คำแนะนำการให้วัคซีนในสุนัขที่จะกล่าวในบทความฉบับนี้จะยึดตามคำแนะนำใน World small animal veterinary association หรือ WSAVA 2016 โดยมีสมาชิกที่ให้ความเห็นคือ Vaccination guideline groups (VGG) ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้
1.หลักการให้วัคซีนเบื้องต้น (The basic immunization schedule) โดยมีคำแนะนำสำหรับวัคซีนในสุนัขแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ วัคซีนหลัก (core or recommended vaccines), วัคซีนทางเลือก (non-core or optional vaccines) และวัคซีนที่ไม่แนะนำให้ (not recommended vaccines) แสดงดังตารางที่ 1 โดย VGG แนะนำว่าวัคซีนหลักเป็นวัคซีนที่สุนัขทั่วโลกต้องได้รับในระยะเวลาที่แนะนำเพื่อที่จะได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันปัญหาโรคติดเชื้อที่มีอยู่ทั่วโลก โดยที่วัคซีนหลักเป็นวัคซีนที่ป้องกันโรคติดเชื้อจาก canine distemper virus (CDV), canine adenovirus (CAV type 1และ 2) และ canine parvovirus type 2 (CPV-2) นอกจากนี้ VGG แนะนำว่าในบางประเทศสามารถเพิ่มวัคซีนหลักให้เหมาะสมในประเทศที่มีการระบาดของโรคได้ เช่น ในบางประเทศมีกฎหมายระบุให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า (rabies vaccine) เป็นวัคซีนหลักเนื่องจากยังมีการระบาดของโรค (endemic infection) เพื่อป้องการการติดเชื้อทั้งในสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ ส่วนวัคซีนทางเลือกจะมีการปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละที่ที่มีความเสี่ยงของโรคแตกต่างกันออกไป โดยมีการประเมินถึงอัตราส่วนความเสี่ยงและประโยชน์ (risk-benefit ratios) เช่น ความเสี่ยงในรายที่ไม่ได้รับวัคซีนและความเสี่ยงที่ไวต่อการติดเชื้อในรายที่ได้รับวัคซีนและพัฒนาเป็นอาการไม่พึงประสงค์ (adverse reaction) เทียบกับประโยชน์ที่สัตว์ได้รับวัคซีนแล้วมีผลป้องกันจากการติดเชื้อ เป็นต้น ส่วนวัคซีนที่ไม่แนะนำให้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการใช้อย่างเพียงพอ
2.วัคซีนชนิดใหม่สำหรับสุนัข (An update on new canine vaccines) ) ตั้งแต่คำแนะนำฉบับ WSAVA 2010 ออกมาเผยแพร่เกี่ยวกับวัคซีนใหม่รวมไปถึงวัคซีนป้องกันเชื้อ Bordetella bronchiseptica ในรูปแบบหยอดปาก (oral administration) และวัคซีนป้องกันเชื้อ Leptospira ที่ประกอบไปด้วยหลากหลาย serogroups (ตามตารางที่ 1) และวัคซีนที่ป้องกัน canine influenza virus (CIV) มีการขึ้นทะเบียนให้ใช้เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา เชื้อ influenza A subtype H3N8 มีการค้นพบว่าเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจในสุนัขในประเทศสหรัฐอเมริกาทางตอนเหนือแต่มีรายงานการระบาดของโรคไม่บ่อยนัก (sporadic outbreak)
วัคซีนภูมิคุ้มกันบำบัดในสุนัข (canine immunotherapeutic vaccine) ถูกคิดค้นเป็นครั้งแรกสำหรับโรค malignant melanoma ขึ้นทะเบียนใช้ในปี 2010 ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ประกอบไปด้วย human tyrosinase gene ถูกเอามารวมเป็น plasmid (เรียกว่า naked DNA vaccine) ซึ่งมีการให้วัคซีนเป็นการรักษาร่วม (adjunctive treatment) ในสุนัขที่มีปัญหา oral melanoma โดยวัคซีนจะกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อ melanoma target antigen ซึ่งการศึกษาเริ่มต้นพบว่าระยะเวลาการรอดชีวิต (median survival time) ของสุนัขที่เป็น melanoma ในระยะ 2-4 เพิ่มขึ้นเป็น 389 วัน (จากเดิมที่มีระยะเวลาประมาณ 90 วัน) แต่การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่น้อยกว่า ซึ่งวัคซีนชนิดนี้มีใช้ในเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และมีใช้ในคลินิกเฉพาะทางเนื้องอกเท่านั้น
วัคซีนป้องกัน leishmaniosis ในสุนัขขึ้นทะเบียนให้ใช้ในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่โรค leishmaniosis เจอได้มาก มีความสำคัญต่อทั้งประชากรสุนัขและคนค่อนข้างมาก มีการคิดค้นโดยเริ่มต้นจากการใช้วัคซีนที่มีส่วนประกอบของ GP63 ของ Leishmania donovani (เรียกอีกชื่อว่า fucose mannose ligand หรือ FML) ในสารสื่อ saponin ซึ่งจะไปกระตุ้นแอนติบอดีที่จะไปยับยั้งการแพร่ (transmission) ของเชื้อจากสุนัขไปยังแมลงพาหะคือ sandfly ด้วยการยับยั้งการจับตัวของเชื้อ Leishmania กับทางเดินอาหาร (midgut) ของแมลงพาหะ ซึ่งมีการศึกษาและประเมินถึงเรื่องของภูมิคุ้มกันและระบาดวิทยาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ได้ถูกระงับการใช้งานในบราซิลเมื่อไม่นานมานี้ จากนั้นมีวัคซีนอีกชนิดเข้ามาแทนที่ ซึ่งวัคซีนนี้ประกอบไปด้วย A2 antigen จาก L. donovani ในสารสื่อ saponin มีการรายงานว่าวัคซีนนี้มีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสุนัขที่ได้รับวัคซีน (มีการประเมินจาก seroconversion, การป้องกันการติดเชื้อ, อาการทางคลินิกและการแพร่เชื้อไปยังแมลงพาหะ) เมื่อเทียบกับวัคซีน FML นั้นให้ผลที่ใกล้เคียงกัน โดยที่มีการทดลองให้วัคซีนทั้งสองชนิดมีการเปรียบเทียบกับการติดเชื้อในธรรมชาติเป็นระยะเวลา 11 เดือนพบว่า สุนัขที่ได้รับวัคซีนชนิด A2 มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน humoral immune response ได้น้อยกว่าแต่มีผลไม่พึงประสงค์หลังจากให้วัคซีนมากกว่าหลังจากให้วัคซีนเมื่อเทียบกับวัคซีนอีกชนิด
ตารางที่ 1 คำแนะนำในการให้วัคซีนในสุนัขโดย WSAVA
นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำการให้วัคซีนในสุนัขที่เลี้ยงในสถานสังเคราะห์สัตว์ (WSAVA guidelines on canine vaccination for the shelter environment) สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน World small animal veterinary association หรือ WSAVA 2016 ฉบับเต็ม

เอกสารอ้างอิง

Day MJ., Horzinek MC., Schultz RD. and Squires RA. (2016). World small animal veterinary association: guidelines for the vaccination of dogs and cats. Journal of small animal practice. 57, E1-45.