ไต นับเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีความสำคัญภายในร่างกายแมว แต่ละข้างประกอบไปด้วยหน่วยย่อยที่มีชื่อว่า หน่วยไต (nephron) ประมาณ 200,000 หน่วย ทำหน้าที่กำจัดของเสีย และควบคุมสมดุลภายในร่างกาย โดยสามารถแบ่งหน้าที่โดยละเอียดได้ดังนี้

1. กรองของเสียออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ โดยเฉพาะของเสียในกลุ่มของยูเรีย (urea) ซึ่งเกิดจากการย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน และครีเอตินีน (creatinine)

2. ควบคุมสมดุลอิเล็กโตรไลต์ (electrolyte) ภายในร่างกาย โดยเฉพาะโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส

3. สร้างฮอร์โมนที่มีชื่อว่า erythropoietin ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงจากไขกระดูก และ rennin ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมความดันเลือดภายในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อไตเกิดความผิดปกติ จะสามารถแบ่งลักษณะของความผิดปกติได้ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ภาวะไตวายเฉียบพลัน และภาวะไตวายเรื้อรัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ภาวะไตวายเฉียบพลัน (acute kidney injury; AKI) คือภาวะที่ไตมีความเสียหายแบบเฉียบพลัน สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ และมีหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งประเภทตามตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติได้ดังนี้

a. Pre renal azotemia คือภาวะไตวายเฉียบพลันที่มีสาเหตุเกิดมาจากอวัยวะ หรือระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายที่ไม่ใช่ไต หรือระบบทางเดินปัสสาวะ แต่ส่งผลต่อการทำงานของไต (pre renal) เช่น ร่างกายมีการขาดน้ำอย่างรุนแรง (severe dehydration) ความดันโลหิตต่ำผิดปกติ การสูญเสียเลือดปริมาณมาก หรือระบบหมุนเวียนเลือดมีปัญหาจนเป็นสาเหตุทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณไตลดลง ประสิทธิภาพในการกรองของเสียจึงต่ำลง เป็นสาเหตุให้ไตเกิดการสะสมสารพิษ และเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันตามมา

b. Renal azotemia คือภาวะไตวายเฉียบพลันที่มีสาเหตุเกิดมาจากตัวของไตเอง เช่น เกิดการติดเชื้อที่บริเวณไต โดยเฉพาะการติดเชื้อโรคฉี่หนู (leptospirosis) ที่สามารถพบได้บ่อยในแมวที่มีการเลี้ยงแบบปล่อยโดยอาจไม่แสดงอาการ หรือการได้รับสารพิษที่ส่งผลต่อไต เช่น การสัมผัสกับเกสร หรือกินดอกลิลลี่ การได้รับยาในกลุ่ม NSAIDs (ยกเว้น meloxicam ที่มีการรับรองให้ใช้ในแมวได้) หรือการใช้ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มในขนาดที่ไม่เหมาะสม เช่น sulfonamide, aminoglycoside หรือ amphotericin-B เป็นต้น

c. Post renal azotemia คือภาวะไตวายเฉียบพลันที่มีสาเหตุเกิดมาจากอวัยวะที่มีการทำงานรับช่วงต่อจากไต (post renal) เช่น ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ หรือท่อปัสสาวะ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีนิ่วอุดตันในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถขับปัสสาวะ หรือของเสียออกจากร่างกายได้ โดยในแมวมักพบในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย และเป็นชนิดแมกนีเซียมแอมโมเนียมฟอสเฟต หรือนิ่วสตรูไวท์ (struvite) และแคลเซียมออกซาเลต (CaOX)

ทั้งนี้ ทาง The International Renal Interest Society (IRIS) ได้มีการแบ่งระยะของภาวะไตวายเฉียบพลันออกเป็นทั้งหมด 5 ระยะ โดยประเมินจากระดับ serum creatinine และปริมาณการผลิตปัสสาวะ เพื่อความเหมาะสมในการดูแลรักษาสัตว์ป่วย ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก IRIS Guideline Recommendations for Grading of AKI in Dogs and Cats (2016)

2. ภาวะไตวายเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD) คือภาวะความผิดปกติของไตที่เกิดจากความเสียหายของหน่วยไตอย่างถาวร ส่งผลให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การพบภาวะนี้มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น กล่าวคือเป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยในแมวที่มีอายุมาก (พบว่าแมวที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปมีโอกาสในการเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 30%) อย่างไรก็ตามภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การดูแลจึงเป็นการรักษาตามอาการ และป้องกันไม่ให้ไตเสื่อมมากไปกว่าเดิม สามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดภาวะนี้ได้เป็นหลายสาเหตุ หรืออาจเกิดจากปัจจัยหลายปัจจัยประกอบกันก็ได้ โดยสามารถแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ความผิดปกติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด (congenital kidney disease) เช่น renal aplasia หรือ renal dysplasia เป็นต้น

2. พยาธิสภาพขึ้นมาภายหลัง (acquired kidney disease) เช่น amyloidosis หรือ glomerulonephritis เป็นต้น ทั้งนี้ ทาง The International Renal Interest Society (IRIS) ได้มีการแบ่งระยะของภาวะไตวายเรื้อรังออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะ โดยประเมินจากระดับ serum creatinine และค่า symmetric dimethyl arginine (SDMA) เพื่อความเหมาะสมในการดูแลรักษาสัตว์ป่วย ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก IRIS Guideline Staging of CKD (modified 2019) ต่อไป

สำหรับการตรวจวินิจฉัยภาวะไตวายเรื้อรังในแมวสามารถทำได้โดยการประเมินปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุ พันธุกรรม และโรคที่แมวเป็น ร่วมไปกับการตรวจค่าความสามารถในการกรองของไต หรือ glomerular filtration rate (GFR) แต่ด้วยข้อกำจัดทางการตรวจ จึงมักแนะนำให้ทำการตรวจหาค่าเคมีโลหิต (serum biochemistry) ซึ่งมีความสะดวก และง่ายกว่าในทางคลินิก โดยแนะนำให้ทำการตรวจร่วมกันหลายค่าเพื่อตรวจดูการทำงานของไต ค่าเคมีโลหิตที่บ่งบอกถึงการทำงานของไต ได้แก่

1. ค่าครีเอตินีน (creatinine): เป็นสารที่ได้จากการสลายของ phosphocreatine ที่อยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งอัตราการสลายและขับทิ้งผ่านทางไตจะมีค่าคงที่ในสัตว์ปกติ โดยค่านี้จะมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราการกรองของไต (GFR) โดยหากพบว่าค่า creatinine มีค่าสูงกว่าปกติ จะบ่งบอกถึงอัตราการกรองของไตที่ลดน้อยลง

2. ค่าไนโตรเจนในเลือด (blood urea nitrogen; BUN): เป็นค่าปริมาณไนโตรเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบของยูเรียในเลือด ซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากการสลายโปรตีนในอาหาร โดยหากพบว่าค่า BUN มีค่าสูงกว่าปกติ จะบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ลดลง

3. Symmetric dimethyl arginine (SDMA): เป็นกรดอะมิโนชนิดอาร์จินีนที่ถูกเติมหมู่เมธิล พบได้ในนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งถูกปล่อยออกมาใน cytoplasm จากการสลายโปรตีน (proteolysis) ของร่างกายและปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่ง SDMA จะถูกปล่อยออกทางไตได้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ปัจจุบันจึงนิยมใช้ค่าดังกล่าวในการประเมินการทำงานของไต

นอกจากนี้ยังควรทำการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) การตรวจวินิจฉัยทางรังสี (abdominal radiography) หรือการทำอัลตราซาวด์ (ultrasonography) การหาค่าความถ่วงจำเพาะในปัสสาวะ (urine specific gravity) เพื่อดูความสามารถของไตในการทำปัสสาวะให้เข้มข้น ค่าความดันโลหิต และ อัตราส่วนระหว่างโปรตีนและ creatinine ในปัสสาวะ (urine protein-creatinine ratio; UPCR) เพื่อสามารถแบ่งระดับ substage ของโรคไตเรื้อรัง เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
สำหรับภาวะไตวายเรื้อรังในแมว ยังเป็นที่มาของการเกิดภาวะ protenuria หรือการพบโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติ และการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี (poor prognosis) โดยสัตวแพทย์สามารถทำการตรวจประเมินเบื้องต้นได้โดยการใช้ urine dipstick หากพบว่ามีความเสี่ยง หรือยังคงสงสัยภาวะดังกล่าว ควรใช้การตรวจหาอัตราส่วนระหว่างโปรตีนและ creatinine ในปัสสาวะ (urine protein-creatinine ratio; UPCR) ซึ่งเป็น gold standard ในการตรวจวินิจฉัยภาวะ renal proteinuria โดยทำการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง และตรวจห่างกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งหากพบว่าแมวมีภาวะ protenuria สัตวแพทย์ควรทำการเปลี่ยนอาหารมาเป็นสูตรสำหรับการรักษาโรคไต เพื่อลดปริมาณโปรตีน ร่วมไปกับการใช้ยากลุ่ม RAAS inhibitor เช่น angiotensin-converting enzyme inhibitors (ACEi) อาทิ benazepril, enalapril หรือ angiotensin receptor blockers (ARB) เช่น telmisartan เพื่อลดความดันโลหิตและลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ อันจะส่งผลทำให้ไตเกิดความเสียหายลดลง
โรคไตในแมวเป็นหนึ่งในโรคที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การทำความเข้าใจถึงกลไกการเกิดโรค แยกแยะความแตกต่างของภาวะไตวายเฉียบพลัน และภาวะไตวายเรื้อรัง จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา ช่วยให้สัตว์กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น หากต้องการรู้รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากไกด์ไลน์การรักษาสัตว์ป่วยโรคไต โดย The International Renal Interest Society (IRIS) (http://www.iris-kidney.com/)

อ้างอิงข้อมูล

1. Brown, S.A. 1995. Primary diseases of glomeruli. In: Canine and Feline Nephrology and Urology. Osborne, C.A., Finco, D.R. (eds.). Baltimore: Williams and Wilkins. 368-85.

2. Forrester, S.D., Grant, D. and Mcloughlin, M.A. 2006. Disease of the Kidney and Ureter. In: Saunders Manual of Small Animal Practice. Birchard, S.J. and Sherding, R.G. (eds), 3rd edition. Missouri: Saunders. 861-868. Grauer, G.F. 2003. Renal failure. In: Small Animal Internal Medicine: Volume 1. Nelson, R.W. and Couto. C.G.

3. Grauer, G.F. 2003. Renal failure. In: Small Animal Internal Medicine: Volume 1. Nelson, R.W. and Couto. C.G. (eds) 3 EMBED Equation. 3 edition. Missouri: Mosby. 608-622.

4. Hall, J. A., Yerramilli, M., Obare, E., Yerramilli, M., and Jewell, D. E. 2014. Comparison of Serum Concentrations of Symmetric Dimethylarginine and Creatinine as Kidney Function Biomarkers in Cats with Chronic Kidney Disease. J Vet Intern Med. 28(6), 1676-1683.

5. Harley, L. and Langston C. Proteinuria in Dogs and Cats. Can Vet J. 2012;53(6):631–638.

6. IRIS., 2016. International Renal Interest Society (IRIS) Guideline Recommendations for Grading of AKI in Dogs and Cats.

7. IRIS., 2019. International Renal Interest Society (IRIS) Staging of CKD.