คำแนะนำในการดูแลสัตว์ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมจากทางบ้าน (home-based care) สำหรับสัตวแพทย์

โรคหัวใจ นับเป็นหนึ่งในโรคที่มีความสำคัญทางการสัตวแพทย์เนื่องจากสามารถพบได้บ่อย และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของสุนัข อ้างอิงจาก ACVIM consensus guidelines for diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs ในปี 2019 พบว่าสุนัขที่เข้ามารับการตรวจสุขภาพกว่าร้อยละ 10 ป่วยด้วยโรคหัวใจ โดยโรคหัวใจประเภทที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด คือโรคลิ้นหัวใจเสื่อม (myxomatous mitral valve disease; MMVD) ซึ่งสามารถพบได้มากถึงร้อยละ 75 ทั้งนี้นอกจากการตรวจวินิจฉัย และการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญต่อการดูแลสุนัขเพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด คือการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน บทความนี้จะพาคุณหมอไปเรียนรู้ข้อแนะนำในการดูแลสัตว์ป่วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมที่บ้าน (home-based care) ที่สัตวแพทย์ควรรู้เพื่อสามารถให้คำแนะนำแก่เจ้าของสัตว์ได้อย่างถูกต้อง
การดูแลสุนัขที่ป่วยด้วยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมสามารถแบ่งออกตามระยะของโรคได้ดังนี้
1. Stage A : สุนัขในระยะนี้ คือสุนัขที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น สุนัขพันธุ์คาร์วาเลียร์ คิงส์ ชาส์ล สเปเนียล, ดัชชุน, มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ หรือสุนัขในกลุ่มทอยพุดเดิ้ล แต่ยังตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ สุนัขในกลุ่มนี้ยังไม่จำเป็นต้องรับการรักษา หรือการดูแลเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมารับการตรวจหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรค

2. Stage B : สุนัขในระยะนี้ คือสุนัขที่เริ่มตรวจพบความผิดปกติของหัวใจ (structural abnormality) เช่น ตรวจพบเสียงหัวใจผิดปกติ (cardiac murmur) แต่สุนัขยังไม่แสดงอาการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะย่อย คือ ระยะ B1 และ B2

สำหรับการดูแลสุนัขในระยะ B1 ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่พบภาวะหัวใจโต สุนัขในกลุ่มนี้ยังไม่จำเป็นต้องรับการรักษา หรือปรับเปลี่ยนอาหาร แต่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขมาตรวจหัวใจทุก 6-12 เดือน ขึ้นอยู่กับผลการตรวจวินิจฉัย หรือบ่อยกว่านั้นในสุนัขพันธุ์ใหญ่ เพื่อเฝ้าระวังการดำเนินไปของโรค โดยควรทำการตรวจด้วยการฟังเสียงหัวใจ (cardiac ausculation) ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) และการฉายภาพรังสี (x-ray)

สำหรับการดูแลสุนัขในระยะ B2 ซึ่งเป็นระยะที่ตรวจพบภาวะหัวใจโต สุนัขในระยะนี้ควรได้รับยาเพื่อช่วยในการชะลอการดำเนินไปของโรค โดยแนะนำให้ pimobendan ในขนาด 0.25-0.3 mg/kg PO q12h โดยแนะนำให้กินก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารสามารถส่งผลรบกวนต่อการดูดซึมยาได้ และอาจพิจารณาให้ยาในกลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEI) ร่วมด้วย (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของสัตวแพทย์) โดยสัตวแพทย์ควรเน้นย้ำให้เจ้าของเห็นความสำคัญของการให้ยา และให้ยาตรงเวลาเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการรักษา นอกจากนี้สัตวแพทย์ยังสามารถแนะนำให้เจ้าของปรับเปลี่ยนอาหารมาเป็นสูตรสำหรับสัตว์ป่วยโรคหัวใจที่มีการจำกัดปริมาณโซเดียม และควบคุมคุณภาพ และปริมาณของโปรตีน ตลอดจนพลังงานเพื่อคงระดับของ body condition score ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3. Stage C : สุนัขในระยะนี้ คือสุนัขที่พบภาวะหัวใจโต และภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure; CHF) ร่วมด้วย สุนัขในกลุ่มนี้ภายหลังจากการแก้ไขภาวะฉุกเฉินจาก CHF ที่โรงพยาบาลแล้ว เมื่อกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านสัตวแพทย์ควรพิจารณาให้ยาขับน้ำกลุ่ม furosemide ในขนาด 2 mg/kg PO q12h เพื่อควบคุมอาการปอดบวมน้ำ และสามารถปรับขนาดยาขึ้นหากไม่สามารถควบคุมอาการได้ โดยใช้การสังเกตอัตราการหายใจของสุนัขขณะพัก (อัตราการหายใจปกติของสุนัขในขณะพักไม่ควรเกิน 30 ครั้งต่อนาที) ตลอดจนเริ่มให้ยาในกลุ่ม ACEI หรือให้ยาต่อเนื่อง (กรณีที่เริ่มให้แล้วตั้งแต่ stage B2) โดยแนะนำให้ตรวจวัดระดับ creatinine, BUN และ electrolyte ทุก 3-14 วันหลังเริ่มยา เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury) นอกจากนี้อาจพิจารณาให้ยา spironolactone ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม aldosterone antagonists เพื่อช่วยในการยับยั้ง aldosterone ที่เกิดจากการกระตุ้นของ RAAS system โดยให้ในขนาด 2 mg/kg PO q12-24h สำหรับคำแนะนำในด้านอาหาร ควรให้เจ้าของเปลี่ยนมาใช้อาหารสูตรสำหรับสัตว์ป่วยโรคหัวใจเพื่อป้องกันภาวะผอมแห้ง (cardiac cachexia) และการดำเนินไปของโรคที่แย่ลง โดยระดับของ maintenance calories intake ที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 60 kcal/kg BW ทั้งนี้อาจพิจารณาให้อาหารเสริมกลุ่ม omega-3 โดยเฉพาะในสุนัขกลุ่มที่มีความอยากอาหารลดลง มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ และพบภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ (arrhythmia) เนื่องจากมีรายงานว่าสามารถช่วยลดการเกิดภาวะ cardiac cachexia จากการลด inflammatory cytokine และมีฤทธิ์ในการกระตุ้นความอยากอาหารได้

จะเห็นได้ว่าในระยะนี้สุนัขมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังมียาหลายชนิดที่เจ้าของจำเป็นต้องป้อนให้สุนัข สัตวแพทย์จึงควรแนะนำเจ้าของถึงวิธีการในการสังเกตอาการ และการนับอัตราการหายใจขณะอยู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ตลอดจนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้อาหารที่เหมาะสม และการให้ยาอย่างตรงเวลา เพื่อป้องกันการดำเนินไปของโรคที่แย่ลง

4. Stage D : สุนัขในระยะนี้ คือสุนัขที่พบว่าดื้อต่อยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษา สุนัขในกลุ่มนี้ต้องใช้ furosemide ในขนาดที่มากกว่า 8 mg/kg ต่อวันในการคุมอาการ การดูแลสุนัขในระยะนี้สัตวแพทย์อาจพิจารณาเพิ่มขนาด หรือความถี่ของยาขับน้ำ ในกรณีที่ furosemide ไม่ได้ผล อาจพิจารณาเปลี่ยนตัวยาเป็น torsemide ซึ่งมีความแรงในการออกฤทธิ์สูงกว่า โดยใช้ในขนาดเริ่มต้น 0.1-0.2 mg/kg PO หรือใช้ในปริมาณ 5-10% ของขนาดยา furosemide ที่ใช้ในปัจจุบัน สำหรับยา pimobendan สัตวแพทย์อาจพิจารณาปรับเพิ่มขนาดยาได้สูงถึง 0.3 mg/kg PO q8h อย่างไรก็ตามการปรับเพิ่มขนาดยาเกินจากคำแนะนำเป็นการใช้ยาแบบ off-label ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงตามมาได้ สัตวแพทย์ควรแจ้งเจ้าของเพื่อตัดสินใจร่วมกันก่อนให้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับคำแนะนำด้านอาหาร สัตวแพทย์สามารถแนะนำให้เจ้าของเปลี่ยนมาใช้อาหารสูตรสำหรับสัตว์ป่วยโรคหัวใจเพื่อป้องกันภาวะผอมแห้ง (cardiac cachexia) และการดำเนินไปของโรคที่แย่ลงได้เช่นเดียวกับคำแนะนำใน stage C

สิ่งสำคัญของการดูแลสุนัขป่วย stage D คือการเฝ้าระวังภาวะหัวใจล้มเหลว สัตวแพทย์ควรแจ้งความเสี่ยง และสร้างความตระหนักให้เจ้าของ เพื่อเน้นย้ำให้เจ้าของเฝ้าสังเกตอาการ และพาสุนัขมารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

การดูแลจากสัตวแพทย์ และการดูแลจากเจ้าของ สองสิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเน้นย้ำความสำคัญ และการให้คำแนะนำที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณหมอควรแจ้งเจ้าของทุกครั้ง เพื่อผลการรักษาที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์ป่วยต่อไป

อ้างอิง

1. Ashley, BS. and Sonya, GG. 2018. Pimobendan and Heart Disease. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/pharmacology/pimobendan-and-heart-disease/. Accessed 17 November 2022.

2. Bruce, WK., Clarke, EA., John, DB., Philip, RF., Jens, H., Virginia, LF., Mark, AO., John, ER., Rebecca, S. and Masami, U. 2019. ACVIM consensus guidelines for the diagnosis and treatment of myxomatous mitral valve disease in dogs. J Vet Intern Med. 33:1127-1140.

3. Ettinger, SJ., Edward, CF. and Etienne, C. 2017. Textbook of Veterinary Internal Medicine-eBook. Elsevier health sciences. 1143-1394.

Mark, AO. 2012. An Everyday Approach to Canine Degenerative Mitral Valve Disease. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/cardiology/an-everyday-approach-to-canine-degenerative-mitral-valve-disease/. Accessed 17 November 2022.