การป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข

โรคพยาธิเม็ดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขทุกอายุและสายพันธุ์ โดยมีเห็บเป็นพาหะนำโรค (Tick-borne disease) เห็บที่ถือเป็นพาหะสำคัญและพบมากในประเทศไทย นั่นคือ Rhipicephalus sanguineus หรือที่เรียกว่าเห็บสุนัขสีน้ำตาล (Brown dog tick) โดยเห็บชนิดนี้จะส่งต่อเชื้อก่อโรค อันได้แก่ เชื้อโปรโตซัว เช่น Babesia spp. และ Hepatozoon spp. และริคเก็ตเซีย เช่น Ehrlichia spp. และ Anaplasma spp. และเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ เช่น โรค Ehrlichiosis โรค Babesiosis โรค Anaplasmosis โรค Hepatozoonosis เป็นต้น
สุนัขที่ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด มักมาด้วยอาการทั่วไปที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น อาการไข้สูง ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด สีเยื่อเมือกซีด มีจุดเลือดออก ท้องเสีย และอาเจียน เป็นต้น สัตวแพทย์จึงจำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพื่อทำการรักษาในลำดับถัดไป โดยจะอาศัยผลการวินิจฉัยจากหลากหลายวิธี ได้แก่ 1) การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อในเซลล์เม็ดเลือดขาว 2) การตรวจทางโลหิตวิทยา ที่มักพบความผิดปกติของพารามิเตอร์ต่าง ๆ เช่น ค่าเปอร์เซ็นต์เม็ดเลือดแดงอัดแน่นลดลง (low PCV) ระดับเกล็ดเลือดลดลง (Thrombocytopenia) หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia) และ 3) การตรวจหาแอนติบอดีของเชื้อโดยใช้ชุดทดสอบ แต่ผลที่ได้จากชุดทดสอบ ยังต้องพิจารณาร่วมกับประวัติการติดเชื้อและระยะเวลาที่ตรวจหาเชื้อ เนื่องจากบางครั้งผลบวกอาจมาจากการติดเชื้อในอดีต (false positive) หรือผลลบอาจเป็นเพราะสุนัขเพิ่งได้รับเชื้อมา จึงทำให้ระดับแอนติบอดีในร่างกายยังสูงไม่เพียงพอ (false negative)
การรักษาพยาธิเม็ดเลือด มักใช้ยาในกลุ่ม Tetracycline หรือ Doxycycline ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น การให้สารน้ำหรือให้ยาบำรุงเลือด หรือสุนัขบางตัวอาจต้องควบคุมภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะไตวาย ไขกระดูกทำงานบกพร่อง นอกจากนี้ภายหลังการรักษาควรมีการตรวจเลือดซ้ำเพื่อประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดที่มีประสิทธิภาพ ควรทำควบคู่ไปกับการป้องกันและกำจัดเห็บที่เป็นพาหะนำโรค โดยแนะนำให้ป้องกันและกำจัดเห็บทั้งเห็บที่อาศัยอยู่บนตัวสุนัข และเห็บที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโดยปกติแล้วเห็บจะลงมาวางไข่ในสิ่งแวดล้อม จากนั้นเมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนเห็บจะขึ้นไปดูดเลือดบนตัวสุนัข จนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย วนเวียนเป็นวัฎจักร ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บสำหรับสุนัขมากมาย และหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบหยดหลัง แบบฉีด หรือแบบกิน ซึ่งตัวยาสำคัญที่ช่วยในการกำจัดเห็บ ได้แก่
- Fipronil เป็นสารกำจัดแมลง ที่ออกฤทธิ์ทำให้ระบบประสาทของแมลง ส่งผลให้แมลงชักและตายในที่สุด แต่ยังคงปลอดภัยต่อสุนัขและคน เนื่องจากการเข้าจับกับ GABA receptor ของฟิโปรนิลในสัตว์มีกระดูกสันหลังนั้นทำได้ไม่ดี จึงมีฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อแมลงเท่านั้น
- Permethrin เป็นสารกำจัดแมลง ที่ส่งผลรบกวนการปิดของ Na channel ทำให้แมลงเป็นอัมพาตและตายในที่สุด แต่นอกจากฤทธิ์ในการกำจัดแล้ว พบว่าเพอเมทรินยังมีฤทธิ์ในการขับไล่แมลงอีกด้วย โดยสามารถทำให้แมลงรู้สึกระคายเคือง จนไม่เข้ามาใกล้ตัวสุนัข แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเพอร์เมทรินนี้กับแมว เนื่องจากมีความเป็นพิษต่อแมว
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การให้ฟิโปรนิลร่วมกับเพอร์เมทริน ในรูปแบบหยดบนผิวหนัง 1 ครั้ง มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์กำจัดเห็บ Ixodes ricinus และ Rhipicephalus sanguineus ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ (Dumont และคณะ, 2015)
โดยสรุปการป้องกันเห็บอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการลดโอกาสการเกิดโรคพยาธิเม็ดเลือด เนื่องจากช่วยในการควบคุมและกำจัดเห็บที่เป็นพาหะสำคัญของโรค และที่สำคัญยังแนะนำให้พาสุนัขมาตรวจสุภาพเป็นประจำ เพื่อการเฝ้าระวังการติดเชื้อ และสามารถรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือดได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

1. Dantas-Torres F. 2010. Biology and ecology of the brown dog tick, Rhipicephalus sanguineus. Parasites & Vectors 3: 26.

2. Dumont, P., Chester, T. S., Gale, B., Soll, M., Fourie, J. J., & Beugnet, F. 2015. Acaricidal efficacy of a new combination of fipronil and permethrin against Ixodes ricinus and Rhipicephalus sanguineus ticks. Parasites & vectors, 8, 51.

3. Rucksaken, R., Maneeruttanarungroj, C., Maswanna, T., Sussadee, M., & Kanbutra, P. 2019. Comparison of conventional polymerase chain reaction and routine blood smear for the detection of Babesia canis, Hepatozoon canis, Ehrlichia canis, and Anaplasma platys in Buriram Province, Thailand. Veterinary world, 12(5), 700–705.

4. Suksawat, F. 2016. Top 5 Tick-Borne Diseases in Southeast Asia. Clinician’s Brief. August: 25-33.

5. Thongsahuan, S., Chethanond, U., Wasiksiri, S., Saechan, V., Thongtako, W., & Musikacharoen, T. 2020. Hematological profile of blood parasitic infected dogs in Southern Thailand. Veterinary world, 13(11), 2388–2394.