โรคพยาธิเม็ดเลือด ( Blood parasites ) เป็นโรคที่ใกล้ตัวและมีความสำคัญอย่างยิ่งในสุนัข ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว และริคเก็ตเซีย บางชนิดในเม็ดเลือด โดยมีเห็บเป็นพาหะนำโรค ( Tick-borne disease ) อีกทั้งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยกับสุนัขทุกอายุและสายพันธุ์ในประเทศไทย เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ของพาหะชนิดนี้ โดยความรุนแรงของโรคที่พบ เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของเชื้อที่ได้รับ ปริมาณเชื้อในกระแสเลือด การติดเชื้อร่วมกันหลายชนิด อายุสุนัข ระดับภูมิคุ้มกันของสุนัข รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ของสุนัขในขณะนั้น เป็นต้น

กลไกการเกิดโรคและชนิดของเชื้อ

เชื้อโปรโตซัวและริกเกตเซียที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค จะแฝงตัวและเจริญเติบโตในพาหะ คือ เห็บ โดยชนิดของเห็บที่มักเป็นพาหะสำคัญและพบมากในประเทศไทย ได้แก่ Rhipicephalus sanguineus หรือเรียกได้อีกชื่อตามสีของเห็บชนิดนี้ว่า เห็บสุนัขสีน้ำตาล ( Brown dog tick ) โดยมักสังเกตเห็นได้หลายตำแหน่งบนตัวสุนัข เช่น บริเวณหัว คอ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหู ระหว่างนิ้วเท้า ข้อพับ และท้อง อีกทั้งมักหลบซ่อนตัวอยู่ตามสิ่งแวดล้อมและซอกหลืบบริเวณบ้านอีกด้วย โดยการเจริญเติบโตของเห็บชนิดนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะตัวอ่อน ( Larva ) มี 6 ขา, ระยะตัวกลางวัย ( Nymph ) มี 8 ขา และระยะตัวเต็มวัย ( Adult ) มี 8 ขา

วงจรชีวิตของเห็บสุนัขสีน้ำตาลจัดเป็นแบบ 3 โฮสต์ ( Three - host tick ) คือ มีการขึ้นลงจากตัวโฮสต์ 3 ครั้ง ในแต่ละระยะ ตลอดวัฎจักรชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสุนัขหรือโฮสต์ตัวเดียวกัน ( มีโฮสต์ที่นอกเหนือจากสุนัขได้ เช่น สัตว์ฟันแทะ นก แมว และคน เป็นต้น ) วงจรชีวิตเริ่มจากเห็บตัวเต็มวัย จะดูดเลือดบนตัวโฮสต์ และผสมพันธุ์กัน จากนั้นเห็บเพศเมียจึงลงมาวางไข่ในสิ่งแวดล้อม เมื่อตัวอ่อนฟักออกจากไข่ ก็จะขึ้นไปดูดเลือดจากโฮสต์และลงมาลอกคราบเป็นตัวกลางวัย แล้วกลับขึ้นไปดูดเลือดจากโฮสต์ใหม่ ก่อนลงมาลอกคราบครั้งสุดท้ายเป็นตัวเต็มวัย และกลับขึ้นไปอยู่บนตัวโฮสต์อีกครั้งวนเวียนเป็นวัฏจักรดังเดิม รวมระยะเวลาทั้งหมดของวงจรชีวิตประมาณ 2-3 เดือน

โดยในการดูดเลือดของเห็บแต่ละครั้ง จะทำหน้าที่เป็นพาหะให้เกิดการส่งต่อของเชื้อก่อโรค ได้แก่ เชื้อโปรโตซัว เช่น Babesia spp. กับ Hepatozoon spp. และริคเก็ตเซีย เช่น Ehrlichia spp. กับ Anaplasma spp. ซึ่งทำให้เกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดต่างๆ ดังต่อไปนี้

โรค Babesiosis Babesiosis ในสุนัขมักเกิดจากการติดเชื้อ Babesia canis ( เชื้อรูปร่างคล้ายลูกแพร์ มีขนาดใหญ่ ) และ Babesia gibsoni ( เชื้อมีขนาดเล็ก ) จากการส่งต่อระยะ Sporozoite ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ผ่านการกัดของเห็บ ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและเพิ่มจำนวนในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย สุนัขที่ติดเชื้อจึงมีภาวะโลหิตจางและอาจพบอาการดีซ่านหรือปัสสาวะสีแดงเข้มในรายที่ติดเชื้อรุนแรง สำหรับเชื้อ B. canis เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 10 - 21 วัน ในขณะที่ B. gibsoni มีระยะฟักตัวประมาณ 14 - 28 วัน นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกได้อีกด้วย
โรค Hepatozoonosis เชื้อที่มักพบในสุนัขได้แก่ Hepatozoon canis และ Hepatozoon americanum โดยในประเทศไทยมักพบ H. canis เป็นหลัก เชื้อระยะ Gamont ของพยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้จะมีรูปร่างคล้ายแคปซูล อาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ของสุนัข ทำให้การตอบสนองของภูมิคุ้มกันลดต่ำลง และเชื้อยังมักเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณเนื้อเยื่อน้ำเหลือง ไขกระดูก และอวัยวะต่าง ๆ เช่น ม้าม ตับ ปอด กล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะนั้นๆ ตามมา ส่วนใหญ่พบว่าสุนัขจะได้รับเชื้อผ่านทางการกินเห็บที่มี Oocyst ของเชื้อเข้าไป มากกว่าการติดเชื้อจากการถูกเห็บกัด ซึ่งแตกต่างจากโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดอื่น โดยสุนัขที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีหรือได้รับปริมาณเชื้อในระดับต่ำ อาจไม่แสดงอาการทางคลินิก ส่วนในสุนัขอายุน้อยอาจแสดงอาการรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรค Ehrlichiosis เป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการติดเชื้อในกลุ่ม Ehrlichia spp. ซึ่งส่วนใหญ่ คือ E. canis, E. chaffeensis และ E. ewingii เชื้อจากการถูกเห็บกัดจะเข้าไปอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิด Monocyte และ Lymphocyte ทำให้เกิดอาการรุนแรง และเป็นปัญหามากในทางคลินิก มีอัตราการตายสูงในสุนัขอายุน้อย อาการที่พบได้มีทั้งแบบเฉียบพลัน ( Acute ) และแบบเรื้อรัง ( Chronic ) โดยแบบเฉียบพลัน จะแสดงอาการใน 2 - 4 สัปดาห์ เช่น มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามเยื่อเมือกและผิวหนัง เยื่อบุตาอักเสบ หรืออาจมีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางร่วมด้วย เป็นต้น ส่วนแบบเรื้อรัง อาจแสดงอาการคล้ายแบบเฉียบพลันแต่รุนแรงขึ้น และอาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไขกระดูกทำงานบกพร่อง ม้ามโต ไตวาย ตับอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรค Anaplasmosis ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Anaplasma platys ซึ่งอาศัยอยู่ในเกล็ดเลือด ทำให้สุนัขมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาการที่พบคล้ายกับโรคพยาธิเม็ดเลือดชนิดอื่น เช่น ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ สีเยื่อเมือกซีด มีจุดเลือดออก ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น โดยทั่วไปสุนัขที่ป่วยมักไม่แสดงอาการ แต่มีเชื้อแฝงตัวอยู่ในร่างกาย และจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง

การตรวจวินิจฉัยโรค

การซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นในสุนัขที่ติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด มักมาด้วยอาการโดยทั่วไป คือ มีไข้สูง ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด สีเยื่อเมือกซีด มีจุดเลือดออก ท้องเสีย และอาเจียน เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้สาเหตุได้อย่างจำเพาะเจาะจง จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับประกอบการวินิจฉัย โดยในการตรวจวิเคราะห์ผลค่าเลือด สุนัขจะพบภาวะโลหิตจาง ( Anemia ) และเกล็ดเลือดต่ำ ( Thrombocytopenia ) เมื่อทำการเปรียบเทียบผลเลือดจากการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือดแต่ละชนิด พบว่าในรายที่เป็นโรค Ehrlichiosis มีภาวะ Monocytosis และ Eosinophilia ส่วนโรค Hepatozoonosis มีภาวะ Leukocytosis Neutrophilia และ Monocytosis ในขณะที่โรค Babesiosis มีภาวะ Eosinopenia และ Lymphopenia ( Thongsahuan และคณะ, 2020 ) แต่อย่างไรก็ตาม ผลการเปลี่ยนแปลงของค่าเลือดอาจยังไม่จำเพาะต่อเชื้อแต่ละชนิด และอาจมีการติดเชื้อต่างชนิดพร้อมกันได้า

การตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันสามารถทำได้ด้วยการส่องตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ จาก Blood smear เพื่อดูความผิดปกติของเม็ดเลือดและรูปร่างของเชื้อ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของผู้ตรวจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจทางซีรั่มวิทยา ( Serology ) และการใช้เทคนิค Polymerase chain reaction ( PCR ) ที่ช่วยให้ผลการตรวจมีความจำเพาะและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การรักษาโรค

วิธีการใช้ยาในการรักษาขึ้นกับชนิดของเชื้อที่ได้รับ โดยตัวยาที่นิยมเลือกใช้ในการรักษา ได้แก่

- Doxycycline และ Imidocarb dipropionate สำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรค Ehrlichiosis และ Anaplasmosis
- Imidocarb dipropionate และ Diminazene aceturate สำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรค Babesiosis
- Imidocarb dipropionate และ Sulfonamides สำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรค Hepatozoonosis ( Suksawat, 2016 )

นอกจากการใช้ยาเพื่อการรักษาแล้ว ควรทำควบคู่ไปกับการรักษาตามอาการ เช่น การให้สารน้ำ ( Fluid therapy ) ในรายที่มีภาวะขาดน้ำ การถ่ายเลือด ( Blood transfusion ) ในรายที่มีอาการรุนแรง และการให้วิตามินเสริมบำรุงร่างกาย เพื่อให้สัตว์ฟื้นตัวและกลับมามีสุขภาพแข็งแรงรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในการรักษาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ และติดตามผลการรักษาเป็นระยะ จากผลการตรวจวิเคราะห์ค่าเลือดของสุนัข

การป้องกันและควบคุมโรค

ในการป้องกันและควบคุมโรคพยาธิเม็ดเลือด จำเป็นต้องจัดการกับเห็บซึ่งเป็นพาหะสำคัญ ด้วยการกำจัดเห็บทุกระยะ ทั้งตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย โดยในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บสำหรับสุนัขมากมาย และหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบหยดหลัง แบบฉีด หรือแบบกิน เพื่อความสะดวกในการใช้งานของเจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยมีตัวยาที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการออกฤทธิ์ ได้แก่

- ฟิโปรนิล ( Fipronil ) เป็นสารกำจัดแมลงในกลุ่มฟีนิลไพราโซล ( Phenylpyrazole ) ออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงโดยการเข้าจับบริเวณ GABA ( Gamma-aminobutyric acid ) - gated chloride channels ซึ่งจะไปขัดขวางการไหลผ่านของคลอไรด์ไอออนเข้าสู่เซลล์ ทำให้การทำงานของระบบประสาทของแมลงไวผิดปกติ ( Hyperexcitation ) ส่งผลให้แมลงชักเกร็งและตายในที่สุด โดยการเข้าจับกับ GABA receptor ของฟิโปรนิลในสัตว์มีกระดูกสันหลังนั้นทำได้ไม่ดี จึงมีฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อระบบประสาทเฉพาะกับแมลงเท่านั้น ส่งผลให้มีความปลอดภัยในการใช้งานต่อทั้งสัตว์เลี้ยงและคน
- เพอร์เมทริน ( Permethrin ) เป็นสารกำจัดแมลงกลุ่มไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ( Synthetic pyrethroid ) ออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลงบริเวณเยื่อหุ้มของเซลล์ประสาท โดยมีผลรบกวนการปิดของ Sodium channel ทำให้แมลงเกิดอาการอัมพาตและตายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากเพอร์เมทรินจะมีฤทธิ์ในการกำจัดหรือฆ่าแมลงแล้ว ยังสามารถออกฤทธิ์ในการขับไล่ ( Repellency ) แมลงอีกด้วย เนื่องจากแมลงจะสามารถรับรู้โมเลกุลของยารวมทั้งรู้สึกระคายเคือง จึงทำให้แมลงไม่เข้ามาใกล้ตัวสัตว์ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเพอร์เมทรินนี้กับแมว เนื่องจากมีความเป็นพิษต่อแมวสูง

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่า การให้ยาร่วมกันสองชนิดระหว่างฟิโปรนิลและเพอร์เมทริน ในรูปแบบหยดบนผิวหนัง 1 ครั้ง มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์กำจัดเห็บ Ixodes ricinus และ Rhipicephalus sanguineus ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ( Dumont และคณะ, 2015 )

การจัดการสิ่งแวดล้อมบริเวณที่เลี้ยงก็มีส่วนสำคัญ ที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข จึงควรหมั่นรักษาความสะอาดอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงพาหะและเกิดการติดเชื้อซ้ำ ส่วนในสุนัขที่จำเป็นต้องทำการถ่ายเลือด จะต้องมีการตรวจหาเชื้อในผู้ให้ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดต่อของพยาธิเม็ดเลือดผ่านทางเลือด และการพาสุนัขเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ปีละ 1 -2 ครั้ง ก็จะช่วยให้สัตวแพทย์สามารถประเมินและเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพให้แก่สัตว์เลี้ยงได้อีกทางหนึ่ง

การกำจัดเห็บไม่เพียงแต่มีผลดีกับสุนัขเท่านั้น เพราะนอกจากเห็บจะสามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงแล้ว ยังสามารถนำเชื้อพยาธิเม็ดเลือดบางชนิดมาติดต่อสู่คน ( Zoonosis ) ผ่านการกัดของเห็บที่มีเชื้อได้เช่นกัน เช่น โรค Ehrlichiosis ซึ่งคนที่ได้รับเชื้อ อาจมีได้หลากหลายอาการและความรุนแรง ตัวอย่างเช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว มีผื่นที่ผิวหนัง อาการไอ หายใจลำบาก เลือดออกผิดปกติ เป็นต้น ฉะนั้นแล้วนอกจากเจ้าของสุนัขจะต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตนแล้ว ยังควรระมัดระวังตนเองจากอันตรายที่มากับเห็บของสุนัขด้วย

อ้างอิงข้อมูล

1. Dantas-Torres F. 2010. Biology and ecology of the brown dog tick, Rhipicephalus sanguineus. Parasites & Vectors 3: 26.

2. Dumont, P., Chester, T. S., Gale, B., Soll, M., Fourie, J. J., & Beugnet, F. 2015. Acaricidal efficacy of a new combination of fipronil and permethrin against Ixodes ricinus and Rhipicephalus sanguineus ticks. Parasites & vectors, 8, 51.

3. Rucksaken, R., Maneeruttanarungroj, C., Maswanna, T., Sussadee, M., & Kanbutra, P. 2019. Comparison of conventional polymerase chain reaction and routine blood smear for the detection of Babesia canis, Hepatozoon canis, Ehrlichia canis, and Anaplasma platys in Buriram Province, Thailand. Veterinary world, 12(5), 700–705.

4. Suksawat, F. 2016. Top 5 Tick-Borne Diseases in Southeast Asia. Clinician’s Brief. August: 25-33.

5. Thongsahuan, S., Chethanond, U., Wasiksiri, S., Saechan, V., Thongtako, W., & Musikacharoen, T. 2020. Hematological profile of blood parasitic infected dogs in Southern Thailand. Veterinary world, 13(11), 2388–2394.