Hypertrophic cardiomyopathy
ความผิดปกติของหัวใจที่พบได้มากที่สุดในแมว อันดับแรกนั่นคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ(Hypertrophic cardiomyopathy, HCM) โดย HCM พบได้บ่อยในแมวเพศผู้ อายุมาก แมวที่ไม่ใช่สายพันธุ์แท้ และแมวสายพันธุ์แท้บางพันธุ์ ได้แก่ Maine coon, Ragdoll, British shorthair, Persian, Sphynx, Bengal เป็นต้น โดยทั่วไปแมวที่เป็น HCM มักไม่แสดงอาการ แต่กลุ่มที่แสดงอาการ มักพบอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure, CHF) รองลงมาคือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (Feline Aortic Thromboembolism, FATE)
การวินิจฉัยที่แนะนำสำหรับแมวที่สงสัยว่าเป็น HCM เบื้องต้นทำได้โดยการคัดกรองจากประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจยืนยันด้วย echocardiography นอกจากนี้การตรวจ cardiac biomarker ชนิด NT-proBNP ยังบ่งชี้ถึงกล้ามเนื้อหัวใจได้ แต่อย่างไรก็ตาม แมวที่ให้ผลบวกต่อ NT-proBNP ยังแนะนำให้ตรวจด้วย echocardiography เพื่อยืนยันอีกครั้ง นอกจากนี้กรณีแมวที่อายุมาก ยังแนะนำให้ตรวจ T4 และความดันโลหิตร่วมด้วย
แมวที่เป็น HCM ที่แสดงอาการภาวะหัวใจล้มเหลว โดยทั่วไปจะรักษาโดยให้ยากลุ่ม ACE inhibitors เช่น enalapril, benazepril ร่วมกับ Diuretics เช่น furosemide เพื่อลดการคั่งของของเหลว และป้องกันภาวะน้ำท่วมปอดในระยะท้ายของการเกิดโรค นอกจากนี้แมวอาจมีปัญหา systolic dysfunction จึงอาจพิจารณาให้ยากลุ่ม positive inotropic เช่น pimobendan อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าแมวที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวส่วนใหญ่ จะมีอัตราการบีบตัวของหัวใจค่อนข้างปกติ ซึ่งขัดกับคุณสมบัติหลักของยากลุ่มนี้ที่ช่วยเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ แต่ยังมีการศึกษาในแมวที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่มีอัตราการบีบตัวของหัวใจปกติ พบว่าแมวกลุ่มที่มีการให้ยา pimobendan มีอัตราการรอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ให้ยาอย่างมีนัยสำคัญ (Reina-Doreste et al., 2014) อย่างไรก็ตามในแมวที่กล้ามเนื้อหัวใจมีการหนาตัวมาก ยังควรระมัดระวังการอุดตันของช่องทางออกของเลือด (outflow tract obstruction) ร่วมด้วย
Feline Aortic Thromboembolism
อีกหนึ่งความผิดปกติทางระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สำคัญในแมว ได้แก่ ภาวะอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือด aorta แบบเฉียบพลัน (Feline Aortic Thromboembolism, FATE) ที่ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุโน้มนำมาจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจ โดยเฉพาะ HCM ภาวะ hyperthyroidism การอักเสบติดเชื้อ หรือเนื้องอก โดยอาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ hindlimb paralysis or paresis, sudden onset extreme pain, cold and cyanotic pad/nail, stiff muscle เป็นต้น
ในการวินิจฉัย FATE จำเป็นต้องแยกกับความผิดปกติทางระบบประสาท ประวัติการเกิดอุบัติเหตุ ความผิดปกติของไขสันหลัง ความผิดปกติของหมอนรองกระดูก และที่สำคัญยังต้องมีการตรวจยืนยันการอุดตันของลิ่มเลือด เช่น ตัดเล็บให้เลยไปถึงบริเวณเนื้อเล็กน้อย แล้วสังเกตว่ามีเลือดไหลออกมาหรือไม่ หากไม่พบเลือดไหลออกมา ร่วมกับการคลำไม่พบชีพจรที่ขาหลัง แสดงว่าแมวมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้หากวินิจฉัยด้วยภาพถ่ายรังสี x-ray ในท่า DV มักพบหัวใจลักษณะ Valentine heart shape ผลการตรวจค่าเคมีในเลือดมักพบว่าค่า CPK, AST และ ALT สูงขึ้น และเมื่อทำ echocardiography จะพบ left atrial enlargement หรืออาจพบลักษณะ smoky appearance
แนวทางการรักษาแมวที่เป็น FATE ได้แก่ การจัดการกับลิ่มเลือดอุดตัน โดยให้ยากลุ่ม anticoagulant เช่น Heparin, Rivaroxaban ยากลุ่ม antiplatelet เช่น Aspirin, Clopidogrel ร่วมกับให้ supportive therapy เช่น ให้ยากลุ่ม Diruretics และ ACE inhibitors เมื่อสัตว์มีภาวะหัวใจล้มเหลว และให้ยาลดปวดหรือยาที่ทำให้สัตว์สงบ เช่น Fentanyl patch, Acepromazine, Butorphanol ให้ออกซิเจน และพิจารณาให้สารน้ำด้วยความระมัดระวัง
นอกจากจัดการกับลิ่มเลือด และให้ supportive therapy แล้ว สัตวแพทย์ยังควรพิจารณารักษา underlying cause ร่วมด้วย เนื่องจากแมวส่วนใหญ่ที่มีภาวะ FATE มักเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนหน้า หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ hypercoagulable เช่น protein losing nephropathy, protein losing gastropathy, leukemia, viral infection, hyperthyroidism หรือแมวที่มีประวัติการใช้ยาในกลุ่ม steroid เป็นต้น
Feline heartworm
โรคหัวใจลำดับสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ “โรคพยาธิหนอนหัวใจ” โรคที่สัตวแพทย์หลายคนอาจโฟกัสไปที่สุนัขเป็นหลัก อย่างไรก็ตามแม้ว่าแมวจะพบโรคนี้ได้น้อย แต่ก็ยังคงพบอุบัติการณ์อยู่ แม้ว่าแมวจะไม่ใช่ host ตามธรรมชาติของ Dirifilaria imitis แต่ตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจในระยะ L3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ ก็ยังคงสามารถติดต่อผ่านทางยุงได้เช่นเดียวกับสุนัข อีกทั้งยังมีการศึกษาที่พบว่าแมวที่ติดพยาธิหนอนหัวใจ เป็นแมวที่เลี้ยงแบบ indoor ถึง 25% อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พยาธิหนอนหัวใจในแมวจะมีความแตกต่างจากสุนัข ดังต่อไปนี้
  1. เพียง 1-10% ของ L3 ที่จะสามารถมีชีวิตรอดได้ในร่างกายแมว (ขณะที่ L3 ที่อยู่ในสุนัข มีอัตรารอดชีวิตสูงถึง 75%)
  2. อัตราการเจริญเป็นพยาธิตัวเต็มวัยต่ำ
  3. มักไม่พบ microfilaria
  4. พยาธิคงอยู่ในร่างกายได้นาน 2-4 ปี
  5. พยาธิตัวเต็มวัยจะมีขนาดตัวเล็กกว่า
แมวที่ติดพยาธิหนอนหัวใจ ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ อาจพบเพียงอาการไอ หายใจลำบาก บางรายอาจพบอาการอาเจียน อาการทางระบบประสาท หรือเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน แต่พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการได้ยินเสียง murmur ดังนั้นการฟังเสียงหัวใจจึงไม่ได้สามารถบอกได้
การวินิจฉัยการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากชุดสอบสามารถตรวจได้เฉพาะแอนติเจนของพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมีย จึงยังมีข้อจำกัดมากในแมว ที่อาจเกิดผลลบลวงหากเจอพยาธิที่ยังไม่โตเต็มวัย หรือพยาธิตัวผู้ในกระแสเลือด ส่วนการตรวจ antibody อาจให้ผลบวกลวงได้ หากแมวเคยมีการติดพยาธิมาก่อน แต่ปัจจุบันหายแล้ว ดังนั้นการวินิจฉัยพยาธิหนอนหัวใจในแมวจึงแนะนำให้ตรวจทั้ง antigen และ antibody ควบคู่กัน ส่วนการตรวจ microfilaria ในแมวอาจไม่จำเป็นตามที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนการวินิจฉัยด้วยถ่ายภาพรังสี อาจเห็นรอยโรคที่เกิดจากอักเสบที่ปอด แต่ทั้งนี้ยังไม่มีรอยโรคจำเพาะที่สามารถยืนยันการติดพยาธิหนอนหัวใจได้เช่นกัน เนื่องจากรอยโรคอาจคล้ายคลึงกับกรณีแมวที่เป็นโรคหอบหืด ส่วนการตรวจด้วย echocardiography จะใช้ช่วยวินิจฉัยได้กรณีที่มีพยาธิตัวเต็มวัยในหัวใจแล้วเท่านั้น
การรักษาในรายฉุกเฉิน แนะนำการให้ออกซิเจน ให้ยากลุ่ม bronchodilators, fast-acting corticosteroids (dexamethasone 1 มก./กก. IV) และให้สารน้ำ แต่ทั้งที้ทั้งนั้นในปัจจุบันยังไม่แนะนำการจัดการพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัยในแมว เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด pulmonary thromboembolism หรือ anaphylaxis ส่วนการรักษาในรายเรื้อรัง สามารถให้เป็น doxycycline
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดจึงควรเน้นที่การป้องกัน ด้วยยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจที่ใช้ในแมว คือ ยาในกลุ่ม macrocyclic lactone เช่นเดียวกับในสุนัข อย่างไรก็ตามขนาดยาที่ใช้ในแมวมักสูงกว่าสุนัข ดังนั้นจึงควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจในแมวเท่านั้น และที่สำคัญควรเน้นย้ำเรื่องโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจในแมวอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

เอกสารอ้างอิง :

1.Amornrat. Feline Aortic Thromboembolism. September 2010. VPAT News: Vol 48.

2. Current Feline Guidelines for the Prevention, Diagnosis, and Management of Heartworm (Dirofilaria immitis) Infection in Cats. American Heartworm Society.2014

3.Elizabeth Clyde-Druin. Feline Heartworm Disease: Separating Fact from Fiction. Today’s Veterinary Practice. March/April 2019..

4.Tantisuwat L, Puangampai P, Panpakdee P, et al, Survival time and prognosis factors in hypertrophic cardiomyopathy cats with congestive heart failure. Thai J Vet Med; 2018 (article in press).

5.Virgina L., Jonathan A. ACVIM consensus statement guidelines for the classification, diagnosis and management of cardiomyopathies in cats. Journal of Veterinary Internal Medicine; 2020 ;34:1062–1077.

6.Wendy Mandese. Feline heartworm infection. April 2014. Clinician’s brief: 69-71p.

7. Yamir Reina-Doreste. Case-control study of the effects of pimobendan on survival time in cats with hypertrophic cardiomyopathy and congestive heart failure. J Am Vet Med Assoc . 2014 Sep 1;245(5):534-9.