โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดเป็นปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ที่พบได้บ่อยในแมว เกิดจากการกระตุ้นของสารก่อภูมิแพ้ (allergens) ในน้ำลายหมัด ซึ่งเป็นโปรตีนหลากหลายชนิด มีขนาดโมเลกุล 12-50 kDa โดยปฏิกิริยาการแพ้ดังกล่าวพบได้ทั้งแบบเฉียบพลันและไม่เฉียบพลัน
1. ปฏิกิริยาการแพ้แบบเฉียบพลัน (immediate-type hypersensitivity) เกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังหมัดกัด จากการสร้างแอนติบอดีชนิด IgE (IgE mediated reaction) โดย mast cell degranulation
2. ปฏิกิริยาการแพ้แบบไม่เฉียบพลัน
1. Late-phase reaction เกิดขึ้นภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังหมัดกัด จากการเพิ่มขึ้นของ basophils, cytokines และ chemokines ต่างๆ
2. Delayed-type hypersensitivity เกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังหมัดกัด จากการเพิ่มขึ้นของ lymphocytes, macrophages และ cytokines ต่างๆ พบได้ร้อยละ 15-30 ของเคสที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
ข้อมูลทางระบาดวิทยา
โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดพบได้ในสัดส่วนใกล้เคียงกันในแมวทุกเพศ สายพันธุ์และช่วงอายุ มักพบในประเทศเขตร้อนชื้นที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ของหมัดอย่างในประเทศไทย โดยชนิดของหมัดที่ก่อโรคและทำให้เกิดโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดในแมวคือ Ctenocephalides felis felis
รูปที่ 1 แสดงหมัดแมวชนิด Ctenocephalides felis felis ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ (4x)

อ้างอิง: Noli C, and Colombo S. (eds.), Feline Dermatology, 2020, p.438

โดยหมัดตัวเมียที่โตเต็มวัยจัดเป็นปรสิตแบบถาวร (obligate parasite) อาศัยอยู่บนตัวแมวตลอดเวลา ดูดเลือดแมวเพื่อสร้างไข่ วางไข่ได้วันละ 30-50 ฟอง และอาศัยอยู่บนตัวแมวได้นานถึง 100 วัน วางไข่ได้มากถึง 2,000 ฟองในหนึ่งชั่วชีวิต ซึ่งไข่หมัดจะอยู่บนตัวแมวโดยไม่มีกาวยึดเกาะกับผิวหนังหรือเส้นขน แล้วร่วงหล่นสู่สิ่งแวดล้อมเมื่อแมวมีการเลียตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกาย
ไข่อาจฟักเป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 (larva 1) บนตัวแมวหรือในสิ่งแวดล้อม แล้วหมุดหนีแสงลงใต้พื้นหรือวัสดุปูรอง ตามแรงโน้มถ่วงของโลก (photophobic and geographic) ลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะที่ 2 และ 3 (larva 2, larva 3) เข้าสู่ตัวอ่อนระยะ pupa ฝังตัวอยู่ในรังไหม (cocoon) ซึ่งทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและยากำจัดหมัด และจะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยและขึ้นสู่ตัวแมวต่อไปเมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม
รูปที่ 2 แสดงวงจรชีวิตของหมัด

อ้างอิง: Patel A., Forsythe P. Smith S, Small Animal Dermatology, 2008, p.32

อาการทางคลินิก
พบได้ทั้งแบบบางฤดูกาล (seasonal) ในเขตอบอุ่นและแบบตลอดทั้งปี (year-round) ในเขตกึ่งร้อนและเขตร้อนอย่างประเทศไทย อาการแสดงออกที่พบคล้ายคลึงกับแมวภูมิแพ้ (feline atopic syndromes) อื่นๆ คือ
1. Miliary dermatitis มีตุ่มแข็งนูนกระจายทั่วตัว
2. Symmetrical alopecia ขนร่วงแบบสมมาตรกันทั้งสองข้างตัว
3. Head and neck pruritus and excoriation มีรอยคันเกาบริเวณหัว รอบคอ ใบหูและหน้า
4. Eosinophilic granuloma complex เป็นก้อนนูน ผื่นนูนหนาหรือแผลหลุมสีขาวอมส้มเมื่อตรวจทางเซลล์วิทยาจะพบเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophils จำนวนมาก เรียก eosinophilic granuloma, eosinophilic plaque และ indolent ulcer ตามลำดับ
โดยแมวที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดร้อยละ 75 จะมีอาการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งและอีกร้อยละ 25 จะมีอาการมากกว่าหนึ่งอย่างร่วมกัน
อาการทางคลินิก ความชุก (ร้อยละ)ตำแหน่งการกระจายตัวของรอยโรคที่พบบ่อย
Miliary dermatitis35ท้ายลำตัว สะโพก ด้านหลังของต้นขาหลัง ทั่วตัว
Symmetrical alopecia39ท้ายลำตัว สะโพก ข้างลำตัวและหน้าท้อง
Head and neck pruritus and excoriation38หัว รอบคอ
Eosinophilic granuloma complex14Granuloma: ปาก คาง ด้านหลังของขาหลัง

Plaque: หน้าท้อง ขาหนีบ

Lip ulcer: ริมฝีปากบน

ตารางที่ 1 แสดงความชุกของอาการแสดงออกแบบต่าง ๆ ในแมวที่เป็นภูมิแพ้น้ำลายหมัด

อ้างอิง: Noli C, and Columbo S. (eds.), Feline Dermatology, 2020, p.439

รูปที่ 3 แสดงรอยโรคขนร่วงบริเวณท้ายตัวจากการกัด แทะ เลียเส้นขนและผิวหนังในแมวที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด

อ้างอิง: Noli C, Columbo S. (eds.), Feline Dermatology, 2020, p.440

รูปที่ 4 แสดงรอยโรค miliary dermatitis ในแมวที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
รูปที่ 5 แสดงรอยโรค eosinophilic plaque ในแมวที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
อ้างอิง: Miller WM Jr., Craig E. CE, Karen L. Campbell KL. Muller & Kirk's Small Animal Dermatology, 2013, p. 411
รูปที่ 6 แสดงรอยโรค Head and neck pruritus and excoriation ในแมวที่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด

อ้างอิง: William H. Miller Jr., Craig E. Griffin, Karen L. Campbell., Muller & Kirk's Small Animal Dermatology, 2013, p. 411

การวินิจฉัย (Diagnosis)
ควรวินิจฉัยแยกโรคกับภูมิแพ้ชนิดอื่น ได้แก่ ภูมิแพ้อาหาร (Adverse Food Reaction: AFR) และภูมิแพ้สิ่งแวดล้อม (Feline Atopic Skin Syndrome: FASS) เนื่องจากเป็นกลุ่มโรคที่มีอาการทางคลินิกเหมือนกัน รวมถึงโรคผิวหนังติดปรสิตชนิดอื่น (ectoparasite diseases) โรคผิวหนังจากความผิดปกติของพฤติกรรม (psychogenic alopecia) โรคเชื้อรา (dermatophytosis) โรคระบบภูมิคุ้มกันและเนื้องอก (immune-mediated, autoimmune and neoplastic diseases)
วิธีการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
1. การตรวจร่างกาย ใช้หวีซี่ถี่สางขนหาตัวหมัดและขี้หมัดบนตัวแมว กรณีพบเฉพาะขี้หมัด (เลือดแห้ง) ให้ทดสอบด้วยกระดาษหรือผ้าหมาดน้ำ หากพบคราบสีน้ำตาลเป็นวงรอบขี้หมัดบ่งบอกได้ว่าแมวติดหมัด อย่างไรก็ตามในแมวบางตัวที่มีพฤติกรรมเลียตัวตลอดเวลา อาจตรวจไม่พบตัวหมัดหรือขี้หมัดด้วยวิธีการนี้ ดังนั้นการไม่พบตัวหมัดหรือขี้หมัดบนตัวแมวนั้นไม่สามารถใช้วินิจฉัยได้ว่าแมวไม่เป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด
รูปที่ 7 แสดงตัวหมัดและขี้หมัดที่ได้จากการหวีสางบนตัวแมวที่ติดหมัด

อ้างอิง: Noli C, and Columbo S. (eds.), Feline Dermatology, 2020, p.441

2. การตรวจ Intradermal skin test โดยการฉีด flea allergen 0.05 mL เข้าชั้นผิวหนัง คู่กับ negative (saline) และ positive (histamine) control รออ่านผลที่ 15 นาที และ 48 ชั่วโมง วิธีการนี้ยังให้ผลการทดสอบที่ไม่แม่นยำ สามารถให้ผลบวกลวง (false positive) ในแมวปกติและให้ผลลบลวง (false negative) ในแมวที่ได้รับยากลุ่ม corticosteroids หรือ antihistamines มาก่อนหน้าได้
3. การตรวจ allergen specific IgE ต่อ whole body flea extracts หรือ purified flea saliva จาก serum ของแมวที่สงสัยเป็นโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด วิธีการนี้ยังให้ผลการทดสอบไม่แม่นยำเท่าที่ควร สามารถให้ผลบวกลวง (false positive) ในแมวปกติ และให้ผลลบลวง (false negative) ในแมวแพ้น้ำลายหมัดที่มีปฏิกิริยาการแพ้แบบ delayed-type hypersensitivity อย่างเดียว เนื่องจากวิธีการนี้เป็นเพียงการตรวจหา IgE เท่านั้น
ในทางปฏิบัติการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดที่ได้ผลดีและแม่นยำที่สุดคือการควบคุมหมัดด้วยยากำจัดหมัดที่มีประสิทธิภาพควบคู่หรือตามด้วยการให้อาหาร hypoallergenic ซึ่งหากแมวมีอาการดีขึ้นให้ทำ food challenge เพื่อแยกระหว่างโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดและภูมิแพ้อาหาร แต่หากแมวไม่ดีขึ้นแสดงว่าเป็นโรคภูมิแพ้สิ่งแวดล้อมหรือโรคอื่นที่สัมพันธ์กับอาการคันและพบได้น้อย
การรักษา (Treatment)
การควบคุมหมัด คือหัวใจของการรักษาโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดที่ดีที่สุด ควบคู่กับการรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นด้วยยารักษาภูมิแพ้ชนิด glucocorticoids หรือ antihistamines ตามความรุนแรงของการแพ้ โดยการควบคุมหมัดที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีทั้งการควบคุมหมัดแบบทั่วตัว และเฉพาะที่ เพื่อกำจัดหมัดตัวเต็มวัยบนตัวแมว ร่วมกับการกำจัดไข่หมัดและตัวอ่อนหมัด (larvae and pupae) ในสิ่งแวดล้อม รวมถึงการควบคุมการสัมผัสกับแมวตัวอื่นที่อาจเป็นแหล่งของการติดหมัดได้
จากรายงานพบเพียง 50% ของแมวที่ติดหมัดนั้นได้รับการป้องกันหมัดในช่วง 12 เดือนก่อนหน้าและสิ่งที่ท้าทายสำหรับสัตวแพทย์ในการโน้มน้าวให้เจ้าของเห็นภาพและเข้าใจถึงการควบคุมหมัดคือ เจ้าของหลายคนไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการแพ้น้ำลายหมัด เนื่องจากไม่เห็นตัวหมัดหรือขี้หมัดบนตัวแมวและในสิ่งแวดล้อม จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องควบคุมหมัด ซึ่งการอธิบายให้เจ้าของเข้าใจถึงการเกิดโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดว่าไม่จำเป็นต้องเกิดในรายที่มีหมัดจำนวนมาก ก็สามารถทำให้แมวเกิดอาการแพ้ได้ อาจช่วยให้เจ้าของเข้าใจและยอมควบคุมหมัดทั้งบนตัวแมวและในสิ่งแวดล้อมได้
การควบคุมหมัด (Flea Control)
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การควบคุมหมัดประสบความสำเร็จคือประสิทธิภาพ ความปลอดภัยและระยะเวลาในการคงค้างอยู่ของสารออกฤทธิ์ ในยากำจัดหมัด ซึ่งทั่วไปแล้วสารออกฤทธิ์ในยาหมัดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด
1. Adulticide ออกฤทธิ์ฆ่าตัวเต็มวัย
1. Isoxazoline เป็น GABA antagonist ยับยั้งการส่งผ่านของ chloride ions ผ่าน cell membrane ทำให้หมัดเป็นอัมพาตและตายในที่สุด ได้แก่ esafoxolaner, sarolaner, fluralaner และ lotilaner
2. Macrocyclic lactone เป็น GABA agonist จับกับ glutamate-gated chloride ion channels เพิ่ม permeability ของ cell membrane กับ chloride ions ทำให้หมัดเป็นอัมพาตตาย ได้แก่ eprinomectin, ivermectin, doramectin, selamectin และ moxidectin
3. Fipronil เป็น GABA antagonist ออกฤทธิ์กำจัดหมัดเช่นเดียวกับยากลุ่ม Isoxazoline
4. Imidacloprid เป็น chloronicotinyl compounds จับกับ nicotinergic acetylcholine receptor บน postsynaptic region ของหมัด มีผลยับยั้ง acetylcholine ไม่ให้จับกับ receptor ส่งผลให้หมัดเป็นอัมพาตตาย
5. Metaflumizone เป็น semicarbozone group มีคุณสมบัติเป็น sodium channel blocker ป้องกันการไหลออกของ sodium ions ผ่าน nerve cell membrane ยับยั้งการส่งผ่านของกระแสประสาทของหมัด ทำให้หมัดเป็นอัมพาตตาย
6. Nitenpyram ยับยั้งการทำงานของ specific nicotinic acetylcholine receptors ทำให้หมัดเป็นอัมพาตตาย มักใช้ร่วมกับ lufenuron ในรูปแบบยากิน
2. Insect growth regulators
1. Juvenile hormone analogues ออกฤทธิ์ยับยั้งการพัฒนาตัวอ่อนหมัดเป็นตัวเต็มวัย ช่วยตัดวงจรและลดปริมาณหมัด ส่วนใหญ่อยู่ในรูป aerosol spray ร่วมกับ adulticide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดหมัด และในผลิตภัณฑ์หยดหลังรวมกับ fipronil อย่าง methoprene, fenoxycarb และ pyriproxyfen
2. Chitin synthesis inhibitor ยับยั้งการสังเคราะห์ไคติน ทำให้หมัดไม่สามารถลอกคราบเป็นตัวอ่อนระยะ larvae ได้ ได้แก่ lufenuron
การควบคุมหมัดที่มีประสิทธิภาพควรประกอบด้วยการใช้ adulticides เพื่อกำจัดหมัดตัวเต็มวัยซึ่งเป็นปรสิตถาวรบนตัวแมว (1-5% ของจำนวนประชากรหมัดทั้งหมด) ช่วยป้องกันไม่ให้หมัดตัวเต็มวัยวางไข่ และป้องกันไม่ให้มีหมัดมากัดแมวจนกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดได้ ร่วมกับการใช้ insect growth regulator เพื่อยับยั้งการพัฒนาของไข่ไปเป็นตัวอ่อนและจากตัวอ่อนไปเป็นตัวเต็มวัย (ร้อยละ 95-99 ของจำนวนประชากรหมัดทั้งหมด) ควบคู่กับการทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและการดูดฝุ่นซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณตัวอ่อนหมัดในสิ่งแวดล้อมได้ถึง 20% และลดไข่หมัดได้ถึง 60% นอกจากนี้การดูดฝุ่นยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ยากำจัดหมัดในสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นได้ด้วย และที่สำคัญควรควบคุมหมัดให้กับสัตว์เลี้ยงทุกตัวในบ้านและหลีกเลี่ยงการเลี้ยงระบบเปิด เพื่อป้องกันไม่ให้แมวไปติดหมัดจากแมวจรและสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้ยาก
สรุป
โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัดเป็นหนึ่งในโรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบได้บ่อยในแมว มีอาการแสดงออกคล้ายคลึงกับแมวภูมิแพ้กลุ่มอื่น ๆ สามารถวินิจฉัยแยกโรคพร้อมกับรักษาได้โดยการควบคุมหมัดอย่างเคร่งครัด ด้วยยากำจัดหมัดที่มีประสิทธิภาพ สามารถออกฤทธิ์ได้ทั้งการเป็น adulticides และ insect growth regulators ควบคู่กับการดูดฝุ่น ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมและหลีกเลี่ยงการเลี้ยงระบบเปิด
เอกสารอ้างอิง
1 Noli C, Colombo S, editors. Feline Dermatology Cham, Switzerland: Springer; 2020.
2 Patel A, Forsythe P, Smith S. Saunders solutions in Veterinary Practice Small Animal Dermatology Nind F, editor. China: Elsevier; 2008.
3 Miller, Jr WH, Griffin E, Campbell. Muller &Kirk’s Small Animal Dermatology. 7th ed. St. Louis, Missouri: Elsevier; 2013.
4 Koch SN, Torres SMF, Plumb DC. Canine and Feline Dermatology Drug Handbook Pondicherry, India: Wiley-Blackwell; 2012.
5 Hobi S, Linek M, Marignac G, et al. Clinical characteristics and causes of pruritus in cats: a multicentre study on feline hypersensitivity-associated dermatoses. Vet Dermatol. 2011 Oct; 406(22): 13.