โรคทางผิวหนังของสุนัขนั้นเชื่อว่า สัตวแพทย์หลายท่านอาจเคยได้รับเคส หรือทำการรักษาเบื้องต้นผ่านมาบ้างไม่มากก็น้อย จัดเป็นกลุ่มโรคที่พบได้เป็นประจำในสุนัขทุกช่วงอายุ เพศ และสายพันธุ์ ซึ่งสาเหตุก็จะแตกต่างกันออกไป โดยต้องอาศัยการวินิจฉัยจากสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าเรามีข้อมูลว่าโรคผิวหนังประเภทใดที่สามารถพบได้บ่อยๆก็อาจจะช่วยทำให้การวินิจฉัยแยกแยะโรค (Differential diagnosis) นั้นสะดวกมากขึ้น และนำไปสู่การรักษาโรคได้รวดเร็ว เป็นผลดีต่อสัตว์เลี้ยงและสร้างความพึงพอใจต่อเจ้าของ ซึ่งบทความนี้ก็อยากจะนำเสนอโรคผิวหนังที่มักจะพบบนคลินิกเพื่อเป็นประโยชน์แก่สัตวแพทย์ทุกท่านที่ได้อ่าน โดยจะเน้นในแง่ของอาการที่มักจะพบ และลักษณะรอยโรคเด่นๆของโรคนั้นๆ
บทความนี้จะจำแนกกลุ่มโรคผิวหนังจากสาเหตุคือ

1. โรคจากปรสิตภายนอก (Parasitic infestation)

2. โรคติดเชื้อทางผิวหนัง (Skin infections)

3. ภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง (Allergic skin diseases)

4. ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมน (Endocrine skin diseases)

1. โรคจากปรสิตภายนอก (Parasitic infestation) กลุ่มโรคนี้ถ้าหากเป็นคลินิกที่อยู่เขตในเมืองอาจจะพบได้ไม่มากนัก เนื่องจากเจ้าของส่วนใหญ่มักจะมีโปรแกรมป้องกันปรสิตภายนอกอยู่เป็นประจำ หรือลักษณะการเลี้ยงที่อยู่ในบ้านหรือคอนโด ทำให้มีความเสี่ยงในการพบกับสุนัขตัวอื่นน้อยกว่าการเลี้ยงแบบปล่อย แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มโรคนี้ก็ไม่ควรถูกละเลยในการนำมาวินิจฉัยด้วย

1.1 ขี้เรื้อนขุมขน (Demodecosis) ส่วนใหญ่แล้ว Demodex canis มักไม่ทำให้เกิดอาการคัน แต่จะขนร่วง ผิวมัน มีสะเก็ดรังแค ถ้าหากมีจำนวนมากก็อาจทำให้มีการติดชื้อยีสต์ หรือแบคทีเรียตามมา และเกิดอาการคันได้ ช่วงอายุที่พบ ถ้าหากเจอในสุนัขเด็ก สาเหตุนั้นจะเป็นแบบ multifactorial เช่น ติดจากแม่ ความเครียด เป็นต้น รอยโรคมักจะเจอที่ใบหน้าหรือเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ดูดนมแม่ แต่ในช่วงอายุนี้จะสามารถหายได้เอง ในสุนัขโตประวัติจะไม่เคยมีปัญหามาก่อนแล้วขนร่วง ที่สำคัญคือ มีสาเหตุอื่นๆที่ทำให้กดภูมิคุ้มกัน เช่น cushing’s disease DM เป็นต้น นำมาสู่การติดปรสิตชนิดนี้ได้ การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้โดยวิธี deep skin scraping และการรักษาจะต้องพิจารณาจากลักษณะของรอยโรค ถ้าเกิดแบบ localized ไม่เกิน 5 ตำแหน่ง จะไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าไร แต่สามารถให้ยาอื่นๆตามอาการได้ เช่น antihistamine ลดคัน ,antibiotics หรือ medicated shampoo คุม secondary infection ส่วนรอยโรคแบบ generalized จะต้องใช้ยาฆ่าไร ซึ่งอาจจะเป็นยากินในกลุ่มของ ivermectin Milbemycin oxime หรือจะเป็น isoxazoline ที่มีความปลอดภัยสูง เป็นต้น หากขูดไม่เจอแล้วห่างกัน 1 เดือนตาม life cycle ก็ยังจำเป็นต้องให้ยาต่อเนื่องอีก 1 เดือนจึงหยุดการรักษาได้

1.2 ขี้เรื้อนแห้ง (Sarcopticosis) Sarcoptes scabei จะทำให้สุนัขมีอาการคันได้รุนแรง เจอรอยโรคลักษณะตุ่มนูน (papule) บนผิวหนังหรือพบร่วมกับคราบแห้งบริเวณที่ขนบาง เช่น ขอบใบหู ข้อศอก ข้อเท้า คอ เป็นต้น ซึ่งสามารถติดต่อสู่สุนัขตัวอื่นในบ้านได้แบบ direct contact เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยนอกจากทำ superficial skin scraping หรือ pinna-pedal scratch reflex ก็ควรต้องซักประวัติการออกนอกบ้านให้ดี กลุ่มยาที่ใช้ได้ก็จะมี ivermectin แบบกิน selamectin หยดหลัง หรือกลุ่ม isoxazoline แบบกินหรือหยอดหลังก็ให้ผลลัพธ์ที่ดี

1.3 หมัด (Fleas infestation) เกิดจาก Ctenocephalides canis/felis สุนัขสามารถติดได้ทั้งหมัดสุนัขและแมว ค่อนข้างพบตัวได้อยากเนื่องจากมีขนาดเล็ก และวิ่งเร็ว หมัดจะกัดผิวและดูดเลือด ซึ่งการกัดนอกจากจะทำให้ระคายเคือง คันมาก แล้วยังสามารถนำไปสู่การแพ้น้ำลายหมัดได้อีกด้วย ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในกลุ่มภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ถ้าติดเป็นจำนวนมาก อีกวิธีที่ช่วยวินิจฉัยได้คือ การใช้หวีซี่ถี่แปรงขน รองใส่กระดาษสีขาวหาตัว/ขี้หมัด หรือร่วมกับใช้สำลีชุบน้ำกดขี้หมัดจะมีสีของ hemoglobin ให้เห็นได้ การรักษาใช้ยาฆ่ากลุ่มตัวเต็มวัยด้วยกลุ่ม isoxazolines fipronil (S)-methoprene และการกำจัดไข่หมัดที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อตัดให้ครบทั้งวงจร

2. โรคติดเชื้อทางผิวหนัง (Skin infections)

2.1 ภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial skin diseases) โดยทั่วไปโรคนี้เจอได้บ่อยมากบนคลินิก ไม่ว่าจะพื้นที่ไหน โดยอาการคันนั้นค่อนข้างหลากหลายจากน้อยไปจนถึงคันมาก ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุก็มักจะเป็นพวก normal flora บนผิวหนัง และมีสาเหตุที่เอื้อต่อการแบ่งตัว เช่น skin barrier ไม่ดี ภูมิคุ้มกันตกในกลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง กินยากดภูมิ หรือความสะอาดไม่ดี เป็นต้น กลุ่ม surface pyoderma หรือ superficial pyoderma จะพบได้บ่อยสุด แต่ deep pyoderma นั้นจะพบน้อยลงมาตามลำดับ

ลักษณะของ surface pyoderma ที่เห็นได้บ่อย เช่น Bacterial overgrowth syndrome (BOG) จริงๆจะถือว่าไม่ได้เป็นการติดเชื้อของผิวหนัง แต่เกิดได้โดยมี underlying cause อื่นๆ เช่น ภาวะภูมิแพ้ เป็นต้น รอยโรคจะไม่มี crusting หรือ pustule แต่คัน ผิวแดง ขนร่วง ไปจนถึง hyperpigmentation และ lichenification ซึ่งเกิดได้จาก toxin ของแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus มักพบที่บริเวณขาหนีบ อุ้งเท้า ใบหู สิ่งสำคัญในการวินิจฉัยคือทำ skin cytology แต่ไม่เจอ neutrophils เพราะฉะนั้นการรักษาควรจะโกนขนเพื่อให้ยากลุ่ม topical antiseptic/antibiotics รูปแบบ wipes, spray หรือ cream กรณีสุนัขคันมากสามารถให้ glucocorticoid แบบ short-term ได้ และต้องใส่ collar ตลอดป้องกันการเลีย หรือเกาเพิ่ม ทำให้รอยโรคแย่กว่าเดิม นอกจากนี้ก็ยังพบ skin fold dermatitis (Intertrigo) ได้บ้าง อาการจะมีลักษณะผิวแดงเยิ้ม มีกลิ่นในบริเวณรอยพับของร่างกาย เช่น ใบหน้า โคนหาง ในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น การวินิจฉัยและรักษาก็จะเป็นในรูปแบบเดียวกับ BOG

ส่วน superficial pyoderma นั้นแบบ folliculitis จะเห็นได้เยอะกว่า impetigo ซึ่งเป็นแบบที่มี pustule บริเวณที่ไม่มีขน มักเกิดในสุนัขเด็ก (juvenile impetigo) มีสาเหตุหลากหลาย เช่น ติดเชื้อไวรัสกดภูมิ ติด external parasites หรือเลี้ยงแบบไม่ถูกสุขลักษะ ส่วน folliculitis รอยโรคเจอได้ทั้งแบบ papules, pustules และ epidermal collarettes ในบริเวณที่พบบ่อยคือ หลัง และขาหนีบ การทำ skin cytology เจอ bacteria ได้ทั้งแบบ cocci rod หรือ mixed shape ร่วมกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด neutrophils หรือจะเจอเป็น DNA strand ก็ได้ ส่วนการทำ bacterial culture and sensitivity นั้นจะพิจารณาในกรณีเจอแบคทีเรียแบบ rod shape หรือมีภาวะติดเชื้อแบบ chronic หรือ recurrent สงสัยเชื้อแบบ MRSP หรือการดื้อยาแบบ MRS ส่วนการเลือกใช้ antimicrobial drugs นั้นแนะนำตาม guidelines for the diagnosis and antimicrobial therapy of canine superficial bacterial folliculitis ร่วมกับการเลือกใช้ topical therapy ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับพื้นที่และจำนวนของรอยโรค

2.2 ภาวะติดเชื้อรา (Fungal skin disease) หลักๆ ที่พบคือ Malassezia dermatitis และ dermatophytosis ตามลำดับ โดยแบบแรกมาจาก Malassezia pachydermatis ที่มีได้บ้างบนผิวสุนัข แต่ถ้าเพิ่มจำนวนมากจะแสดงอาการที่เด่นชัดคือสุนัขจะคัน ผิวแดงอักเสบ ผิวเยิ้ม มีกลิ่นแรง ซึ่งเจอบ่อยบริเวณจุดอบของร่างกาย เช่น รักแร้ ขาหนีบ และหู การวินิจฉัยทำได้ง่ายด้วยวิธี scotch tape technique หรือ ear swab นำไปดู cytology เช่นเดียวกับโรคอื่นๆในกลุ่มเดียวกันการหา underlying cause ก็เป็นสิ่งสำคัญ การรักษาต้องพิจารณาถึงความรุนแรงของอาการถ้าไม่ได้คันมากการให้ topical therapy ร่วมกับอาบ medicated shampoo ก็ให้ผลดี แต่ไม่กรณีคันมาก หรือ topical therapy ไม่ได้ผล ควรจะจ่ายยากินกลุ่ม antifungal drugs เช่น itraconazole ส่วน Malassezia otitis ควรให้น้ำยาล้างหูทำความสะอาด ร่วมกับการใช้ยาหยอดหูที่ผสม antifungal drugs

ในกรณีของ dermatophytosis เป็นการติดเชื้อแบบ primary มักไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการคันหรือคันได้บ้างเล็กน้อย แต่จะเด่นเรื่องขนร่วง ผิวแดง มีสะเก็ด (scale) พบได้หลากหลายตำแหน่ง เช่น ใบหน้า ขอบใบหู ตามลำตัว กาทำ scotch tape technique หรือ trichogram ก็อาจจะเจอ arthrospores ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยที่แม่นยำที่สุดคือการทำ fungal culture and identification บน Dermatophyte test medium (DTM) ดูการเปลี่ยนสีของ media ลักษณะ colony และบอกชนิดได้โดยการส่องกล้องดูลักษณะ macroconidia โดยที่มีทั้งหมด 3 ชนิดประกอบไปด้วย Microsporum canis ติดมาจากสุนัขหรือแมวตัวอื่นๆ Microsporum gypseum ที่จะอยู่ในดินเป็นหลัก และ Trichophyton mentagrophhytes มาจากสัตว์พวก rodents โดยความสำคัญของการทราบชนิดของเชื้อรากลุ่มนี้เพื่อเป็นการป้องกันการติดซ้ำในอนาคต เจ้าของจะได้หลีกเลี่ยง หรือกำจัดสภาวะเสี่ยงนั้นได้ การรักษาควรให้ยากินร่วมกับการอาบน้ำใช้ medicated shampoo ผสม miconazole หรืออาจให้ยา antifungal cream ทาบริเวณรอยโรคและต้องโกนขนบริเวณนั้นๆลดจำนวนของ spore ลง ยากินนั้นมีให้เลือกหลายแบบที่ปลอดภัยต่อตัวสัตว์ เช่น itraconazole หรือ terbinafine สปอร์ของ dermatophyte อยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานเจ้าของควรจะต้องทำความสะอาดบริเวณบ้าน ดูดฝุ่นที่รองนอน และล้างแอร์ในห้องร่วมด้วย

3. ภาวะภูมิแพ้ผิวหนัง (Allergic skin diseases) กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มโรคที่เจอได้เยอะสุดในคลินิกผิวหนัง ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

3.1 ภาวะภูมิแพ้สิ่งแวดล้อม (Canine atopic dermatitis) เป็นภาวะที่ผิวหนังเกิดการอักเสบ และคัน จากการเกิด hypersensitivity ต่อ environmental allergens เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หญ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น โดยมักเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผิวหนังมีการติดเชื้อตามมาภายหลัง จากที่ skin barrier ไม่สมบูรณ์ ภาวะนี้สามารถเกิดได้ตามพันธุกรรม โดยพบมากถึง 10% ของประชากรสุนัข ส่วนสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงและเจอได้บ่อยบนคลินิก เช่น French bulldog Beagle Golden retriever เป็นต้น อายุที่เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 3 ปี และมักจะเลี้ยงในบ้าน สุนัขนำมาด้วยอาการคัน ผิวแดง และขนร่วง การคันอาจจะแสดงโดยการเลีย เกา ถู เคี้ยว/งับ ในบริเวณต่างๆ เช่น รักแร้ ขาหนีบ เท้า หรือในหู การวินิจฉัยต้องใช้หลายอย่างประกอบกัน คือ ประวัติ signalment อาการตาม Favrot’s criteria เป็นวิธีที่มี sensitivity และ specificity สูงกว่าวิธีของ Willemse และ rule out โรคอื่นๆที่มีอาการใกล้เคียงกัน โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดไม่ได้ ทำได้แค่เพียงคุมอาการอักเสบของผิวหนังเท่านั้น จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าของ ซึ่งสำคัญมากในการวางแผนการรักษา นอกจากนี้การตรวจหา allergens ที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ intradermal skin test และ serology test การรักษาโดยส่วนใหญ่สุนัขมักจะมาด้วยภาวะติดเชื้อที่ผิวหนังก่อน เราจะต้องรักษาการติดเชื้อให้หายก่อนตามวิธีที่กล่าวถึงไปแล้ว พวกยาลดอักเสบและลดคันที่มักจะใช้เป็นประจำ ได้แก่ Glucocorticoid Cyclosporin A Oclacitinib หรือ Lokivetmab เป็นต้น โดยสุนัขแต่ละตัวต่างตอบสนองต่อยาแต่ละชนิดต่างกันไป ควรปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละตัว รวมไปถึงระวัง side effects ที่อาจเกิดจากการใช้ยาระยะยาวนาน และสามารถใช้วิธีอื่นๆร่วม ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัส/ลดจำนวน allergens เสริมสร้าง skin barrier ไม่ว่าจะเป็นการให้ supplement ในอาหารหรือยา spot-on ใช้ anti-microbial shampoo ลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำ โกนขนบริเวณอับชื้น ส่วนการให้ immunotherapy หรือการให้วัคซีนนั้นต้องให้เจ้าของพิจารณาถึงค่าใช้จ่าย และความคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบการใช้ยาต่อเนื่อง ซึ่งการทำ immunotherapy ก็อาจจะไม่ได้คุมอาการคันได้ 100% ทุกตัว โดยในสุนัขบสงตัวอาจจะต้องกินยาร่วมด้วย

3.2 ภาวะภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) เป็นภาวะภูมิแพ้ที่เจอได้บ่อยเช่นกันแต่จะน้อยกว่ากลุ่มพวก atopy โดยกลุ่มนี้จะแพ้ allergens ที่มีอยู่ในอาหารโดยส่วนมากมักจะเป็นพวก glycoprotein ที่มี molecular weight สูงๆ เช่น เนื้อสัตว์ gluten ข้าวธัญพืช เป็นต้น โดยการเกิด hypersensitivity เป็นได้ทั้ง immediate หรือ delayed type ดังนั้นสามารถเจอในสุนัขที่กินอาหารประเภทเดิมซ้ำๆมาเกิน 2 ปี หรือในสุนัขเด็กไปเลย อาการที่พบทางผิวหนังจะคล้าย atopy และบางตัวจะมีอาการท้องเสีย หรืออาเจียนร่วมด้วย การวินิจฉัยมีวิธีเดียวที่ใช้คือ Elimination diet trial โดยใช้ novel หรือ hydrolyzed protein รวมถึงงดอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขนม ยาสีฟันแต่งกลิ่นที่อาจผสมส่วนประกอบที่สุนัขแพ้ได้ จากนั้นดูผลที่ประมาณ 8 สัปดาห์ และถ้าหากอยากทราบชนิดของอาหารที่แพ้ก็สามารถ challenge อาหารต่างๆที่เคยกินมาก่อนได้ การแพ้ชนิดนี้ไม่สามารถตรวจเลือดดูผลทาง serology ได้ 3.3 ภาวะภูมิแพ้น้ำลายหมัด (Flea allergic dermatitis) เป็น insect hypersensitivity ที่พบได้มากที่สุด antigen ที่ก่อให้เกิดอาการคือโปรตีนในน้ำลายหมัด ทำให้มีขนร่วงบริเวณ lumbosacral เป็นหลัก และยังมีอาการคันเรื้อรัง hyperpigmentation และ lichenification ได้เช่นกัน ซึ่งหลายครั้งที่เราอาจจะไม่ได้พบตัวหมัดบนผิวสุนัขโดยตรงแต่อาจจะมีขี้หมัด (flea dirt) และร่วมกับการซักประวัติเกี่ยวกับการป้องกันปรสิตภายนอกก็ช่วยในการวินิจฉัยโรคด้วย ในช่วงที่สุนัขมีอาการคันอาจจะให้ยาลดคันประเภท antihistamine หรือ steroid ก็ได้ในกรณีที่ไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน

4. ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมน (Endocrine skin diseases) ความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดที่ก่อให้เกิดอาการทางผิวหนังเด่นชัด คือ bilateral symmetrical alopecia และไม่ก่อให้เกิดอาการคัน ยกเว้นถ้ามีภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อน หรือมีภาวะผิดปกติของผิวหนังอื่นๆร่วมด้วย โรคที่พบมากที่สุดในสุนัขจะมี 3 กลุ่มโรคหลักๆ ได้แก่

4.1 ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) โดย 90% ของเคสที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำจะมีสาเหตุจาก acquired primary hypothyroidism คือเกิดภาวะ lymphocytic thyroiditis และ idiopathic thyroid necrosis/atrophy ที่ทำให้ function การทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลงเรื่อยๆ สายพันธุ์ที่พบได้บ่อย เช่น Golden retrievers Labrador retrievers Beagles เป็นต้น กลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงหลักคือ 6-10 ปี แต่ว่าสุนัขพันธุ์ large หรือ giant breeds อาจเจอเร็วกว่านี้ 2-3 ปี นอกจากภาวะขนร่วงที่กล่าวไปที่มักเกิดที่ลำตัว ข้อศอก หาง (rat tail) ลักษณะขนมักจะแห้ง แตก/หักง่าย เพราะไทรอยด์ที่กระตุ้นการสร้าง sebum จาก sebaceous glands ลดลง หากโกนขนอาจจะไม่งอก มีการติดเชื้อที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงอาการทาง systemic อื่นๆ เช่น ดูอ่อนแรง กินน้อยแต่อ้วนขึ้น เป็นต้น การตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดอย่าลืมพิจารณาถึงยาที่สุนัขกินอยู่แล้วอาจส่งผลถึงระดับฮอร์โมนด้วย เช่น NSIADS Steroids Phenobarbs เป็นต้น ควรจะหยุดยาอย่างน้อย 1 เดือนมาก่อนตรวจ โดยค่า baseline thyroid hormones ที่นำมาแปลผลได้คือ TT4, fT4 และ cTSH นอกจากนี้มีสุนัขบางสายพันธุ์ที่ T4 ต่ำเป็นปกติ ได้แก่ Greyhound Scottish deerhound และ Siberian husky

4.2 Hyperadrenocorticism หรือที่รู้จักกันใน Cushing’s syndrome เจอได้มากในสุนัข โดยภาวะที่มี glucocorticoids ในเลือดสูงตลอดนั้นจะทำให้สุนัขมีอาการกินเยอะ ปัสสาวะเยอะ หิวน้ำบ่อย ขนร่วงแบบ bilateral symmetrical ขนบาง rat tail ไม่มี skin infection และกล้ามเนื้อฝ่อลีบ อาการทางผิวหนังอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น ผิวบาง ไม่มีความยืดหยุ่น มี comedones หรือ อาจจะเจอ calcinosis cutis ซึ่งปัจจุบันเจอไม่ถึง 10% สาเหตุนั้นแบ่งเป็นที่เกิดขึ้นได้เองโดยจะเกิดจาก bilateral adrenocortical hyperplasia ซึ่งมีเนื้องอกที่ adrenal glands หรือ pituitary gland ซึ่งแบบหลังจะเจอน้อยกว่า และสาเหตุจากการให้ exogenous glucocorticoids ที่มากเกินไปไม่ว่าจะในรูปแบบยากิน ยาฉีด หรือยาทาแบบ topical การวินิจฉัยควรจะเริ่มจากการ rule out โรคอื่นๆก่อน การตรวจเลือดอาจจะเจอ stress leukogram, elevated ALT/ALP ได้ การอัลตราซาวด์ทำเพื่อดูลักษณะรูปร่าง ขนาดของ adrenal glands ร่วมด้วย สุดท้ายแล้วการวินิจฉัยโดยใช้วิธี Low dose dexamethasone stimulation test (LDDST) ก็เป็นวิธีที่มี sensitivity และ specificity สูงถึง 85-100% และ 75-95%ตามลำดับ จึงได้รับความนิยมสูงในการใช้วินิจฉัย Cushing’s syndrome มากที่สุด การรักษาทางยาที่ใช้จะเป็นกลุ่ม steroidogenesis inhibitors ได้แก่ trilostane ซึ่งเป็น competitive inhibitor ยับยั้งการสร้าง cortisol ส่วนข้อควรระวังของการให้ยากลุ่มนี้คือภาวะ Iatrogenic hypoadrenocorticism หรือ Addison’s disease

4.3 Alopecia X เป็นภาวะขนร่วงที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ลักษณะเด่นของโรคนี้มักจะเกิดในสุนัขที่มีขนสองชั้น เช่น Pomeranian Samoyed Siberian husky เป็นต้น โดยในประเทศไทยจะนิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์ Pomeranian เยอะจึงเป็นสายพันธุ์ที่จะพบโรคนี้ได้ และมักเรียกกันว่า Black skin disease โดยมีการอธิบายสาเหตุการเกิด hair cycle arrest นั้นเป็นผลมาจากมาจาก extrinsic factors คือ hormones หรือ intrinsic factors คือ cytokine, growth factors และ receptors อาการที่เป็นคือขนบางลง จนขนหายไป มักจะเหลือขนแค่ที่หัว และแขน ขา เมื่อนานไปผิวจะเข้มมากขึ้นจนกลายเป็นสีดำ การวินิจฉัยที่สามารถยืนยันโรคนี้ได้คือการทำ skin biopsy เห็น flame follicles หรือ trichilemmal keratinisation ส่วนการรักษาจะแนะนำให้เจ้าของทำหมัน เพราะสุนัขหลายตัวขนขึ้นหลังผ่าตัดเป็นกรณีของ castration/OVH responsive alopecia แต่ถ้าไม่ดีขึ้นการใช้ยามีเป็น melatonin หรือ trilostane ซึ่งก็ควรระวังผลข้างเคียงจากยาด้วย

Acknowledgement

ขอบคุณอาจารย์ และบุคลากรจากคลินิกโรคผิวหนัง โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ความรู้ซึ่งเป็นประโยชน์แก่การเขียนบทความนี้ขึ้นมา

Reference

1. Miller Jr WH, Griffin CE, Campbell KL. Muller & Kirk’s Small Animal Dermatology. 7th ed. Philadelphia, PA: WB Saunders Co; 2017.

2. Mauldin E, Peters-Kennedy J. Integumentary system. In: Maxie MG, ed. Jubb, Kennedy, and Palmer’s Pathology of Domestic Animals. Vol 1. 6th ed. Philadelphia, PA: Elsevier; 2016:539-541.

3. Hiller A, Lloyd DH, Weese JS, Blondeau JM, Boothe D, Breitschwerdt E, Guardabassi L, Papich MG, Rankin S, Turnidge JD and Sykes JE. Guidelines for the diagnosis and antimicrobial therapy of canine superficial bacterial folliculitis (Antimicrobial Guidelines Working Group of the International Society for Companion Animal Infectious Diseases). Vet Dermatol 2014; 25: 163-e43.