กลไกการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และอาการทางคลินิก
2. ภาวะหัวใจห้องขวาล้มเหลว (right-sided congestive heart failure; RS-CHF) คือภาวะที่เกิดความผิดปกติของการทำงานของหัวใจห้องล่างขวา ซึ่งส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทำการเติมออกซิเจน (oxygenation) ได้ตามปกติ เลือดบางส่วนอาจเกิดการรั่วผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (tricuspid valve) ส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับไปทางหัวใจห้องบนขวา เลือดเหล่านี้จะไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบ systemic circulation และเกิดการคั่งภายในหลอดเลือด โดยการคั่งของเลือดนี้ส่งผลให้สมดุลการควบคุมของเหลวภายในหลอดเลือดผิดปกติ ส่งผลให้ของเหลวภายในหลอดเลือดเกิดการรั่วออกสู่ร่างกาย เกิดการสะสมของของเหลวภายในช่องท้อง จนเกิดเป็นภาวะท้องมาน (ascites) นอกจากนี้ของเหลวยังอาจเกิดการรั่วผ่านทางหลอดเลือด vein เกิดเป็นภาวะบวมตามขา เรียกภาวะนี้ว่า peripheral edema
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นหนึ่งในภาวะความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ ซึ่งเป็นระบบสำคัญภายในร่างกาย ร่างกายสัตว์จึงมีกลไกการชดเชยการทำงานที่ผิดปกติดังกล่าว โดยเมื่อร่างกายตรวจพบว่ามีเลือดออกจากหัวใจเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง (cardiac output ลดลง) ร่างกายจะกระตุ้นระบบประสาท sympathetic nervous system (SNS) และระบบ renin-angiotensin-aldosterone system (RAAS) เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate) และเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ (contractility) กระตุ้นการเกิด vasoconstriction เพื่อเพิ่ม total peripheral resistance และ blood pressure ช่วยให้มี afterload เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นการดูดกลับน้ำและเกลือ (sodium and water reabsorption) เพื่อเพิ่ม blood volume กลับเข้าหัวใจ ทำให้มีการเพิ่ม venous return และ preload สูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามการปล่อยให้ร่างกายทำการชดเชยด้วยระบบดังกล่าวเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้ความสามารถในการทำงานของหัวใจลดลง และหัวใจไม่สามารถสร้างแรงดันที่เหมาะสมเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ เกิดเป็นภาวะที่เรียกว่า decompensated heart failure หัวใจและระบบหมุนเวียนเลือดจะเกิดความเสียหายจากการเพิ่มสูงขึ้นของ Angiotensin II และ Aldosterone ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหัวใจห้องล่างซ้าย หัวใจจะมีลักษณะบางลง ขนาดหัวใจโตขึ้น และอาจทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการตายและเป็นพังผืด (cell death and myocardial fibrosis) ตามมาได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจแย่ลง และเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ในท้ายที่สุด
แหล่งอ้างอิง
1. Hezzell, M. 2020. Monitoring congestive heart failure. In Practice. 42: 14-21.
2. Malcolm, W. Congestive Heart Failure in Dogs. [online]. Available : https://vcahospitals.com/know-your-pet/congestive-heart-failure-in-dogs. Accessed 3 January 2023.
3. McGinnis, J and Estrada, A. 2018. Left-sided congestive heart failure. Clinician Brief. Jan/Feb 2018, 35-40.
4. Simon, S. 2018. Congestive Heart Failure in Dogs. Today’s Veterinary Practice. May/June 2018. 25-34.