โรคหัวใจที่พบได้ในสุนัขและแมวสูงอายุ

องค์ความรู้สำหรับการดูแลสุนัขและแมวในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าถูกรวบรวมไว้ค่อนข้างครบถ้วนและเข้าถึงง่ายหากเทียบกับยุคสมัยก่อน เจ้าของสัตว์จึงมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนได้สะดวกขึ้นไม่ว่าจะมาจากคำแนะนำของสัตวแพทย์โดยตรง หรือการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ผนวกกับตัวเจ้าของเองได้มอบความรักความเอาใจใส่แก่สัตว์เลี้ยงของตนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถดำรงชีวิตได้นานกว่าสัตว์เลี้ยงในยุคก่อน ๆ อย่างไรก็ตามเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวขึ้น สิ่งที่เจ้าของสัตว์ต้องเผชิญและรับมืออย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ได้แก่ ความเสื่อมถอยของการทำงานของโครงสร้างอวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายสัตว์ซึ่งจะเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น มีแนวโน้มนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นานา ไม่ต่างจากสภาวะที่คนสูงอายุต้องพบเจอ และหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมวสูงวัยนั้น ได้แก่ โรคหัวใจ ซึ่งรูปแบบของโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงทั้งสองประเภทจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยตัวอย่างชนิดโรคหัวใจที่ยกมาจะมีทั้งหมด 3 โรค ดังนี้
1. โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อมในสุนัข (Degenerative mitral valve disease; DMVD)
มีชื่อเรียกอื่น ได้แก่ myxomatous mitral valve disease (MMVD) หรือเรียกกันสั้น ๆ ว่าโรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นชนิดของโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในสุนัข โดยพบได้ในสุนัขอายุ 10 ปีขึ้นไป ไม่ว่าสุนัขสายพันธุ์ใดหรือเพศใดก็สามารถเป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อมได้ แต่ทั่วไปจะพบในสุนัขเพศผู้มากกว่าเพศเมีย และสุนัขบางสายพันธุ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าปกติ หรือมีโอกาสเป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเนื่องจากเป็นโรคประจำสายพันธุ์ ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น ดัชชุน (Dachshund) ชิวาวา (Chihuahua) วิปเพ็ท (Whippet) คาวาเลียร์ คิง ชาร์ลส สแปเนียล (Cavalier King Charles Spaniel) พุดเดิลสายพันธุ์เล็กและสายพันธุ์ทอย (Miniature and Toy Poodle) และสุนัขสายพันธุ์เทอร์เรียร์ (Terriers) เป็นต้น
โรคลิ้นหัวใจเสื่อมมักพบที่ลิ้นหัวใจไมทรัล (mitral valve) ซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องบนกับห้องล่างฝั่งซ้าย ความเสื่อมสภาพของการทำงานของหัวใจรวมไปถึงตัวโครงสร้างลิ้นหัวใจเองทำให้ลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้น ไม่สามารถปิดสนิทและเกิดการรั่ว (mitral regurgitation) ผลที่ตามมาคือมีเลือดคั่งค้างในหัวใจฝั่งซ้ายมากเกินไปโดยเฉพาะห้องบนซ้าย ทำให้สุนัขมีภาวะห้องหัวใจซ้ายโต สุนัขที่เป็นโรคนี้ในระยะแรก ๆ ไม่ค่อยแสดงอาการผิดปกติเนื่องจากหัวใจยังปรับสมดุลเพื่อรักษาสภาพการทำงานให้เป็นปกติได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่การดำเนินไปของโรคแย่ลง สุดท้ายก็จะนำไปสู่ภาวะน้ำท่วมปอด (pulmonary edema) และภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure; CHF) มีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตามมีสุนัขหลายตัวที่เป็นโรคลิ้นหัวใจเสื่อมแต่ไม่พบการพัฒนาของภาวะหัวใจล้มเหลว ส่วนรายที่แสดงอาการมักมีอาการไอ หายใจลำบาก กระวนกระวาย เหนื่อยง่าย (exercise intolerance) วูบหมดสติ (syncope) น้ำหนักลด ไม่อยากอาหาร เมื่อฟังหัวใจบริเวณ left apex จะได้ยินเสียง systolic murmur หากฟังปอดจะได้ยิน crackle lung sound ในกรณีที่สุนัขมีภาวะน้ำท่วมปอด
การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจเสื่อมเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติอาการสุนัขจากเจ้าของและการตรวจร่างกายสัตว์ จากนั้นจึงตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมซึ่งนิยมใช้วิธีถ่ายภาพรังสี (radiography) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography; ECG) และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) หรือที่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่าการทำ echo การรักษาโรคลิ้นหัวใจเสื่อมสามารถใช้วิธีผ่าตัดลิ้นหัวใจได้แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยทั่วไปจึงมุ่งเน้นไปที่การใช้ยาบรรเทาอาการและคงสภาพการทำงานของหัวใจให้เป็นปกติมากที่สุด เพื่อชะลอการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่ง ACVIM (The American College of Veterinary Internal Medicine) ได้แนะนำการจัดการโรคลิ้นหัวใจเสื่อมที่สอดคล้องกับผลการวินิจฉัยและอาการป่วยของสุนัขโดยจำแนกออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
Stage A: สุนัขในระยะนี้ยังไม่มีความผิดปกติของหัวใจหรือลิ้นหัวใจ แต่เจ้าของควรพาสุนัขไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอเพื่อเฝ้าระวังอาการ โดยเฉพาะสุนัขที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อายุมาก หรือเป็นสายพันธุ์ที่มีโรคลิ้นหัวใจเสื่อมเป็นโรคประจำสายพันธุ์
Stage B: สุนัขมีลิ้นหัวใจรั่วแต่ยังไม่แสดงอาการทางคลินิก ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ระยะย่อย ได้แก่
Stage B1—สุนัขเริ่มมีความเสื่อมของลิ้นหัวใจ แต่ขณะเดียวกันภาพรังสีวินิจฉัยกับผลการทำ echo ยังไม่ปรากฏลักษณะหัวใจโต จึงยังไม่จำเป็นต้องเริ่มให้ยาใด ๆ แต่ควรพาสุนัขไปตรวจซ้ำทุก 6 เดือนหรือ 12 เดือนเพื่อประเมินการดำเนินไปของโรค
Stage B2—สุนัขมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้นระดับที่สังเกตเห็นได้ผ่านภาพรังสีวินิจฉัย โดยจะเริ่มปรากฏภาวะหัวใจโตโดยเฉพาะห้องซ้าย วัดค่า vertebral heart score (VHS) ได้มากกว่า 10.5 ส่วนการทำ echo จะพบอัตราส่วนความกว้างของหัวใจห้องบนซ้ายเทียบกับความกว้างของหลอดเลือดแดงใหญ่ (LA:Ao) มากกว่า 1.6 ทั้งนี้ตัวสุนัขยังไม่มีสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว แต่สามารถเริ่มใช้ยารักษาได้โดยนิยมให้ pimobendan 0.25-0.3 mg/kg PO ทุก 12 ชั่วโมง นอกจากนี้เจ้าของสุนัขควรเริ่มจำกัดปริมาณเกลือในอาหารสุนัขโดยที่สุนัขยังคงได้รับพลังงานและสารอาหารประเภทโปรตีนอย่างเพียงพอด้วย
Stage C: สุนัขเริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น หายใจลำบาก สามารถตรวจพบภาวะน้ำท่วมปอด หรือการสะสมของของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) หากสุนัขมาด้วยอาการผิดปกติข้างต้นแบบเฉียบพลันให้ทำการแก้ไขด้วยการให้ออกซิเจน ยา furosemide 1-2 mg/kg IV หรือ IM ทุกชั่วโมง หรือแบบ CRI 0.25-1 mg/kg/hr ยา pimobendan 0.25-0.3 mg/kg PO ทุก 12 ชั่วโมง ยา nitroprusside CRI 1-15 µg/kg/min ยา nitroglycerin แบบแผ่นแปะ หรืออาจพิจารณาทำ thoracocenthesis ร่วมด้วยเป็นกรณีไป และหากสุนัขมีอาการกระวนกระวายระหว่างการรักษาสามารถให้ยา butorphanol 0.1-0.15 mg/kg IV เพื่อให้อาการสงบลง เมื่อสุนัขกลับเข้าสู่ภาวะคงที่แล้วจึงค่อยเริ่มให้ยารักษาระยะยาวซึ่งเน้นรูปแบบกินเป็นหลัก โดยนิยมให้ furosemide 2 mg/kg ทุก 12 ชั่วโมง ยากลุ่ม angiotensin converting enzyme inhibitor (ACEi) เช่น enalapril หรือ benazepril 0.5 mg/kg ทุก 12-24 ชั่วโมง เป็นต้น pimobendan 0.25-0.3 mg/kg PO ทุก 12 ชั่วโมง และ spironolactone 1-2 mg/kg ทุก 12-24 ชั่วโมง ในส่วนของโภชนาการ สุนัขควรได้รับอาหารที่จำกัดปริมาณเกลือน้อยกว่า 90 mg/kcal และเนื่องจากสุนัขใน stage C มีโอกาสเกิดภาวะผอมแห้งจากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (cardiac cachexia) ซึ่งจะทำให้พยากรณ์ของโรคแย่ลง อาหารจึงต้องประกอบไปด้วยโปรตีนกับพลังงานเพียงพอเพื่อเสริมโครงสร้างของร่างกายให้เป็นปกติ หรืออาจให้สารอาหารเสริมร่วมด้วย
Stage D: สุนัขได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวที่ดื้อต่อยารักษา แม้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังกลับมามีอาการทางคลินิกซ้ำได้เรื่อย ๆ เช่น pulmonary edema เป็นต้น ในระยะนี้จึงมักเพิ่มขนาดยาของ furosemide เป็น 4 mg/kg โดยให้ทุก ๆ 8-12 ชั่วโมง และหากสุนัขเกิดดื้อต่อยา furosemide อาจพิจารณาเปลี่ยนไปใช้ torsemide ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม loop diuretics เช่นเดียวกับ furosemide แต่มีฤทธิ์แรงกว่าและระยะเวลาการออกฤทธิ์นานกว่า
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดห้องหัวใจขยายใหญ่ (Dilated cardiomyopathy; DCM)
DCM เป็นโรคที่มีภาวะหัวใจห้องล่างโตทำให้ประสิทธิภาพการบีบตัวลดลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ มีเลือดค้างอยู่ในหัวใจมากขึ้น ภายหลังอาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ DCM เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจที่พบได้บ่อยในสุนัข โดยเฉพาะในสุนัขพันธุ์ใหญ่ซึ่งมีโรคนี้เป็นโรคประจำสายพันธุ์ เช่น เกรทเดน (Great Dane) โดเบอร์แมน พินสเชอร์ (Doberman Pinscher) ไอริช วูล์ฟฮาวด์ (Irish Wolfhound) นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland) และบ็อกเซอร์ (Boxers) เป็นต้น รวมไปถึงสุนัขพันธุ์กลางบางสายพันธุ์ เช่น ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel) นอกจากนี้ DCM สามารถเกิดสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นสารพิษ การติดเชื้อ การขาดแคลนสารอาหารบางชนิด เช่น taurine และ L-carnitine นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาระบุว่า DCM อาจสัมพันธ์กับการกินอาหารสำเร็จรูปที่ปราศจากธัญพืช (grain-freed diet) ด้วยเนื่องจากสุนัขได้โภชนาการไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่ชัดเจน จำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
การดำเนินไปของโรค DCM ถูกจำแนกออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
Stage 1: ลักษณะและการทำงานของหัวใจของสุนัขยังคงปกติ
Stage 2: ในระยะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างโครงสร้างหัวใจ และอาจพบการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ด้วย ทั้งนี้ตัวสุนัขจะยังไม่แสดงอาการทางคลินิกชัดเจน
Stage 3: สุนัขเริ่มแสดงอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น อ่อนแรง เหนื่อยง่าย ซึม ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ไอ หายใจลำบาก อัตราการหายใจถี่ขึ้น และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น
การวินิจฉัย DCM สามารถทำได้ด้วยการซักประวัติสุนัขจากเจ้าของ สังเกตอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจเพิ่มเติมด้วยการทำ echo เพื่อประเมินขนาดห้องหัวใจและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ตรวจ ECG หรือตรวจหา NT-proBNP ซึ่งเป็น biomarker ที่ใช้วินิจฉัยว่าหัวใจของสัตว์อาจมีโครงสร้างหรือการทำงานผิดปกติ ส่วนวิธีการรักษา DCM นั้นหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดีกว่าเมื่อเทียบกับรายที่ตรวจเจอหลังมีการดำเนินไปของโรคในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งในกรณีนี้โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาความรุนแรงของอาการป่วย ประคับประคองให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ได้นานขึ้น โดยจะให้ยากลุ่ม ACEi เช่น enalapril, benazepril, imidapril และ ramipril เป็นต้น ยา furosemide และ spironolactone ซึ่งเป็นยากลุ่ม diuretics และ pimobendan ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้ในการชะลอการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และหากพบว่าสุนัขมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation (AF) อาจพิจารณาให้ยา digoxin ร่วมด้วย นอกจากนี้ในการดูแลด้านอื่น ๆ สุนัขที่เป็น DCM ควรได้รับอาหารที่มีสารอาหารสำคัญเพียงพอโดยเฉพาะ taurine กับ L-carnitine และเจ้าของควรพาสุนัขไปตรวจหัวใจเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขสูงวัยหรือเป็นสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มสูงจะเป็น DCM เนื่องจากหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถให้การรักษาได้ง่ายกว่า
3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ (Hypertrophic cardiomyopathy; HCM)
HCM เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว ไม่ว่าจะเป็นแมวพันธุ์ผสม แมวบ้านทั่วไป (domestic Shorthair) หรือสายพันธุ์แท้ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ แมวสายพันธุ์แท้บางสายพันธุ์ เช่น เมนคูน (Maine Coon) แร็กดอลล์ (Ragdoll) เปอร์เซีย (Persian) บริติชขนสั้น (British Shorthair) และสฟิงซ์ (Sphynx) มี HCM เป็นโรคประจำสายพันธุ์ซึ่งถ่ายทอดผ่านยีนได้จึงมีแนวโน้มเป็น HCM มากกว่าและมีโอกาสเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อยเมื่อเทียบกับแมวกลุ่มอื่น แมวส่วนใหญ่ที่เป็น HCM ไม่ค่อยแสดงอาการทางคลินิกชัดเจนตลอดช่วงชีวิต ส่วนในรายที่แสดงอาการมักพบภาวะน้ำท่วมปอด (pulmonary edema) กับภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) และอาจมีภาวะอื่นแทรกซ้อนด้วย เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน (arterial thromboembolism; ATE) ซึ่งอาจส่งผลให้เสียชีวิตเฉียบพลัน (sudden death) ได้
การวินิจฉัย HCM ในแมวเบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติแมวจากเจ้าของ สังเกตอาการ ตรวจร่างกาย แล้วตรวจเพิ่มเติมซึ่งเทคนิคที่เป็น gold standard ได้แก่ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) หรือการทำ echo เพื่อดูความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจและประเมินการทำงานของหัวใจ ทั้งนี้นิยมใช้วิธีตรวจอื่นร่วมด้วยได้เพื่อให้ผลการวินิจฉัยออกมาแม่นยำมากขึ้น เช่น การตรวจหา NT-proBNP กับ cardiac troponin-I (cTnI) ซึ่งเป็น biomarker บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ และการถ่ายภาพรังสีที่จะช่วยวินิจฉัยแยกแยะได้ดีในกรณีที่แมวมีภาวะน้ำท่วมปอด อย่างไรก็ตามลักษณะกล้ามเนื้อผนังหัวใจหนาตัวมากกว่าปกตินั้นอาจเป็นรอยโรคที่เกิดจากความผิดปกตินอกเหนือจาก HCM ได้ เช่น ความดันสูง (systemic hypertension) ลิ้นหัวใจเออร์ติกตีบ (aortic stenosis) ความผิดปกติของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (acromegaly) และฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ (hyperthyroidism) เป็นต้น ดังนั้นบางกรณีจึงควรพิจารณาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อแยกแยะ HCM กับโรคอื่น ๆ ให้ชัดเจนด้วย
การรักษา HCM ในแมวมีเป้าหมายหลักคือทำให้แมวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และชะลอการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ในแมวที่แสดงอาการทางคลินิกแล้วมักให้ยากลุ่ม ACEi ร่วมกับยากลุ่ม diuretics เช่น furosemide และ spironolactone เป็นต้น แต่สามารถเปลี่ยนไปใช้ torsemide แทนได้ในกรณีที่แมวป่วยเข้าสู่ระยะดื้อต่อ furosemide และหากพบว่าแมวมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันให้ทำการรักษาด้วย clopidogrel 18.75 mg PO ทุก 24 ชั่วโมง ส่วนยา pimobendan ซึ่งนิยมใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวยังไม่มีการอนุมัติชัดเจนว่าให้ใช้ในแมวได้ แม้จะมีรายงานการศึกษาบางฉบับระบุว่าสามารถใช้ pimobendan รักษาแมวที่เป็น HCM ได้อย่างปลอดภัยก็ตาม นอกจากนี้ในส่วนของการจัดการทั่วไป เจ้าของควรลดปริมาณเกลือในอาหารแมวโดยที่ปริมาณโปรตีนกับพลังงานยังคงเพียงพอต่อความต้องการของแมวเพื่อลดโอกาสการเกิด cardiac cachexia พาแมวไปตรวจหัวใจเป็นประจำเพื่อประเมินการดำเนินไปของโรค และหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์แมวที่มียีนผิดปกติ เพื่อลดจำนวนประชากรแมวที่มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
1. Boswood A, Gordon SG, Häggström J, Wess, G, Stepien RL, Oyama MA, Keene BW, Bonagura J, MacDonald KA, Patteson M, Smith S, Fox PR, Sanderson K, Woolley R, Szatmári V, Menaut P, Church WM, O'Sullivan ML, Jaudon J.-.-P, Kresken J.-.-G, Rush J, Barrett KA, Rosenthal SL, Saunders AB, Ljungvall I, Deinert M, Bomassi E, Estrada AH, Fernandez Del Palacio MJ, Moise NS, Abbott JA, Fujii Y, Spier A, Luethy MW, Santilli RA, Uechi M, Tidholm A, Schummer C and Watson P. 2018. Longitudinal Analysis of Quality of Life, Clinical, Radiographic, Echocardiographic, and Laboratory Variables in Dogs with Preclinical Myxomatous Mitral Valve Disease Receiving Pimobendan or Placebo: The EPIC Study. J Vet Intern Med. 32. 72-85.
2. Freid KJ, Freeman LM, Rush JE, Cunningham SM, Davis MS, Karlin ET and Yang VK. 2021. Retrospective study of dilated cardiomyopathy in dogs. J Vet Intern Med. 35. 58-67.
3. Freid KJ, Freeman LM, Rush JE, et al. 2021. Retrospective study of dilated cardiomyopathy in dogs. J Vet Intern Med. 35. 58-67.
4. Kittleson MD and Côté E. 2021. The Feline Cardiomyopathies: 2. Hypertrophic cardiomyopathy. Journal of feline medicine and surgery. 23(11). 1028-1051.
5. Luis Fuentes V, Abbott J, Chetboul V, Côté E, Fox PR, Häggström J, Kittleson MD, Schober K and Stern JA. 2020. ACVIM consensus statement guidelines for the classification, diagnosis, and management of cardiomyopathies in cats. J Vet Intern Med. 34(3). 1062-1077.
6. Parmar S, Patel M, Vala J, Mehta S and Mavadiya S. 2022. Diagnosis and Therapeutic Management of Myxomatous Mitral Valvular Degeneration (MMVD) in Daschund Dog - A Case Report. Ind J Vet Sci and Biotech.
7. Pascon JPE, Jung GC, Valandro MA, et al. 2021. Prevalence, risk factors and survival in dogs with myxomatous valve degeneration. Arq. Bras. Med. Vet. Zootec. 73(4). 812-820.
8. Pinkos A and Stauthammer C. 2021. Degenerative Valve Disease: Classification, Diagnosis, and Treatment of Mitral Regurgitation. Todayveterinarypractice. 69-74.
9. Simpson S, Kordtomeikel KZ, Wong S, Bennison S, A.A. El-Gendy S, Cobb M and Sian Rutland C. 2021. Diagnosis, Prognosis, Management, Treatment, Research and Advances in Canine Dilated Cardiomyopathy. IntechOpen.