โรคที่เกิดจากเห็บเป็นพาหะ เกิดจากการแพร่เชื้อที่นำโดยเห็บสู่สุนัขไม่ว่าจะเป็นทางการกัดแล้วดูดเลือดหรือสุนัขบังเอิญกินเข้าไปก็ตาม เชื้อเหล่านี้ได้แก่ Ehrlichia, Anaplasma, Babesia, Rickettsia, hemotropic Mycoplasma, Francisella, Hepatozoon americanum และ Borrelia species เชื้อเหล่านี้จากเห็บสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบในร่างกายสุนัขหลายๆระบบ โดยเฉพาะระบบทางโลหิตวิทยา ซึ่งเป็นระบบที่โดนผลกระทบบ่อยและมากที่สุด ที่เรามักพบกัน ได้แก่ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และแน่นอนว่าร่างกายสัตว์สามารถแสดงความผิดปกติหลายระบบพร้อมๆกันได้ โดยอุบัติการณ์ของการเกิดโรคขึ้นกับการระบาดของเห็บชนิดที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ ดังจะได้กล่าวต่อไป เจ้าของบางท่านมักมีความเชื่อว่ามีสุนัขบางพันธุ์เท่านั้น ที่มีความไวต่อการติดโรคที่มีเห็บเป็นพาหะ แต่แท้ที่จริงแล้วสุนัขทุกๆพันธุ์สามารถมีความไวรับต่อการติดโรคได้เช่นเดียวกัน ในสหรัฐอเมริกามักเจออุบัติการณ์ของโรคที่เกิดจากเชื้อ Babesia gibsoni มากขึ้น โดยเฉพาะสุนัขที่นิยมใช้ในการต่อสู้ เช่น American Staffordshire และ American terriers ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดการติดเชื้อระหว่างการต่อสู้ และมีรายงานว่าในสุนัขพันธุ์ German shepherds และ Doberman pinschers เมื่อมีการติดเชื้อ rickettsia ขึ้นมักมีการพัฒนาของโรคไปเป็นระยะที่รุนแรงและเรื้อรังกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่นๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีเรื่องสายพันธุ์มาเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่กลับพบว่ามีหลายปัจจัยที่จัดเป็นพฤติกรรมเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ได้แก่
- พื้นที่ที่อยู่อาศัย: สุนัขที่จะมีความเสี่ยงต่อการติดเห็บ คือ สุนัขที่มีกิจกรรมชีวิตส่วนใหญ่อยู่นอกบ้าน โดยเห็บแต่ละชนิดก็จะมีอัตราการแพร่เชื้อที่ต่างกัน เช่น American dog tick ใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมง ในการแพร่เชื้อ R. rickettsii เห็บชนิด Ixodes spp. ต้องการเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงในการเกาะเพื่อแพร่เชื้อ Borrelia burgdorferi ส่วนเห็บชนิด Amblyomma maculatum ต้องถูกกินเข้าไปก่อนถึงจะสามารถแพร่เชื้อ H. americanum ได้
- การถ่ายเลือด: เมื่อสุนัขมีการรับเลือดจากสุนัขตัวอื่นที่ไม่ได้มีการตรวจเลือดก่อนบริจาค ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อได้ รวมถึงสุนัขที่ถูกตัดม้ามออก มักจะมีความไวรับต่อ M. hemocanis และ E.canis มากกว่าปกติ ส่วนสุนัขที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น รับยาที่กดภูมิคุ้มกัน อายุเยอะ หรือมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด มักมีความรุนแรงของโรคมากกว่าสุนัขกลุ่มอื่น
พยาธิสภาพการเกิดโรค
- Rickettsia: ทำให้สุนัขเกิดภาวะหลอดเลือดอักเสบ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบของชั้น endothelial ของหลอดเลือด ในหลายๆอวัยวะ รวมถึง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะโปรตีนกลอบูลินในเลือดสูงและภาวะเซลล์เม็ดเลือดต่ำ (pancytopenia)
- Babesia: ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง จากการที่เม็ดเลือดแดงแตกทั้งในและนอกหลอดเลือด และที่สำคัญโรคนี้สามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกได้ทางรก
- Mycoplasma: ถ้าสัตว์ตัวนั้นมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับการตัดม้าม ก็จะเร่งให้เกิดภาวะโลหิตจางเร็วขึ้น แต่เชื้อชนิดนี้ไม่สามารถติดต่อผ่านทางรกได้
- Francisella: การติดเชื้อเกิดที่ macrophage และแพร่กระจายไปยังอวัยวะหลายๆที่ เช่น ปอด ม้าม ตับ ต่อมน้ำเหลือง และผิวหนังที่สามารถเกิดฝีได้ (microabscess)
- Borrelia: สามารถก่อให้เกิดอาการได้กับสุนัขบางตัวที่ติดเชื้อเท่านั้น โดยสามารถเจอรอยโรคที่ข้อได้ การติดต่อผ่านทางรกสามารถเจอได้แต่ยากที่จะเจอ
- Hepatozoon: เห็บที่มีเชื้อเมื่อถูกกินเข้าไป sporozoite จะแตกออกเข้ากระแสเลือดและน้ำเหลือง ผ่านชั้น mucosaของกระเพาะอาหาร จากนั้นจะมุ่งเข้าสู่เนื้อเยื่อน้ำเหลือง ไขกระดูกและอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด ไต ก่อให้เกิดการอักเสบตามมา การติดต่อผ่านทางรกสามารถเกิดได้
อาการ ยังไม่มีการติดเชื้อจากเห็บชนิดไหนที่จะก่อให้เกิดอาการเฉพาะเจาะจงเพียงอย่างเดียว ส่วนมากสุนัขมักจะไม่แสดงอาการโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ แต่ก็สามารถเกิดได้ถ้าสุนัขมีโรคประจำตัวอื่นๆแฝงอยู่ด้วย และสุนัขก็มักจะแสดงอาการในหลายๆระบบของร่างกายพร้อมๆกัน ซึ่งถ้าคุณหมอเจอลักษณะอาการแบบนี้ ก็ควรที่จะนึกถึงโรคที่เกิดจากเห็บไว้เป็นลำดับต้นๆ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าโรคที่ติดเชื้อจากเห็บบางชนิดสามารถแสดงอาการจำเพาะบางอย่างได้ อย่างเช่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ภาวะการไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะที่มีต่อไข้แบบเป็นๆหายๆ(intermittent antibiotic-nonresponsive fever) น้ำหนักลด กล้ามเนื้อฝ่อลีบ
การวินิจฉัย อาการของโรคที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ ได้แก่ ไข้ น้ำหนักลดต่อเนื่อง จุดเลือดหรือปื้นเลือดออก หรือภาวะต่อมน้ำเหลืองโต แต่อาการสำคัญที่มักเกิดขึ้นมากที่สุด ซึ่งจะมีทริคให้คุณหมอได้สังเกต ดังนี้ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ(เจอใน Rickettsial diseases, Babesia, Francisella) ภาวะโลหิตจางประเภทมีการตอบสนองต่อไขกระดูก(Babesia, Mycoplasma) โปรตีนกลอบูลินในเลือดสูง (Ehrlichia, H. americanum) หรือภาวะเม็ดเลือดขาวสูง(เจอใน H. americanum) เมื่อทำ blood smear จะสามารถพบ inclusion ที่อยู่ภายในเซลล์ได้ แม้ว่าในบางชนิดหรือบางระยะจะพบยาก แต่เมื่อเจอจะทำให้เราสามารถวินิจัยแบบฟันธงได้เลย เช่น Ehrlichia: เจอ Morulae ภายในเม็ดเลือดขาว (E. canis, E. chaffeensis, E. ewingii, A. phagocytophilum) หรือภายในเกล็ดเลือด (A. platys) Babesia: จะเห็นขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน เป็นรูปคล้ายชมพู่ (pyriform)สองอันในB. canis หรือถ้าขนาดเล็กลงมาเป็นอันเดียวจะเป็น B. gibsoni ซึ่งจะพบในเม็ดเลือดแดง
การรักษา แม้ว่าปัจจุบันมีการใช้ยาที่หลากหลายในการรักษาโรคที่เกิดจาก rickettsia แต่ที่นิยมได้แก่ doxycycline ส่วนการรักษา Babesia canis นั้นมักใช้ imidocarb ในการรักษาเป็นยาอันดับแรก และแม้ว่าสุนัขที่ตรวจเจอ Borrelia ทางเซรัมวิทยาแต่ยังไม่แสดงอาการทางคลินิก สัตว์ตัวนั้นยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาอยู่ดี
การติดตามหลังการรักษา การติดตามการรักษาในระยะเริ่มต้นของโรคจากกลุ่ม Rickettsia Babesia Mycoplasma และ Borrelia ควรที่จะดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง นอกจากการตรวจร่างกายทั่วไปแล้ว สิ่งที่ควรทำด้วยทุกครั้ง คือ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ค่าชีวเคมี เช่น โปรตีนกลอบูลิน เอนไซม์ตับ ค่าการทำงานไต รวมถึงการวิเคราะห์ปัสสาวะร่วมด้วย และที่สำคัญค่าเกล็ดเลือดควรที่จะเริ่มสูงขึ้นภายใน 5-8 วัน แต่ถ้าไม่มีการเพิ่มขึ้นของเกล็ดเลือดคุณหมอควรหาสาเหตุอื่นแทน ซึ่งส่วนมากแล้วภายหลัง 2 อาทิตย์แรกของการรักษา และหลังจบคอร์สการรักษาคุณหมอควรนัดตรวจเลือดซ้ำ และทำอีกครั้งใน 6 เดือนถัดมา เนื่องจากในบางรายสามารถพบการติดเชื้อซ้ำได้
การป้องกัน สิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคที่เกิดจากเห็บ คือการป้องกันที่ต้นตอ ดังนั้นคุณหมอควรแนะนำให้เจ้าของเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการควบคุมเห็บแก่สุนัขให้เป็นประจำ ในประเทศไทยมีการควบคุมเห็บโดยยาหลายรูปแบบ ได้แก่ การหยดหลัง การพ่นตามตัว หรือการกิน ซึ่งส่วนมากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักมีฤทธิ์ในการป้องกันหมัดร่วมได้ด้วย และยิ่งในประเทศไทยที่มีอัตราการพบสูงของยุงที่สามารถเป็นพาหะโรคพยาธิหนอนหัวใจด้วยแล้ว การเลือกหาผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันและควบคุมได้ทั้งเห็บ หมัด พยาธิหนอนหัวใจ และพยาธิภายใน ในยาตัวเดียวถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวสัตว์ โดยสามารถทำแค่เดือนละหนึ่งครั้ง และยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาในรูปแบบเคี้ยวง่ายและมีรสเนื้อ จะส่งผลให้ไม่ต้องทำการบังคับ อันจะก่อให้เกิดความเครียดต่อทั้งตัวสัตว์และตัวเจ้าของด้วยเลย (:
ตารางแสดงตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคที่เกิดจากเห็บ