ความเจ็บปวดเรื้อรังในแมวมักข้องเกี่ยวกับการอักเสบที่รุนแรง เรื้อรัง หรือความผิดปกติของกระดูก ความเจ็บปวดของเนื้อเยื่ออ่อน และความเจ็บปวดที่ระบบประสาท ซึ่งเป็นการยากที่จะรับรู้ได้เนื่องจากอาการของการเจ็บปวดจากสาเหตุต่าง ๆ มักมีการแสดงออกที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ มีการหลบซ่อนตัวจากผู้คนหรือสัตว์อื่น ๆ ภายในบ้าน ไม่อยากขยับตัวเพื่อไปทำกิจกรรมต่าง ๆ กินน้อยลง ขับถ่ายนอกกระบะทราย และอาการเกรี้ยวกราด ซึ่งการจัดการกับความเจ็บปวดเหล่านี้ถือเป็นสิ่งท้าทายสำหรับสัตวแพทย์เนื่องจากเป็นการยากที่จะให้ยาในระยะยาวและการวัดประสิทธิภาพของยาจากการอ่านพฤติกรรมของแมวก็ทำได้ยากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแมวมีการเจ็บปวดอย่างเรื้อรัง แมวมักแสดงออกเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกปลอดภัยเท่านั้น ความเจ็บปวดเรื้อรังในแมวอาจเกิดแพร่กระจายได้เป็นวงกว้างโดยมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุของแมว
ชนิดของความเจ็บปวด ได้แก่
Nociceptive pain เป็นความเจ็บปวดที่เกิดจากการกระตุ้น nociceptor เพื่อทำให้เกิดการตอบสนองต่อการเจ็บปวดที่เนื้อเยื่อ เป็นความเจ็บปวดเพื่อเตือนให้ระวังถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวสัตว์
Inflammatory pain เป็นความเจ็บปวดที่ทำให้เกิดการหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบหลังจากเนื้อเยื่อได้รับความเสียหาย มักเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดและการบาดเจ็บ แต่สามารถพบได้ในความเจ็บปวดเรื้อรังชนิดอื่น ๆ เช่น ภาวะข้อเสื่อม มะเร็ง เหงือกอักเสบ หูอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ แผลเรื้อรัง และช่องในตาอักเสบเป็นต้น
Neuropathic pain เป็นความเจ็บปวดทีเกิดจากรอยโรคหรือโรคที่ส่งผลต่อระบบ somatosensory มักเกี่ยวข้องกับการความผิดปกติที่เกิดจากโรคต่าง ๆ หรือ ความเจ็บปวดหลังจากได้รับการผ่าตัด มะเร็ง และข้อเสื่อม
Functional pain เป็นความเจ็บปวดที่ไม่ทราบกระบวนการเกิดแน่ชัด หมายถึงไม่ทราบตำแหน่งที่เกิดความเจ็บปวดและสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่นการเกิดการอักเสบที่บริเวณลำไส้ การเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และความเจ็บปวดบริเวณใบหน้าของแมว
ความเจ็บปวดเรื้อรังไม่มีจุดสิ้นสุดความเจ็บปวดที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกลบด้านการรับรู้และประสบการณ์ทางอารมณ์ โดยทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการประเมินความเจ็บปวดเรื้อรัง โดยความรู้สึกลบด้านการรับรู้สามารถประเมินได้จากการตรวจร่างกายและการจับสัมผัสตำแหน่งที่สงสัยว่าเกิดความเจ็บปวด ซึ่งการประเมินความเจ็บปวดในกรณีนี้ขึ้นอยู่กับแรงในการกดหรือสัมผัสตัวสัตว์ การตอบสนองทางพฤติกรรมของสัตว์ และการแปลผลของสัตวแพทย์ การใช้ภาพรังสีวินิจฉัยอาจช่วยสนับสนุนข้อมูลที่ได้และช่วยเพิ่มข้อมูลในการวินิจฉัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรังสีวินิจฉัยที่ผิดปกติอาจไม่ได้บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่แสดงออกได้เสมอไป หรือในอีกแง่หนึ่ง การไม่พบความผิดปกติจากภาพรังสีวินิจฉัยไม่ได้บ่งบอกว่าแมวปราศจากความเจ็บปวด ในขณะที่การประเมินประสบการณ์ทางอารมณ์สามารถประเมินได้จากการใช้ Pain score ที่ช่วยประเมินว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อตัวสัตว์มากเพียงใด ระดับความเจ็บปวดขึ้นอยู่กับความสามารถในการตรวจจับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของสัตว์ ซึ่งประเมินได้ยากในแมวและอาจได้รับอิทธิพลจากการแสดงออกของแมว เช่น แมวที่มีภาวะข้อเสื่อมมักไม่มีการเดินที่ผิดปกติ ซึ่งแตกต่างจากในสุนัขที่มักแสดงออกด้วยการเดินกะเผลก
ตัวอย่างกรณีที่ทำให้แมวเกิดความเจ็บปวดเรื้อรัง เช่น ภาวะข้อเสื่อมในแมว ซึ่งมีกระบวนการเกิดโรคที่ซับซ้อนและมีปัจจัยต้นเหตุหลายปัจจัย ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น ความอ้วน การอักเสบ เป็นต้น โดยตำแหน่งที่มักพบปัญหาข้อเสื่อมได้บ่อย ๆ เช่น ข้อศอก สะโพก ข้อเข่า ควรได้รับการสนใจเป็นพิเศษระหว่างทำการตรวจร่างกาย ภาวะความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งมีความจำเพาะเจาะจงกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการอักเสบและความเจ็บปวดทางระบบประสาทเนื่องจากเป็นความเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซับซ้อนภายในร่างกายที่รวมไปถึงการหลั่งสารกระตุ้นความเจ็บปวดจากตัวของก้อนมะเร็งเอง นอกจากนี้ยังสามารถเกิดความเจ็บปวดขึ้นได้ระหว่างกระบวนการวินิจฉัย กระบวนการรักษา การแพร่กระจายของตัวก้อนมะเร็ง และโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ข้อเสื่อม หรือโรคทางทันตกรรม การเกิดก้อนมะเร็งที่ภายในช่องปาก กระดูก ระบบทางเดินปัสสาวะ ตา จมูก เส้นประสาท ระบบทางเดินอาหาร และผิวหนัง มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความเจ็บปวดขึ้นอย่างรุนแรง มะเร็งบางชนิดอาจส่งผลต่อการกินอาหารและส่งผลต่อการได้รับสารอาหารของตัวสัตว์
วิธีการประเมินความเจ็บปวดเรื้อรังในแมว ได้แก่
1. ซักประวัติและรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมในแต่ละวันของแมว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่แมวอาศัยอยู่ และพฤติกรรมของเจ้าของที่อาจเปลี่ยนไปในช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้น
2. ตรวจร่างกายที่ทำให้แมวรู้สึกเครียดน้อยที่สุด เช่น การตรวจร่างกายในห้องที่เงียบ จับบังคับให้น้อยที่สุด ควรมีการประเมินน้ำหนักตัวและ body condition score นอกจากนี้ยังต้องประเมินลักษณะของขนและเล็บด้วย อาจถามคำถามเจ้าของเกี่ยวกับการ Grooming ขนและพฤติกรรมการขับถ่ายของแมว ควรสังเกตพฤติกรรมของแมวและการแสดงออกทางสีหน้าของแมวระหว่างทำการตรวจร่างกาย
3. การตรวจทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงจับคลำบริเวณข้อต่อและกระดูกรยางค์เพื่อตรวจสอบภาวะข้อเสื่อมในแมว
4. การตรวจทางระบบประสาท ควรทำในกรณีที่สงสัยเรื่องของความเจ็บปวดจากระบบประสาท การตอบสนองที่มากเกินไปในกรณีที่สัมผัสสัตว์อย่างนุ่มนวล
5. การจับตรวจร่างกายในจุดเฉพาะต่าง ๆ เช่นข้อต่อ หลัง ท้อง อาจส่งผลให้เกิดการตอบสนองของพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความเจ็บปวด เช่น การดึงขากลับ การหลีกหนี การส่งเสียงร้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การขาดการตอบสนองทางพฤติกรรมไม่ได้เป็นการตัดประเด็นความเจ็บปวดและอาจเป็นเพราะแมวมีพฤติกรรมขี้กลัว
6. สังเกตการเคลื่อนไหวของแมวในกรณีที่แมวเดินวนไปมารอบห้องได้ ความสามารถในการเคลื่อนไหว กระโดดขึ้น-ลง หรืออาจให้เจ้าของถ่ายวิดีโอขณะที่แมวเคลื่อนไหวอยู่ที่บ้าน
7. การตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการอาจใช้ในกรณีที่ตรวจสอบสุขภาพโดยทั่วไปและโรคที่อาจแอบแฝงอยู่ในขณะนั้น อย่างไรก็ตามไม่ได้เป็นตัวช่วยในการประเมินความเจ็บปวดเรื้อรังและค่าแลปที่บ่งชี้ความเจ็บปวดเรื้อรังในปัจจุบันยังไม่ได้รับการรายงานทางคลินิกในขณะนี้
8. การวินิจฉัยทางรังสีวิทยา อาจช่วยวินิจฉัยโรคในกลุ่มระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง เช่น ภาวะข้อเสื่อม หรืออาจช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่าภาพวินิจฉัยอาจไม่สัมพันธ์กับลักษณะอาการของความเจ็บปวด
การจัดการกับความเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดมักใช้การให้ยามากกว่า 1 ชนิด เช่น การใช้ยาในกลุ่ม opioid ร่วมกับยาในกลุ่ม NSAIDs มักนิยมใช้เป็นยาที่ให้ร่วมกันหรืออาจเสริมด้วยการใช้อาหารเสริมต่าง ๆ และสารประกอบที่ช่วยลดอาการปวดร่วมด้วย
Opioid เป็นกลุ่มยาที่มักใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดในแมวเป็นส่วนใหญ่ โดยตัวยาจะไปจับกับ opioid receptors ที่อยู่ใกล้กับระบบประสาท peripheral และ central ลดการส่งสารกระตุ้นระบบประสาท เกิดการอัมพาตที่จุดส่งกระแสประสาท และยับยั้งการเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น ยาที่ใช้ ได้แก่ buprenorphine ซึ่งมีฤทธิ์ mu agonist เพียงบางส่วน มักใช้ในการจัดการกับกรณีเจ็บปวดเรื้อรังในแมว อย่างไรก็ตาม ปริมาณยาที่ควรได้รับอยู่ที่ 0.01-0.03 mg/kg ทุก 6-8 ชั่วโมง ในรูปแบบยาฉีด (ความเข้มข้นอยู่ที่ 0.3 mg/ml) อาจให้ทางใต้ผิวหนัง เข้ากล้าม หรือเข้าทางเส้นเลือด หรืออาจให้ทางการกิน ซึ่งเหมาะกับการจัดการกับภาวะเจ็บปวดเรื้อรัง โดยคุณสมบัติเด่นของการให้ยาผ่านทางการกินคือไม่ทำให้น้ำลายไหลเยิ้มและมีขอบเขตความปลอดภัยค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการปวดในระดับอ่อนจนถึงกลางได้เป็นอย่างดี และยังช่วยให้เจ้าของสามารถให้ยาลดปวดแก่สัตว์เลี้ยงได้เองที่บ้านเนื่องจากปริมาณที่ให้ไม่เยอะมากและสามารถซึมผ่านเยื่อบุช่องปากได้ สำหรับข้อควรระวังในการให้ยานี้ มักไม่ค่อยพบอาการอาเจียนในแมว อาจพบอาการเบื่ออาหารได้ และถึงแม้การให้ยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดการง่วงซึมหรืออาเจียน การเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาดอย่างเฉียบพลันยังเกิดได้ค่อนข้างยาก หากเริ่มมีอาการผิดปกติทางการหายใจควรให้ยา naloxone เพื่อช่วยในการแก้ไขสถานการณ์ นอกจากยา buprenorphine แล้วยังมียา tramadol เป็นยาอีกตัวหนึ่งในกลุ่ม opioid ที่ใช้ในทางสัตวแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในสัตว์เลี้ยง มีกลไกการออกฤทธิ์คือ จับกับ mu-opioid receptor และยับยั้งการดึง serotonin และ norepinephrine กลับอย่างอ่อน ๆ และด้วยกลไกการออกฤทธิ์แบบนี้อาจใช้เวลาถึง 14 วันเพื่อให้ออกฤทธิ์ลดอาการปวดได้เต็มประสิทธิภาพ ปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในแมว คือ 1-4 mg/kg ทุก 8-12 ชั่วโมง อาจเริ่มต้นที่ปริมาณ 2 mg/kg ทุก 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยานี้คืออาจทำให้แมวมีอาการคล้ายอาการเมายา ม่านตาขยาย น้ำลายไหลเยิ้ม หัวใจเต้นเร็ว อ่อนแรง เดินเซได้
NSAIDs หรือ Non-steroidal anti-inflammatory drugs มีกลไกการออกฤทธิ์เพื่อยับยั้งการเกิด prostaglandins และ leukotrienes จากการยับยั้งการเปลี่ยน arachidonic acid โดยเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) จึงมักใช้เป็นหลักเพื่อลดการเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดไข้ในแมว และมีความสำคัญในการใช้เพื่อควบคุมบรรเทาอาการเจ็บปวดหลังจากผ่าตัด นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถใช้จัดการกับภาวะเจ็บปวดเรื้อรังในแมวได้หากมีการใช้อย่างเหมาะสม การให้ปริมาณยาที่เหมาะสม และคอยติดตามอาการของสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักสำคัญที่ควรพิจารณาหากต้องการใช้ยา NSAIDs ในแมว คือ แมวมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนี้รวมไปถึงอาจเกิดความเป็นพิษมากกว่าการใช้ยาในสุนัข และอัตราการเมตาบอลิซึ่มมีความหลากหลายในแมวแต่ละตัว และในแมวเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่น ดังนั้นจึงควรติดตามอาการและสุขภาพโดยรวมอย่างระมัดระวัง คำนึงถึงโรคปัจจุบันที่สัตว์เป็นอยู่ อาการของผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสัตว์ ประเมินค่าการทำงานของตับและไตเป็นระยะ ความถี่ของการตรวจสอบขึ้นอยู่กับอายุของสัตว์ สุขภาพโดยรวม และยาที่ให้อยู่ปัจจุบัน ควรมีการปรับปริมาณยา NSAIDs ให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดที่ยังมีประสิทธิภาพในการลดปวดเพื่อใช้ในระยะยาว นอกจากนี้ ยังควรแนะนำเจ้าของให้หยุดการใช้ยาทันทีถ้าแมวเริ่มเบื่ออาหาร อาจแนะนำให้ปรับจากอาหารเม็ดเป็นอาหารเปียกเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้กับร่างกาย ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ meloxicam ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในแมวได้เพื่อการคุมความเจ็บปวดหลังจากผ่าตัด โดยปริมาณที่ให้อยู่ที่ 0.3 mg/kg ให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรืออาจให้ในปริมาณ 0.1 mg/kg ทางการกินในวันแรก แล้วปรับเป็น 0.05 mg/kg วันละครั้งในวันถัดไป ข้อควรระวังในการใช้ยาคือ ในระหว่างการให้ยา meloxicam ไม่ควรให้พร้อมกับยาในกลุ่ม steroid ยาที่ส่งผลเสียต่อตับและไต นอกจากนี้ควรระวังการใช้พร้อมกับยาในกลุ่ม angiotensin-converting enzyme inhibitors ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด digoxin fluconazole และ phenobarbital เคยมีการศึกษาการให้ยา meloxicam เพื่อจัดการกับความเจ็บปวดเรื้อรังในแมวสูงอายุที่มีปัญหาโรคไตเรื้อรัง โดยให้แมว 22 ตัวซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 15.5 ปี และมีภาวะโรคไตเรื้อรังได้รับยา meloxicam ในระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 467 วัน โดยให้ในปริมาณที่ต่ำที่สุดที่ยังคงแสดงผลการลดอักเสบและคุมความเจ็บปวด ได้ข้อสรุปว่าสามารถให้ยาปริมาณ 0.02 mg/kg วันละครั้งเป็นเวลายาวนานในแมวที่มีอายุมากกว่า 7 ปี อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้เนื่องจากการศึกษานี้ยังมีกลุ่มตัวอย่างน้อยจนเกินไป นอกจาก meloxicam แล้ว ยาอีกตัวที่อยู่ในกลุ่มนี้คือ robenacoxib ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถใช้เพื่อควบคุมความเจ็บปวดภายหลังจากการผ่าตัดและสามารถลดอักเสบในกรณีผ่าตัดเกี่ยวกับกระดูก ผ่าตัดทำหมันเพศเมีย และผ่าตัดทำหมันเพศผู้ในแมว โดยยาตัวนี้มีความเลือกจับที่ค่อนข้างจำเพาะเพื่อการยับยั้ง COX-2 ปริมาณที่ให้ในแมวอยู่ที่ 1 mg/kg ทางการกินทุก 24 ชั่วโมง มักให้ในแมวที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2.5 kg ขึ้นไป โดยสามารถให้ได้นานถึง 6 วัน
การรักษาด้วยยาหรือสารประกอบอื่น ๆ (adjunct medications) ถึงแม้การให้ยาในกลุ่ม opioid หรือ NSAIDs จะเพียงพอต่อการจัดการกับความเจ็บปวด แต่ในแมวบางตัวอาจมีการให้ยาตัวอื่นร่วมด้วยเพื่อควบคุมความเจ็บปวดที่เป็นอยู่ โดยประเมินจากสภาพของสัตว์และยาที่ให้อยู่ปัจจุบัน ยาในกลุ่มนี้ เช่น amantadine ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการต้านไวรัส โดยมักใช้เป็นยาที่ใช้ลดความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งและระบบประสาท มักให้ยาตัวนี้ร่วมกับการให้ NSAIDs เพื่อการควบคุมความเจ็บปวดที่ดีขึ้น ปริมาณที่ให้ในแมวอยู่ที่ 3-5 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง ทางการกิน มีทั้งในรูปแบบยาแคปซูล 100 mg ต่อ 1 แคปซูล และมียาในรูปแบบยาน้ำ แต่มีรสชาติไม่ถูกปากแมว อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้มีขอบเขตของความปลอดภัยในการให้ยาค่อนข้างต่ำ ดังนั้นการให้ปริมาณยาที่แม่นยำจึงสำคัญอย่างมาก โดยปริมาณยาที่เป็นพิษต่อแมวอยู่ที่ 30 mg/kg แต่มีการศึกษาพบว่าปริมาณยา 15 mg/kg ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง และควรระวังการใช้ยานี้ในแมวที่มีปัญหาโรคตับและไต ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเป็นโรคชัก การใช้ยานี้ร่วมกับการให้ยา sulfa-trimethoprim อาจลดการขับออกของ amantadine ส่งผลให้มีปริมาณยาคงค้างในเลือดค่อนข้างสูง นอกจากยาตัวนี้แล้วยังมี amitriptyline ซึ่งมักให้ร่วมกับการใช้ NSAIDs เพื่อควบคุมความเจ็บปวดจากระบบประสาท ปริมาณยาที่ให้อยู่ที่ 0.5-2 mg/kg ทางการกิน ทุก 24 ชั่วโมง โดยมีผลข้างเคียงคืออาการง่วงซึม น้ำลายไหลเยิ้มจากความขมของตัวยา ปัสสาวะคงค้าง เบื่ออาหาร เกล็ดเลือดต่ำ นิวโทรฟิลล์ต่ำ ขนรุงรัง อาเจียน เดินเซ การเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในกรณีสัตว์ป่วยที่มีภาวะชัก เนื่องจากสารประกอบ tricyclic สามารถลด thresholds ของการชักได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังในกรณีสัตว์ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตาแห้ง ต้อกระจก ปัญหาโรคตับ (เนื่องจากยามีการเมตาบอไลซ์ผ่านตับ) โรคต่อมหมวกไต หากให้ยาตัวนี้พร้อมกับ tramadol ควรมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อาจทำให้เกิดการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น สั่น ม่านตาขยาย หายใจถี่ขึ้น เดินเซ อาเจียน และท้องเสีย หากเริ่มมีอาการเหล่านี้ควรหยุดการให้ยาทั้งสองและเริ่มวางแผนการรักษาต่อไป หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้คู่กันในกรณีที่สัตว์ป่วยมีภาวะชักหรือมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการชัก ยาในกลุ่มนี้ยังมี gabapentin เป็นยาที่ใช้เพื่อระงับอาการชัก แต่มักมีการนำมาใช้เพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากปัญหาระบบประสาท โดยปกติใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม opioid NSAIDs และ amantadine ปริมาณที่ใช้อยู่ที่ 5-10 mg/kg ทางการกิน ทุก 8-12 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของการให้ยานี้คือแมวจะมีอาการซึม เดินเซ แต่สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้หากเริ่มต้นใช้ยาในปริมาณต่ำ ๆ ก่อนจะปรับให้สูงขึ้นถึงระดับที่ยาได้ผล ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในกรณีสัตว์ป่วยโรคไตเนื่องจากยาตัวนี้ถูกกำจัดผ่านทางไตเป็นหลัก หากมีการให้ยาลดกรดร่วมกับยาตัวนี้ควรให้ยาห่างกัน 2 ชั่วโมงเพื่อหลีกเลี่ยงการลดประสิทธิภาพของยา gabapentin
Steroid ได้แก่ ยา prednisolone อาจได้ผลดีในกรณีความเจ็บปวดที่เกิดจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของแมวที่เป็น squamous cell carcinoma ภายในช่องปาก ปริมาณยาที่ให้อยู่ที่ 0.5-1 mg/kg ทางการกิน ทุก 24 ชั่วโมง และห้ามใช้ยาในกลุ่มนี้ร่วมกับยาในกลุ่ม NSAIDs
ถึงแม้การจัดการภาวะเจ็บปวดเรื้อรังในแมวอาจเป็นความท้าทายทั้งในสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์ การใช้ยาร่วมกันในหลากหลายรูปแบบอาจทำให้การจัดการความเจ็บปวดมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการให้ยาด้วย ได้แก่ คอยเฝ้าสังเกตสุขภาพองค์รวมของสัตว์ให้มีความเสถียร ประเมินปริมาณของยาในแต่ละตัวที่ให้ตามความจำเป็น และเฝ้าสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ผลข้างเคียงของการให้ยาและความเป็นพิษที่อาจเกิดขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Monteiro B. P., and Steagall P. V. 2019. Chronic pain in cats Recent advances in clinical assessment. Journal of feline medicine and surgery. 21, 601-614.
2. Jordan D. G., and Ray J. D. 2012. Management of chronic pain in cats. Today's Veterinary Practice. 77-82.