ไรในหู (Ear mite, Otodectes cynotis) ในสุนัขและแมว เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ก็ยังสามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ โดยมีรายงานการพบทั้งในกระต่ายและเฟอร์เร็ตอีกด้วย โดยไรในหูเป็นปรสิตที่มีขนาดเล็ก สีขาว เคลื่อนที่ไปมา
Otodectes cynotis ถูกจัดเป็นไรชนิด non-burrowing mites โดยจะอาศัยอยู่เพียงบริเวณผิวหนังภายในรูหู (Ear canal) และสามารถอาศัยอยู่บริเวณผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ซึ่งไรในหูจะทำให้เกิดการระคายเคือง และเกิดพยาธิสภาพกับผิวหนัง ผ่านการระคายเคืองของน้ำลายของไร ในขณะที่ตัวไรจะเก็บกินไขมันและเศษผิวหนังบนผิวหนัง กระบวนการการเปลี่ยนพยาธิสภาพบริเวณที่เกิดโรคนั้น มีขั้นตอนที่กล่าวโดยย่อได้ดังนี้
1. ผิวหนังชั้น epidermis เซลล์ epithelium ถูกทำลาย และเกิดกระบวนการ hyperkeratotic and hyperplastic
2. กระบวนการในข้อ 1 ทำให้ sebaceous glands ที่อยู่ในผิวหนังขั้น epidermis และชั้น dermis ได้รับผลกระทบ เกิดจากทำงานมากกว่าปกติ และเกิดกระบวนการ hyperplasia และทำให้เกิดลักษณะของช่องหูที่เหนียวและแฉะ
3. เมื่อเซลล์เกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดการตอบสนองของร่างกาย การนำมาซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophages และ mast cell ที่การหลั่งสารอักเสบต่าง ๆ จะส่งผลต่อเส้นเลือดบริเวณชั้นผิวหนังที่เกิดโรค โดยมีผลทำให้เส้นเลือดขยายในบริเวณที่มีพยาธิสภาพ
รูปภาพที่ 1 ลักษณะรอยโรคของสัตว์ที่ติดไรในหู
ที่มา : https://topdogtips.com/wp-content/uploads/2019/07/Picture-of-what-ear-mites-on-a-dog-look-like.jpg
โดยปกติแล้วบริเวณผิวหนังภายในรูหูจะมีการผลิตไขมัน และเศษผิวหนังเป็นปกติ แต่หากสัตว์มีปัจจัยเสี่ยง ด้านความสะอาด ทั้งการเลี้ยงปล่อย จะเพิ่มโอกาสในการเจอสิ่งสกปรก การดูแลด้านสุขอนามัยของเจ้าของสัตว์ เช่น การทำความสะอาดเช็ดรูหูน้อย สิ่งแวดล้อมบริเวณที่เลี้ยงสกปรก ไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยง เป็นต้น ก็เป็นการเพิ่มการสะสมของไขมันและเศษผิวหนัง เมื่อมีการส่งต่อตัวไรระหว่างตัวสัตว์ โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดไรในหูอยู่เดิม ประกอบกับการไม่ได้ให้ยาตามโปรแกรมป้องพยาธิภายนอก ก็จะทำให้ไร เกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามบางการศึกษากลับพบว่าความสะอาดของหูสัตว์นั้น ไม่มีผลต่อจำนวนของไรในหู แมวที่ติดไรในหูและพบขี้หูจำนวนมากและมีลักษณะสีดำ กับพบจำนวนของตัวไร น้อยกว่าแมวที่ติดไรในหู แต่หูสะอาด มีขี้หูน้อย แต่การที่สัตว์มีขี้หูในรูหูเป็นชั้น ๆ จะเป็นส่วนที่ใช้ยึดเกาะของไข่ตัวไรได้เป็นอย่างดี
รูปภาพที่ 2 แสดงลักษณะโครงสร้างผิวหนัง
ที่มา : https://i.pinimg.com/736x/3a/68/1d/3a681d9d92b4da84da872418b3fae0be.jpg
วงจรชีวิตไรในหูในสัตว์
วงจรชีวิตของไรนั้น เริ่มจากจากตัวเมียจะออกไข่ และพัฒนาเป็นตัวอ่อน ใช้เวลา 4 วัน และตัวอ่อนพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยในระยะต่างๆใช้ ผ่านการลอกคราบ (molting) เวลาประมาณ 3-5 วัน และทั้งวงจรชีวิตของไร ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการเจริญเติบโตขึ้นอยู่สภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น วงจรชีวิตจะเร็ว ซึ่งตัวเต็มวัยจะมีอายุประมาณ 2 เดือนในบริเวณที่ก่อโรค และช่วงระหว่างนั้น ก็สามารถวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วหากไม่มีการดูแลที่เหมาะสม
รูปภาพที่ 3 ลักษณะไรในหูในวงจรชีวิตต่างๆ
ที่มา : parasite-otodectes-cynotis-in-kota-bharu-16-638.jpg (638×479) (slidesharecdn.com)
อาการทางคลินิกของการติดไรในหูในสัตว์
สัตว์จะมีอาการหลัก ๆ คือ อาการคันหู สะบัดหู หรือความถี่ในการเกาหูเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีลักษณะของขี้หูที่ผิดปกติไป เจ้าของมักจะเห็นความผิดปกติได้โดยง่าย และพามาพบสัตวแพทย์ แต่แม้ว่าจะพบได้โดยง่าย การติดไรในหูสามารถนำไปสู่อาการคันรุนแรง จนเกิดเป็นเกิดผื่นแดงที่ใบหูและในช่องหู มีอาการอักเสบของช่องหูส่วนนอกตามมา โดยอาจจะพบเป็นข้างเดียวหรือเป็นทั้ง 2 ข้างก็ได้ และการที่สัตว์นั้นมีการติดไรหู ก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง การแพ้ การทำลายชั้นผิวหนังส่วนบน ง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย (secondary bacteria) เกิดการติดเชื้อในช่วงหูในชั้นในที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
การตรวจวินิจฉัยไรในหูในสัตว์
การตรวจวินิจฉัยไรในหูมักเริ่มจากการสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงการมีไรในหู หรือการตรวจเบื้องต้นด้วยสายตาของสัตวแพทย์ อาจจะเพิ่มการใช้อุปกรณ์ช่วยในการตรวจช่องหู (Otoscope) และทำได้โดยการตรวจดูขี้หูโดยใช้ก้านสำลีในการเก็บตัวอย่างผ่านกล้องจุลทรรศน์ (Ear swab with microscopic examination ) โดยปรับระดับความละเอียดที่ 400X ที่มีการปรับระดับแสง และควรมีการเปรียบเทียบ จำนวนไรต่อ 1 สไลด์ ก่อนและหลังการรักษา
โดยลักษณะของของตัวไรภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าไรจะมีขาอยู่ 4 คู่ ลักษณะของขาหน้ามีลักษณะคล้ายแก้วไวน์ (wine-glass) และสามารถแยกตัวไรเพศผู้ และเพศตัวเมีย ได้จากลักษณะความยาวของขนที่ขาตัวไร ขนาดตัวไรเพศผู้เต็ม อยู่ที่ 274 ถึง 362 μm ขนาดตัวไรเพศเมียอยู่ที่ 345 ถึง 500 μm และลักษณะไข่ของตัวไร มีลักษณะเป็นวงรี ผิวเรียบ มีขนาด 166 ถึง 206 μm
รูปภาพที่ 4 ลักษณะไรในหูอย่างละเอียด
ที่มา : https://classconnection.s3.amazonaws.com/572/flashcards/1015572/jpg/otodectes-1-143EE6263A852294791.jpg
ความสำคัญของการติดไรในหูของสุนัข
ไรในหูสุนัข นับว่าเป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน จากการเก็บข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ในสุนัขมีการติดเชื้อร่วมของพยาธิภายนอกชนิดอื่น ๆ อันได้แก่ Sarcoptes scabei, Demodex spp., Dermatophytes, เห็บ (Ticks), หมัด(Fleas) และพยาธิภายในทั้งตัวกลมและตัวตืด น้อยกว่าการติดเชื้อไรในหูชนิดเดียว และมักพบในสุนัขอายุมาก แต่บางงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อไรในหูในสุนัขนั้น พบว่า อายุ เพศ พันธุ์ ความยาวของขน ไม่มีผลต่อการติดเชื้อไรในหูของสุนัข
ในสุนัขที่มีการติดไรในหู มักพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จนเกิดเป็นหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าแมว นำไปสู่ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น Aural hematoma และการติดเชื้อที่หูชั้นใน (otitis interna) ที่อาจส่งผลถึงระบบประสาท การทรงตัวอีกด้วย
การติดเชื้อไรในหูของหูสุนัข สามารถติดต่อกันได้จากแมว จากการศึกษาพบลักษณะภายนอกที่เหมือนกันและชนิดของสปีชีส์เดียวกัน แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปถึงระดับพันธุกรรมนั้น พบว่ามีความแตกต่างกัน
แนวทางการรักษาไรในหูในสุนัข
การรักษาไรในหูนั้นไม่ยาก หากอาการไม่รุนแรง เพราะตัวยาที่ออกฤทธิ์ต่อการกำจัดไรในหูนั้น ถูกผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ยามากมายในรูปแบบที่ใช้งานได้ง่าย มีทั้งผลิตภัณฑ์ยาประเภทหยอดหลังคอและประเภทรับประทาน และบทความนี้จะเน้นไปที่การรักษาที่ใช้ในสุนัขเป็นหลัด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในสุนัขที่มีการติดไรในหู มักพบการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย จนเกิดเป็นหูชั้นนอกอักเสบ (otitis externa) และมีความรุนแรงของโรคมากกว่าแมว นำไปสู่ความผิดปกติอื่น ๆ เช่น Aural hematoma และการติดเชื้อที่หูชั้นใน (otitis interna) ที่อาจส่งผลถึงระบบประสาท การทรงตัวอีกด้วย
• Afoxolaner เป็นตัวยาที่มีในผลิตภัณฑ์ประเภทรับประทาน ขนาด 2.5 mg/kg และโดยตัวยามีฤทธิ์โดยตรงต่อการกำจัดพยาธิภายนอกทั้งไรในหูและพยาธิชนิดอื่นๆในสุนัข ได้แก่ เห็บ หมัด เหา Sarcoptes scabei และ Demodex spp. เป็นต้น แต่เน้นไปที่การรักษาไรในหูโดยตรง และสามารถกำจัดตัวไร มากกว่าร้อยละ 98 ในเวลา 1 เดือน ถึงถือวาเป้นตัวยาที่มีประสิทธิภาพสูงต่อการรักษาไรในหู
• Fluralaner เป็นตัวยาที่มีในผลิตภัณฑ์ทั้งยาประเภทหยอดหลังคอและประเภทรับประทาน ขนาด 25.4-32.7 mg/kg โดยตัวยามีฤทธิ์โดยตรงต่อการกำจัดพยาธิภายนอกทั้งไรในหูและพยาธิชนิดอื่น เช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าตัวยานี้ทำให้ตัวไรในหูของสุนัขมีจำนนวนลดลงตั้งแต่ 15 วันหลังใช้ยา
• Sarolaner เป็นตัวยาที่มีในผลิตภัณฑ์ประเภทรับประทาน ขนาด 2 mg/kg และตัวยามีฤทธิ์โดยตรงต่อการกำจัดพยาธิภายนอกทั้งไรในหูและพยาธิชนิดอื่นๆในสุนัข เช่นเดียวกับยาชนิดอื่นๆ แต่เน้นไปที่การรักษา Demodex spp. และสามารถกำจัดตัวไรได้เกือบทั้งหมดในเวลา 1 เดือน จึงแนะนำใช้ซ้ำทุกๆ 1 เดือน
• Selamectin เป็นตัวยาที่มีในผลิตภัณฑ์ประเภทหยอดหลังคอ ขนาด 6-12.5 mg/kg แต่มักนิยมใช้ในแมว
• การใช้ยารักษาตัวไร ควรทำการรักษาร่วมกับการทำความสะอาดช่องหูสุนัขเป็นประจำ
• หากมีการติดเชื้อร่วมกับแบคทีเรียและเชื้อยีสต์อื่นๆ พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาเชื้อราเพิ่มเติม
การป้องกันไรในหูในสุนัข
เนื่องจากไรในหูสามารถติดต่อกันได้ง่าย หากมีสัตว์ตัวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมวที่เลี้ยงร่วมกันในบ้าน แสดงอาการผิดปกติ ควรรีบนำไปพบสัตวแพทย์และนำมาตรวจทุกตัว และอีกวิธีหนึ่งที่สัตวแพทย์สามารถแนะนำให้เจ้าของ คือ การให้ยาเพื่อป้องกันเห็บ เห็บ หมัด เหา ไรขี้เรื้อน และที่สำคัญไรในหู เป็นต้น เพราะตัวยาโดยส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 1-1.5 เดือน ซึ่งความถี่ของการใช้ยาเพื่อป้องกันยาอาจมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน ด้วยปัจจัยจากตัวสัตว์ และสิ่งแวดล้อมการเลี้ยงการจัดการ และที่สำคัญแตกต่างจากการใช้ยาเพื่อการรักษา เพราะหากเกิดโรคแล้ว ย่อมมีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน การพิจารณาการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย จากผลการวินิจฉัยจึงแตกต่างออกไปอีกเช่นกัน และที่สำคัญสุนัขติดไรในหู พร้อมด้วยความรุนแรงของโรคที่รุนแรงการรักษาย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการใช้ยาเพื่อป้องกันอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูล
- Baraka, Taher. (2011). Epidemiology, genetic divergence and acaricides of Otodectes cynotis in cats and dogs. Veterinary World. 4. 10.5455/vetworld.2011.109-112.
- Bowman, A. (2014). Otodectes cynotis. Obtenido de American Association of Veterinary Parasitologists: https://www. aavp. org/wiki/arthropods/arachnids/astigmata/otodectes-cynotis.
- Carithers, D., Crawford, J., de Vos, C., Lotriet, A., & Fourie, J. (2016). Assessment of afoxolaner efficacy against Otodectes cynotis infestations of dogs. Parasites & Vectors, 9(1), 1-5.
- Salib, F. A., & Baraka, T. A. (2011). Epidemiology, genetic divergence and acaricides of Otodectes cynotis in cats and dogs. Veterinary World, 4(3), 109.
- Souza, C. P., Ramadinha, R. R., Scott, F. B., & Pereira, M. J. S. (2008). Factors associated with the prevalence of Otodectes cynotis in an ambulatory population of dogs. Pesquisa Veterinaria Brasileira, 28(8), 375-378.
- Six, R. H., Becskei, C., Mazaleski, M. M., Fourie, J. J., Mahabir, S. P., Myers, M. R., & Slootmans, N. (2016). Efficacy of sarolaner, a novel oral isoxazoline, against two common mite infestations in dogs: Demodex spp. and Otodectes cynotis. Veterinary Parasitology, 222, 62-66.
- Taenzler, J., De Vos, C., Roepke, R. K., Frénais, R., & Heckeroth, A. R. (2017). Efficacy of fluralaner against Otodectes cynotis infestations in dogs and cats. Parasites & vectors, 10(1), 1-6.