การประเมินความเจ็บปวดในสุนัขและแมว
ความเจ็บปวด (pain) คือ ความไม่สบายทั้งทางด้านความรู้สึกและอารมณ์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ ความเจ็บปวดแบบฉับพลัน (acute pain) และเจ็บปวดแบบเรื้อรัง (chronic pain) โดยความเจ็บปวดแบบฉับพลัน อาจมีความเกี่ยวข้องกับการที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย และส่งผลให้สัตว์มีอาการผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงอาการแสดงโดยทันที หรืออย่างรวดเร็ว โดยเจ้าของอาจสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งระดับของความเจ็บปวดเป็นไปได้ตั้งแต่น้อยไปมาก แล้วแต่ภาวะหรือโรคนั้น ๆ ส่วนความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง ในทางการแพทย์ระบุไว้ว่าเป็นความเจ็บปวดที่ยาวนานกว่าระยะเวลาการสมานของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้งโดยไม่สามารถบ่งชี้สาเหตุของความปวดได้ และมักมีอาการปวดอยู่นานเกินกว่า 3 เดือน
การประเมินความเจ็บปวดแบบฉับพลันในแมว มักเกิดจากการได้รับการกระตุ้นบางอย่างเช่น การกระทบกระเทือน ผ่าตัด หรือ การติดเชื้อ การประเมินความเจ็บปวดชนิดนี้โดย การตรวจร่างกาย เช่น วัดอุณหภูมิ วัดชีพจร อัตราการหายใจ แนะนำให้ตรวจทุกอย่างให้เสร็จก่อนแล้วพิจารณาตรวจเรื่องความเจ็บปวดภายหลังสุด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจวัดระดับความเข้มข้นของคอร์ติซอล และแคทีโคลามีนได้เช่นกัน ในขั้นตอนแรกของการประเมินความเจ็บปวดในแมวควรประเมินจากการสังเกตจากระยะห่างก่อน เพื่อดูพฤติกรรมของสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความเจ็บปวด เช่นการแต่งตัว หรือการเข้ากระบะทราย หรือก้าวร้าวกว่าปกติ หรือไม่ขยับตัว ไม่อยากอาหาร หรือเลียตำแหน่งที่เจ็บปวด แต่ในแมวบางตัวก็ดูได้ยากเช่นกัน หลังจากนั้นค่อยเป็นการคลำตำแหน่งที่สงสัยว่าเจ็บ นอกจากนี้อาจสังเกตการแสดงออกทางสีหน้า และท่าทาง เช่น แมวทำหน้าคล้ายขมวดคิ้ว (furrowed brow) หรือหรี่ตา (orbital squeezing) หรือคอตก อาจบ่งบอกว่าแมวกำลังเจ็บอยู่ได้เช่นกัน ในกรณีผ่าตัดบริเวณท้องแล้วแมวมีอาการเกร็งท้อง อาจเห็นแมวนั่งโก่งตัว (hunched position) ส่วนความเจ็บปวดในสุนัขแบบฉับพลัน ถูกประเมินด้วยวิธีคล้าย ๆ กันกับของแมว ทั้งการตรวจร่างกาย สังเกตสีหน้า แต่ที่ใช้ในการประเมินมากที่สุดในสุนัขคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสุนัขเมื่อมีความเจ็บปวด ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงท่าทางของร่างกาย หรือกิริยาอาการ การส่งเสียงร้อง การตอบสนองเมื่อถูกสัมผัส มีการเปลี่ยนการเข้าหาคน เช่น ปกติเป็นสุนัขที่เล่นกับคนตลอด แต่ช่วงนี้ ไม่ค่อยยุ่ง หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างเห็นได้ชัด หรือการเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เดินกะแผลก หรือไม่ยอมใช้ขา ไม่ลุกเดิน หรือเจ้าของจะสังเกตได้ว่าความอยากอาหารลดลง ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจขึ้นกับลักษณะนิสัยของสุนัขตัวนั้นๆด้วย ในปัจจุบันยังไม่ได้มีกรประเมินตายตัวว่าต้องใช้แบบไหน ซึ่งการประเมินที่ใช้กันจะเป็นแบบเขียนอธิบายทั่วไป (simple descriptive scale) หรือแบบสอบถามและสรุปออกมาเป็นคะแนน เช่น Numeric Rating Scale (NRS) หรือ Visual Analogue Scale หรือที่นิยมคือ Glasgow Composite Measure Pain Scale ซึ่งอาจพอช่วยประเมินได้ว่าสัตว์อยู่ในภาวะที่เจ็บปวด ควรได้รับยาลดปวดเพื่อประคับประคองอาการ หรือ Colorado State University (CSU) acute pain scale เป็นการประเมินจากการสังเกตพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความเจ็บปวด กับการเรียงลำดับด้วยตัวเลขเพื่อง่ายต่อการจัดการ ซึ่งตัวช่วยเหล่านี้อาจเรียกรวม ๆ ว่า CMI หรือ Clinical Metrology Instruments นอกจากนี้เจ้าของหรือสัตวแพทย์สามารประเมินความเจ็บปวดจากการแสดงสีหน้าของแมวและให้คะแนนตามระดับที่กำหนดไว้ หรือที่เรียกว่า Feline Grimace Scale และประเมินว่าสัตว์อยู่ในความเจ็บปวดแค่ไหน และควรได้รับการรักษาอย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ความเจ็บปวดแบบเรื้อรัง (chronic pain) อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมคล้าย ๆ กับความเจ็บปวดแบบฉับพลันได้เช่นกัน แต่ประเมินได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสัตว์ป่วยอาจมีการปรับตัวกับความเจ็บปวดทำให้แสดงอาการออกมาได้ไม่ชัดมาก ซึ่งอาจต้องใช้ความร่วมมือจากเจ้าของด้วยเพราะเป็นบุคคลที่คุ้นชินกับสัตว์เลี้ยงมากที่สุด โดยพฤติกรรม 6 อย่างที่อาจบ่งบอกถึงความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากความเจ็บปวดเรื้งรังของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกในแมว เช่น วิ่ง กระโดดขึ้น-ลง ขึ้น-ลงบันได และความสนใจต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ หากสัตว์ป่วยทำพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เหมือนเดิมอ่จช่วยบอกได้ว่าอาจมีความเจ็บปวดเข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้สิ่งที่ช่วยคุณหมอในการวินิจฉัยอีกอย่างคือ วิดีโอจากเจ้าของ ซึ่งจะมีความชัดเจนกว่าตอนที่สัตว์อยู่โรงพยาบาล ซึ่งอาจมีความเครียดมาเกี่ยวข้องทำให้สัตว์ไม่แสดง หรือแสดงอาการที่ทำให้วินิจฉัยยากขึ้นอีกได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาแบบประเมินเพื่อง่ายต่อการจัดการความเจ็บปวด เช่น The Glasgow University Veterinary School Questionnaire (GUVQuest), Canine Brief Pain inventory, Helsinki Chronic Pain Index, Texas Visaul Analog scale (VAS) Instrument, Liverpool Osteoarthritis in Dogs และ Joint Service Small Arms Program (JSSAP) Canine Chronic Pain Index ส่วนมากนำมาใช้ในการช่วยประเมินเรื่องโรคข้ออักเสบเรื้อรังได้ ซึ่งเจ้าของสัตว์จะต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล เพื่อประสิทธิภาพที่ดีของการประเมินความเจ็บปวด
หลังจากที่มีการประเมินเรื่องความเจ็บปวดก่อนการรักษาแล้ว หลังจากที่มีการรักษา หรือจัดการความเจ็บปวดของสัตว์ป่วยแล้วควรมีการประเมินซ้ำอีกครั้งว่าการจัดการนั้นได้ผลมากหรือน้อยกับสัตว์ป่วยอย่างไร ซึ่งส่วนมากการจัดการความเจ็บปวดมีทั้งแบบไม่ให้ยา หรือการปรับการจัดการต่าง ๆ เช่น การให้อาหารเสริม การทำกายภาพบำบัด การประคบเย็น และการปรับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การบรรเทาความเจ็บปวดด้วยการใช้ยาเป็นที่นิยมอย่างมาก เพื่อหวังผลในการจัดการความเจ็บปวดได้ทันถ้วงที เพาระหากปล่อยให้สัตว์เจ็บปวดเป็นระยะเวลานานอาจทำให้สัตว์ป่วยอาการทรุดได้ ยาที่ใช้ในการบรรเทาความเจ็บปวด เช่นยากลุ่ม opioid และยากลุ่ม NSAIDs ตัวยาที่ได้รับการรับรองให้ใช้ได้แก่ meloxicam ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการกินและการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ตัวยามีค่าครึ่งชีวิตอยู่ที่ 24 ชั่วโมง ดังนั้นสามารถให้ยาเพียงวันละ 1 ครั้งได้ ตัวยาสามารถขับทิ้งได้ทางอุจจาระ 75% และทางปัสสาวะ 25% ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่งผลต่อความเป็นพิษที่ไตน้อยมาก โดยขนาดของยาสามารถให้ตามที่ระบุในใบกำกับยา ยาอื่น ๆ ในกลุ่ม NSAIDs ได้แก่ robenacoxib และ carprofen ซึ่งมักนิยมใช้ในสุนัขมากกว่าแมว
แผนผังที่ 1 แสดงขั้นตอนการประเมิน และการเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินความเจ็บปวดทั้งก่อน และหลังการจัดการความเจ็บปวดในแมว (2022 AAHA Pain Management Guidelines)
แผนผังที่ 1 แสดงขั้นตอนการประเมิน และการเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินความเจ็บปวดทั้งก่อน และหลังการจัดการความเจ็บปวดในแมว (2022 AAHA Pain Management Guidelines)
แผนผังที่ 2 แสดงขั้นตอนการประเมิน
และการเลือกใช้เครื่องมือในการประเมินความเจ็บปวดทั้งก่อน
และหลังการจัดการความเจ็บปวดในสุนัข (2022 AAHA Pain Management
Guidelines)
เอกสารอ้างอิง
1. B. P. Monteiro, B. D. X. Lascelles, J. Murrell, S. Robertson, P. V.
M. Steagall, B. Wright. 2022. 2022 WSAVA guidelines for the recognition,
assessment and treatment of pain. Journal of Small Animal Practice. 64:
175-310
2. Gruen M. E., Lascelles X., Duncan B., Colleran E., Johnson J., and
Marcellin-Little D. 2022. 2022 AAHA Pain management guidelines for dogs
and cats. Veterinary practice guidelines. 58(2): 55-76