หมัด จัดเป็นปรสิตภายนอกที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว ภาวะแพ้น้ำลายหมัดหรือที่เรียกว่า Flea bite allergy dermatitis (FAD) นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในสุนัขและแมวทุกช่วงวัย หมัดที่พบมากในสุนัขและแมว ได้แก่ หมัดแมว (Ctenocephalides felis) ที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) จากการถูกหมัดดูดเลือดแล้ว หมัดยังเป็นพาหะของปรสิตในเลือด เช่น Hemobartonellosis felis ในแมว นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะ flea bite hypersensitivity โดยมีสารก่อภูมิแพ้คือน้ำลายหมัด (flea saliva) ซึ่งเป็นการแพ้เฉพาะตัวของสัตว์เลี้ยง นั่นหมายความว่าหมัดเพียงตัวเดียวก็สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้แล้ว ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางท่านอาจไม่เคยสังเกตเห็นตัวหมัดบนสัตว์เลี้ยงที่ มีอาการแพ้น้ำลายหมัด

อาการ

Flea bite allergy dermatitis จะทำให้สุนัขและแมวมีอาการคันอย่างมาก เช่นเดียวกับโรค food allergy และ sarcoptic mange ที่สุนัขและแมวจะแทะหรือเลียบริเวณที่คันไม่หยุดจึงทำให้เกิดรอยโรค (secondary lesion) ที่พบได้ เช่น excoriation, alopecia, lichenification, scaling, crusting, pyotraumatic dermatitis หรือ hot spot ในบริเวณที่แทะหรือเลียมาก ๆ จะเกิดที่หลังส่วนล่าง โคนหาง รอบรูก้น ขาหลัง และบริเวณสะดือ หรือลักษณะเด่น ๆ ที่เห็นได้ชัดบริเวณหลังส่วนเอว (waist-back disease) บางครั้งรอยโรคอาจคล้ายคลึงกับ atopy และ scabies ได้เช่นกัน

อาการทางคลินิกที่พบอาจเป็นฤดูกาลหรือพบได้ตลอด ขึ้นอยู่จำนวนของหมัดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม ในลูกสุนัขที่เป็น FAD จะมีตุ่มแดง (papules) พบว่าสุนัขคันมาก จนคล้ายกับอาการของ scabies ในแมวอาจพบขนร่วงที่หลังหรือท้องส่วนล่าง เนื่องจากเลียมากเกินไป ทำให้ขนร่วงแบบสมมาตร (symmetrical alopecia) มีรอยโรคเป็นตุ่มแดงกระจาย (papular miliary dermatitis) ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของ FAD ในแมว อาการที่พบในแมวอาจคล้ายกับโรค eosinophilic granuloma complex หรือ head and neck pruritus

การวินิจฉัย

จากอาการทางคลินิก โอกาสที่สัมผัสกับหมัด และการตอบสนองต่อการป้องกันหมัด สามารถใช้เป็นข้อมูลในการวินิจฉัยได้เบื้องต้น อย่างไรก็ตามการมีหมัดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้สัตว์มีอาการแพ้ได้ รอยโรคส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นแบบ secondary lesion ดังนั้นการตรวจร่างกายที่ไม่พบหมัดบนตัวสัตว์เลย ก็ยังไม่สามารถ rule out ได้ ว่าแมวเป็นโรค FAD หรือไม่ เพราะแมวมีโอกาสเกิด FAD ได้ แม้ว่าจะไม่พบตัวหมัดเลยก็ตาม เนื่องจากแมวอาจเลียขนและเผลอกินตัวหมัดเข้าไปได้

สำหรับการตรวจวินิจฉัยนั้น มีได้ทั้ง intradermal skin test ที่ใช้สารสกัดจากตัวหมัดทั้งตัว หรือการตรวจแอนติเจนของน้ำลายหมัด อย่างไรก็ตามความไวหรือความจำเพาะของทั้งสองวิธีนี้ยังไม่แน่นอน กรณีที่ได้ผลเป็นลบ ก็ยังไม่สามารถ rule out โรค hypersensitivity ได้ โดยการแพ้น้ำลายหมัดจัดเป็น hypersensitivity type 1 (immediate type hypersensitivity) โดยสัตว์ที่มีอาการแพ้จากการทดสอบจะแสดงอาการได้ตั้งแต่

  • Immediate reaction คือแบบเกิดอาการทันที (15 นาที) จะเห็นเป็นวงแดง (erythematous wheal)
  • Late-phase reaction คือแบบแสดงอาการช้า (6 ชั่วโมง)
  • Delayed reaction แบบเกิดอาการช้ามาก ใช้ระยะเวลานานเป็นวัน (24 - 48 ชั่วโมง) อาจพบได้ในกรณี immediate reaction ที่ในตอนแรกเป็นผลลบ แต่พบรอยโรคภายใน 24 ชั่วโมง แบบ localized erythema

ส่วนการตรวจแอนติเจนของน้ำลายหมัดมักสัมพันธ์โดยตรงกับอาการของ FAD แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่มีจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีการตรวจ flea saliva IgE titer ซึ่งมีจำหน่าย และวัดระดับ specific IgE ต่อน้ำลายหมัด แต่ไม่สามารถแยกแยะอาการ delayed reaction ได้ และ FAD มีโอกาสได้ผลเป็นลบประมาณ 15-30% จึงใช้วิธีการนี้ในการตรวจสอบหลังจากที่ทำการรักษาไปแล้ว

การรักษาและการป้องกัน

สุนัขและแมวควรมีการป้องกันหมัดเป็นประจำ ไม่ว่าจะเลี้ยงนอกบ้านหรือในบ้าน ซึ่งปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์มากมายที่ช่วยจัดการและป้องกันหมัดได้ ได้แก่

  • 1) Fipronil + (s)- methoprene ใช้หยดหลัง ควรใช้ทุกเดือน สามารถป้องกันการฟักของไข่หมัดและตัวเต็มวัยได้
  • 2) Nitenpyram เป็นสารสังเคราะห์ที่ช่วยยับยั้ง nicotinic acetylcholine receptor อยู่ในรูปการกิน สามารถออกฤทธิ์ฆ่าหมัดได้ภายใน 24 ชั่วโมง สามารถใช้ได้กับสุนัขโต ลูกสุนัข แมวโต และลูกแมว อย่างไรก็ตามต้องใช้ควบคู่กับวิธีการป้องกันหมัดแบบอื่นด้วย
  • 3) Imidacloprid ใช้หยดหลัง ทุก 1-2 สัปดาห์
  • 4) Selamectin ใช้หยดหลังเหมือนกับ imidacloprid และ fipronil และควรใช้เป็นประจำทุกเดือน
  • 5) Lufenuron/milbemycin oxime สามารถฆ่าหมัดตัวแก่โดยควบคุมการเจริญเติบโตของหมัด ในรูปแบบการกินทุกเดือน

กรณีที่หมัดถูกกำจัดหมดไปแล้วแต่สัตว์ยังคงมีอาการคันอยู่ สัตวแพทย์อาจให้ยาลดการอักเสบ เช่น oral corticosteroid 10-14 วัน เช่น prednisolone 0.2-0.6 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ถ้าสัตว์ติดเชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์ร่วมด้วยก็ควรให้ยารักษา ส่วนการรักษาภายนอก เช่น ยาหยดหลัง ควรทำหลังจากที่อาบน้ำสุนัขไปแล้ว ตามข้อบ่งใช้ของผลิตภัณฑ์

อ้างอิงข้อมูล

Daigle, J.C. Flea Allergy: The best test & Prevention: NAVC clinician ‘s brief 2005: 44-45.