ความสำคัญของการดูแลและแนวทางการป้องกันหมัดในแมว

ปรสิตภายนอก นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพที่สามารถพบได้บ่อยในแมว โดยแมวสามารถเป็นโฮสต์ของปรสิตภายนอกได้หลายชนิด หนึ่งปรสิตภายนอกที่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพในแมว ได้แก่ หมัดแมว
บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับหมัดแมว วงจรชีวิต และแนวทางการป้องกันเพื่อประโยชน์ในการเป็นแนวทางการแนะนำกับเจ้าของ และการป้องกันก่อนการเกิดโรคที่มีประสิทธิภาพ
หมัดแมว หรือ cat flea (Ctenocephalides felis) คือปรสิตภายนอกที่ดำรงชีวิตด้วยการกินเลือดเป็นอาหาร เป็นหนึ่งในสาเหตุของเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) ในแมว เป็นพาหะของพยาธิเม็ดเลือดในแมว คือ Mycoplasma haemofelis ซึ่งถือเป็นต้นเหตุของภาวะโลหิตจางจากการติดเชื้อในแมว (feline infectious anemia) นอกจากนี้โปรตีนในน้ำลายหมัดยังสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือที่เรียกว่าภาวะแพ้น้ำลายหมัด (flea bite hypersensitivity) ได้อีกด้วย โดยหมัดมีวงจรชีวิตด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ แล้วเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ (ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น ความชื้น และอุณหภูมิ) โดยพบว่าประเทศไทยที่มีภูมิอากาศแบบร้อน ชื้นเป็นภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญของหมัดเป็นอย่างมาก จึงมีโอกาสในการพบหมัดในสิ่งแวดล้อมได้สูง

วงจรชีวิตของหมัด แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

ไข่ (egg) : ไข่ของหมัดแมวมีลักษณะมันวาว และเกาะติดอยู่กับเส้นของของแมว โดยวงจรชีวิตหมัดจะเริ่มจากการที่แม่หมัดที่โตเต็มวัยจะวางไข่บนเส้นขนของแมวภายใน 24-48 ชั่วโมง จากนั้นไข่หมัดจะหล่นลงสู่สิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเป็นระยะต่อไป โดยแม่หมัดจะสามารถผลิตไข่ได้มากถึง 40-50 ฟองต่อวัน และต่อเนื่องได้ยาวนานถึง 100 วัน

ตัวอ่อน (larva) : หลังจากแม่หมัดวางไข่ประมาณ 1-6 วัน ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ และกินเศษอินทรียวัตถุเป็นอาหาร จากนั้นจะพัฒนาเข้าสู่ระยะดักแด้ โดยตัวอ่อนของหมัดมักหลบซ่อนอยู่ตามซอก หรือหลืบมุมของตัวบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่อับแสง และเย็น (negative phototaxis) เช่น ซอกโซฟา พื้นบ้าน หรือพรม และมีพฤติกรรมในการมุดลงด้านล่างในสิ่งแวดล้อม (positive geotaxis) จากนั้นจะมีการลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนเข้าสู่ระยะดักแด้

ดักแด้ (pupae) : ในระยะนี้ตัวอ่อนจะสร้างเปลือกหรือรังดักแด้ (cocoon) ขึ้นมาห่อหุ้ม เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น แรงสั่นสะเทือน แสง หรือแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวอ่อนจะออกจากเปลือกแล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ภายใน 7-14 วัน โดยในระยะนี้ ตัวอ่อนอาจอยู่ในระยะสงบ (dormant) ได้นานหลายเดือนหากไม่มีสิ่งเร้ามากระตุ้น ส่งผลให้การดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดหมัดได้

ตัวเต็มวัย (adult) : เมื่อเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย หมัดจะกลับสู่ร่างกายแมวเพื่อดูดเลือดเป็นอาหาร และมีการปล่อยน้ำลายซึ่งมีโปรตีนที่อาจกระตุ้นการแพ้ออกมา ซึ่งระยะนี้ถือเป็นระยะเดียวที่สามารถพบได้บนร่างกายสัตว์ โดยหมัดเพศเมียจะสามารถวางไข่ได้ภายหลังการดูดเลือด 24-48 ชั่วโมง วนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรต่อไป

จะเห็นได้ว่าวงจรชีวิตของหมัดมีการดำเนินไปทั้งที่อยู่บนร่างกายสัตว์ และในสิ่งแวดล้อม แนวทางในการป้องกันหมัดในแมวจึงต้องคำนึงถึงวงจรชีวิตของหมัดร่วมด้วย โดยในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และมีคุณสมบัติในการกำจัดระยะตัวเต็มวัยหลากหลายรูปแบบ โดยผลิตภัณฑ์บางประเภทยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการพัฒนาของหมัดในสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ตัวอย่างของตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการกำจัดหมัด ได้แก่ fipronil, selamectin, imidacloprid/moxidectin, spinosad หรือ ยาในกลุ่มของ isoxazolines เช่น fluralaner, afloxolaner, lotilaner และ sarolaner เป็นต้น

แนวทางในการแนะนำการป้องกันหมัดให้กับเจ้าของ จึงควรแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานเพื่อป้องกันหมัดอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีให้กับสัตว์ทุกตัวในบ้าน เพื่อป้องกันการติดต่อระหว่างกัน และการติดหมัดในสิ่งแวดล้อม ร่วมไปกับการดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดไข่ และดักแด้ ก่อนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยและกลับเข้าสู่ร่างกายแมว

เอกสารอ้างอิง

ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 7-10. Available online at: https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf

Starkey L. and Stewart J. 2015. Recommendations from the companion animal parasite council: feline arthropods. Today’s Veterinary Practice. 59-64.