ในปัจจุบันแมวได้รับความนิยมในการนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้นทั่วโลก แต่ความรู้เกี่ยวกับการประเมินและการรักษาอาการปวดในแมวนั้นยังคงมีน้อย ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมักเป็นความรู้เกี่ยวข้องกับการระงับความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด ขณะที่ความเจ็บปวดเรื้อรัง (Chronic pain) นั้นกลับยังไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ในทางการแพทย์ได้ให้คำจำกัดความของความเจ็บปวดเรื้อรังว่าเป็นอาการปวดใด ๆ ที่มีระยะเวลามากกว่า 3 – 6 เดือน แต่ในสัตว์นั้น มีช่วงชีวิตที่สั้นกว่า รวมทั้งขบวนการหายหรือฟื้นตัวของร่างกายเกิดขึ้นได้เร็วกว่า ดังนั้นระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินความเจ็บปวดเรื้อรังในสัตว์จึงควรสั้นกว่าเมื่อพิจารณาร่วมกับความยาวของช่วงชีวิตและระยะเวลาการหายหรือฟื้นตัวจากโรค  แต่เดิมนั้นคำจำกัดความของความเจ็บปวดเฉียบพลันและเรื้อรังยังไม่ชัดเจน เนื่องจากใช้ความต่อเนื่องของเวลาในการกำหนดคำจำกัดความ ซึ่งหากนิยามคำจำกัดความของความเจ็บปวดจากความเข้าใจในลักษณะความเจ็บปวดและการรักษาน่าจะเกิดประโยชน์ได้มากกว่า ปัจจุบันจึงได้มีการให้คำจำกัดความที่อธิบายความเจ็บปวดออกเป็น 2 ประเภท คือ Adaptive pain หรือความเจ็บปวดที่เกิดจากการปรับตัวเพื่อปกป้องร่างกาย มีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บ (nociceptive pain) และการอักเสบ การทำลายของเนื้อเยื่อ (inflammatory pain) ซึ่งสามารถบรรเทาให้หายได้ ส่วนในทางกลับกัน ความเจ็บปวดประเภท Maladaptive pain นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อปกป้องร่างกาย แต่มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการความเจ็บปวด สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่ Neuropathic pain หรือความเจ็บปวดที่เป็นผลมาจากเนื้อเยื่อของระบบประสาทได้รับความเสียหาย และ Functional pain หรือความเจ็บปวดที่เกิดจากระบบประสาททำงานผิดปกติหรือเสียหน้าที่ โดยที่ไม่มีความเสียหายหรืออักเสบของทั้งเนื้อเยื่อและระบบประสาท เช่น ภาวะปวดที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนที่ถูกตัดออกไปแล้ว (Phantom limb pain) กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ (Fibromyalgia) ข้อกระดูกเสื่อม (Osteoarthritis) เป็นต้น ที่พบว่ามีอาการปวดโดยที่ไม่พบรอยโรคหรือการอักเสบที่เส้นประสาท แต่มีความไวต่อสิ่งเร้าหรือความเจ็บปวดมากขึ้น

แนวคิดหลักของ Maladaptive pain คือการเกิดสภาวะ Central plasticity หรือระบบประสาทส่วนกลางมีความไวต่อความเจ็บมากขึ้นจากการที่เซลล์ของระบบประสาทเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นความเจ็บปวดเดียวกันซ้ำๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้แม้ว่าจะไม่มีสิ่งกระตุ้นแล้วหรือสิ่งกระตุ้นยังคงอยู่แต่ไม่มีความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นผลให้เกิดความเจ็บปวดที่มากขึ้นกว่าปกติเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นในระดับปกติ (Hyperalgesia) หรือความเจ็บปวดจากสิ่งกระตุ้นที่แต่เดิมไม่สามารถทำให้เจ็บปวดได้ (Allodynia) เป็นต้น อย่างไรก็ตามความเจ็บปวดเรื้อรังอาจประกอบไปด้วยความเจ็บปวดทั้งแบบ Adaptive (Inflammatory) และ Maladaptive (Neuropathic, Functional) มีความเป็นไปได้ว่ากระบวนการตอบสนองที่ต่างกันนี้มีผลต่อความปวดคนละส่วนและ/หรืออาจมีส่วนที่ทับซ้อนกัน โดยโรคทั่วไปในแมวที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับ Maladaptive pain ได้แก่ โรคข้อกระดูกเสื่อม (osteoarthritis และ degenerative joint disease) โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (interstitial cystitis) โรคเหงือกและช่องปากอักเสบ (gingivostomatitis) โรคของเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (diabetic neuropathy) โรคมะเร็ง (cancers) โรคตา (glaucoma, uveitis), มีพยาธิสภาพที่ผิวหนัง (ผิวหนังติดเชื้อเรื้อรัง, แผลไฟไหม้, แผลที่หายช้า, ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการฉายรังสี) และอื่น ๆ

ปัจจุบันมีการศึกษาและพัฒนาเพื่อหาวิธีในการวินิจฉัยความเจ็บปวดเรื้อรังในแมว เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บปวดและใช้ในการเลือกแนวทางการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่การวินิจฉัยยังคงมีข้อจำกัด ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ในการรักษา Maladaptive pain ในแมวนั้น มีเพียง Meloxicam ซึ่งเป็นยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal antiinfalmmatory drugs, NSAIDs) เพียงชนิดเดียวที่มีการรับรองให้ใช้ในระยะยาวได้ในบางประเทศ แต่ความเจ็บปวดในกรณี Maladaptive นั้นอาจตอบสนองได้ไม่ดีต่อการให้ยา NSAIDs อีกทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยากลุ่มนี้ ปัจจุบันจึงได้ให้ความสนใจในยาทางเลือกเพื่อใช้ในการรักษา โดยยาทางเลือกที่แนะนำให้ใช้ในการรักษา Maladaptive pain ในแมว ได้แก่ gabapentin, tramadol, amantadine, amitrip-tyline, tapentadol, flupirtine and anti-nerve growth factor anti-bodies (ตาราง 1) อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการศึกษาเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ รวมถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาเหล่านี้ในแมวเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการรักษาต่อไป


หลักสำคัญในการรักษา

  • อาการปวดเรื้อรังในแมวควรได้รับการรักษาโดยเร็วและควรเลือกใช้ยาลดปวดแบบผสมผสาน (multimodal analgesia) เนื่องจากอาการปวดเรื้อรังมักเป็นความปวดแบบ Maladaptive ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในการรักษา
  • เมื่อต้องเลือกใช้ยาในการรักษาสัตวแพทย์ควรเลือกใช้ยาตามข้อมูลการแพทย์เชิงประจักษ์ (evidence-based medicine) รวมถึงคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์การใช้ยา (experience-based treatment)
  • ควรแนะนำให้เจ้าของช่วยประเมินสัตว์เลี้ยงที่บ้านด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น การให้เจ้าของอัดวิดีโอแมวก่อนและหลังจากการรักษาแล้วให้สัตวแพทย์ช่วยทำการประเมิน โดยควรระวังผลของยาหลอก (placebo effect) และความสามารถของเจ้าของในการประเมินคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของสัตว์เลี้ยงด้วย


อ้างอิงข้อมูล:

Tamara Grubb. Maladaptive Pain in Cats. Clinician’s brief. October 2018: 56-57.

Derek Adrian, Mark Papich, Ron Baynes, Jo Murrell, B. Duncan X. Lascelles. Chronic maladaptive pain in cats: A review of current and future drug treatment options. The Veterinary Journal 230 (2017) 52–61.