ปรสิตภายนอก (external parasite) นับเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคผิวหนังในแมวที่สามารถพบได้บ่อยทางคลินิก โดยเฉพาะในแมวที่ไม่ได้รับการป้องกันปรสิตอย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาคุณหมอไปทบทวนปรสิตภายนอกต้นเหตุของการเกิดโรคผิวหนังในแมว อันได้แก่ หมัดแมว ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ ไรขี้เรื้อนแห้ง และไรหู ตลอดจนการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการป้องกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอสามารถทำการวางแผนการรักษาสัตว์ป่วยในการดูแลของตนได้อย่างเหมาะสมต่อไป

หมัดแมว (cat flea infestation)

หมัดแมว (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ctenocephalides felis) คือปรสิตภายนอกที่จัดอยู่ในสกุล (genus) Ctenocephalides วงศ์ (family) Pulicidea และลำดับ (order) Siphonaptera เป็นปรสิตที่สามารถพบได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน ดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดโฮสต์เป็นอาหาร โดยสามารถพบได้ทั้งในสิ่งแวดล้อม และบนร่างกายสัตว์ เช่น แมว สุนัข กระต่าย และพอสซั่ม เป็นต้น หมัดแมวมีวงจรชีวิตด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ (ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น ความชื้น และอุณหภูมิ) ทั้งนี้พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของหมัดเป็นอย่างมาก การพบเจอหมัดในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณที่มีฝุ่นมากจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง

ความอันตรายและการก่อโรค :

1. เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจาง (anemia) และการขาดธาตุเหล็ก โดยเฉพาะในสัตว์อายุน้อย

2. เป็นพาหะของพยาธิเม็ดเลือดในแมว ชนิด Mycoplasma haemofelis

3. เป็นพาหะของพยาธิภายในชนิดพยาธิตืดหมัด (Dipylidium caninum) ซึ่งสามารถติดได้ผ่านทางการกินตัวหมัดที่มีระยะ cysticercoid โดยแมวอาจได้รับเข้าสู่ร่างกายโดยบังเอิญผ่านทางการเลียขน พยาธิชนิดนี้สามารถติดต่อไปสู่คนได้

4. เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด (flea bite hypersensitivity) ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของ antigen ที่มีชื่อว่า feline salivary antigen-1 (FSA1) ส่งผลให้แมวเกิดอาการคันมาก เลียตัวเองมากผิดปกติ พบรอยโรคขนร่วงข้างลำตัวแบบสมมาตร (symmetrical alopecia) รอยโรคตุ่มแดง แข็ง ขนาดเล็กทั่วลำตัว (miliary dermatitis) และรอยโรคแผลหลุมจากอาการคัน โดยเฉพาะบริเวณรอบคอ หน้าผาก และใบหู (excoriation) อย่างไรก็ตามรอยโรคเหล่านี้อาจพบได้ในกรณีแมวป่วยด้วยภาวะแพ้อาหาร (food allergy) หรือภูมิแพ้ (feline atopic syndrome) สัตวแพทย์จึงควรทำการตรวจวินิจฉัยแยกโรค (differential diagnosis) โดยละเอียดต่อไป

การตรวจวินิจฉัยภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด :

เมื่อพบรอยโรคที่บ่งบอกถึงภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด สัตวแพทย์ควรทำการซักประวัติเจ้าของโดยละเอียด โดยเน้นที่การป้องกันปรสิต (สัตว์มีการเลี้ยงแบบปล่อย หรือเลี้ยงแต่ภายในบ้าน ? สัตว์มีการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตหรือไม่ ? ความสมำ่เสมอของการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร ? มีการเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น หรือเลี้ยงมากกว่า 1 ตัวหรือไม่ ? ทุกตัวได้รับการปกป้องหรือไม่ ? ตลอดจนการดูแลความสะอาดของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร ?) เมื่อทราบประวัติแล้ว สามารถทำการตรวจวินิจฉัยถึงการมีหมัดบนร่างกายคร่าว ๆ ได้ผ่านการตรวจหา flea dirt หรือขี้หมัดซึ่งมีลักษณะเป็นผงสีดำ เมื่อพบผงดังกล่าว ให้ทำการหยดน้ำลงบนผงเหล่านั้น หากผงมีการละลายในลักษณะคล้ายเลือด นับว่าสัตว์มีโอกาสสูงต่อการติดหมัด สัตวแพทย์สามารถทำการรักษา และให้การป้องกันหมัดได้ทันที อย่างไรก็ตาม หากต้องการตรวจยืนยันโรค สัตวแพทย์สามารถพิจารณาทำ intradermal skin test หรือ allergen-specific IgE serology test ได้ ทั้งนี้การตรวจดังกล่าวเป็นการตรวจเพื่อทดสอบ type 1 hypersensitivity reaction ดังนั้นในสัตว์บางตัวที่มีการตอบสนองแบบ type 4 hypersensitivity reaction (delayed type hypersensitivity) อาจทำให้เกิดผลลบต่อการทดสอบได้

การรักษาและการป้องกัน :

หลักในการดูแลสัตว์ป่วยด้วยภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัดที่สำคัญที่สุด คือการควบคุมหมัด โดยสัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของให้การป้องกันสัตว์เลี้ยงจากปรสิตภายนอก โดยเฉพาะหมัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติสามารถกำจัดตัวเต็มวัยได้อย่างรวดเร็ว (fast speed of kill) เพื่อตัดวงจรก่อนที่หมัดจะวางไข่ และลดโอกาสการได้รับ antigen จากน้ำลายหมัด โดยตัวยาที่ให้ผลดีในการป้องกันหมัด ได้แก่ fipronil, selamectin, imidacloprid/moxidectin, spinosad และยาในกลุ่ม isoxazolines เป็นต้น

ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมว (feline demodicosis)

ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมว ประกอบไปด้วย 3 species สำคัญ ได้แก่ Demodex cati, Demodex gatoi และ Unnamed species เป็นปรสิตภายนอกที่สามารถพบได้ทั่วโลก โดย Demodex cati จัดเป็นไรชนิดขุดโพรง (burrowing mite) ซึ่งอาศัยอยู่ภายในรูขุมขน โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา ใบหน้า คาง และรอบคอ ในขณะที่ Demodex gatoi จัดเป็นไรชนิดไม่ขุดโพรง (non-burrowing mite) ซึ่งมักพบอาศัยอยู่บนผิวหนัง (ชั้น keratin layer) อย่างไรก็ตามไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมวนับเป็นปรสิตที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อโฮสต์ จึงไม่อาจพบไรชนิดนี้ในสัตว์ต่าง species และไม่สามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ สำหรับวงจรชีวิตของไรดีโมเด็กซ์ในแมวมีการศึกษาของ Demodex cati พบว่ามีลักษณะคล้ายกับไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัข (Demodex canis) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 3 สัปดาห์

ความอันตรายและการก่อโรค :

ไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมวเป็นสาเหตุของการเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง โดย Demodex cati สามารถทำให้เกิดรอยโรคได้ 2 ลักษณะ คือ รอยโรคเฉพาะบริเวณ (localized) และรอยโรคทั่วร่างกาย (generalized) ส่งผลให้แมวเกิดอาการขนร่วง (alopecia) มีสะเก็ดสะสมของ keratin หรือ follicular material อยู่บนเส้นขน (follicular cast) และผื่นแดง (erythematous patches) โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา ใบหน้า คาง และรอบคอ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นปรสิตในสกุลเดียวกัน แต่การติด Demodex cati ในแมวมักไม่พบรอยโรคผิวหนังอักเสบเป็นหนอง (pyoderma) เหมือนการติดไรขี้เรื้อนเปียกในสุนัข สำหรับ Demodex gatoi มักส่งผลให้แมวเกิดอาการคัน โดยอาจเกิดจากภาวะแพ้ (hypersensitivity) ขนร่วงจากการเลียตัว (self-induced alopecia) มีตุ่มแดง และสะเก็ดที่หน้าท้อง และขาหลัง ตลอดจนภาวะ hyperpigmentation ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเกิดโรค ทั้งนี้การเกิดรอยโรคจาก Demodex gatoi มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคอื่น ๆ (underlying disease) เช่น โรคเบาหวาน (diabetes mellitus) การติดไวรัสลิวคีเมียในแมว (feline leukemia virus infection) โรคแพ้ภูมิตัวเอง (systemic lupus erythematosus; SLE) หรือโรคคุชชิง (hypercortisolism) เป็นต้น ดังนั้นนอกจากการรักษาไรแล้ว สัตว์แพทย์จึงควรทำการตรวจหาโรคสาเหตุควบคู่ด้วยต่อไป

การตรวจวินิจฉัยโรคไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมว :

เช่นเดียวกับการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีสาเหตุมาจากปรสิตชนิดอื่น ๆ สัตวแพทย์ควรทำการซักประวัติเจ้าของโดยละเอียด โดยเน้นที่การป้องกันปรสิตเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับการตรวจหา Demodex cati ที่มักอาศัยอยู่ภายใน hair follicle สามารถทำได้โดยวิธีการ deep skin scraping หรือ trichogram (hair plucking) ณ บริเวณที่เกิดรอยโรคขนร่วง ในขณะที่ Demodex gatoi ที่มักอาศัยอยู่บริเวณผิวหนังสามารถทำการตรวจหาได้โดยวิธี superficial skin scraping อย่างไรก็ตามด้วยพฤติกรรมการเลียขนของแมวอาจทำให้ตรวจไม่พบตัวไร ซึ่งอาจส่งผลให้ได้ผลการตรวจลบลวง (false negative result) ได้

การรักษาและการป้องกัน :

สำหรับการรักษาและป้องกันไรขี้เรื้อนดีโมเด็กซ์ในแมวสามารถทำได้โดยการให้ยากำจัดปรสิตภายนอกที่ออกฤทธิ์ในการกำจัดไร โดยปัจจุบันมีรายงานการใช้ topical fluralaner และ topical selamectin/sarolaner ซึ่งพบว่าให้ผลดีในการรักษา

ไรขี้เรื้อนแห้งในแมว (feline scabies)

ไรขี้เรื้อนแห้งในแมว (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Notoedres cati) คือปรสิตภายนอกที่จัดอยู่ในสกุล (genus) Notoedres วงศ์ (family) Sarcoptidae และลำดับ (order) Sarcoptiformes จัดเป็นไรชนิดขุดโพรง (burrowing mite) ที่อาศัยอยู่ภายในรูขุมขน เป็นปรสิตที่สามารถพบได้ทั่วโลก และสามารถพบได้ทั้งในแมว สุนัข สุนัขจิ้งจอก และกระต่าย มีวงจรชีวิตด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ (ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 14-21 วัน ทั้งนี้ ความแตกต่างของไรขี้เรื้อนแห้งในแมวกับไรชนิดอื่น ๆ คือ ไรขี้เรื้อนแห้งในแมวจัดเป็นปรสิตที่ต้องอาศัยอยู่เฉพาะบนตัวโฮสต์เท่านั้น (obligate parasite) ซึ่งหมายความว่าแมวอาจติดไรชนิดนี้จากการอยู่ใกล้ชิดกับแมวตัวอื่น สัตวแพทย์จึงควรแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตกับแมวของตนเป็นประจำเพื่อลดโอกาสในการติดไรชนิดดังกล่าว

ความอันตรายและการก่อโรค :

ไรขี้เรื้อนแห้งในแมวเป็นสาเหตุของการเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง ส่งผลให้แมวเกิดอาการคัน มีตุ่มแดง (papules) สะเก็ด (sacle) และสะเก็ดปกคลุม (crust) โดยมักเริ่มจากบริเวณใบหูส่วนปลาย (medial proximal) จากนั้นจึงกระจายไปทั่วใบหู ใบหน้า รอบตา และคอ นอกจากนี้ยังอาจพบรอยโรคบริเวณขา และรอบก้น ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการเลียและท่านอนของแมวทำให้ตัวไรเกิดการแพร่กระจาย การเกาของแมวจะส่งผลให้เกิดรอยโรคขนร่วง และรอยแผลถลอก (excoriation) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้

การตรวจวินิจฉัยโรคไรขี้เรื้อนแห้งในแมว :

ไรขี้เรื้อนแห้งในแมวจัดเป็นไรที่สามารถตรวจพบได้ง่าย โดยการทำ superficial skin scraping บริเวณรอยโรค อย่างไรก็ตามหากตรวจไม่พบอาจทำการตรวจวินิจฉัยแยกแยะ (differential diagnosis) กับภาวะภูมิแพ้ (atopy) ภาวะแพ้อาหาร (food hypersensitivity) หรือภาวะแพ้ภูมิตัวเอง (systemic lupus erythematosus; SLE) ซึ่งมีรอยโรคในลักษณะเดียวกันได้

การรักษาและการป้องกัน :

การรักษาและการป้องกันโรคไรขี้เรื้อนแห้งในแมวสามารถทำได้โดยการให้ ivermectin 0.2-0.3 mg/kg SC q14d หรือ selamectin 6-12 mg/kg topical q14-30d ติดต่อกัน 2 โดส ร่วมไปกับการแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกที่มีตัวยาออกฤทธิ์สามารถป้องกันไรได้ เช่น fipronil, imidacliprid/moxidectin และยาในกลุ่ม isoxazoline เป็นต้น

ไรในหู (ear mite)

ไรในหู (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Otodectes cynotis) คือปรสิตภายนอกที่จัดอยู่ในสกุล (genus) Otodectes วงศ์ (family) Psoroptidae และลำดับ (order) Sarcoptiformes จัดเป็นไรชนิดไม่ขุดโพรง (non-burrowing mite) และการดำรงชีวิตไม่จำเพาะต่อตัวโฮสต์ สามารถพบได้ทั้งในสุนัข แมว กระต่าย เฟอร์เรท และมนุษย์ ไรในหูดำรงชีวิตด้วยการอาศัยอยู่บนผิวหนังของโฮสต์เพื่อเก็บกินเศษผิวหนัง (epidermal debris) และ tissue fluid จาก superficial epidermis เป็นอาหาร มีวงจรชีวิตด้วยกันทั้งหมด 4 ระยะ (ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นระยะต่าง ๆ และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้ภายใน 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังสามารถเจริญเติบโต และแพร่พันธุ์ได้ดีในภาวะที่มีอุณหภูมิ และความอับชื้นสูง

ความอันตรายและการก่อโรค :

1. เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหูอักเสบ ซึ่งมักพบเป็นช่องหูส่วนนอกอักเสบ (otitis externa) สามารถพบได้บ่อยในแมว โดยเฉพาะในแมวอายุน้อย ส่งผลให้แมวเกิดอาการคันหูอย่างมาก สะบัดหัว และพยายามเกาหู ในบางรายอาจเกิดแผลที่ใบหู เกิดภาวะหูบวมเลือด (aural hematoma) และเกิดการอักเสบลามจากช่องหูส่วนนอกไปยังช่องหูส่วนกลางได้ (otitis media) นอกจากนี้ยังอาจพบการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียและยีสต์ เนื่องจากเชื้อทั้งสองชนิดนี้สามารถเจริญได้ดีในภาวะที่ไรในหูเจริญเติบโตได้ดีเช่นกัน (อุณหภูมิ และความอับชื้นสูง) ซึ่งหากพบการติดเชื้อแทรกซ้อนดังกล่าวจะส่งผลให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และยากต่อการให้การรักษา ทั้งนี้ลักษณะเด่นของแมวที่ติดไรในหู คือ การพบขี้หูสีดำหรือน้ำตาลคล้ำคล้ายผงกาแฟ (coffee ground ear wax) ซึ่งเกิดจากคราบเลือด และตัวไรที่ปนมากับขี้หู

2. เป็นสาเหตุของการเกิดรอยโรคที่ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดภาวะขนร่วง (alopecia) หรือแผลถลอก (excoriation) โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก และเหนือเปลือกตาบน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการเกาของแมว นอกจากนี้ตัวไรยังอาจไต่ไปบริเวณลำตัวของแมวทำให้เกิดอาการคันตามมาได้

การตรวจวินิจฉัยภาวะช่องหูอักเสบจากไรในหู

การตรวจวินิจฉัยหาไรในหูสามารถทำได้ผ่านการเก็บตัวอย่างขี้หูและส่องผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือการส่องผ่าน otoscope ก็สามารถพบไรในหูในกรณีมีไรจำนวนมากได้เช่นกัน

การรักษาและการป้องกัน :

การรักษาภาวะช่องหูอักเสบจากไรในหูควรมีการทำความสะอาดช่องหูด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ละลายขี้หู (cerumenolytic agent) ก่อนใช้ยาหยอดหูที่มีตัวยา pyrethrins, thiabendazole, ivermectin, amitraz หรือ milbemycin ซึ่งมีฤทธิ์ในการกำจัดไร โดยพิจารณาหยดยาเป็นเวลา 7-10 วันร่วมกับการล้างหูเป็นประจำ นอกจากนี้สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตที่มีตัวยาออกฤทธิ์ในการป้องกันไร เช่น fipronil, imidacliprid/moxidectin และยาในกลุ่ม isoxazoline เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง

การป้องกันปรสิตภายนอก นับเป็นหัวใจสำหรับของการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่าลืมให้คำแนะนำเจ้าของอย่างเหมาะสม ร่วมไปกับการแนะนำให้พาสัตว์มาตรวจสุขภาพเป็นประจำ

อ้างอิง

1. AAVP. 2014. Demodex cati Hirst, 1919. [online]. Available : https://www.aavp.org/wiki/arthropods/arachnids/prostigmata/demodex-cati/. Accessed date : 16 January 2023

2. Cornell University College of Veterinary Medicine. 2014. Feline Skin disease. [Online]. Available: https://www.vet.cornell.edu. Accessed date : 16 January 2023.

3. ESCCAP. 2022. Control of Ectoparasites in Dogs and Cats. ESCCAP Guideline (7), 7-10. [online]. Available : https://www.esccap.org/uploads/docs/4ce0ad9k_0720_ESCCAP_GL3__English_v17_1p.pdf. Accessed date : 15 January 2023.

4. Frymus T., Gruffydd-Jones T., Pennisi M. G., Addie D., Belák S., Boucraut-Baralon C., Egberink H., Hartmann K., Hosie M.J., Lloret A., Lutz H, Marsilio F., Möstl K., Radford A.D., Thiry E., Truyen U. and Horzinek M.C. 2013. Dermatophytosis in cats: ABCD guidelines on prevention and management. J Feline Med Surg. 15(7): 598-604.

5. Lerpen, D. 2021. External parasite ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในแมว. [online]. Available : https://www.readvpn.com/Topic/Info/f2795955-ee5d-412b-89ff-ffb43531ffbf. Accessed date : 15 January 2023.

6. Malcolm, W. and Catherine, B. Feline Demodicosis. [online]. Available : https://vcahospitals.com/know-your-pet/feline-demodex. Accessed date : 15 January 2023.

7. Seppo, AMS., Kirsi, HJ., Joanna, HP., Kirsi, MV., Riitta, LR. and Leena, ESK. 2009. Demodex gatoi -associated contagious pruritic dermatosis in cats - a report from six households in Finland. Acta Vet Stand. 51, 40(2009).

8. Starkey L. and Stewart J. 2015. Recommendations from the companion animal parasite council: feline arthropods. Today’s Veterinary Practice. 59-64.

9. University of Saskatchewan: Western College of Veterinary Medicine. 2021. Notoedres cati. [online]. Available : https://wcvm.usask.ca/learnaboutparasites/parasites/notoedres-cati.php. Accessed date : 15 January 2023.