โรคสัตว์สู่คน คือโรคที่เกิดจากการแพร่เชื้อที่ก่อโรคจากสัตว์สู่คน พบได้ในกรณีที่คนเลี้ยงสัตว์ไว้ใกล้ตัวเป็นเพื่อนเล่นหรือเพื่อนคู่ใจ กลุ่มเสี่ยงที่มักพบได้บ่อยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพสัตวแพทย์และเทคนิคการสัตวแพทย์ เนื่องจากการทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ป่วยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสได้รับเชื้อจากสัตว์สู่คนสูง คือ กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น การกินยากดภูมิ และผู้ป่วยโรค HIV เป็นต้น เชื้อก่อโรคหลาย ๆ ตัวสามารถแพร่ไปยังมนุษย์ได้จากการสัมผัสโดยตรงกับตัวสัตว์ หรือสารคัดหลั่งที่ออกจากตัวสัตว์ รวมไปถึงอุจจาระหรือปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงด้วย ดังนั้น การป้องกันการแพร่เชื้อโรคต่อผู้ร่วมงานและเจ้าของสัตว์จึงเป็นสิ่งจำเป็น สัตวแพทย์จึงมีหน้าที่ในการทำให้ทั้งบุคลากรทางการสัตวแพทย์และเจ้าของสัตว์ปลอดภัยต่อโรคจากสัตว์สู่คนโดยการให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้
โรคจากสัตว์สู่คนที่มีแมวเป็นพาหะที่สามารถพบได้บ่อยที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ 4 โรค ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา และโรคแมวข่วน (cat scratch)

โรคพิษสุนัขบ้า (rabies)

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่รู้จักกันดีว่า เป็นโรคสัตว์สู่คนที่หากแพร่โรคนี้ไปสู่คนแล้วโอกาสรักษาหายมีน้อยมาก และทำให้เสียชีวิตได้ทั้งในคนและในสัตว์ ยังเป็นที่เข้าใจผิดในบุคคลทั่วไปอยู่ว่า โรคนี้เกิดเฉพาะในสุนัขเท่านั้น เนื่องจากชื่อของโรคอาจสร้างความสับสนให้กับเจ้าของสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สุนัข โรคพิษสุนัขบ้าหรือ rabies เกิดจากเชื้อไวรัส Rabies Lyssavirus อยู่ใน Genus Lyssavirus ในแฟมิลี่ Rhabdoviridae ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาทและส่งผลให้สัตว์เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดเป็นพาหะของโรคนี้ ไม่พบในสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์ปีก ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบแมวที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้มากกว่าสุนัขถึง 3 เท่า เนื่องจากได้รับวัคซีนน้อยกว่าสุนัข และการเลี้ยงดูอย่างอิสระในแมวที่มากกว่าสุนัข

การติดต่อเชื้อนี้มักเกิดจากการแพร่ผ่านทางน้ำลาย จึงมักพบการแพร่เชื้อนี้จากการกัดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การเลียแผล หรือเมื่อเนื้อเยื่อสัมผัสโดนน้ำลายก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ เมื่อสัตว์ติดเชื้อแล้วระยะเริ่มต้นจะยังไม่สังเกตเห็นความผิดปกติมาก เช่น การกินอาหารลดลง ซึม ผอม ไม่มีแรง อาเจียนหรือท้องเสีย ต่อมาจะเริ่มเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น การส่งเสียงร้องที่ผิดปกติ การพยายามทำร้าย กัดหรือข่วน การเก็บตัว นิสัยเปลี่ยนสัตว์บางตัวที่ปกติจะเก็บตัวก็อาจเริ่มเรียกร้องความสนใจ มีการงับแมลงในอากาศ (snapping at flies) มีน้ำลายไหลออกมารอบปาก ในบางตัวอาจพบการขยายของม่านตาที่ไม่เท่ากัน (anisocoria) การอัมพาตของใบหน้า (facial paralysis) ในระยะท้าย ๆ พบการเสียชีวิตของสัตว์เกิดขึ้นตามมา

ช่วงระยะเวลาตั้งแต่สัตว์ถูกกัดจนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากระยะฟักเชื้อมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ได้รับและความรุนแรงของการได้รับเชื้อ เช่น การกัดบริเวณศีรษะและหน้า การโดนกัดหลายตำแหน่ง การโดนกัดในชั้นผิวหนังที่ลึก โดยมากมักพบว่าสัตว์มีอาการอย่างรวดเร็วภายใน 1 สัปดาห์จนถึงไม่กี่เดือนหลังจากได้รับเชื้อ หากสงสัยว่าสัตว์อาจได้รับเชื้อไวรัสและโน้มนำไปสู่การเกิดโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้กักบริเวณดูอาการประมาณ 6 เดือน เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ระบบประสาทแล้วจะเกิดการแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วตามแนวเส้นประสาทไปยังอวัยวะสำคัญส่วนอื่น ๆ โดยส่วนมากพบว่าไปที่ต่อมน้ำลาย ทำให้พบไวรัสเป็นจำนวนมากในน้ำลายของสัตว์ ดังนั้น เมื่อแมวหรือสุนัขถูกกัดโดยสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ควรทำการสังเกตอาการโดยประมาณ 10 วัน ถ้าสัตว์ยังมีชีวิตอยู่และมีอาการโดยรวมปกติก็เป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า สัตว์มีแนวโน้มหรือความเสี่ยงที่น้อยมากต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า แต่หากสัตว์มีการแสดงอาการที่ผิดปกติ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง หรือมีการเสียชีวิตภายในระยะเวลา 10 วันที่ทำการกักบริเวณ อาจบ่งบอกได้ว่าสัตว์มีการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และควรส่งตรวจซากเพื่อยืนยันการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจสอบว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่แม่นยำเท่ากับการส่งตรวจซากสัตว์ป่วย และไม่พบวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพทั้งในคนและในสัตว์ ดังนั้น การป้องกันจึงสำคัญมากกว่า โดยเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อนี้สู่เจ้าของสัตว์หรือผู้เกี่ยวข้องโดยการระมัดระวังในการจับบังคับสัตว์ หากโดนกัดเป็นแผลลึกให้รีบล้างแผลและทำการฉีดกระตุ้นวัคซีน นอกจากนี้ สัตวแพทย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าประจำทุกปี เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์สู่คน

โรคขี้แมว (Toxoplasmosis)

โรคขี้แมว (Toxoplasmosis) มีเชื้อก่อโรคคือ Toxoplasma gondii ซึ่งเป็นปรสิตก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นที่พบได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว ที่สามารถทำให้วงจรชีวิตของปรสิตชนิดนี้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วนและส่งต่อ oocyst ไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอกผ่านทางอุจจาระ จากนั้น sporozoites จะเกิดการพัฒนาตัวภายใน oocyst ใน 1-5 วัน นับจากที่ oocyst ได้สัมผัสกับออกซิเจน และอุณหภูมิความชื้นที่เหมาะสม ส่วน tachyzoites จะแพร่กระจายภายในกระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองในช่วงที่มีการ active และเพิ่มจำนวนภายในเซลล์อย่างรวดเร็วจนเซลล์เกิดความเสียหายและถูกทำลาย bradyzoites จะแบ่งตัวอย่างช้า ๆ ภายในเนื้อเยื่อ เกิดการสร้างเป็นถุงน้ำขึ้นในเนื้อเยื่อ โดยมักพบในระบบประสาท กล้ามเนื้อ และอวัยวะภายในร่างกาย

หลังจากมีการติดเชื้อ Toxoplasma gondii ในแมว หรือสัตว์พาหะอื่น ๆ เช่น สุนัขและมนุษย์ จะเกิดการสร้างถุงน้ำขึ้นภายในเนื้อเยื่อ โดยการติดเชื้อหลัก ๆ ที่เกิดในคน มักเกิดจากการรับประทานเนื้อดิบที่มีถุงน้ำของปรสิตชนิดนี้เข้าไป โดยปรสิตชนิดนี้ สามารถส่งผ่านไปยังรกของสุนัข แมว และคนได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อนี้ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ การแท้ง hydrocephalus ตับและม้ามโต เป็นต้น นอกจากการกินเนื้อดิบเข้าไปแล้ว การสัมผัสอุจจาระของแมวที่ถูกทิ้งไว้นานกว่า 24 ชั่วโมงและนำมือไปสัมผัสกับอาหารก่อนนำเข้าปาก ก็ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อนี้ในมนุษย์ได้เช่นกัน

แมวมักติดเชื้อนี้จากการกินเนื้อดิบที่มีถุงน้ำของปรสิตชนิดนี้เข้าไป oocyst จะเริ่มแพร่ไปยังอุจจาระใน 3-21 วัน โดย sporulated oocyst สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมปกติเป็นเดือนจนถึงเป็นปี และทนทานต่อสารต้านเชื้อต่าง ๆ ส่วน bradyzoites สามารถอยู่ภายในเนื้อเยื่อของสัตว์ได้นาน

อาการส่วนใหญ่ที่พบในแมวที่ได้รับการเชื้อปรสิตนี้เข้าไปมักไม่ค่อยจำเพาะต่อการเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร และมักพบ oocyst ในอุจจาระได้ยาก อาการส่วนใหญ่มักพบว่าเป็นอาการทางระบบและทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ในกรณีที่มีการแบ่งตัวของ tachyzoites เป็นจำนวนมากในการติดเชื้อระยะแรก ซึ่งพบได้ในตับ ปอด ระบบประสาท และตับอ่อน อาการที่พบได้ทั่วไปในกรณีที่มีการกระจายตัวของปรสิตชนิดนี้ทั่วร่างกาย ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ มีน้ำในช่องท้อง เยื่อเมือกเหลือง และหายใจไม่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ หากพบว่าแมวมีภาวะ anterior หรือ posterior uveitis น้ำหนักลด ชัก อ่อนแรง ท้องเสีย และตับอ่อนอักเสบ ควรนึกถึงโรคนี้เป็น 1 ในโรคที่ต้องสงสัย

บุคคลทั่วไป ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ หรือเจ้าของสัตว์สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคนี้ได้โดยการเลี่ยงการกินเนื้อดิบ เช่น เนื้อไก่ดิบ และเนื้อหมูดิบ จะส่งผลอย่างมากต่อการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค Toxoplasmosis ในมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่า การเกิดโรคนี้ในมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากการกิน sporulated oocyst ที่อยู่ในอุจจาระแมวเข้าไป ดังนั้นประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น สตรีมีครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมวที่ทิ้งค้างไว้ ควรทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำทุกวัน สวมถุงมือในการทำความสะอาดกระบะทรายทุกครั้ง และล้างมืออย่างสม่ำเสมอทั้งหลังสัมผัสอุจจาระแมวหรือดิน และก่อนรับประทานอาหาร โดยปกติแล้วมนุษย์ไม่สามารถติดโรคนี้ได้จากการสัมผัสตัวแมว ดังนั้น การตรวจหาเชื้อปรสิตนี้ในแมวที่มีสุขภาพดีจึงไม่จำเป็นเสมอไป

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในแมว

โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราในแมว มักพบว่าเป็นโรคที่เกิดในชั้นผิวหนังชั้นนอก ซึ่งเกิดจากเชื้อราชื่อ Microsporum canis พบได้ถึง 90% ของแมวที่เป็นโรคผิวหนังจากเชื้อรา โรคนี้พบได้บ่อยและติดต่อได้ง่ายผ่านทาง arthrospore จากการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง หรือการสัมผัสอุปกรณ์ที่สัมผัสสัตว์ป่วย เช่น อุปกรณ์แต่งขน กรง และแผ่นปูรอง โดย arthrospore สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน 12-24 เดือน รอยโรคที่เด่นชัดในแมว คือ ผิวหนังจะเป็นวงกลม ๆ ที่ขอบวงจะมีรอยถลอก ไม่มีขนขึ้นบริเวณโดยรอบ เมื่อนำขนหรือขูดตรวจผิวหนังมาส่องดูจะพบว่ามี spore ของเชื้อราแฝงอยู่ เมื่อเจ้าของหรือผู้ใกล้ชิดกับสัตว์สัมผัสตัวสัตว์จะทำให้เกิดการติดเชื้อราเกิดขึ้น โดยรอยโรคที่บ่งบอกการติดเชื้อราในคนจะมีลักษณะคล้ายกับแมวคือ เป็นรอยวงกลมแดง ๆ ขอบถลอก อาจเกิดขึ้นได้เป็นจุดเดียว หรือหลายจุด เมื่อสอบถามจะพบว่าแมวที่บ้านมีรอยโรคแบบนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีเชื้อราอีกตัวที่ก่อโรคจากแมวสู่คน คือ โรค sporothricosis เกิดจากเชื้อรา Sporothrix schenckii ซึ่งเป็นเชื้อราที่ก่อโรคในผิวหนังชั้นใน เชื้อนี้สามารถพบได้ในดิน แมวอาจรับเชื้อนี้มาจากการโดนข่วนโดยเล็บที่ปนเปื้อนดิน มักพบในแมวเพศผู้ที่เลี้ยงปล่อยอิสระ อาการที่พบในแมวคือเกิดแผลเปิดภายนอกและมีเลือดหรือสิ่งคัดหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก โดยมากมักพบว่าแมวเป็นพาหะนำโรคนี้สู่คนผ่านทางสิ่งคัดหลั่งที่ออกมา สัตวแพทย์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของการติดโรคนี้ สามารถตรวจวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการตรวจดูเซลล์ที่เกิดขึ้นจากบาดแผลและสิ่งคัดหลั่งจากตัวสัตว์ เนื่องจากสามารถแพร่เชื้อนี้ผ่านทางสิ่งคัดหลั่งได้ ดังนั้น สัตวแพทย์ ผู้เกี่ยวข้องกับสัตว์ และเจ้าของสัตว์ป่วยควรมีการสวมถุงมือทุกครั้งที่ทำการจับบังคับสัตว์ และควรล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งหลังการจับบังคับ

โรคแมวข่วน (cat scratch)

โรคแมวข่วน (cat scratch) เป็นโรคที่พบได้บ่อยหากเจ้าของสัตว์หรือผู้เกี่ยวข้องกับสัตว์โดนแมวข่วนหรือกัด โดยมีเชื้อก่อโรคคือ Bartonella hensale เป็นเชื้อแบคทีเรีย มักพบการแพร่ผ่านในหมัด Ctenocephalides felis ดังนั้น การแพร่เชื้อนี้ระหว่างแมวมักเกิดจากการมีหมัดไปกัดแมวอีกตัว หรือการมีขี้หมัดในเล็บแมวแล้วแมวตัวนั้นไปข่วนแมวหรือคนที่ใกล้ชิดด้วย

แบคทีเรีย Bartonella spp. เป็นแบคทีเรียแกรมลบขนาดเล็กอยู่ภายในเซลล์ แพร่ผ่านโดยมีพาหะนำโรคจำพวกสัตว์ที่ดูดเลือด ได้แก่ หมัดแมว เห็บ และ Sand fly เป็นต้น โดยทั่วไปมักพบว่าแมวเป็นแหล่งรังโรคและพาหะนำโรคมาสู่คน ในแมวมักพบเชื้อ Bartonella hensale แพร่ผ่านไปยังแมวตัวอื่นโดยผ่านหมัดแมว นอกจากการแพร่ผ่านทางหมัดแมวแล้ว การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันระหว่างแมวยังมีแนวโน้มให้เกิดการติดต่อเชื้อแบคทีเรียนี้สู่แมวอีกตัวได้ด้วย

อาการที่พบได้ในแมวที่ติดเชื้อคือ ต่อมน้ำเหลืองมีการบวมโต มีไข้ระยะสั้น ๆ ช่วง 48-96 ชั่วโมงแรกและพบอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดมา อาจพบอาการทางระบบประสาทได้เล็กน้อย เช่น ตากระตุก ตัวสั่น ชัก การตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากเกินไป และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เป็นอาการทั่วไป เช่น ซึม เบื่ออาหาร อ่อนแรง

การติดเชื้อ Bartonella spp. จากแมวสู่คน เกิดได้จากการโดนแมวข่วน โดยที่ภายในเล็บของแมวที่ข่วนนั้นมีขี้หมัดอยู่ด้วย หรืออาจเกิดจากการเกิดแผลอื่น ๆ เช่นจากการโดนแมวกัด แล้วมีขี้หมัดปนเปื้อนในแผลนั้น เมื่อคนได้รับเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไป อาการ ได้แก่ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต และมีการติดเชื้อของเยื่อบุหัวใจ (endocarditis) เป็นต้น ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับเชื้อ หากผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้รับเชื้อนี้เข้าไป อาจก่อให้เกิดอาการทางระบบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติทั่วไปสามารถหายเองได้

การป้องกันการติดโรคนี้ ทำได้โดยการหยดยากำจัดปรสิตภายนอกอย่างสม่ำเสมอให้แมวที่เลี้ยง หากจำเป็นต้องจับบังคับแมวที่หมัดเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ใส่ถุงมือเพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับแมวตัวอื่น ระวังการโดนกัดหรือข่วน และล้างมือทุกครั้งหลังจับบังคับสัตว์ หากโดนกัดหรือข่วนให้รีบล้างทำความสะอาดและทำแผลทันที

โรคที่เกิดจากสัตว์สู่คนสามารถป้องกันได้โดยสัตวแพทย์จำเป็นต้องแจ้งและแนะนำข้อควรระวังต่าง ๆ การเกิดโรค แนวโน้มความเสี่ยงที่จะเกิดโรค และวิธีการรับมือหากสัตว์มีอาการดังกล่าว บอกหรือสอนวิธีการระวังการโดนกัดหรือข่วนแก่เจ้าของสัตว์และผู้ที่เกี่ยวข้อง เจ้าของต้องรับทราบอาการหรือสภาพของสัตว์ที่เลี้ยง เข้าใจกลไกการเกิดโรค เข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเอง และแนะนำคนใกล้ตัวที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สตรีมีครรภ์ เด็ก และผุ้สูงอายุ ให้รับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากสัมผัสหรือถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยกัดหรือข่วน หากสัตวแพทย์พบว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความเป็นไปได้ที่จะติดโรคเหล่านี้ ควรให้คำแนะนำการจัดการเบื้องต้นและแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ สัตวแพทย์จำเป็นจะต้องรับทราบและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคสัตว์สู่คนเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่เจ้าของสัตว์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้ร่วมงาน ในโรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น โรคพิษสุนัขบ้า สัตวแพทย์ควรแนะนำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบตามกำหนด และแนะนำให้เจ้าของสัตว์หรือผู้ร่วมงานได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าด้วย นอกจากนี้ ควรแนะนำให้เจ้าของสัตว์ให้ป้องกันปรสิตภายในและภายนอกแก่ตัวสัตว์เลี้ยง เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อปรสิตซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคได้ในที่สุด

อ้างอิงข้อมูล

Ettinger S.J., Feldman E.C., and COTE E. 2017. Textbook of veterinary internal medicine 8th edition. Missouri: Elseviere 2242-2253.

Ettinger S.J., Feldman E.C., and COTE E. 2017. Textbook of veterinary internal medicine 8th edition. Missouri: Elseviere 2489-2497.

Ettinger S.J., Feldman E.C., and COTE E. 2017. Textbook of veterinary internal medicine 8th edition. Missouri: Elseviere 2399-2401.

Ettinger S.J., Feldman E.C., and COTE E. 2017. Textbook of veterinary internal medicine 8th edition. Missouri: Elseviere 2323-2329.

Jacomo V, Kelly PJ, Raoult D. Natural history of Bartonella infections. Clin Diag Lab Immunol. 2002;9:8– 18.

Chomel BB, Abbott RC, Kasten RW, et al. Bartonella henselae prevalence in domestic cats in California: risk factors and association between bacteremia and antibody titers. J Clin Microbiol. 1995;33:2445– 2450.

Vollaire MR, et al. Seroprevalence of Toxoplasma gondii antibodies in clinically ill cats in the United States. Am J Vet Res. 2005;66:874.

Brown CM, Conti L, Ettestad P, et al. Compendium of animal rabies prevention and control, 2011. J Am Vet Med Assoc. 2011;239(5):609–617.