วัคซีนหลักของแมว (Feline core vaccine)
วัคซีนหลักของแมว ประกอบด้วย วัคซีนสำหรับไวรัสเฮอร์ปีส์ - 1ของแมว (Feline herpesvirus -1 ; FHV - 1), แคลลิซิไวรัสของแมว (Feline calicivirus ; FCV), ไวรัสไข้หัดแมว (Feline panleukopenia virus ; FPV), ไวรัสมะเร็งเม็ดโลหิตขาวของแมว (Feline leukemia virus ; FeLV - kittens) และไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies)
  • วัคซีนสำหรับไวรัสเฮอร์ปีส์ – 1 ของแมว (Feline herpesvirus - 1; FHV-1), แคลลิซิไวรัสของแมว (feline calicivirus ; FCV) และไวรัสไข้หัดแมว (feline panleukopenia virus ; FPV)
สำหรับลูกแมวอายุน้อยกว่า 16 สัปดาห์ (kitten) แนะนำให้เริ่มทำวัคซีนชนิด modified - live สำหรับ FHV-1, FCV และ FPV ที่อายุ 6 - 8 สัปดาห์ จากนั้นทำทุก ๆ 3 – 4 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุ 16 สัปดาห์ สำหรับแมวอายุมากกว่า 16 สัปดาห์ แนะนำให้ทำวัคซีน FHV - 1, FCV และ FPV จำนวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 – 4 สัปดาห์ ทำการกระตุ้นวัคซีนดังกล่าวอีก 1 ปีถัดไป และจากนั้นกระตุ้นทุก ๆ 3 ปีสำหรับแมวที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อต่ำ แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ที่ตำแหน่งปลายขาหน้าขวา และควรหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีน FPV ชนิด modified - live ในแมวที่กำลังตั้งครรภ์และลูกแมวที่อายุน้อยกว่า 1 เดือน
  • วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าของแมว
แนะนำทำวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าชนิด killed หรือ recombinant ให้ลูกแมวครั้งเดียวที่อายุ 12 – 16 สัปดาห์ สำหรับแมวโต (อายุ >16 สัปดาห์) ที่ไม่ทราบประวัติวัคซีน แนะนำให้ทำวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าชนิด killed หรือ recombinant ครั้งเดียว หลังจากนั้นให้กระตุ้นปีละครั้ง แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ที่ตำแหน่งส่วนปลายขาหลังขวา
  • วัคซีนไวรัสมะเร็งเม็ดโลหิตขาวของแมว (Feline leukemia virus ; FeLV)
แนะนำให้ทำวัคซีน FeLV ในลูกแมว (kitten) และแมวโตที่ให้ผลชุดทดสอบ FeLV เป็นลบ โดยเฉพาะแมวเลี้ยงปล่อยอิสระที่สัมผัสโดยตรงกับแมวตัวอื่นที่ไม่ทราบสภาวะของโรค FeLV ไม่แนะนำให้ทำวัคซีนในแมวที่ให้ผลชุดทดสอบ FeLV เป็นบวกและแมวเลี้ยงระบบปิด ครั้งแรกให้ทำวัคซีน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้กระตุ้นทุก ๆ 1 ปี (recombinant vaccine) หรือทุก ๆ 3 ปี (inactivated vaccine) ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ที่ตำแหน่งส่วนปลายขาหลังซ้าย
ตารางที่ 1 : ข้อแนะนำสำหรับการทำวัคซีนของแมวบ้านที่เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง
FPV = Feline panleukopenia virus; FHV1 = Feline herpesvirus 1;
FCV = Feline calicivirus;
FeLV = Feline leukemia virus
ที่มา: ดัดแปลงจาก (Scherk et al., 2013)

วัคซีนที่ไม่ใช่วัคซีนหลักของแมว (Feline non-core vaccine)
วัคซีนทางเลือกหรือวัคซีนที่ไม่ใช่วัคซีนหลักของแมว ประกอบด้วย วัคซีนสำหรับไวรัสภูมิต้านทานบกพร่องของแมว (Feline immunodeficiency virus ; FIV), แบคทีเรียชนิด Chlamydia felis และแบคทีเรียชนิด Bordetella bronchiseptica
  • วัคซีนสำหรับไวรัสภูมิต้านทานบกพร่องของแมว
วัคซีน FIV เป็นวัคซีนชนิด inactivated adjuvanted dual subtype vaccine แนะนำให้ทำในแมวกลุ่มเสี่ยงและไม่พบการติดเชื้อ โดยเริ่มให้เข็มแรกที่อายุ 8 สัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตามการทำวัคซีน FIV ในแมวที่ไม่พบการติดเชื้อ FIV จะแสดงผลบวกต่อการตรวจทางซีรั่ม (ELISA และ Western blot) อย่างน้อย 1 ปีหลังจากทำวัคซีน และการตรวจด้วย polymerase chain reaction (PCR) ไม่สามารถระบุการติดเชื้อ FIV ตามธรรมชาติได้ การศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่าการทำวัคซีน FIV ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีมากนัก และยังคงเป็นคำถามเกี่ยวกับความสามารถของวัคซีนในการป้องกันเชื้อ FIV ในแต่ละ subtype และแต่ละสายพันธุ์ของ FIV ที่แมวมีโอกาสสัมผัส ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน FIV เก็บสำรองไว้ในโรงพยาบาลและไม่แนะนำให้ทำในแมวที่เลี้ยงในบ้าน
  • Feline Chlamydia felis Vaccine
เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia felis เป็นสาเหตุของภาวะเยื่อตาอักเสบ (conjunctivitis) ในแมว ซึ่งเป็นภาวะที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การเหนี่ยวนำภูมิต้านทานด้วยวัคซีนอาจเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และการให้วัคซีนเพียงอย่างเดียวอาจป้องกันการติดเชื้อได้ไม่สมบูรณ์ โดยทั่วไปเราจะพิจารณาให้วัคซีนสำหรับแมวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อนี้เป็นโรคประจำถิ่น อย่างไรก็ตามพบผลข้างเคียงจากการทำวัคซีน 3% และไม่แนะนำให้ทำเป็นโปรแกรมประจำ ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน Chlamydia felis เก็บสำรองไว้ในโรงพยาบาล
  • Feline Bordetella bronchiseptica Vaccine
เป็นวัคซีนแบบให้ทางจมูก (intranasal) ชนิด modified live vaccine เชื้อ Bordetella bronchiseptica เป็นปัญหาหลักของโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่างในลูกแมว เชื้อนี้ไม่ค่อยพบในแมว adult และแมวที่เลี้ยงทั่วไป ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน Bordetella bronchiseptica เก็บสำรองไว้ในโรงพยาบาล วัคซีนนี้แนะนำให้ทำในลูกแมวที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อในสิ่งแวดล้อม
  • วัคซีนสำหรับโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบในแมว (Feline infectious peritonitis ; FIP)
วัคซีน FIP เป็นวัคซีนแบบ intranasal modified live ประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงเป็นที่โต้แย้งกัน เนื่องจากระยะเวลาของภูมิต้านทานค่อนข้างสั้น โดยทั่วไปจะพิจารณาให้วัคซีน FIP ในแมวที่ให้ผลลบต่อชุดทดสอบ และมักทำในแมวที่มีอายุน้อยกว่า 16 สัปดาห์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ coronavirus มากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ อย่างไรก็ตามอาจไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน FIP เก็บสำรองไว้ในโรงพยาบาล


อ้างอิงข้อมูล :

  1. Scherk MA, Ford RB, Gaskell RM, Hartmann K, Hurley KF, Lappin MR, Levy JK, Little SE, Nordone SK, Sparkes AH. 2013. 2013 AAFP Feline Vaccination Advisory Panel Report. J Feline Med and Surg. 15:9, 785 – 808.
  2. UC Davis Veterinary Medicine. Vaccination Guidelines for Dogs and Cats. Retrieved from www.vetmed.ucdavis.edu/hospital/animal-health-topics/vaccination-guidelines.
  3. 2016 WASAVA GUIDELINES FOR THE VACCINATION OF DOGS AND CATS