โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีปรสิตเป็นพาหะ เป็นสาเหตุของการเกิดอาการป่วยในแมวซึ่งพบการแพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย บทความนี้จะพาคุณหมอไปอับเดทโรคดังกล่าว อาการทางคลินิก การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการป้องกัน เพื่อช่วยให้คุณหมอสามารถรับมือกับโรคพยาธิเม็ดเลือดในแมวได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูลทั่วไป
โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมว คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิด haemotropic mycoplasmas ซึ่งเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ภายในเม็ดเลือดแดงและเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก (haemolytic anaemia) ในแมว เชื้อ haemotropic mycoplasmas ที่ก่อโรคในแมวมี 3 ชนิด ได้แก่ Mycoplasma haemofelis, Candidatus Mycoplasma haemominutum และ Candidatus Mycoplasma turicensis โดยเชื้อที่มีความรุนแรงในการก่อโรคมากที่สุด คือ Mycoplasma haemofelis อย่างไรก็ตามการติดเชื้อชนิดอื่นยังคงเป็นที่น่ากังวลโดยเฉพาะในแมวที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised cat) สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงการติดเชื้อ M. haemofelis เป็นหลักเพราะเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงในแมวมากที่สุด
สำหรับการติดต่อหรือการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย พาหะของเชื้อ M. haemofelis ในแมว ได้แก่ หมัดแมว ซึ่งแมวจะได้รับเชื้อผ่านทางการดูดเลือด (ทั้งนี้ไม่มีรายงานการพบการแพร่เชื้อผ่านปรสิตดูดเลือดชนิดอื่น เช่น ยุงหรือเห็บ) นอกจากนี้แมวยังสามารถรับเชื้อผ่านบาดแผลที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้และการได้รับเลือดจากแมวที่ติดเชื้อผ่านทางการถ่ายเลือดได้อีกด้วย สำหรับการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก (vertical transmission) ไม่มีรายงานการพบการถ่ายทอดเชื้อ M. haemofelis ในแมวจากแม่สู่ลูก ถึงแม้จะพบการถ่ายทอดของเชื้อในลักษณะนี้ในสุนัขที่ติดเชื้อ M. haemocanis ก็ตาม
อาการทางคลินิก
อาการทั่วไปที่สามารถพบได้กรณีเกิดการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน คือ ซึม อ่อนแรง ความอยากอาหารลดลง มีภาวะแห้งน้ำ น้ำหนักลด ไข้สูงสลับต่ำ (intermittent pyrexia) เกิดภาวะโลหิตจาง ซีด ในแมวบางตัวอาจพบภาวะม้ามโตร่วมด้วย ในกรณีที่แมวเกิดภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง อาจพบภาวะหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว และชีพจรบริเวณขาหนีบ (femoral pulse) อ่อนแรง ร่วมกับการได้ยินเสียงหัวใจผิดปกติ (haemic cardiac murmur) สำหรับอาการตัวเหลืองจากภาวะดีซ่าน (icterus) มักไม่ค่อยพบมากนัก สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะการแตกของเม็ดเลือดไม่รุนแรงจนทำให้ระดับความเข้มข้นของ bilirubin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเพียงพอ ทั้งนี้การพยากรณ์โรคมักมีความแตกต่างกันไปตามแต่กรณีขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายสัตว์ การติดเชื้อแทรกซ้อน การตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ และอายุของแมว เช่น แมวอายุน้อยมักแสดงอาการรุนแรงกว่าแมวอายุมาก รวมถึงแมวที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องมักแสดงอาการรุนแรงกว่าแมวที่มีสุขภาพดี เป็นต้น สำหรับแมวที่มีการติดเชื้อแบบเรื้อรัง มักไม่พบอาการป่วยรุนแรงหรือหากแสดงอาการมักแสดงอาการป่วยไม่มากนัก อย่างไรก็ตามหากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน ร่างกายอ่อนแอ หรือร่างกายเกิดการติดเชื้อไวรัส เชื้อก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้
การตรวจวินิจฉัย
ปัจจุบันการตรวจด้วยวิธีปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (polymerase chain reaction; PCR) นับเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ดีที่สุด (gold standard) ในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อ haemotropic mycoplasmas ในแมว และเป็นการตรวจที่ช่วยตรวจติดตามภายหลังการรักษาเพื่อตรวจดูการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะได้ โดยแนะนำให้ทำการเก็บตัวอย่างและส่งตรวจก่อนการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันผลลบลวง เนื่องจากมักพบว่าภายหลังการให้ยาปฏิชีวนะ ระดับของเชื้อมักลดต่ำลงเป็นอย่างมากจนอาจทำให้เกิดความสับสนในการตรวจได้
สำหรับการตรวจที่สัตวแพทย์สามารถทำได้ภายในคลินิก เช่น การย้อมสีเพื่อส่องดูเซลล์ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ (blood smear cytology) สามารถทำได้โดยการย้อมสี Romanowski-stained (Giemsa, Wright's, Diff-Quick®) ซึ่งจะพบลักษณะของเชื้อเป็นจุด ขนาดเล็ก สีน้ำเงิน ติดอยู่กับเยื่อหุ้มของเม็ดเลือดแดง อย่างไรก็ตามการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวพบว่ามีความน่าเชื้อถือต่ำเนื่องจากต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจวิเคราะห์ ตลอดจนการเตรียมตัวอย่างที่เหมาะสม โดยมีรายงานความไวของการตรวจต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 0-37.5 และความจำเพาะสูง (high specificity) อยู่ที่ร้อยละ 84-98
ในส่วนของการตรวจทางห้องปฏิบัติการมีจุดประสงค์เพื่อประเมินความรุนแรงของการติดเชื้อ โดยทั่วไปแมวที่ติดเชื้อมักพบภาวะ regenerative macrocytic hypochromic anaemia โดยอาจพบหรือไม่พบภาวะ reticulocytosis อย่างเด็ดชัดร่วมด้วยก็ได้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เม็ดเลือดขาวอาจพบภาวะ leukopenia, lymphopenia, eosinopenia หรือ monocytosis และในบางครั้งอาจพบภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง (hyperbilirubinaemia) อันเป็นผลมาจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ค่า ALT ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่ตับได้รับความเสียหาย และภาวะแกมม่าโกลบูลินในเลือดสูง (polyclonal hypergammaglobulinaemia) ร่วมด้วย
สำหรับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่นพบว่ายังมีข้อจำกัด เช่น การเพาะเลี้ยงเชื้อในห้องปฏิบัติการยังไม่สามารถทำได้ และการตรวจวินิจฉัยทางภูมิคุ้มกัน ที่ยังอยู่ในขั้นของการศึกษาทดลอง
การรักษา
โรคพยาธิเม็ดเลือดในแมวมักมีการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับดีหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยกลุ่มยาปฏิชีวนะที่ควรใช้เป็นอันดับแรก (first-line antibiotic) คือยาในกลุ่ม tetracyclines ซึ่งโดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ตัวยา doxycycline ในรูปแบบยากิน โดยให้ในขนาด 10 mg/kg วันละ 1 ครั้ง (SID) หรือ 5 mg/kg วันละ 2 ครั้ง (BID) เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ (ในกรณีที่ให้ doxycycline ในรูปแบบ hyclate preparation ควรมีการให้อาหารหรือน้ำตามภายหลังการให้ยา เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบ (esophagitis) จากการที่แมวไม่ยอมกลืนยา) โดยในระหว่างที่ได้รับการรักษาควรตรวจติดตามผลการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะด้วยวิธีการ quantitative PCR หากแมวไม่ตอบสนองต่อการให้ยาอาจพิจารณาเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่ม fluoroquinolones เช่น marbofloxacin, pradofolxacin หรือ enrofloxacin เป็นลำดับถัดไป
การป้องกัน
การป้องกันโรคพยาธิเม็ดเลือดในแมวที่ดีที่สุดคือการป้องกันหมัดซึ่งเป็นพาหะของเชื้อมาสู่แมว โดยในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กำจัดหมัดหลายชนิดที่ได้รับการทดสอบว่าปลอดภัย และให้ผลดีในแมว เช่น ตัวยา fipronil, imidacloprid/moxidectin หรือยาในกลุ่ม avermectin เช่น selamectin, eprimectin อีกทั้งยังมีการพัฒนาให้ใช้ง่ายในรูปแบบยาหยดหลัง (spot on) และมีการรวมตัวยามากกว่า 1 ชนิดเข้าด้วยกันในรูปแบบยาสูตรผสม (combination drug) เช่น ตัวยา fipronil, (S) - methoprene, eprinomectin และ praziquantel ซึ่งช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันให้ครอบคลุมทั้งปรสิตภายนอก ตลอดจนพยาธิภายในในแมวได้ ทั้งนี้สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ และอ่านคำแนะนำข้างฉลากทุกครั้งเพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกัน และเฝ้าระวังกรณีแมวเกิดการแพ้ยาได้อย่างทันท่วงที
นอกจากการป้องกันหมัดซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่แมวแล้ว เจ้าของยังควรระมัดระวังไม่ให้แมวกัดหรือต่อสู้กับแมวตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อผ่านทางเลือด และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องรับการถ่ายเลือดควรรับการถ่ายเลือดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และได้รับการตรวจคัดกรองแล้วว่าปลอดภัยจากพยาธิเม็ดเลือด ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองแมวจากการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะเชื้อในกลุ่ม retrovirus เนื่องจากหากแมวเกิดการติดเชื้อดังกล่าวร่วมกันจะส่งผลให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มสูงขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. European Advisory Board on Cat Diseases. 2023. GUIDELINE for Haemoplasmosis in Cats. [online]. Available : https://www.abcdcatsvets.org/guideline-for-haemoplasmosis-in-cats/. Accessed 14 August 2023.
2. Remo, L. 2007. Feline Haemoplasmosis. [online]. Available : https://www.vin.com/apputil/content/defaultadv1.aspx?id=3860710&pid=11242#:~:text=The%20clinical%20signs%20of%20haemoplasmosis,cats%20tend%20to%20be%20normothermic. Accessed 13 August 2023.
3. Saruda, T. 2021. “Speed of kill” ความรวดเร็วในการออกฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดและปรสิตภายนอก. [online]. Available : https://www.vetbuddyexpert.com/article/all/title/speed-of-kill-khwaamrwderwainkaar-krththikh-ngphlitphanthkamcchadehbhmadaelaprsitphaayn-k. Accessed 17 August 2023.
4. Selapoom, P. 2023. Feline Hemotropic Mycoplasma. [online]. Available : https://www.readvpn.com/CECredit/Info/24cd9bb1-9235-40af-aba2-a14e4c3c611b. Accessed 14 August 2023.