โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม หรือ myxomatous mitral valve disease (MMVD) เป็นโรคหัวใจที่พบมากในสุนัขพันธุ์เล็กและพันธุ์กลาง สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ Cavalier king Charles spaniels, Dachshunds, Miniature schnauzers, Poodle, Yorkshire terriers เป็นต้น นอกจากนี้การเสื่อมของลิ้นหัวใจ ยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายปัจจัย เช่น อายุ โดยพบว่าสุนัขที่อายุมาก มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าสุนัขอายุน้อย ยกเว้นสุนัขพันธุ์ Cavalier King Charles Spaniel ที่สามารถพบความเสื่อมของลิ้นหัวใจไมทรัลได้ตั้งแต่อายุยังน้อย, เพศ โดยสุนัขเพศผู้พบโรคนี้ได้มากกว่าเพศเมีย รวมถึงเพศผู้มักพบความรุนแรงของโรคมากกว่าเพศเมีย นอกจากนี้กรณีที่มีการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ อาจส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมตามมาได้
ในภาวะปกตินั้น ลิ้นหัวใจไมทรัลจะทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับสู่หัวใจห้องบนซ้าย ในขณะที่หัวใจห้องล่างซ้ายกำลังบีบตัว แต่เมื่อลิ้นหัวใจไมทรัลหนาตัวขึ้น จะทำให้ลิ้นหัวใจไมทรัลสบกันไม่สนิทและเกิดการรั่ว จนทำให้เลือดบางส่วนไหลย้อนกลับจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปยังห้องบนซ้ายในขณะที่หัวใจกำลังบีบตัว ทำให้ขนาดและความดันของหัวใจห้องบนซ้ายเพิ่มขึ้น และเกิดการคั่งของเลือดในหลอดเลือดดำที่ปอด จนส่งผลให้ hydrostatic pressure สูงขึ้น ที่อาจเกิดเป็นภาวะ pulmonary edema และภาวะหัวใจข้างซ้ายล้มเหลว (left side heart failure) ในที่สุด
อาการทั่วไปของสุนัขที่เป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม จะขึ้นกับความรุนแรงของรอยรั่ว โดยระยะแรกเริ่ม สุนัขมักไม่แสดงอาการ แต่ในเวลาต่อมาหากสุนัขแสดงอาการ มักพบความผิดปกติ เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลม (syncope) หรืออาจพบอาการไอ (cough) และหายใจลำบาก (dyspnea) ที่เป็นผลมาจากภาวะหัวใจห้องบนซ้ายโตแล้วไปกดทางเดินหายใจ เป็นต้น

สำหรับการวินิจฉัยว่าสุนัขเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมหรือไม่ ทำได้โดย

1. การซักประวัติ ถึงสายพันธุ์เสี่ยง อายุ อาการที่พบ เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลม หรืออาจพบอาการไอและหายใจลำบาก เป็นต้น
2. การฟังเสียงหัวใจ ในกลุ่มที่แสดงอาการ เมื่อฟังเสียงหัวใจ จะได้ยินเสียง Murmur ที่ตำแหน่ง apex ของลิ้นหัวใจไมทรัล หรือสุนัขบางตัวได้ยินเป็นบริเวณกว้าง
3. การวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสี ใควรประเมินขนาดของหัวใจ ด้วย Vertebral heart score (VHS) ค่าโดยปกติในสุนัขไม่ควรเกิน 10.5 และประเมินขนาดของหัวใจห้องบนซ้าย ด้วย Vertebral Left Atrial Score (VLAS) ที่ไม่ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 3 นอกจากนี้ภาพถ่ายรังสี ยังอาจบ่งบอกถึงการคั่งของของเหลวภายในปอดร่วมด้วย
4. การวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์หัวใจ หรือ echocardiography ถือเป็น gold standard ในการวินิจฉัย เพราะเป็นประโยชน์ในการประเมินโครงสร้าง และการทำงานของหัวใจ เช่น ยืนยันการขยายขนาดของหัวใจ ทั้งอัตราส่วนขนาดหัวใจห้องบนซ้ายต่อขนาดหลอดเลือดเอออร์ตา (LA:Ao) ในช่วง early diastole ที่ไม่ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 1.6 และขนาดของหัวใจห้องล่าง หรือ left ventricular internal dimension in diastole (LVIDDN) ที่ไม่ควรมากกว่าหรือเท่ากับ 1.7 นอกจากนี้ echocardiography ยังช่วยยืนยันรอยโรคจากตำแหน่งของเสียง murmur และช่วยประเมินความรุนแรงของการรั่วจากการประเมินการไหลเวียนของเลือดจาก color flow ได้
5. การวินิจฉัยอื่น ๆ เช่น การตรวจ cardiac biomarker เช่น NT ProBNP/BNP ซึ่งเป็น stretch marker โดยการพบว่าค่านี้สูงขึ้น สามารถบ่งบอกถึงภาวะ volume overload แต่ยังไม่สามารถใช้แยกระยะของโรคได้

นอกจากนี้ทาง American College of Veterinary Internal Medicine (ACVIM) ยังมีข้อแนะนำการจัดการโรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมว่า สุนัขที่อยู่ใน stage A และ B1 ยังไม่มีความจำเป็นต้องรักษาทางยา เนื่องจาก stage A เป็นสุนัขกลุ่มสายพันธุ์เสี่ยง ที่ยังไม่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่ว และ stage B1 เป็นกลุ่มสุนัขที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่ว แต่ยังไม่มีภาวะหัวใจล้มเหลว และยังไม่มีภาวะหัวใจโต แต่อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าสุนัขเข้าสู่ stage B2, stage C, และ stage D สุนัขจำเป็นต้องได้รับการรักษาทาง และ/หรือการปรับเปลี่ยนอาหารสำหรับสุนัขโรคหัวใจโดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตรวจพบว่าสุนัขเข้าสู่ stage B2 หรือเมื่อได้ยินเสียง murmur ตั้งแต่ grade 3-6/6 ขึ้นไป และพบว่าสุนัขมีภาวะหัวใจโต โดยพิจารณาจากเกณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ขนาดหัวใจจากการวัด Vertebral heart score (VHS) จากภาพ x-ray มากกว่า 10.5, ขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายช่วงคลายตัว (VLAS) มากกว่า 1.7, อัตราส่วนขนาดหัวใจห้องบนซ้ายต่อขนาดหลอดเลือดเอออร์ตา (LA:Ao) มากกว่า 1.6 จากการทำ echocardiography, ควรให้การรักษาสุนัขกลุ่มนี้ด้วยยา Pimobendan โดยมีผลการศึกษาใน EPIC study พบว่าการให้ Pimobendan จะช่วยชะลอการเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว และมีผลลดขนาดของหัวใจห้องล่างซ้าย นอกจากนี้ยังอาจให้ร่วมกับยากลุ่มอื่น ๆ เช่น Spironolactone เป็นต้น อย่างไรก็ตามใน stage B2 ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาให้อาหารสูตรสำหรับโรคหัวใจโดยเฉพาะ

กล่าวโดยสรุป เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีใด ที่จะสามารถรักษาเสื่อมของลิ้นหัวใจได้อย่างถาวร การรักษาโรคนี้ จึงเน้นไปที่การควบคุมความรุนแรงของโรค และชะลอภาวะหัวใจล้มเหลว ดังนั้นการวินิจฉัยจึงถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะใน stage B2 นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ จะสามารถช่วยให้ตรวจพบโรคได้เร็ว และรักษาได้อย่างทันท่วงที

เอกสารอ้างอิง

A. Boswood, J. Haggstrom, S.G. Gordon, et al. Effect of Pimobendan in Dogs with Preclinical MyxomatousMitral Valve Disease and Cardiomegaly: The EPIC Study—A Randomized Clinical Trial, J Vet InternMed 2016. 30:1765–1779p.

2Bruce W. Keene et al. ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs. Journal of Veterinary Internal Medicine. 2019.