โรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว (feline heartworm disease) เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมชนิด Dirofilaria immitis ซึ่งพบได้ในสุนัขเช่นกัน แต่อุบัติการณ์ในแมวจะน้อยกว่ามากเพราะแมวไม่ใช่โฮสต์แท้ของพยาธิเหมือนสุนัข โรคพยาธิหนอนหัวใจมักพบการระบาดในพื้นที่เขตร้อนหรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของยุงซึ่งเป็นพาหะสำคัญของพยาธิ โดยยุงจะดูดเลือดสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจและรับตัวอ่อนพยาธิหรือไมโครฟิลาเรียเข้ามา ไมโครฟิลาเรียจะลอกคราบภายในตัวยุงจนกลายเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 (L3) ซึ่งเป็นระยะติดต่อ (infective stage) เมื่อยุงไปกัดสัตว์ตัวอื่นต่อ สัตว์ตัวดังกล่าวจะได้รับตัวอ่อนพยาธิระยะติดต่อเข้าไปในร่างกาย จากนั้นตัวอ่อนพยาธิจะใช้เวลาเจริญอยู่ในเนื้อเยื่อประมาณ 2 เดือนแล้วเคลื่อนย้ายไปยังหลอดเลือด pulmonary artery และใช้เวลาอีกประมาณ 4-6 เดือนในการเจริญเป็นตัวเต็มวัย สุดท้ายพยาธิหนอนหัวใจเพศเมียที่โตเต็มวัยก็จะปล่อยไมโครฟิลาเรียออกมาในกระแสเลือดของโฮสต์ และแพร่พันธุ์ไปยังสัตว์ตัวอื่นผ่านการกัดของยุงต่อไป
ลักษณะของโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวจะแตกต่างจากสุนัขอยู่บางส่วน เนื่องจากแมวไม่ใช่โฮสต์แท้ของพยาธิตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้วงจรชีวิตของพยาธิหนอนหัวใจภายในร่างกายแมวมักไม่ครบสมบูรณ์ ตัวอ่อนระยะติดต่อส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญต่อได้และมีโอกาสตายก่อนได้พัฒนาเป็นตัวเต็มวัย และที่สำคัญก็คือการตายของพยาธิสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อหลอดเลือด pulmonary artery ที่ปอด ทำให้แมวอาจมีอาการไอ หายใจเร็ว และหายใจลำบากซึ่งคล้ายกับอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ หรือที่เรียกกันว่า heartworm-associated respiratory disease (HARD) ส่วนอาการพยาธิอุดตันเป็นจำนวนมากในหลอดเลือดดำใหญ่ (caval syndrome) ที่พบบ่อยในสุนัขจะไม่ค่อยพบในแมวเพราะพยาธิหนอนหัวใจในแมวมีจำนวนน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับในสุนัข โดยทั่วไปมักพบไม่เกิน 6 ตัวสำหรับพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย อย่างไรก็ตามหากตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจสามารถเจริญไปเป็นตัวเต็มวัย แม้มีจำนวนเพียง 1-2 ตัวก็รุนแรงมากพอที่จะทำให้แมวเสียชีวิตได้ เพราะชิ้นส่วนพยาธิที่ตายนอกจากจะทำให้หลอดเลือดอักเสบได้แล้ว ยังมีโอกาสทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดอีกด้วย
การตรวจยืนยันโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวในปัจจุบันมักใช้วิธีตรวจหลายรูปแบบเพื่อนำผลมาประกอบการวินิจฉัยร่วมกันเนื่องจากแต่ละวิธีต่างมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถตรวจจับพยาธิหนอนหัวใจครอบคลุมในทุกระยะของการเจริญเติบโตได้ด้วยการตรวจเพียงแค่วิธีเดียว วิธีตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่ การตรวจทางซีรัมวิทยา (serology) รังสีวินิจฉัย (imaging diagnosis) และการตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) ในการตรวจทางซีรัมวิทยาจะใช้อยู่ 2 วิธี คือ การตรวจแอนติเจนกับแอนติบอดี โดยชุดตรวจแอนติเจนจะเป็นการตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจเพศเมียที่โตเต็มวัยแล้ว แต่หากแมวมีพยาธิหนอนหัวใจเป็นจำนวนน้อย หรือมีเพียงพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยเพศผู้ หรือมีเพศเมียด้วยแต่ยังอยู่ในระยะตัวอ่อน ก็มีโอกาสที่จะแสดงผลตรวจเป็นลบปลอมได้ ส่วนการตรวจแอนติบอดีจะตรวจได้กับพยาธิหนอนหัวใจทุกเพศทุกระยะ สามารถช่วยคัดกรองได้ว่าแมวมีแนวโน้มเคยติดพยาธิหนอนหัวใจระยะตัวอ่อนหรือโตเต็มวัยมาก่อน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ณ ตอนนี้แมวกำลังป่วยด้วยโรคพยาธิหนอนหัวใจอยู่หรือไม่ และในบางกรณีแมวที่ติดโรคพยาธิหนอนหัวใจอยู่แต่ไม่แสดงอาการก็อาจพบผลตรวจแอนติบอดีเป็นลบปลอมได้ด้วย สำหรับการตรวจด้วยรังสีวินิจฉัยหรือการตรวจ X-ray อาจพบการขยายขนาดของหลอดเลือด pulmonary artery หรือพบ bronchointerstitial pattern ภายในปอด ทั้งนี้ควรระมัดระวังในการแปลผลเนื่องจากรอยโรคดังกล่าวไม่ใช่รอยโรคจำเพาะของโรคพยาธิหนอนหัวใจ สามารถพบได้ในแมวที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ อยู่เช่นกัน ดังนั้นควรแปลผล X-rays โดยประเมินจากการซักประวัติและอาการทางคลินิกของแมวร่วมด้วยว่ามีความสอดคล้องกับอาการของโรคพยาธิหนอนหัวใจหรือไม่ หรือกำลังป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น หอบหืดอยู่หรือไม่ ส่วนการตรวจหัวใจด้วยเคลื่อนสะท้อนความถี่สูงเป็นวิธีที่สามารถช่วยวินิจฉัยยืนยันโรคพยาธิหนอนหัวใจได้เนื่องจากเป็นการตรวจหาตัวพยาธิหนอนหัวใจภายในห้องหัวใจหรือในหลอดเลือด pulmonary artery โดยตรง แต่ผู้ตรวจจำเป็นต้องมีประสบการณ์และความชำนาญในการใช้เครื่องมือตรวจเพื่อให้ผลตรวจมีความชัดเจนและถูกต้อง
แมวที่เป็นโรคพยาธิหนอนหัวใจ บางตัวอาจไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น ส่วนในรายที่แสดงอาการและต้องเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปจะให้ยาลดการอักเสบ prednisolone ขนาด 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน จากนั้นค่อยๆ ลดขนาดยาลงไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นแมวที่มาด้วยอาการฉุกเฉินจำเป็นต้องแก้ไขอาการก่อน โดยจะให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ผ่านหลอดเลือดดำ แก้ไขภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ให้กลับมาเป็นปกติ รวมถึงให้ยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมและให้ออกซิเจนด้วย เมื่ออาการของแมวคงที่แล้วจึงค่อยวางแผนทำการรักษาขั้นต่อไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีการรับรองตัวยาที่ปลอดภัยและจำเพาะต่อการรักษาโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมว แม้จะมียา melarsomine ที่นิยมใช้ในสุนัขโดยออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้กับแมวได้เพราะเคยมีผลการวิจัยระบุว่าตัวยา melarsomine ในโดสต่ำก็สามารถเป็นพิษต่อแมวได้ แม้ธรรมชาติของแมวจะไม่ใช่โฮสต์แท้ของพยาธิหนอนหัวใจ โอกาสเป็นโรคนี้น้อย แต่เจ้าของแมวก็ไม่ควรมองข้ามเพราะต่อให้มีโอกาสเป็นโรคน้อยก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันเป็นโรคเลย ยิ่งถ้าเป็นผู้เลี้ยงแมวในประเทศไทยซึ่งเป็นพื้นที่เขตร้อนชื้น มีความชุกชุมของยุงพาหะสูงและพบได้แทบทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งยังมีสุนัขเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นโฮสต์แท้ของพยาธิหนอนหัวใจ โดยเฉพาะสุนัขจรที่ไม่ได้รับการป้องกันพยาธิอย่างสม่ำเสมอ ความเสี่ยงที่แมวจะติดโรคพยาธิหนอนหัวใจก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นแมวเลี้ยงแบบระบบเปิดหรือระบบปิด และหากแมวเกิดติดโรคพยาธิหนอนหัวใจขึ้นมายังต้องเผชิญกับข้อจำกัดของยารักษาตามที่ได้กล่าวไปด้วย ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยง ทำให้แมวปลอดภัยจากโรคพยาธิหนอนหัวใจได้มากขึ้น
วิธีป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจในแมวที่นิยมทำกัน ได้แก่ การใช้ยา โดยตัวยาที่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องสำหรับป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในแมวมีทั้งรูปแบบยากิน ได้แก่ ivermectin กับ milbemycin oxime และแบบยาหยดหลัง ได้แก่ eprinomectin moxidectin และ selamectin ประโยชน์ของการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในแมวนอกจากจะป้องกันตัวพยาธิชนิดนี้ได้แล้วยังสามารถต้านปรสิตภายนอกกับพยาธิชนิดอื่นๆ ได้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ป้องกันมักมีตัวยาหลายชนิดเป็นส่วนประกอบเพื่อขยายขอบเขตการออกฤทธิ์ให้ครอบคลุมปรสิตชนิดสำคัญๆ ที่สามารถก่อโรคได้ในแมว เช่น esafoxolaner กับ fipronil ช่วยป้องกันเห็บและหมัด praziquantel ช่วยป้องกันพยาธิตัวตืด และ eprinomectin ซึ่งสามารถต้านพยาธิปากขอกับพยาธิตัวกลมได้ด้วย การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในแมวควรทำอย่างต่อเนื่อง สำหรับลูกแมวแนะนำให้เริ่มป้องกันเมื่อลูกแมวมีอายุตั้งแต่ 2 เดือน (8 สัปดาห์) ขึ้นไป ส่วนในแมวโตเต็มวัยสามารถเริ่มทำได้เลยหากแมวไม่เคยได้รับการป้องกันมาก่อน อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ป้องกันพยาธิแต่ละประเภทจะประกอบด้วยตัวยาแตกต่างกันออกไป เจ้าของแมวจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องและเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1 Alberigi B, Campos DR, Branco AS, Bendas A, Brum RP, Calixto R, Alves LC, Pinheiro Júnior JW, Knackfuss FB, Labarthe N, Levy JK and Mendes-de-Almeida F. 2022. Feline Heartworm in Clinical Settings in a high canine prevalence area. Front Vet Sci. 10;9:819082.
2 American Heartworm Society. 2020. Current Feline Guidelines for the Prevention, Diagnosis, and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Cats.https://www.heartwormsociety.org/images/pdf/2014_AHS_Feline_Guidelines.
3 Pennisi MG, Tasker S, Hartmann K, Belák S, Addie D, Boucraut-Baralon C, Egberink H, Frymus T, Hofmann-Lehmann R, Hosie M, Lloret A, Marsilio F, Thiry E, Truyen U and Möstl K. 2020. Dirofilarioses in cats: European guidelines from the ABCD on prevention and management. J Feline Med Surg. 22(5):442-451.