วัคซีนสุนัข หากแบ่งตามความจำเป็นจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือวัคซีนหลัก (core vaccine) เป็นวัคซีนที่สุนัขทุกตัวควรได้รับเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประกอบด้วยวัคซีนโรคไข้หัดสุนัข (canine distemper; CDV), โรคตับอักเสบ (canine hepatitis; CAV), โรคลำไส้อักเสบ (parvovirus; CPV-2), โรคพิษสุนัขบ้า (rabies, RV) และวัคซีนทางเลือก (non-core vaccine) เป็นวัคซีนสำหรับโรคที่เจ้าของและสัตวแพทย์พิจารณาเลือกให้ตามความเสี่ยงต่อโรคนั้น เช่น โรคหวัดสุนัข (canine parainfluenza; CPiV), โรคฉี่หนู (leptospirosis, L. interrogans), โรค bordetellosis (B. bronchiseptica), โรคไข้หวัดใหญ่สุนัข (canine influenza; CIV H3N8), วัคซีนโรค leishmaniasis (L. donovani) ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันสุนัขแพร่เชื้อให้กับริ้นฝอยทราย เพื่อลดอัตราการเกิดโรคในมนุษย์ ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อของสุนัข มีการขึ้นทะเบียนในบางประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวัคซีนสำหรับการรักษาโรค คือ วัคซีน malignant melanoma สำหรับรักษา oral melanoma stage II – III ด้วย

การเตรียมตัวก่อนทำวัคซีน

ก่อนทำวัคซีนต้องคำนึงถึงอายุของสุนัขเป็นอันดับแรก เนื่องจากสุนัขที่อายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ จะมีภูมิคุ้มกันจากแม่ (maternally derived antibody : MDA) ที่ได้รับผ่านทางนมน้ำเหลืองอยู่ หากทำวัคซีนในช่วงนี้ ภูมิคุ้มกันจากแม่จะตอบสนองต่อวัคซีน และขัดขวางการสร้างภูมิคุ้มกันของลูกสุนัข ซึ่ง MDA จะค่อย ๆ ลดลงจนหมดช่วงอายุประมาณ 8-12 สัปดาห์ แต่ลูกสุนัขบางตัวที่ได้รับนมน้ำเหลืองน้อยหรือไม่ได้กินภายใน 72 ชั่วโมง หรือแม่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ MDA ลดลงเร็วกว่า 8 สัปดาห์ หรือบางกรณีอาจมี MDA คงเหลืออยู่นานกว่า 12 สัปดาห์ก็ได้

ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่าควรเริ่มฉีดที่อายุ 8 สัปดาห์ และซ้ำทุก 2-4 สัปดาห์จนกว่าจะอายุครบ 16 สัปดาห์ แต่สำหรับสุนัขที่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ในพื้นที่แออัด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ, ไม่ได้กิน colostrum ภายในช่วงที่ร่างกายดูดซึมนมน้ำเหลืองหรือคาดว่าแม่มีภูมิคุ้มกันไม่สูงพอ อาจเริ่มทำวัคซีนตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่าจะอายุครบ 16-20 สัปดาห์ ยกเว้นกรณีที่สุนัขตัวนั้นมีหลักฐานการทำวัคซีน หรือหากสุนัขตัวนั้นอายุเกิน 20 สัปดาห์ และเคยทำวัคซีน CPV-2 มาแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์ สามารถตรวจเพื่อยืนยันการมีภูมิได้โดยใช้ชุดตรวจ antibody โดยการให้วัคซีนในสัตว์อายุน้อยนอกจากจะมี MDA มารบกวนการตอบสนองแล้ว หากให้วัคซีนที่เป็น MLV อาจทำให้เกิดอาการทางคลินิกได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นการให้วัคซีน CPV-2 ในสุนัขอายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์ พบว่าทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และมีอาการของโรคตามมาได้ สำหรับโปรแกรมวัคซีนหลักและวัคซีนทางเลือกมีคำแนะนำการฉีดดังตารางที่ 1

ต่อมาต้องคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขที่เพิ่งรับมาเลี้ยงใหม่ ควรแยกเลี้ยงและสังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ และต้องแน่ใจว่าสุนัขมีสุขภาพดี ไม่มีโรค แต่สำหรับสุนัขที่ไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติหรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา อาจต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เช่น สุนัขท้อง สามารถทำวัคซีนเชื้อตายได้กรณีมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม หากแม่สุนัขเคยทำวัคซีนที่มีการรับรองระยะเวลาการมีภูมิคุ้มกัน หรือ duration of immunity (DOI) 3 ปีมาแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่าแม่ยังมีภูมิอยู่ และจะสามารถส่งต่อภูมิสู่ลูกได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเพิ่ม, สุนัขที่กำลังรักษาโรคพยาธิเม็ดเลือด E. canis ซึ่งจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวทำให้เกิดภาวะ monocytic ehrlichiosis เคยมีการศึกษาในสุนัขที่ทดลองทำให้ติดเชื้อ E. canis กับภาวะ immunosuppression พบว่าเชื้อไม่มีผลต่อปริมาณ IgG, IgM, IgA และไม่มีผลกับประสิทธิภาพของ cell-mediated immunity แต่ยังไม่มีงานวิจัยรับรองว่าภาวะ monocytic ehrlichiosis จากสุนัขที่ติดเชื้อตามธรรมชาติมีผลต่อการตอบสนองต่อวัคซีนหรือไม่ ดังนั้นสัตวแพทย์ควรพิจารณาจากตัวสุนัขเป็นรายกรณีไป หากยังไม่มีความจำเป็นอาจรอให้ทำการรักษาจนหายก่อน จึงเริ่มทำวัคซีน, สุนัขที่รับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ควรทำวัคซีนหลังลดระดับยาสู่ระระดับที่ไม่มีผลกับภูมิคุ้มกันแล้วหรือหยุดยาแล้วอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงเริ่มทำวัคซีนได้

ระยะเวลาในการกระตุ้นวัคซีน ควรพิจารณาตาม DOI ของวัคซีนนั้น ๆ กรณีสัตว์ทำวัคซีนหลักแบบ MLV และวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่บริษัทรับรอง DOI นาน 3 ปีแล้ว สัตว์จะไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนั้นซ้ำทุก 1 ปีอีก เนื่องจากการฉีดซ้ำไม่ได้ช่วยให้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่แล้วสูงขึ้น แต่หากสัตว์แพทย์ต้องการตรวจหาภูมิต่อเชื้อเพื่อความแน่ใจ ก็สามารถทำได้โดยการใช้ชุดตรวจ Antibody หรือส่งตัวอย่างตรวจระดับภูมิคุ้มกัน หากไม่พบภูมิจึงค่อยทำวัคซีนให้สัตว์ก็ได้ แต่สำหรับวัคซีนเชื้อตายหรือวัคซีนเชื้อแบคทีเรีย เช่น Leptospira, Bordetella ,Borrelia (Lyme disease), Parainfluenza หลังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ห่างกัน 2-4 สัปดาห์แล้ว สัตว์จำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นซ้ำทุกปี

การดูแลหลังฉีดวัคซีน

หลังการทำวัคซีน ควรให้เจ้าของสังเกตอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนประมาณ 15-30 นาทีก่อน เนื่องจากภาวะแพ้ (hypersensitivity type 1) อาจทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา อาจพบอาการหลังฉีดในช่วงนาทีหรือไม่กี่ชั่วโมง มักพบว่าสุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 10 กก.มีโอกาสแพ้วัคซีนมากกว่าสุนัขที่หนัก 10 กก.ขึ้นไป สัตว์ที่แพ้วัคซีนจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เป็นผื่นแดง คัน หน้าบวม หลอดลมบวมเฉียบพลันและหลอดลมหดเกร็ง ซึ่งจะทำให้หายใจลำบาก เหงือกซีดหรือม่วง (cyanosis) ความดันต่ำ ตัวเย็น หมดสติ ทำให้ตับ (shock organ ของสุนัข) ล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ปัจจุบันคาดว่าสารที่ทำให้เกิดการแพ้คือ bovine serum albumin (BSA) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาหารเลี้ยงเชื้อไวรัสในวัคซีน การจัดการกรณีแพ้วัคซีนควรให้ยากลุ่ม anti-histamines, อาจให้ยากลุ่ม steroids ในขนาดลดการอักเสบร่วมด้วย และให้ยากลุ่ม epinephrine เพื่อลดภาวะหลอดเลือดคลายตัวและหลอดลมหดเกร็ง แล้วควรบันทึกอาการแพ้พร้อมระบุเลขล็อตการผลิตและตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนลงในสมุดวัคซีน สุนัขบางตัวอาจมีเพียงอาการซึม มีไข้ ซึ่งจะดีขึ้นได้เองใน 1-2 วัน ดังนั้นสุนัขยังไม่ควรอาบน้ำช่วง 7 วันหลังทำวัคซีนเพราะอาจทำให้อาการไข้ยิ่งแย่ลงและมีผลกับการวินิจฉัยโรคได้

จากที่กล่าวมาการพิจารณาทำวัคซีนต้องเฝ้าระวังอาการแพ้ พิจารณาให้วัคซีนตามความเสี่ยงของสัตว์และความรุนแรงของโรค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันระดับฝูง ลดความรุนแรงของอาการ และป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้สัตว์มีสุขภาพที่ดีนอกจากการทำวัคซีนแล้วควรให้สัตว์ได้รับสารอาหารครบ อาจเสริมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในตัวที่อ่อนแอ ถ่ายพยาธิสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียดและพาสุนัขมาตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งด้วย

ตารางที่ 1 โปรแกรมการฉีดวัคซีนที่แนะนำโดย Word Small Animal Veterinary Association (WSAVA) ในปี 2016

อ้างอิงข้อมูล

Keitaro Ohmori, et al. Immunoblot analysis for IgE-reactive components of fetal calf serum in dogs that developed allergic reactions after non-rabies vaccination. Veterinary immunology and immunopathology. 2006.

Paul R. Hess, et al. Experimental Ehrlichia canis infection in the dog does not cause immunosuppression. Veterinary Immunology and Immunopathology. 2006.

M. J. Day, et al. Guidelines for The Vaccination of Dogs and Cats. Journal of Small Animal Practice. 2016.