พยาธิภายในที่พบได้ในสุนัขและแมวมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด พยาธิหนอนหัวใจ เป็นต้น ซึ่งสุนัขและแมวสามารถติดพยาธิได้ค่อนข้างง่าย และติดต่อได้หลากหลายช่องทาง อย่างไรก็ตามพยาธิภายในที่มีความสำคัญที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ได้แก่ พยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ เนื่องจากสามารถติดต่อจากสุนัขหรือแมวมาสู่คนเลี้ยงได้

พยาธิไส้เดือน

พยาธิไส้เดือน (Ascarids) เป็นพยาธิที่พบได้บ่อยทั้งในสุนัขและแมว ที่พบได้ทั่วไปจะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ Toxocara canis (พบเฉพาะในสุนัข), Toxocara cati (พบเฉพาะในแมว) และ Toxascaris leonina (พบได้ทั้งในสุนัขและแมว) ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบสืบพันธุ์

พยาธิชนิดนี้มีลักษณะลำตัวกลมยาวคล้ายไส้เดือน บางตัวมีความยาวมากถึง 10 เชนติเมตร สามารถติดผ่านทางสายรกของแม่ได้ ทำให้สามารถความผิดปกติได้ตั้งแต่ลูกสัตว์อายุ 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยที่ตัวอ่อนของพยาธิจะเข้าไปในกระแสเลือด แล้วก่อความเสียหายที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายสัตว์ เช่น หากเข้าไปในลำไส้ จะทำให้สัตว์มีอาการท้องเสีย ตัวผอม หากเข้าไปในปอดจะทำให้เกิดอาการไอ จากนั้นตัวอ่อนที่ถูกขับออกมาช่วงที่สัตว์ไอ ก็จะถูกกลืนกลับเข้าไปทางเดินอาหารใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย ซึ่งตัวเต็มวัยของพยาธิจะอยู่บริเวณลำไส้เล็ก คอยแย่งกินสารอาหารที่สัตว์กินเข้าไป เป็นเหตุให้ลูกสัตว์ที่ติดพยาธิชนิดนี้มีปัญหาด้านการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ ขนหยาบ มีปัญหากระดูกและข้อ หรือในสัตว์ที่โตเต็มวัย ก็ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องกาง อาเจียน เป็นต้น

วงจรชีวิตโดยทั่วไป ไข่พยาธิจะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กว่าตัวอ่อนที่อยู่ภายในไข่จะพัฒนาเต็มที่ และที่สำคัญไข่พยาธินี้ยังสามารถคงอยู่ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -10 ไปจนถึง 45 องศาเซลเซียส ได้นาน 2-5 วัน จนกว่าจะมีโฮสต์มากินไข่นั้นเข้าไป นอกจากนี้พยาธิชนิดนี้ยังมีหนูเป็นโฮสต์ข้างเคียง (paratenic host) ที่สามารถกินไข่พยาธิเข้าไปได้ จึงไม่แปลกที่เราสามารถพบพยาธิชนิดนี้ได้มากกว่าในแมว โดยตัวอ่อนพยาธิที่ฟักออกจากไข่ จะพัฒนากลายเป็นระยะถุงน้ำ (cyst) อยู่ในร่างกายหนู รอจนกว่าจะมีสุนัขหรือแมวมากินหนูตัวนั้นเข้าไปอีกครั้ง

พยาธิไส้เดือนมีโอกาสติดสู่คนได้สูง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่สัมผัสดิน หรือไม่ได้รับการดูแลเรื่องสุขอนามัย เช่น การล้างมือ หรือแม้แต่คนที่สัมผัสสุนัขหรือแมวที่ติดพยาธิชนิดนี้อยู่ ในปัจจุบันมีรายงานพบการติดต่อพยาธิตัวกลมจากสุนัขและแมวมาสู่คน ได้แก่ พยาธิชนิด Toxocara canis และ Toxocara cati โดยติดผ่านทางการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากคนเป็นแค่โฮสต์โดยบังเอิญ (accidental host) พยาธิจึงไม่สามารถเจริญกลายเป็นตัวเต็มวัยได้ แต่อาจพบการเคลื่อนของตัวอ่อน (larva migrans) เป็นรอยไชเป็นเส้นไปตามผิวหนังได้ หรืออาจขึ้นไปถึงสมอง หรือนัยน์ตาได้ เป็นต้น

พยาธิปากขอ

พยาธิปากขอ (hookworm) เป็นพยาธิตัวกลมที่สำคัญชนิดหนึ่งที่พบได้ในคนและสัตว์หลายชนิด พบได้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยในประเทศไทยมีรายงานการพบพยาธิปากขอในสุนัขและแมว 2 ชนิด คือ Ancylostoma caninum และ Ancylostoma ceylanicum และพยาธิดังกล่าวยังจัดเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน (zoonoses) ที่สำคัญในประเทศไทย (Traub et.al., 2008)

พยาธิปากขอมีลักษณะพิเศษ คือ มีปากเป็นตะขอ สำหรับเกาะที่บริเวณผนังลำไส้ ลำตัวมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร อาศัยในลำไส้เล็กและดูดเลือดเป็นอาหาร สามารถติดต่อได้ง่าย ไม่ว่าจะโดยการกินตัวอ่อนระยะติดต่อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยการไชผ่านทางผิวหนัง หรือการได้รับผ่านทางน้ำนมแม่ เป็นต้น

วงจรชีวิตโดยทั่วไปเริ่มจากการที่ไข่พยาธิปนออกมากับอุจจาระ จากนั้นไข่เหล่านี้จะฟักเป็นตัวอ่อนอยู่ในดินได้นานหลายเดือน เมื่อตัวอ่อนติดตามร่างกาย หรือถูกกลืนไปโดยไม่ตั้งใจ ตัวอ่อนก็จะไปอาศัยที่ลำไส้เล็กเป็นหลัก หรือในบางครั้งหากมีพยาธิจำนวนมาก อาจพบที่ลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย (Rep et al., 1971) พยาธิที่อยู่ในลำไส้จะปล่อยสารกันเลือดแข็งตัวเพื่อการกินเลือดเป็นอาหาร จึงทำให้สุนัขหรือแมวที่ติดพยาธิชนิดนี้แสดงอาการผิดปกติ เช่น โลหิตจาง ถ่ายมีเลือดปน ขนหยาบ น้ำหนักลด เป็นต้น นอกจากนี้พยาธิปากขอบางส่วนอาจไปอยู่ที่หลอดลม และกลับเข้าสู่ทางเดินอาหารหลังจากสัตว์ไอ และกลืนตัวอ่อนพยาธิเพื่อไปสู่ทางเดินอาหาร เจริญเติบโต และพร้อมที่จะไข่ออกมา แล้วปะปนกับอุจจาระต่อไป

ในคนอาจได้รับพยาธิปากขอสุนัขโดยการกิน ทำให้พบพยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้ได้ แต่ในกรณีที่ตัวอ่อนของพยาธิปากขอไชเข้าสู่ผิวหนังของคน จะไม่สามารถไปโตเต็มวัยที่ลำไส้เล็กได้ ซึ่งตามปกติแล้วจะมีพยาธิปากขอชนิดที่พบได้ในคนนั้น จะเป็นคนละชนิดกันกับที่พบในสุนัข

การป้องกัน

โดยทั่วไปจะแนะนำให้ถ่ายพยาธิทุก 3-6 เดือนขึ้นกับการเลี้ยงดู และนิสัยของสัตว์เลี้ยง หากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงนอกบ้าน มีนิสัยซุกซน ชอบขุด ชอบสำรวจ หรือกินอาหารจากพื้น หรือกินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เช่น นก หนู ควรจแนะนำให้ถ่ายพยาธิบ่อยขึ้น นอกจากนี้พยาธิยังสามารถติดจากแม่สู่ลูกได้ง่าย จึงควรวางแผนการถ่ายพยาธิในสัตว์ที่เตรียมผสมพันธุ์ร่วมด้วย

ปัจจุบันทางเลือกในการป้องกันและถ่ายพยาธิในสุนัขและแมวจะมีอยู่หลัก ๆ 2 วิธี ได้แก่ การให้ยาถ่ายพยาธิที่มีผลต่อพยาธิทางเดินอาหารโดยตรง ตัวยากลุ่มนี้จะให้ผลที่ดีและกว้างต่อพยาธิในทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีการถ่ายพยาธิอีกแบบซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันคือ การให้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตแบบรายเดือน ที่ครอบคลุมทั้งปรสิตภายนอกอย่างเห็บหมัด แถมได้ปรสิตภายในอย่างเช่นพยาธิหัวใจ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ และพยาธิลำไส้อื่น ๆ ร่วมด้วย แต่สิ่งสำคัญดีที่สุดในการป้องกันการติดพยาธิ คือ การดูแลรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือทุกครั้งภายหลังการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หรือดินเพื่อลดโอกาสการรับเชื้อ และสวมรองเท้าก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เป็นต้น

อ้างอิงข้อมูล

1.Adolph C. 2015. Top 5 GI parasites in companion animal practice. Clinician’s Brief. p. 11-14.

2.Gastrointestinal parasites of cats, Cornell feline health center, https://www.vet.cornell.edu/departments-centers-and-institutes/cornell-feline-health-center/health-information/feline-health-topics/gastrointestinal-parasites-cats, (accessed October 22, 2020)

3.Rep BH, van Joost KS, Vetter JC. Pathogenicity of Ancylostoma ceylanicum. VI. Lethal blood loss in hookworm infection. Trop Geogr Med .1971; 23: 184-193