะถือว่าได้สุนัขนั้นหายจากโรคไรขี้เรื้อนนั้นแล้ว สาเหตุที่โรคไรขี้เรื้อนนั้นสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกแม้ว่จะรักษาหายแล้ว เนื่อจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การกลับไปสัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขตัวอื่นทีมีไรขี้เรื้อน การมีปัญหาสุขภาพที่โน้มนำให้ง่ายต่อการเจริญของตัวไร หรือแม้กระทั่งความสามารถและความร่วมมือในการจัดการโรคของเจ้าของสัตว์เอง ดังนั้นสัตวแพทย์ควรวางแผนและให้คำแนะนำแก่เจ้าของในการรักษาและป้องกันโรคไรขี้เรื้อนอย่างละเอียด

ซึ่งนอกเหนือจากยาและวิธีการจัดการที่กล่าวมาข้างต้น ในปัจจุบันนี้มียากลุ่ม Isoxazolines มีประสิทธิภาพทั้งในการกำจัดแมลง เช่น หมัด (insecticides) และเป็นสารกำจัดปรสิตภายนอกที่ไม่มีปีก เช่น เห็บ ไร (acaricides) ที่สัตวแพทย์สามารถเลือกใช้ในการจัดการโรคไรขี้เรื้อนในสุนัขได้อีกด้วย ยากลุ่มนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนยาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยแล้ว ซึ่งยากลุ่ม Isoxazolines ที่ขึ้นทะเบียนในท้องตลาดมีอยู่ 3 ตัวยา ได้แก่ Afoxolaner, Fluralaner และ Sarolaner โดย Afoxolaner ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและที่ peripheral neuromuscular sites ของแมลงและปรสิตพวกสัตว์ขาปล้อง และยับยั้งตัวรับของสารสื่อประสาทคือ gamma-aminobutyric acid (GABA) ส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทในปรสิตเสียหน้าที่ เกิดอัมพาตแบบหดเกร็ง (spastic paralysis) และตายในที่สุด โดยการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้พบว่าจับกับตัวรับของแมลงได้ดีมากกว่าตัวรับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทำให้มีความเป็นพิษต่อสัตว์กลุ่มนั้นมากกว่า

แม้ยากลุ่มนี้จะได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ป้องกันเห็บหมัดเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาประสิทธิภาพของยาดังกล่าวในการกำจัดไรขี้เรื้อนทั้งแบบเปียกและแบบแห้ง รวมถึงไรในหู พบว่าให้ประสิทธิภาพในการกำจัดปรสิตภายนอกเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี มีรายงานการให้ยา Afoxolaner ในรูปแบบยากิน คือให้ขนาด 2.5 mg/kg (หรือตามช่วงน้ำหนักตัวที่บริษัทผู้ผลิตยาระบุ) ในวันที่ 0, 14, 28 และ 56 พบว่ายา Afoxolaner สามารถลดจำนวนไรขี้เรื้อนได้ 99.2% และ 100% ในวันที่ 28 และ 84 ของการให้ยาตามลำดับ และพบว่ารอยโรคที่ผิวหนังของสุนัขมีพํฒนาการที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าสุนัขให้ผลลบต่อการตรวจไรขี้เรื้อนด้วยวิธีการขูดตรวจผิวหนังภายหลังการใช้ยาดังกล่าว 2 เดือนติดต่อกัน

ข้อดีของยาในกลุ่ม Isoxazolines คือสามารถยาเพื่อกำจัดไรขี้เรื้อนได้ในขนาดและความถี่เดียวกับการใช้เพื่อป้องกันเห็บหมัด ทำให้ช่วยลดปัญหาเรื่อความร่วมมือของเจ้าของในการจัดการ เนื่องจากไม่ต้องให้ยาทุกวันหรือทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ยังเหมาะสมสำหรับสุนัขที่มีความไวต่อยากลุ่ม macrocyclic lactone ที่มีข้อจำกัดในการใช้ยาในการรักษา จากที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น ปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มจำนวนของไรขี้เรื้อนเปียกส่วนนึงคือระดับภูมิคุ้มกันของตัวสัตว์เอง ดังนั้นในสุนัขป่วยรายที่จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง เช่น สุนัขที่มีปัญหา immune mediated diseases สุนัขที่เป็นเนื้องอกต้องได้รับยาเคมีบำบัด หรือสุนัขที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ที่ต้องได้รับยารักษาอาการคันในกลุ่ม Immune modulator การใช้ยาในกลุ่ม Isoxazolines จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคไรขี้เรื้อนที่ดีและอาจไม่จำเป็นที่จะต้องหยุดใช้ยากดภูมิคุ้มกันในขณะรักษาโรคไรขี้เรื้อน ซึ่งยา Afoxolaner สามารถเริ่มให้ในสุนัขได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป และมีน้ำหนักตัวมากกว่า 2 กก. ดังนั้นจึงเป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้รักษาและป้องกันโรคไรขี้เรื้อนเปียกที่พบในลูกสุนัขได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามยา ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในการใช้ยากลุ่ม Isoxazolines ในสุนัขท้องหรือให้นมลูก แต่มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ายาไม่มีผลต่อการตั้งท้องและการพัฒนาของตัวอ่อนในท้อง นอกจากนี้มีรายงานผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (พบน้อยกว่าร้อยละ 5) เช่น อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย อ่อนแรง และควรระวังการใช้ในสัตว์ที่มีโรคลมชัก

อ้างอิง

Beugnet, F., Halos, L., Larsen, D., & de Vos, C. (2016). Efficacy of oral afoxolaner for the treatment of canine generalised demodicosis. Parasite (Paris, France), 23, 14. https://doi.org/10.1051/parasite/2016014

Fourie, J. J., Meyer, L., & Thomas, E. (2019). Efficacy of topically administered fluralaner or imidacloprid/moxidectin on dogs with generalised demodicosis. Parasites & vectors, 12(1), 59. https://doi.org/10.1186/s13071-018-3230-9

Lebon, W., Beccati, M., Bourdeau, P., Brement, T., Bruet, V., Cekiera, A., Crosaz, O., Darmon, C., Guillot, J., Mosca, M., Pin, D., Popiel, J., Pomorska Handwerker, D., Larsen, D., Tielemans, E., Beugnet, F., & Halos, L. (2018). Efficacy of two formulations of afoxolaner (NexGard® and NexGard Spectra®) for the treatment of generalised demodicosis in dogs, in veterinary dermatology referral centers in Europe. Parasites & vectors, 11(1), 506. https://doi.org/10.1186/s13071-018-3083-2

Mueller, R. S., Bensignor, E., Ferrer, L., Holm, B., Lemarie, S., Paradis, M., & Shipstone, M. A. (2012). Treatment of demodicosis in dogs: 2011 clinical practice guidelines. Veterinary dermatology, 23(2), 86–e21. https://doi.org/10.1111/j.1365-3164.2011.01026.x

Mueller, R., & Shipstone, M. (2017). Update on the diagnosis and treatment of canine demodicosis. Advances in Veterinary Dermatology, 8, 206-209.