ภาวะแพ้ยุง (Mosquito bite hypersensitivity) จัดเป็น hypersensitivity type 1 ในกลุ่มเดียวกับ flea bite allergy ที่โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะผิวหนังอักเสบชนิด eosinophilic dermatitis โดยเคยมีรายงานในประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และอเมริกาเหนือ ว่าพบอาการแพ้ยุงที่บริเวณผิวหนัง (cutaneous allergic reaction) มีการศึกษาโดยให้แมวสัมผัสกับยุงโดยตรง (mosquito bite exposure), ฉีดเข้าทางผิวหนัง (intradermal test) และวิธี Prausnitz-Kustner tests (P-K tests) โดยการให้สัมผัสกับผิวหนังของแมวที่แพ้ยุง (allergic cats) ทั้งบริเวณที่มีรอยโรค (lesional skin) และบริเวณที่ไม่มีรอยโรค (unaffected skin) ผลที่ได้พบว่าแมวที่ได้รับ allergen เข้าไป เกิดรอยโรคในลักษณะ wheals ภายในเวลา 20 นาที หลังจากนั้นพัฒนาเป็น papules ภายใน 12-48 ชั่วโมง และจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่าเม็ดเลือดขาวที่เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (eosinophilic infiltrate) ส่วนในแมวกลุ่มควบคุมพบรอยแดงเพียงเล็กน้อย และหายไปในระยะเวลาสั้น ๆ การศึกษานี้จึงบ่งบอกว่าการถูกยุงกัดอาจสามารถกระตุ้นให้ร่างกายของสัตว์มีการตอบสนองแบบ type I hypersensitivity ต่อแอนติเจนจากยุง อย่างไรก็ตามการเกิด papules ตามมาภายหลังนั้น อาจยากต่อการแบ่งสาเหตุว่าเกิดจากพิษในน้ำลายยุง (saliva toxin) หรือเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของผิวหนังช่วงท้าย (cutaneous late-phase)
ในคนพบว่าปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองต่อการถูกยุงกัด สามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คือระยะหลังจากที่โดนกัดแต่แมวยังไม่แสดงอาการใด ๆ (non-reactive stage), ระยะที่ 2 เป็นระยะที่พบปฏิกิริยาตอบสนองของผิวหนังอย่างช้า ๆ (delayed cutaneous reaction), ระยะที่ 3 คือ ระยะหลายเดือนต่อมา ที่อาจพบ wheal เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (immediate wheal develop), หลังจากนั้นปฏิกิริยาที่ตอบสนองแบบ delayed reaction จะหายไปในระยะที่ 4 และสุดท้ายปฏิกิริยา immediate reaction ที่เกิดขึ้นจะหายไปในระยะที่ 5 ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้เป็นกลไกการตอบสนองของภูมิคุ้มกันตามปกติ และกลไกนี้คาดว่าเป็นผลที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากกระบวนการ sensitization และการ desensitization
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในคนที่พบว่า bite reaction มีความสัมพันธ์กับช่วงอายุ โดยพบการเพิ่มขึ้นของ immediate reaction ในช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงวัยรุ่น และพบว่าลดลงหลังจากนั้น ส่วนในแมว bite reaction ยังไม่ได้เป็นที่เข้าใจมากนัก แต่คาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์ระหว่างอาการทางคลินิกและความถี่ของการสัมผัสยุง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาวะแพ้ยุงในคน

อาการทางคลินิก

อาการทางคลินิกที่เด่นชัด ได้แก่ military dermatitis, eosinophilic granuloma ซึ่งบริเวณที่พบรอยโรคได้บ่อย เช่น ใบหูด้านนอก (outer pinna), จมูก (nasal bridge), ขอบฝ่าเท้า (margins of footpads) ในแมวจะมีความไวต่อการแพ้ยุง โดยรอยโรคที่มักพบ ได้แก่ papules, erosion, crusts และ nodules ซึ่งเป็นสาเหตุโน้มนำให้เกิดอาการคันระดับเล็กน้อยไปถึงระดับรุนแรง บางรายอาจพบ regional lymphadenopathy นอกจากนี้ยังพบว่ายุงถูกดึงดูดโดยโฮสต์ที่มีขนสีเข้ม และมีความสัมพันธ์กับฤดูร้อน (summer seasonality) โดยความรุนแรงของรอยโรคมักแปรผันตรงกับความถี่ที่โดนยุงกัด อีกทั้งยังพบได้ในหลากหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ 8 เดือนจนไปถึง 6 ปี ซึ่งทั่วไปค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3 ปี แต่ยังไม่พบปัจจัยเรื่องสายพันธุ์หรือเพศมาเกี่ยวข้อง
การวินิจฉัยแยกโรค ได้แก่ ไรในหู (ear mite infestation), ภูมิแพ้อาหาร (food allergy), ผิวหนังอักเสบจากไวรัส herpes (herpes virus dermatitis), โรคทางภูมิคุ้มกัน (autoimmune disorder) เช่น pemphigus foliaceus, cutaneous lupus erythematosus เป็นต้น และโรคผิวหนังอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากแสง (photo-induced dermatitis) เช่น solar dermatitis, photosensitive dermatitis

การวินิจฉัย

(1) เบื้องต้นสามารถพิจารณาจากประวัติต้องสงสัย เช่น การเลี้ยงในบริเวณที่มียุงชุกชุม ร่วมกับอาการทางคลินิกที่พบผิวหนังอักเสบ บริเวณรอบตา บริเวณสันจมูก โดยที่สัตว์อาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้
(2) การตรวจเซลล์วิทยา (cytology) การทำ impression smears ที่ตำแหน่งรอยโรค (erosive lesions) อาจพบเซลล์เม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิล (eosinophil infiltration) จำนวนมาก ร่วมกับชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes), แมคโคฟาจ (macrophages), เบโซฟิล (basophil), หรือแมสต์เซลล์ (mast cells) ในปริมาณเล็กน้อยจนถึงปานกลาง
(3) การตรวจทางจุลพยาธิวิทยา (histopathology) อาจพบลักษณะ diffuse perivascular eosinophilic dermatitis ร่วมกับเซลล์ลิมโฟไซต์, แมคโคฟาจ, นิวโทรฟิล หรือแมสต์เซลล์ หรืออาจพบลักษณะ periflollicular/follicular eosinophilic infiltrations และ superficial band of eosinophils นอกจากนี้บางรายอาจพบลักษณะ flame figures ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวข้องมักเป็น degenerated eosinophils หรือบางรายอาจพบลักษณะ eosinophilic furunculosis ส่วนผิวหนังชั้น epidermis อาจพบลักษณะ serocellular crusting, spongiosis, subcorneal pustules, erosion, ulceration หรือ moderate acanthosis ได้ อย่างไรก็ตามการส่งตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เป็นสิ่งที่แนะนำให้ทำ เพราะนอกจากจะช่วยในการวินิจฉัยโรคแล้ว ยังสามารถตัดโรคอื่น ๆ ที่มีอาการทางคลินิกคล้ายคลึงกันออกไปได้ด้วย
(4) การตรวจเลือด โดยทั่วไปผลเลือดไม่สามารถช่วยยืนยันการแพ้ยุงได้ แต่เมื่อพิจารณาจากผลความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด มักพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิล (eosinophilia) ส่วนค่าเคมีในเลือดอื่น ๆ อาจไม่พบความผิดปกติ ส่วนการตรวจ serum electrophoresis อาจจะพบ hypergammaglobulinaemia ได้
(5) การทดลองให้ยุงกัด (challenge test) ในต่างประเทศ มีการวินิจฉัยโดยการทำ challenge test โดยการนำยุงตัวเมียใส่ในหลอดที่มีปลายอีกข้างเปิด วางที่บริเวณอกด้านข้าง (lateral thorax) หรือใบหู (pinna) รอจนกว่ายุงจะกัด (ภาพที่ 1) แล้วสังเกตรอยโรค ถ้าพบ wheal เกิดขึ้นภายใน 20 นาทีในตำแหน่งดังกล่าวถือเป็นผลบวก (positive reaction)
ภาพที่ 1 แสดงการทดลองให้ยุงกัด หรือ challenge test

การรักษา

การป้องกันการถูกยุงกัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงบริเวณที่มียุงชุกชุม เช่น บริเวณสนามหญ้าสูง, พุ่มไม้, หนองน้ำ เป็นต้น โดยทั่วไปยุงลายสวน (Aedes spp.) มักเจอในช่วงกลางวัน ในขณะที่ยุงบ้าน (house mosquitoes) รวมไปถึง Culex และ Anopheles spp. มักเจอในช่วงกลางคืน ดังนั้นเจ้าของจึงควรเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้านโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็น หรือการให้นอนในมุ้ง
การใช้สารไล่แมลง (insect repellent) ถือเป็นอีกวิธีที่สามารถป้องกันยุงกัดได้ ซึ่งโดยทั่วไปมีสาร 2 กลุ่มที่ใช้ในการไล่แมลง ได้แก่ กลุ่มน้ำมันที่สกัดมาจากพืช (plant-derived essential oils) เช่น citronella, oil of eucalyptus, peppermint, tea-tree oil, lavender, soybean oil, neem oil เป็นต้น และกลุ่มเคมีสังเคราะห์ (synthetic chemicals) เช่น DEET (N, N-diethyl-m-toluamide) ซึ่งใช้ไล่ยุงในคนอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม DEET อาจจะเป็นพิษในสัตว์ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมียาหยดหลังที่มีส่วนประกอบของ permethrin เดือนละ 1 ครั้ง สามารถป้องกันไม่ให้สุนัขถูกยุงกัดได้
การรักษารอยโรคผิวหนังอักเสบ ทำได้โดยการให้ยาลดอักเสบ ในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (glucocorticoids) เนื่องจากการเกาอย่างต่อเนื่อง (continuous scratching) จะไปกระตุ้นวงจร vicious cycle ของการอักเสบ แม้กระทั่งแมวที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มียุงก็ตาม การใช้กลูโคคอร์ติคอยด์แบบทา (topical therapy) นั้นไม่แนะนำ เนื่องจากสัตว์สามารถเลียได้ ส่วนการใช้กลูโคคอร์ติคอยด์แบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (systemic glucocorticoids) ถือว่าค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการรักษารอยโรค อย่างไรก็ตามสัตว์บางรายต้องใช้ระยะเวลาการรักษาหลายเดือน เนื่องจากเป็นโรคที่สัมพันธ์กับฤดูกาล แม้ว่าการใช้ยารูปแบบฉีดที่ออกฤทธิ์แบบยาว (long-acting steroids) จะสะดวกมากกว่า แต่แนะนำในรูปแบบกิน (oral product) เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีนี้จำเป็นต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ก่อนรักษาการอักเสบที่ผิวหนัง

เอกสารอ้างอิง

Nagata M. Mosquito bite. Veterinary allergy. 1st ed. John Wiley & Sons, Ltd. 2014. 267-270.

Thompson LA. Feline dermatology. Today’s veterinary practice. 2013. 48-52.