ภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure; CHF) นับเป็นหนึ่งในภาวะอันตรายที่มีสาเหตุมาจากโรคหัวใจ การรู้กลไกการเกิดภาวะดังกล่าว และอาการทางคลินิกที่สัตว์แสดงออกจะช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนการรักษาสัตว์ป่วยได้อย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนกลไกการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในสัตว์เลี้ยง และอาการทางคลินิกเพื่อสามารถทำการรักษาสัตว์ป่วยได้อย่างถูกต้องต่อไป
ภาวะหัวใจล้มเหลว คือภาวะที่แสดงถึงการสูญเสียการทำงาน หรือการทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพของหัวใจ ซึ่งส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. การเกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ (myocardial disease) เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (dilated cardiomyopathy; DCM) ซึ่งสามารถพบได้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (hypertrophic cardiomyopathy; HCM) ซึ่งสามารถพบได้บ่อยในแมว เป็นต้น
2. การเกิดภาวะที่ส่งผลให้มีปริมาตรเลือดภายในหัวใจมากเกินไป (volume overload) เช่น ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว (valvular insufficiencies) หรือการเชื่อมกันระหว่างหลอดเลือดแดงและดำ (vascular shunts) เป็นต้น
3. การเกิดภาวะที่ส่งผลให้มีแรงดันต้านการทำงานของหัวใจมากเกินไป (pressure overload) เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง (hypertension) หรือภาวะลิ้นหัวใจตีบ (valvular stenosis) เป็นต้น
ภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถแบ่งประเภทตามตำแหน่งการเกิดความผิดปกติได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ภาวะหัวใจห้องซ้ายล้มเหลว (left-sided congestive heart failure; LS-CHF) คือภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งส่งผลให้เกิดการคั่งค้างของเลือด เลือดที่สะสมภายในหัวใจห้องซ้ายเหล่านี้จะทำให้หัวใจห้องซ้ายขยายใหญ่ขึ้น (left atrial enlargement) และทำให้เลือดที่ไหลกลับเข้าสู่หัวใจลดลง (venous reture ลดลง) ส่งผลให้เกิดการสะสมของน้ำภายในถุงลม และเนื้อเยื่อปอด เกิดเป็นภาวะน้ำท่วมปอด (pulmonary edema) ตามมาในท้ายที่สุด โดยกลไกการเกิดโรคซึ่งมีลักษณะย้อนกลับดังกล่าว เรียกว่า backward failure ทั้งนี้สัตว์ที่เกิดภาวะหัวใจห้องซ้ายล้มเหลวจะแสดงอาการหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ไม่ทนต่อการออกกำลังกาย ไอแห้ง เยื่อเมือกมีสีซีด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง สัตว์อาจเป็นลมหมดสติ เนื่องจากเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปเลี้ยงสมองลดลงได้ ทั้งนี้สัตว์ที่แสดงอาการของภาวะหัวใจห้องซ้ายล้มเหลวมักมีอัตราการหายใจที่สูงกว่าปกติ สัตวแพทย์สามารถแจ้งเจ้าของให้ทำการสังเกตอัตราการหายใจใน 1 นาที โดยสัตว์ที่มีอัตราการหายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาทีในขณะพักหรือนอนหลับนับว่ามีความอันตราย จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาแล้วนั่นเอง
2. ภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลว (right-sided congestive heart failure; RS-CHF) คือภาวะที่เกิดความผิดปกติของการทำงานของหัวใจห้องล่างขวา ซึ่งส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทำการเติมออกซิเจน (oxygenation) ได้ตามปกติ เลือดบางส่วนอาจเกิดการรั่วผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (tricuspid valve) ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปทางหัวใจห้องบนขวา เลือดเหล่านี้จะไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบ systemic circulation และเกิดการคั่งภายในหลอดเลือด โดยการคั่งของเลือดนี้ส่งผลให้สมดุลการควบคุมของเหลวภายในหลอดเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ของเหลวภายในหลอดเลือดเกิดการรั่วออกสู่ร่างกาย เกิดการสะสมของของเหลวภายในช่องท้อง จนเกิดเป็นภาวะท้องมาน (ascites) นอกจากนี้ของเหลวยังอาจเกิดการรั่วผ่านทางหลอดเลือด vein เกิดเป็นภาวะบวมตามขา เรียกภาวะนี้ว่า peripheral edema
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นหนึ่งในภาวะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นระบบสำคัญภายในร่างกาย ร่างกายสัตว์จึงมีกลไกการชดเชยการทำงานที่ผิดปกติดังกล่าว โดยเมื่อร่างกายตรวจพบว่ามีเลือดออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง (cardiac output ลดลง) ร่างกายจะกระตุ้นระบบประสาท sympathetic nervous system (SNS) และระบบ renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS) เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) และเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ (contractility) กระตุ้นการเกิด vasoconstriction เพื่อเพิ่ม total peripheral resistance และ blood pressure ช่วยให้มี afterload เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นการดูดกลับน้ำและเกลือ (sodium and water reabsorption) เพื่อเพิ่ม blood volume กลับเข้าหัวใจ ทำให้มีการเพิ่ม venous return และ preload สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการปล่อยให้ร่างกายทำการชดเชยด้วยระบบดังกล่าวเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของหัวใจลดลง และหัวใจไม่สามารถสร้างแรงดันที่เหมาะสมเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า decompensated heart failure หัวใจและระบบหมุนเวียนเลือดจะเกิดความเสียหายจากการเพิ่มสูงขึ้นของ Angiotensin II และ Aldosterone ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหัวใจห้องล่างซ้าย หัวใจจะมีลักษณะบางลง ขนาดหัวใจโตขึ้น และอาจทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตายและเป็นพังผืด (cell death and myocardial fibrosis) ตามมาได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจแย่ลง และเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด
ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะอันตรายที่ส่งผลให้สัตว์เสียชีวิตได้ หน้าที่ของสัตวแพทย์ นอกจากการให้การรักษาที่เหมาะสมแล้ว การให้ความรู้กับเจ้าของในการสังเกตอาการสัตว์ป่วยของตนเพื่อพามารับการรักษาอย่างทันท่วงทีจึงมีความสำคัญที่จะส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง
1. Hezzell, M. 2020. Monitoring congestive heart failure. In Practice. 42: 14-21.
2. Malcolm, W. Congestive Heart Failure in Dogs. [online]. Available : https://vcahospitals.com/know-your-pet/congestive-heart-failure-in-dogs. Accessed 3 January 2023.
3. McGinnis, J and Estrada, A. 2018. Left-sided congestive heart failure. Clinician Brief. Jan/Feb 2018, 35-40.
4. Simon, S. 2018. Congestive Heart Failure in Dogs. Today’s Veterinary Practice. May/June 2018. 25-34.