Multimodal Pain Management ต่อการรักษาโรคข้อเสื่อมในสุนัข

Osteoarthritis (OA) หรือโรคข้อเสื่อมในสุนัข คือหนึ่งในภาวะความผิดปกติของข้อต่อที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัข โดยมีรายงานการพบโรคสูงถึง 75% ในสุนัขโตเต็มวัย โดยเฉพาะในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่ เช่น German Sheperd, Labrador Retrievers หรือ Golden Retrievers เป็นต้น ส่งผลให้สุนัขเกิดอาการเจ็บปวด เคลื่อนไหวน้อยลง นำมาซึ่งการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ การทำกิจกรรมที่ลดน้อยลง อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน และสุขภาพที่แย่ลงตามมาได้ ทั้งนี้โรคข้อเสื่อมนับเป็นหนึ่งในปัญหาที่มักถูกละเลยจากเจ้าของ และสัตวแพทย์มักตรวจพบเมื่อสุนัขเริ่มแสดงอาการเจ็บปวดออกมาให้เห็นแล้ว บทความนี้จะนำเสนอการจัดการกับภาวะความเจ็บปวดของโรคข้อเสื่อมในสุนัขด้วยหลักการระงับความเจ็บปวดด้วยวิธีผสมผสาน (multimodal pain management) หรือการจัดการความเจ็บปวดด้วยการใช้ยา (medical management) และการไม่ใช้ยา (non-medical management) ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสุนัขให้ดีขึ้นต่อไป
การระงับความเจ็บปวดด้วยวิธีผสมผสาน คือการประยุกต์ใช้หลักการรักษาด้วยการใช้ยา และไม่ใช้ยาร่วมกันเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันความเจ็บปวดให้ครอบคลุมปัจจัยที่เกิดความผิดปกติมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโรคข้อเสื่อม นับเป็นหนึ่งในโรคที่มีกระบวนการการเกิดโรค (pathophysiology) อันซับซ้อน มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะ และส่วนประกอบโดยเฉพาะบริเวณข้อต่อหลายส่วน การรักษาด้วยการให้ยาเพียงอย่างเดียว จึงไม่อาจรับมือกับโรคนี้ได้ 100% สำหรับหลักการของการใช้ยาคือการรักษาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นให้น้อยลงที่สุด เพื่อให้สัตว์มีความเจ็บปวดน้อยลงจนสามารถกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ ร่วมกับการให้สารเสริมที่ช่วยบำรุงการทำงานของข้อต่อเพื่อชะลอความเสื่อม และลดโอกาสการพัฒนาไปของโรค และหลักการของการไม่ใช้ยา คือการควบคุมปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของข้อต่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมให้การดำเนินไปของโรคไม่แย่ลง และลดโอกาสการกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวด เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย การกายภาพบำบัด การปรับสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการพิจารณาผ่าตัดในรายที่จำเป็น
การจัดการความเจ็บปวดด้วยการใช้ยา
กลุ่มยาที่นิยมใช้สำหรับการควบคุมความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อม คือยาในกลุ่ม nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) เนื่องจากมีประสิทธิภาพดี มีฤทธิ์ในการลดอักเสบ และสามารถออกฤทธิ์ได้ไว อย่างไรก็ตามการใช้ยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ไต และตับได้ การใช้ยาจึงแนะนำให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง หมั่นทำการตรวจค่าเคมีในเลือดอย่างสม่ำเสมอ และใช้เพื่อบรรเทาอาการ หรือรักษาในระยะต้นเท่านั้น ภายหลังจากสัตว์อาการดีขึ้นควรทำการปรับแผนการรักษาเป็นการรักษาในระยะยาว เช่น การทำกายภาพบำบัด หรือการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับตัวยาที่สามารถเลือกใช้ได้มีหลายชนิด เช่น
Carprofen : ยาในกลุ่ม COX-2 selective inhibitors (COX-1 sparing) ซึ่งออกฤทธิ์จับกับเอนไซม์ cyclooxygenase 2 (COX-2) มากกว่า cyclooxygenase 1 (COX-1) สามารถให้ได้ที่ขนาดยา 4.4 mg/kg ทางการกิน (PO) ทุก 24 ชั่วโมง หรือแบ่งให้ 2 ครั้งต่อวันด้วยขนาดยา 2.2 mg/kg ทางการกิน (PO) ทุก 12 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยาต่ำที่สุดที่ยายังคงสามารถออกฤทธิ์ได้ดี และทำการตรวจติดตามค่าการทำงานของตับ และไต ในกรณีให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
Meloxicam : ยาในกลุ่ม COX-2 selective inhibitors (COX-1 sparing) ซึ่งออกฤทธิ์จับกับเอนไซม์ COX-2 มากกว่า COX-1 สามารถให้ได้ในลักษณะ loading dose โดยเริ่มต้นที่ขนาดยา 0.2 mg/kg ทางการกิน (PO) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (SC) ในครั้งแรก จากนั้นครั้งต่อมาให้ในขนาด 0.1 mg/kg ทางการกิน (PO) หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (SC) ทุก 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรทำการตรวจติดตามค่าการทำงานของตับ และไต ในกรณีให้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
Robenacoxib : ยาในกลุ่ม COX-2 specific inhibitors (specific COX-2 NSAIDs) สามารถให้ได้ที่ขนาดยา 1 mg/kg ทางการกิน (PO) ทุก 24 ชั่วโมง โดยควรให้ยาห่างจากมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที เพื่อประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาที่ดีที่สุด ทั้งนี้ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยาต่ำที่สุดที่ยายังคงสามารถออกฤทธิ์ได้ดี และในกรณีที่ให้ต่อเนื่อง 7-10 วัน แต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ในทางที่ดีขึ้น ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนยาชนิดใหม่
Grapiprant : ยาในกลุ่ม non-COX-inhibiting NSAIDs ซึ่งมีความจำเพาะต่อ EP4 receptor ส่งผลให้มีโอกาสการเกิดผลข้างเคียงที่น้อยกว่า สามารถออกฤทธิ์ควบคุมความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อมได้ดี สามารถให้ได้ที่ขนาดยา 2 mg/kg ทางการกิน (PO) ทุก 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ควรเริ่มต้นด้วยขนาดยาต่ำที่สุดที่ยายังคงสามารถออกฤทธิ์ได้ดี และติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิดตลอดการใช้ยา
นอกจากยาในกลุ่ม NSAIDs ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีการใช้ยาในกลุ่ม chondroprotective drugs ซึ่งทำหน้าที่เป็น disease modifying osteoarthritic agent เช่น polysulfated glycosaminoglycan (PSGAGs) โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าข้อต่อโดยตรงเพื่อลดการอักเสบของข้อต่อ ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ matrix metalloproteinases และมีส่วนช่วยในการสร้าง hyaluronic acid (HA) และ glycosaminoglycan ในข้อต่อ ส่งผลให้การพัฒนาของโรคช้าลง หรือการให้อาหารเสริมเพื่อบำรุงข้อต่อ (neutraceuticals) ช่วยให้การพัฒนาของโรคช้าลง ลดโอกาสการเกิดความเจ็บปวดจากโรคข้อเสื่อมในระยะยาว เช่น กรดไขมัน omega-3 (EPA และ DHA) สารสกัดจากหอยแมลงภู่ (green-lipped mussel) สารสกัดจากน้ำมันอะโวคาโดหรือน้ำมันถั่วเหลือง (avocado/soybean unsaponifiables) คอลลาเจนไทป์ทู (undenatured type II collagen; UC-II) กลูโคซามีน และคอนดรอยติน (glucosamine and chondroitin) และสารสกัดจากกำยาน (boswellia) เป็นต้น
การจัดการความเจ็บปวดด้วยการไม่ใช้ยา
นอกจากการใช้ยาเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดแล้ว การดูแลปัจจัยภายในตัวสัตว์ และสิ่งแวดล้อมยังนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการรักษาโรคข้อเสื่อมในสุนัข โดยปัจจัยแต่ละปัจจัยมีความสำคัญ ดังนี้
ปัจจัยภายในตัวสัตว์ โดยเฉพาะน้ำหนักตัวของสุนัข สัตวแพทย์ควรควบคุมให้อยู่ในระดับเหมาะสม หรือ body condition score (BCS) 2.5-3/5 เพราะน้ำหนักตัวของสุนัขที่มากขึ้นย่อมส่งผลให้ข้อต่อจำเป็นต้องรับน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อข้อต่อที่มีปัญหาจำเป็นต้องรับน้ำหนักมากจะส่งผลให้ข้อต่อเกิดการเสียดสี และอักเสบได้ง่ายขึ้น อาการของสุนัขอาจแย่ลง และโรคพัฒนาไปในทางที่แย่ลงได้ โดยนอกจากการควบคุมน้ำหนักแล้ว สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของพาสุนัขไปออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หรือเลือกการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงกระแทกต่อข้อต่อน้อยที่สุด เช่น การเดินบนลู่วิ่งใต้น้ำ เพื่อช่วยให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ลดโอกาสการเกิดกล้ามเนื้อฝ่อลีบจากการเคลื่อนไหวที่น้อยลง และช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถรับน้ำหนักตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาการทำกายภาพบำบัดเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อ และข้อต่อสามารถทำงานได้ดีขึ้น เช่น การฝังเข็ม การกระตุ้นไฟฟ้า การฉายเลเซอร์ เป็นต้น
ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นผิวบริเวณที่สุนัขอยู่อาศัย สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเลี้ยงสุนัขในพื้นที่ที่ไม่ลื่นเพื่อป้องกันการล้ม หรือการเกร็งขณะลงน้ำหนักตัว ปรับเปลี่ยนชั้นที่สุนัขอยู่อาศัยจากชั้นบนลงมาชั้นล่างเพื่อลดการเดินขึ้นบันได และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำกิจกรรมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่กระโดด หรือออกแรงมากจนเกินไป เพื่อป้องกันการลงน้ำหนักตัวที่มาก และเป็นภาระของข้อกระดูก
โรคข้อเสื่อมในสุนัข คือโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และวางแผนการรักษาเหมาะสมทั้งการให้ยา และการดูแลปัจจัยทางด้านตัวสัตว์ และสิ่งแวดล้อม สัตวแพทย์ควรวางแผนการรักษาโดยอ้างอิงจากตัวสัตว์เป็นสำคัญโดยวางแผนการดูแลร่วมกับเจ้าของ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาอันนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยที่ดีที่สุด
เอกสารอ้างอิง
1. Chalika, W. 2021. โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis). [online]. Available : https://www.readvpn.com/CECredit/Info/a89eac93-1caa-424b-8b5b-1c571ed54518. Accessed date : 10 April 2023.
2. Chenphop, S. 2021. Meloxicam : หลักการใช้และข้อควรระวัง. [online]. Available : https://www.readvpn.com/Topic/Info/f273e110-afe2-4ef4-99ae-9dedf3fbb3cc. Accessed date : 10 April 2023.
3. Darryl, M. 2021. Multimodal Pain Management for Canine Osteoarthritis. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/pain_management/multimodal-pain-management-for-canine-osteoarthritis/.
4. Emily, S. 2020. Carpofen for Dogs: Osteoarthritis and Pain Management. [online]. Available : https://todaysveterinarypractice.com/pharmacology/carprofen-for-dogs-osteoarthritis/. Accessed date : 10 April 2023.
5. Phingphol, C. 2020. การรักษาโรคข้อเสื่อมในลักษณะ multimodal. [online]. Available : https://www.readvpn.com/Topic/Info/32464681-38ca-49df-9ccb-32afcdb26c45. Accessed date : 15 April 2023.
6. Wernham, BGJ., Trumpatori, B., Hash, J., Lipsett, J., Davids, G., Wackerow, P., Thomson, A. and Lascelles, BDX. 2011. Dose Reduction of Meloxicam in Dogs with Osteoarthritis-Associated Pain and Impaired Mobility. J Vet Intern Med. 25:1298-1305.