การดูแลและจัดการโรคติดเชื้ออันมีสาเหตุมาจาก Feline Retrovirus
Feline Leukemia Virus หรือ FeLV สามารถแพร่ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกันระหว่างแมว และสามารถติดจากแม่แมวสู่ลูกแมวได้ ในลูกแมวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าแม่แมว โดยแมวจะแพร่เชื้อนี้ผ่านทางสิ่งคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำนม ปัสสาวะ และอุจจาระ โดยมากมักพบการติดเชื้อนี้ผ่านทางจมูกและปาก (oronasal route) นอกจากนี้ยังสามารถติดผ่านทางการกัด หรือทางบาดแผลได้อีกด้วย หลังจากได้รับเชื้อนี้เข้าไปแล้ว จะพบเชื้อนี้ได้ที่เนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) ผ่าน monocyte และ lymphocyte ในระยะแรก ๆ เชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่ไปยังไขกระดูก (bone marrow) ได้อีกด้วย หากไขกระดูกเกิดการติดเชื้อ จะเกิดการแพร่เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีการตรวจพบไวรัสเมื่อทำการตรวจเลือดด้วย immunofluorescent antibody test (IFA) เมื่อแมวมีการติดเชื้อ FeLV จะแบ่งระยะของโรคได้เป็น 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อและภูมิคุ้มกันของแมว ได้แก่
1. Progressive infection มีการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัส FeLV ที่ตำแหน่งแรกคือต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง ต่อมาจะแพร่กระจายไปยังไขกระดูก เนื้อเยื่อ mucosal epithelium และ เนื้อเยื่อ glandular epithelium ตามลำดับ ซึ่งบริเวณเนื้อเยื่อทั้งสองนี้มีผลต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัส โดยมักพบมากที่น้ำลาย แต่ในสิ่งคัดหลั่งอื่น ๆ ก็สามารถแพร่กระจายได้เช่นกัน ลักษณะสำคัญของระยะนี้คือ การมีภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถตรวจพบ neutralizing antibody ได้ แมวในระยะนี้มักมี survival time ที่สั้นกว่าแมวในระยะ regressive infection
2. Regressive infection เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันสามารถจัดการกับระยะการติดเชื้อได้ แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ทั้งหมด มีการเพิ่มจำนวนของเชื้อเกิดขึ้นแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันสามารถจัดการได้ หากมีการตรวจ proviral DNA ของเชื้อ FeLV ด้วยวิธี PCR ก็สามารถตรวจพบได้ นอกจากนี้ proviral DNA ยังสามารถติดผ่านการถ่ายเลือด และนำไปสู่การติดเชื้อไวรัสเข้ากระแสเลือดได้ แมวในระยะนี้จะไม่แสดงอาการ อย่างไรก็ตาม หากเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือแมวถูกกดภูมิคุ้มกัน อาจนำไปสู่การกระตุ้นการแพร่กระจายของเชื้อที่แฝงอยู่ในร่างกายแมวได้ ในระยะ regressive infection อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอื่น ๆ ได้ เช่น lymphoma หรือเกิดการกดทำงานของไขกระดูก
3. Abortive infection ระยะนี้มีลักษณะเด่นชัดคือไม่สามารถตรวจพบทั้งไวรัส แอนติเจน (antigen) ไวรอลดีเอ็นเอ (viral DNA) และ โพไวรอลดีเอ็นเอ (proviral DNA) สิ่งเดียวที่สามารถบ่งชี้การติดเชื้อ FeLV ในระยะนี้ได้คือการตรวจ antibody
การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ Retrovirus
American Association of Feline Practitioner หรือ AAFP แนะนำให้มีการตรวจ POC ในแมวทุกตัวก่อนเริ่มทำวัคซีนป้องกัน FeLV หรือ FIV โดยชุดตรวจ POC จะตรวจ antigen ของ FeLV และ antibody ของ FIV ในเลือดหรือพลาสมา อย่างไรก็ตามอาจเกิดผล false positive ได้จากการเก็บตัวอย่างไม่เหมาะสมและความล้มเหลวของชุดทดสอบ หากตรวจได้ผลเป็นลบ ผลลบนั้นจะเชื่อถือได้ต่อเมื่อมีการใช้ชุดตรวจ POC ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และตรวจในกลุ่มตัวอย่างที่มีความเสี่ยงต่ำ ยกเว้นในกรณีที่มีการตรวจก่อนระยะแรกของการแพร่เชื้อ FeLV เข้าสู่กระแสเลือด (น้อยกว่า 30 วัน) หรือก่อนการพัฒนา antibody ต่อเชื้อ FIV (น้อยกว่า 60 วัน)
การวินิจฉัยการติดเชื้อ FeLV จะใช้การตรวจจับ p27 antigen โดยชุดตรวจ POC สามารถตรวจได้จากซีรั่ม (serum) พลาสมา (plasma) และเลือด แต่ไม่ควรตรวจด้วยน้ำตาหรือน้ำลายเนื่องจากมี sensitivity ที่ต่ำ การตรวจนี้ไม่ถูกรบกวนโดยภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูก หรือตัววัคซีน แมวส่วนใหญ่มักพบผลบวกภายใน 30 วันหลังได้รับเชื้อ โดยแมวในระยะ progressive infection สามารถวินิจฉัยได้โดยการใช้ POC ตรวจจับ free p27 antigen ในเลือด ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด แมวในระยะ regressive infection จะมีปริมาณ antigen และ proviral DNA ที่ต่ำ การตรวจด้วย IFA จากเลือด หรือไขกระดูกสามารถใช้ได้เพียงบางห้องทดลองเท่านั้นเพื่อช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อ FeLV ผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจด้วยชุดทดสอบต่าง ๆ อาจไม่สอดคล้องกันเนื่องจากชุดทดสอบแต่ละตัวสามารถตรวจสอบได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งของการติดเชื้อเท่านั้น จึงควรมีการตรวจซ้ำอีกในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อให้ผลการวินิจฉัยชัดเจนและสามารถบ่งบอกระยะการติดเชื้อของแมว
การวินิจฉัยการติดเชื้อ FIV มักใช้การตรวจจับ antibody ของเชื้อ FIV โดยการตรวจเลือด ซีรั่ม พลาสมาด้วยชุดตรวจ POC แมวที่ติดเชื้อมักพบว่ามีความเข้มข้นของ antibody ที่สูง โดยมักพบการสร้าง antibody หลังได้รับการติดเชื้อประมาณ 60 วัน การวินิจฉัยที่เป็น gold standard ของการติดเชื้อ FIV คือ Western blot นอกจากนี้ยังมีการตรวจ FIV proviral DNA และ viral RNA ด้วยวิธี PCR เป็นการเสริมการยืนยันการติดเชื้อที่ North America อย่างไรก็ตาม แมวที่มีการติดเชื้อ FIV บางตัวไม่ได้ถูกวินิจฉัยด้วยวิธี PCR เนื่องจากปริมาณไวรัสที่น้อย ในช่วงระยะแรกของการติดเชื้อ FIV อาจพบผลเป็นลบเมื่อทำการตรวจ antibody จึงควรทำการตรวจอีกรอบภายใน 60 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ อย่างไรก็ตาม ในระยะท้าย ๆ ของการติดเชื้ออาจได้ผลตรวจเป็นลบด้วยเช่นกันเนื่องจากมีปริมาณไวรัสที่เพิ่มมากเกินกว่าปริมาณ antibody จะสามารถเข้าจับได้ นอกจกนี้ ไม่ว่าการตรวจด้วยวิธ๊ใดก็ตามอาจก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในการวินิจฉัยได้ ดังนั้น หากพบว่าแมวมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ FIV ร่วมกับมีการแสดงอาการทางคลินิกแล้วแต่ให้ผลการตรวจ antibody เป็นลบบนชุดตรวจ POC ควรทำการตรวจติดตามอาการหรือเปลี่ยนวิธีการตรวจเป็นรูปแบบอื่น อาทิ PCR หรือ Western blot เป็นต้น การใช้ชุดตรวจ POC อาจให้ความสะดวกรวดเร็วและเชื่อถือได้ค่อนข้างมากในการวินิจฉัยบนคลินิก แต่มีข้อควรระวังในการแปลผลชุดตรวจ POC ในลูกแมวหากพบว่าผลเป็นบวก เนื่องจากลูกแมวอาจได้รับ antibody จากแม่ที่ได้รับวัคซีน หรือแม่แมวที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ จึงควรมีการตรวจวินิจฉัยซ้ำทันทีด้วยวิธีการตรวจแบบอื่นที่น่าเชื่อถือ เช่น PCR เพื่อยืนยันการเกิดโรคของลูกแมว หากพบผลเป็นบวกในลูกแมวที่อายุมากกว่า 6 เดือนมีแนวโน้มว่าลูกแมวนั้นอาจมีการติดเชื้อ FIV การใช้วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ FIV มีผลต่อการรบกวนการวินิจฉัยการติดเชื้อ FIV เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ antibody ภายหลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งไม่สามารถแยกได้จาก antibody ที่มาจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดย antibody สามารถวินิจฉัยได้ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และอาจอยู่ได้นานถึง 7 ปีในแมวบางตัว
การป้องกันการติดเชื้อ Retrovirus
โดยทั่วไปมักระวังการแพร่เชื้อ FeLV ในแมวที่เป็นมิตร หรือเข้าสังคมกับแมวตัวอื่นบ่อย ๆ เนื่องจากเชื้อนี้สามารถแพร่ผ่านไปยังแมวตัวอื่นได้ผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิด การเลียกัน ติดผ่านทางน้ำลาย แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อนี้สามารถแพร่ผ่านไปยังแมวอีกตัวได้โดยผ่านทางการกัดเช่นเดียวกัน โดยส่วนมากมักแพร่เชื้อนี้ผ่านทางน้ำลายมากกว่าสิ่งคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น น้ำตา พลาสม่า ปัสสาวะ อุจจาระ หรือการแพร่จากแม่สู่ลูก การแพร่เชื้อผ่านสิ่งอื่น ๆ เช่น การใช้อุปกรณ์ผ่าตัดร่วมกับตัวที่ติดเชื้อ อุปกรณ์ทำฟัน และการถ่ายเลือด สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่มีโอกาสน้อยกว่า ในส่วนของการแพร่เชื้อ FIV แมวที่ไม่เป็นมิตร ทะเลาะกับตัวอื่นบ่อย ๆ มีแนวโน้มเกิดการติดเชื้อสูงกว่าแมวทั่วไป เนื่องจากเป็นการแพร่เชื้อผ่านทางการกัดกัน และมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากในการแพร่จากแม่สู่ลูก ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อ retrovirus สามารถทำได้ดังนี้
1. ป้องกันปัจจัยเสี่ยง : ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อนี้ได้แก่ อายุของแมวที่เพิ่มขึ้น แมวเพศผู้ แมวที่ยังไม่ได้ทำหมัน การเลี้ยงปล่อยนอกบ้าน การเลี้ยงร่วมกันกับแมวที่ติดเชื้อ ความก้าวร้าวของแมว การเจ็บป่วย และลูกแมวที่เกิดจากแม่แมวที่ติดเชื้อ ซึ่งหากเราทำการป้องกันหรือลดโอกาสการเกิดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ retrovirus ได้เช่นกัน
2. การทำวัคซีน : การทำวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรค การใช้ชุดตรวจร่วมกับการเริ่มทำโปรแกรมวัคซีนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุบัติการณ์การติดเชื้อ FeLV ลดลงในยุโรปและอเมริกาเหนือในช่วงต้นทศวรรษหลังจากเริ่มมีการค้นพบเชื้อไวรัสนี้ มีการค้นพบว่าแมวที่ไม่ได้ทำวัคซีนและโดนกัดมีความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อ FeLV มากกว่าแมวที่ฉีดวัคซีน 7.5 เท่า การฉีดวัคซีนจึงมีผลช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ FeLV อย่างไรก็ตาม การทำวัคซีนไม่ได้ช่วยป้องกันการสร้าง proviral DNA หลังจากแมวได้รับเชื้อ FeLV ดังนั้นจึงยังสรุปไม่ได้ว่าการทำวัคซีน FeLV จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ FeLV ได้ทุกกรณี มีการศึกษาวิจัยพบว่าระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ FeLV อยู่ได้ 12 เดือนหลังจากทำวัคซีน และแมวส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อได้ภายใน 2 ปีหลังจากเริ่มโปรแกรมวัคซีน แมวที่ทำวัคซีนและไม่ได้ทำวัคซีนที่อยู่ในระยะ progressive สามารถเป็นแหล่งแพร่เชื้อให้กับแมวตัวอื่นได้ การทำวัคซีนไม่ได้มีผลรบกวนชุดทดสอบเนื่องจากชุดตรวจ POC จะตรวจจับ viral antigen ดังนั้น ไม่ว่าจะทำวัคซีนหรือไม่ หากพบว่ามีการติดเชื้อ FeLV ก็เป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ต้องพิจารณาเสมอ มีข้อแนะนำให้ทำวัคซีนในแมวเด็กทุกตัวเนื่องจากการใช้ชีวิตของแมวเด็กค่อนข้างมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ FeLV และอาจนำไปสู่การเป็นโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ FeLV โดยควรเริ่มทำวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ ตามด้วยเข็มที่ 2 ในอีก 3-4 สัปดาห์ถัดมา จากนั้นให้ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 1 ปี ในแมวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง และกระตุ้นทุก 2 ปี ในแมวที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนการทำวัคซีน FIV ถูกจัดเป็นวัคซีนชนิด non-core และแนะนำให้ใช้ในกรณีที่แมวมีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เคยมีการศึกษาการใช้วัคซีน FIV ในประเทศอังกฤษ พบว่าเกิดความล้มเหลวในการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันแมวที่นำมาทดลอง ดังนั้น AAFP จึงแนะนำว่าสัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำแก่เจ้าของแมวเกี่ยวกับความยากของการแปลผลชุดตรวจ FIV ในแมวที่ได้รับวัคซีน รวมไปถึงอัตราความสามารถในการป้องกันของวัคซีน FIV หากต้องการทำวัคซีนในแมวที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรมีการทดสอบการติดเชื้อ FIV ก่อนเริ่มทำวัคซีน และทำการฉีดวัคซีนทาง subcutaneous 3 ครั้ง ทุก 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจะเป็นฉีดกระตุ้นทุกปีในแมวที่มีความเสี่ยงสูง
3. จำกัดการแพร่เชื้อในคลินิก หรือ โรงพยาบาลสัตว์ : retrovirus มีความไม่เสถียรเมื่ออยู่ภายนอกตัวสัตว์ และสามารถถูกยับยั้งการทำงานเมื่ออยู่บนพื้นผิวแห้ง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าเชื้อไวรัสนี้ไม่คงทนในสิ่งแวดล้อม ใช้เพียงสารซักล้างทั่วไปหรือสารป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลก็สามารถยับยั้งเชื้อไวรัส FeLV และ FIV ดังนั้นการแยกแมวที่ติดเชื้อ retrovirus ไว้ในวอร์ดติดเชื้อภายในโรงพยาบาลจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น นอกจากนี้ retrovirus มีผลกดภูมิคุ้มกัน หากเอาแมวที่ติดเชื้อ FeLV และ FIV อยู่ร่วมกับสัตว์ที่ติดเชื้ออาจส่งผลให้แมวเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนง่ายกว่าแมวปกติทั่วไป ถึงแม้เชื้อนี้จะแพร่ผ่านได้ยากในสิ่งแวดล้อม แต่เชื้อนี้สามารถติดผ่านทางสิ่งคัดหลั่งภายในร่างกาย โดยเฉพาะเลือด ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ผ่าตัด หรืออุปกรณ์ทำฟัน รวมไปถึงการสอดท่อช่วยหายใจในแมวที่ติดเชื้อ FeLV และ FIV จะเกิดการปนเปื้อนได้ จึงควรทำความสะอาดภายหลังจากการใช้งาน นอกจากนี้สัตวแพทย์และผู้ช่วยควรล้างมือหลังจากสัมผัสหรือจับบังคับแมว และทำความสะอาดกรง
4. จำกัดการแพร่เชื้อในบ้าน : โดยเฉพาะแมวที่เลี้ยงปล่อยในธรรมชาติ แมวเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมการล่าตามสัญชาตญาณซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำความรู้จักกับวิธีการเลี้ยงในพื้นที่ปิด หรือบอกถึงความเสี่ยงของการเลี่ยงในพื้นที่เปิดเพื่อสามารถวางแผนการดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป
อ้างอิง
1. Amy, ESS., Gary, OB., Ellen, MC., Philip, HK., Ernest, PP., Jane, S. and Mark EW. 2020. 2020 AAHA/AAFP Feline Vaccination Guidelines. J Feline Med Surg. 2020 (22) : 813-830.
2. Katrin H. 2012. Feline Retrovirus Infection. [online]. Available : https://files.brief.vet/migration/article/6626/hit-feline-retrovirus-6626-article.pdf. Accessed 10 October 2022.
3. Nicola MP. 2018. A Practical Guide to Feline Retrovirus Testing. [online]. Available : https://www.dvm360.com/view/a-practical-guide-to-feline-retrovirus-testing. Accessed 9 October 2022.
4. Scherk, MA., Ford, RB., Gaskell, RM., et al. 2013. 2013 AAFP Feline Vaccination Advisory Panel Report. J Feline Med Surg. 2013(15) : 785–808.
5. Susan L., Julie L., Katrin H., Regina HL., Margaret H., Glen O and Kelly SD. 2020. 2020 AAFP Feline Retrovirus Testing and Management Guidelines. J Feline Med Surg. 22: 5-30.