ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำวัคซีนและการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตในสุนัขและแมวสูงอายุ
เมื่อผ่านการเลี้ยงสุนัขและแมวมาอย่างยาวนานมักเกิดความผูกพันขึ้นระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง จนอาจเกิดข้อสงสัยขึ้นหากสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การทำกิจกรรมที่ลดลง การวิ่งเล่น กระโดดขึ้นที่สูงได้ลดลง หรือเจ้าของสัตว์อาจเกิดข้อสงสัยว่าสุนัขหรือแมวมีอาการซึม มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ ไม่ค่อยขยับตัว ในบางกรณีอาจพบว่าสุนัขและแมวมีการขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง และอาจพามาพบสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ที่ต้องทำให้เจ้าของสัตว์เกิดความเข้าใจว่า อายุที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ และควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสัตว์สูงอายุเพื่อพัฒนาคุณภาพบั้นปลายชีวิตของสัตว์ อาจเริ่มจากคำถามง่ายๆ เช่น การสอบถามว่าวันนี้สุนัขหรือแมวเป็นอย่างไรบ้าง พฤติกรรมการรับประทานอาหารและน้ำ การขับถ่าย การใช้ชีวิต การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก โดยสอบถามเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อให้เจ้าของสัตว์สามารถเล่าได้อย่างสะดวกใจ รวมไปถึงอาหาร ยา หรืออาหารเสริมที่สัตว์เลี้ยงได้รับในขณะนี้มีอะไรบ้างเพื่อช่วยแนะนำเจ้าของได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมเกี่ยวกับการใช้ยารวมไปถึงปฏิกิริยาระหว่างยาแต่ละชนิด สุขภาพโดยองค์รวมของสัตว์จัดเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เช่นประวัติการได้รับวัคซีน การรับยาป้องกันปรสิตภายในและภายนอก ซึ่งส่งผลต่อโรคที่อาจเกิดขึ้นกับตัวสัตว์และวิธีการเลี้ยงสัตว์เช่นกัน
ในส่วนของการได้รับวัคซีน ตาม 2020 AAHA/AAFP Feline vaccination guidelines และ 2022 AAHA Canine Vaccination Guidelines กล่าวว่าสุนัขและแมวทุกตัวควรได้รับ core vaccines ซึ่งได้แก่ canine distemper virus, canine adenovirus type 2, canine parvovirus type 2 ในสุนัข และ feline parvovirus, feline calicivirus, feline herpesvirus type 1, feline leukemia virus ในแมว รวมไปถึง rabies หรือโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในสุนัขและแมว นอกจากนี้วัคซีนอีกชนิดหนึ่งคือวัคซีนชนิด Non-core vaccines ซึ่งได้แก่ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อ Leptospira spp, Borrelia burgdorferi, Bordetella bronchiseptica, canine parainfluenza virus, Canine influenza ในสุนัข และ Chlamydophila felis และ Bordetella bronchiseptica ในแมว จัดเป็นวัคซีนที่ควรได้รับเป็นอย่างยิ่งในสุนัขและแมวที่เลี้ยงในระบบเปิด หรือสุนัขและแมวที่อยู่รวมกันหลาย ๆ ตัวซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมากกว่าสุนัขและแมวที่เลี้ยงในระบบปิด กล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมที่ใช้เลี้ยงมีผลอย่างยิ่งต่อการเกิดโรค โดยพบว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีการเลี้ยงแมวจำนวนมากมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าสัตว์ที่เลี้ยงเพียง 1-2 ตัวในบ้าน เนื่องจากอาจพบโอกาสที่สัตว์จะเป็นแหล่งรังโรค (reservoir) ของโรคติดเชื้อต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์อย่างหนาแน่นอาจส่งผลให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การกดภูมิคุ้มกัน เกิดการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเชื้อภายในร่างกายได้รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้ออื่นๆ แทรกซ้อนขึ้นมาได้เช่นกัน นอกจากนี้หากพบการติดเชื้อเพียง 1 ตัวในบ้านที่มีการเลี้ยงสัตว์อย่างหนาแน่นอาจเกิดการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างและเพิ่มโอกาสติดเชื้อในสัตว์ที่เหลือภายในบ้าน ดังนั้นปัจจัยหนึ่งที่สัตวแพทย์ต้องใช้ในการออกแบบโปรแกรมวัคซีนเพื่อสุนัขและแมวคือความหนาแน่นของจำนวนประชากรสัตว์และโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนจัดเป็นการดูแลสุขภาพเป็นประจำทุกปีที่ควรทำในสุนัขและแมวทุกตัว ไม่ใช่การรักษาโรค และการฉีดวัคซีนทุกครั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้วัคซีนได้ สัตวแพทย์จำเป็นต้องสื่อสารให้เจ้าของรับทราบทุกครั้งเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน และความสม่ำเสมอในการทำวัคซีน
การป้องกันปรสิตจัดเป็นสิ่งที่เจ้าของควรให้สัตว์ได้รับอย่างสม่ำเสมอ ปรสิตภายนอกที่มักพบโดยมากในสุนัขได้แก่ เห็บและหมัด ส่วนในแมวมักพบหมัดเป็นส่วนใหญ่ และยังสามารถพบไรในหูได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทั้งสุนัขและแมวมีโอกาสได้รับพยาธิหนอนหัวใจผ่านการโดนยุงกัดอีกด้วย ส่วนปรสิตภายในที่มักพบได้แก่ พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวกลม และพยาธิตัวตืด ปรสิตภายนอกมักทำให้เกิดรอยโรคบริเวณผิวหนังทั้งในสุนัขและแมวจากอาการคัน หรือการแพ้น้ำลายของหมัด (Flea allergic dermatitis) และยังอาจเป็นตัวนำพยาธิเม็ดเลือดมาสู่ตัวสัตว์ได้ ส่งผลให้สัตว์มีจำนวนเม็ดเลือดแดงที่ลดลงจากการถูกทำลายภายในร่างกาย อาจส่งผลร้ายแรงเกิดภาวะโลหิตจางถึงขั้นถ่ายเลือดหรือเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันที นอกจากนี้ยังสามารถเป็นตัวแพร่เชื้อปรสิตภายในร่างกาย เช่น Dipylidium caninum (พยาธิตืดแตงกวา) ซึ่งเกิดจากการกินเห็บเข้าไปได้ โดยส่วนมากมักพบการแพร่กระจายของปรสิตภายนอกและภายในเหล่านี้ผ่านทางสิ่งแวดล้อมและตัวสัตว์ เช่น ดิน แหล่งน้ำ กระบะทราย ตัวสัตว์สู่ตัวสัตว์เป็นต้น ดังนั้นการให้ยากำจัดปรสิตเพื่อควบคุมและป้องกันการเพิ่มจำนวนปรสิตบนตัวสัตว์เป็นสิ่งที่สัตวแพทย์ควรแนะนำแก่เจ้าของสัตว์ การป้องกันปรสิตมีทั้งการใช้ยาในรูปแบบการกินและการหยดหลังให้ดูดซึมผ่านผิวหนัง ในกรณีที่ให้ยาในรูปแบบหยดหลังต้องระวังการอักเสบของผิวหนัง ระคายเคือง ขนไม่ขึ้นตรงบริเวณที่หยด ตัวยาที่ใช้เพื่อการป้องกันปรสิตแบบใช้หยดหลังได้แก่ fipronil, imidacloprid/permethrin และ amitraz ยา fipronil มักได้ผลกับเห็บหมัดที่โตเต็มวัยในรูปแบบ direct contact มักใช้ร่วมกับ Methoprene ซึ่งมีผลกับเห็บหมัดระยะตัวอ่อน พบว่าการใช้ fipronil 9.8% ร่วมกับ S-methoprene 11% ในแมว ให้ประสิทธิภาพที่ดีทั้งในตัวเต็มวัย ระยะ larvae และ ไข่ของหมัดโดยตัวยามีรูปแบบการออกฤทธิ์คือยับยั้งการผ่านของ chloride ions ที่ GABA & glutamate gate นำไปสู่การเกิด Spastic paralysis นอกจากนี้ตัวยายังสะสมอยู่ในชั้น Subcutaneous fat ทำให้ตัวยาค่อย ๆ ปลดปล่อยออกมาที่ผิว โดยสามารถคงอยู่ได้นานถึง 30 วัน นอกจากนี้ยังมีรูปแบบยากิน ได้แก่ afoxolaner และ milbemycin oxime ยา afoxolaner เป็นยาในกลุ่ม Isoxazolines เป็นรูปแบบยาเม็ดเคี้ยวซึ่งดูดซึมได้ดีผ่านการกิน และสามารถอยู่ได้ในร่างกายสุนัขได้เป็นเวลานาน โดยการเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งที่ตัวรับบริเวณ GABA-gated chloride channels ของสัตว์ขามีปล้องและเห็บมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขัดขวางการผ่านของ Chloride ions เข้าสู่เซลล์ เมื่อปรสิตได้รับยาผ่านการดูดเลือดของสุนัข จะทำให้ระบบประสาทของปรสิตเกิดอัมพาตแบบ Spastic paralysis และตายในที่สุด สามารถกำจัดเห็บได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากได้รับยาเข้าไป อย่างไรก็ตาม หากสุนัขมีโรคประจำตัวทางระบบประสาท เช่น มีประวัติชัก ควรหลีกเลี่ยงไปให้ยาตัวอื่นที่ได้ผลดีกว่า ยา milbemycin oxime เป็นยาในกลุ่ม macrocyclic lactone ส่งผลต่อปรสิตทั้งภายในและภายนอก โดยมักให้ทางการกินเนื่องจากสามารถดูดซึมตัวยาได้อย่างดีและรวดเร็ว ตัวยาออกฤทธิ์โดยทำให้เกิดการเปิดของ glutamate-gated Chloride ion channels ในเซลล์ประสาทของปรสิต ทำให้ chlorides ion ผ่านเข้าสู่ภายในเซลล์ และเพิ่มการหลั่ง GABA ลดการส่งกระแสประสาท ลดการเกิด action potential ที่เซลล์ประสาท กดการทำงานของระบบประสาท ปรสิตเกิดการอัมพาตและตายได้
สัตว์เลี้ยงสูงวัยมักผูกพันกับเจ้าของในฐานะสมาชิกครอบครัว ดังนั้นสัตวแพทย์ควรให้คำแนะนำที่เหมาะสมและใส่ใจต่อตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวสัตว์และสร้างความอุ่นใจให้กับเจ้าของสัตว์ว่าสมาชิกในครอบครัวได้รับการดูแลอย่างดีจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต
เอกสารอ้างอิง
1. Dhaliwal R., Boynton E., Carrera-Justiz S., Cruise N., Gardner M., Huntingford J., Lobprise H., and Rozanski E., 2023. 2023 AAHA Senior care guidelines for dogs and cats. Veterinary practice guidelines. 59: 1
2. Ellis J., Marziani E., Aziz C., Brown C., Cohn L., Lea C., Moore G., and Taneja N. 2022. 2022 AAHA canine vaccination guidelines. 58: 5.
3. Stone A., Brummet G., Carozza E., Kass P., Petersen E., Sykes J., and Westman M. 2020. 2020 AAHA/AAFP Feline vaccination guidelines. Veterinary practice guidelines. 56: 5.
4. Tropical council for companion animal parasites Ltd. 2022. Guidelines for the control of ectoparasites of dogs and cats in the tropics. 1st ed.
Wiley J. 2018. Ectoparasiticides. In: Veterinary pharmacology and therapeutics. 10th ed Riviere J. and Papich M. (ed) p.1170-1171.