สพ.ญ.จริยา สังทอง
ปรสิตภายนอกของสุนัขที่มีรายงานในประเทศไทยแบ่งเป็นกลุ่มดังนี้ (1) เห็บ (tick) เช่น Rhipicephalus sanguineus (2) หมัด (flea) เช่น Ctenocephalides canis (3) ไร (mite) จะแบ่งเป็นไรขี้เรื้อนตามลำตัว เช่น Sarcoptes scabiei และ Demodex (Demodex cornei และ Demodex canis) และไรในหู คือ Otodectes cynotis โดยปรสิตภายนอกเหล่านี้มีผลกระทบและก่อโรคในสุนัขดังต่อไปนี้

1. โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่มีเห็บเป็นพาหะ (tick-borne bacterial diseases)

1.1) Anaplasmosis

(I) การติดต่อของเชื้อ Anaplasma มีอยู่ 2 สปีชีส์ ได้แก่ A. phagocytophilum ซึ่งมีเห็บ Ixodes เป็นพาหะ เชื้อนี้พบความชุกมากที่สุดในแถบอเมริกาตะวันออกเฉียงเหนือและอเมริกาตะวันตก และ A. platys มีเห็บ Rhipicephalus sanguineus เป็นพาหะ เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในแถบอเมริกา และพบรายงานเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
(II) อาการที่พบในราย anaplasmosis ได้แก่ มีไข้ (fever) ซึม (lethargy) ไม่กินอาหาร (anorexia) และขากะเผลก (lameness) สุนัขที่ป่วยมักตรวจพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (thrombocytopenia) อย่างไรก็ตามพบว่ามีสุนัขหลายตัวที่มีอาการปกติแม้จะมีการติดเชื้ออยู่
(III) การวินิจฉัย ทำได้หลายวิธี ได้แก่ polymerase chain reaction (PCR) การตรวจทางซีรัมวิทยา (serologic testing) การตรวจย้อมสีสเมียร์เลือด (stained blood smear) ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการแปลผล (ตามตารางที่ 1)

1.2) Ehrlichiosis

(I) การติดต่อของเชื้อ Ehrlichia หลายสปีชีส์ที่ก่อโรคในสุนัข เช่น E. canis, E. ewingii, E. chaffeensis Panola Mountain Ehrlichia และ E. muris จะพบว่ามีเห็บหลายสปีชีส์ที่สามารถเป็นพาหะของเชื้อ Ehrlichia ได้ จึงเป็นสาเหตุที่มีการติดเชื้อเป็นบริเวณกว้าง สำหรับรายงานที่มีในประเทศไทยคือ E. canis
(II) อาการที่พบในราย ehrlichiosis แบบเฉียบพลัน ได้แก่ มีไข้ ซึม ปวดกล้ามเนื้อ (myalgia) เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (thrombocytopenia) ในรายที่ติดเชื้อ E.canis อย่างรุนแรง สามารถพบภาวะเลือดกำเดาไหล (epistaxis) และภาวะจุดเลือดออกตามผิวหนัง (petechial and ecchymotic hemorrhage) ได้ ในขณะที่อาการขากะเผลกและข้ออักเสบหลายข้อ (polyarthritis) มักพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ E. ewingii บางรายมีการพัฒนาไปเป็น ehrlichiosis แบบเรื้อรัง ในรายที่ติดเชื้อ E.canis พบว่าเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดลดต่ำลง (pancytopenia) มีอาการทางระบบประสาทผิดปกติ (neurologic disease) มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด (bleeding diatheses) หรือพบความผิดติของตา (ocular abnormalities) และเสียชีวิต (fatalities) ได้
(III) การวินิจฉัย เช่นเดียวกับ anaplasmosis

2.โรคติดเชื้อโปรโตซัวที่มีเห็บเป็นพาหะ (tick-borne protozoal diseases)

2.1) Babesiosis

(I) การติดต่อของเชื้อ Babesia ที่พบได้มากคือ B. vogeli (เดิมชื่อ B. canis vogeli) จะติดต่อมาจากเห็บ R. sanguineus และ B. gibsoni โดยทั่วไปมักติดผ่านทางเลือดที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ (contaminated blood) จากการที่สุนัขต่อสู้กันหรือติดผ่านทางเห็บสกุล Haemaphysalis บ้างก็สงสัยว่าอาจมีการติดผ่านทางเห็บ R. sanguineus
(II) อาการที่พบในรายที่เป็น babesiosis ได้แก่ ไม่กินอาหาร มีไข้ และซึม สามารถพบภาวะ hemolytic anemia และเยื่อเมือกซีด ซึ่งนอกจากนั้นภาวะโรคที่พัฒนามากขึ้นมักตามมาด้วยการต้องตัดม้าม (splenectomy)
(III) การวินิจฉัย เช่นเดียวกับ anaplasmosis

2.2) Hepatozoonosis

(I) การติดต่อ สุนัขจะติดเชื้อ Hepatozoon canis ผ่านทางการกินเห็บ R. sanguineus ที่มี infective sporozoites เข้าไป
(II) อาการที่พบในรายที่เป็น hepatozoonosis ได้แก่ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ (muscle atrophy) และผอม (poor body condition) สามารถพบภาวะ neutrophilia และ periosteal bone proliferation ได้
(III) การวินิจฉัย มักใช้วิธีตรวจด้วย whole blood PCR ถึงแม้ว่าจะตรวจพบเชื้อระยะ gamont ในการตรวจด้วย blood smear ได้บ้าง แต่การตรวจด้วย histologic examination ในตัวอย่างชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อ (muscle biopsy) นั้นมีความไวมากกว่าวิธี whole blood PCR แต่ไม่ค่อยนิยมทำเนื่องจากการเก็บชิ้นเนื้อนั้นเป็นวิธีที่ค่อนข้าง invasive ในการตรวจด้วยวิธีทางซีรัมวิทยานั้นยังไม่มีแหล่งที่ใช้ในตรวจหาการติดเชื้อ Hepatozoon
ตารางที่ 1: แสดงการตรวจวินิจฉัยหาเชื้อที่มีเห็บเป็นพาหะ

3.โรคที่เกิดจากหมัดในสุนัข

เช่น โรคผิวหนังที่เกิดจากการแพ้น้ำลายหมัด (flea allergy dermatitis) สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ไม่มีสายพันธุ์หรือเพศโน้มนำ การตรวจร่างกายจะพบรอยโรค popular dermatitis บริเวณด้านข้างลำตัว (flank) หลัง (caudal body) รวมไปถึงหาง ฝีเย็บ (perineum) และท้องด้านล่าง (ventral abdomen) ในรายที่อยู่ในระยะเรื้อรังสามารถพบรอยโรค seborrhea alopecia crusting lichenification acral lick granulomas และ pyotraumatic dermatitis จะพบการอักเสบและการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือยีสต์แทรกซ้อนสามารถพบได้เป็นปกติ

4.โรคที่เกิดจากไรในสุนัข คือโรคผิวหนังที่เกิดจากไรหรือโรคเรื้อน

4.1) Sarcotic mange

ไรจะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ในรายที่เป็นเรื้อนจะมีอาการคันมาก ทำให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวอักเสบ ลอกหลุด มีน้ำเหลืองซึม ขนร่วงและมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยไรขี้เรื้อนชนิด Sarcoptes ทั่วไปมักเริ่มต้นที่หัว รอบตา หู ริมฝีปากบน ด้านล่างของอกและโคนหางของสุนัข และสุนัขที่เป็นไรขี้เรื้อนชนิดนี้สามารถติดต่อไปยังสุนัขตัวอื่นได้ง่ายจากการสัมผัสโดยตรง (direct contact) อย่างไรก็ตามพบว่าไรชนิดนี้สามารถติดไปยังคนที่สัมผัสสุนัขที่เป็นเรื้อนชนิดนี้ได้อีกด้วย แต่ไรนี้จะอาศัยอยู่ในคนเพียงชั่วคราวและเป็นสาเหตุให้ผิวหนังระคายเคือง คันและอักเสบของผิวหนังของคนได้ การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการขูดผิวหนังไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์

4.2) Canine demodectic mange

โรคนี้เกิดจากไรชนิด Demodex โดยจะพบไรขี้เรื้อนในรูขุมขน (hair follicle) ซึ่งนำไปสู่การอักเสบและการติดเชื้อของผิวหนัง เป็นสาเหตุให้ขนร่วง โดยพบได้บ่อยบริเวณรอบตาและบริเวณอื่น ๆ ของใบหน้า ใต้คอ และบนขาหน้าของสุนัข สามารถพบรอยโรคที่มีลักษณะเยิ้มเป็นหนอง (pustular form) และมีกลิ่นเหม็น สุนัขมีอาการคันอย่างมาก การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการขูดผิวหนังไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์

4.3) โรคหูอักเสบ

ที่มีสาเหตุมาจากไรในหูหรือ Ear mite ชนิด Otodectes cynotis สุนัขมีอาการคันค่อนข้างมาก หูอักเสบและอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ การวินิจฉัยทำได้โดยการนำขี้หูไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์
จะเห็นว่าโรคที่เกิดจากปรสิตภายนอกในสุนัขนั้นค่อนข้างรุนแรง ในปัจจุบันจึงแนะนำให้มีการใช้ยาที่ป้องกันปรสิตภายนอกในสุนัขอย่างแพร่หลาย ซึ่งในปัจจุบันมียาที่ใช้หลายรูปแบบสามารถเลือกให้เหมาะกับปรสิตที่พบ โดยยาที่ใช้มีทั้ง รูปแบบสเปรย์พ่น เช่น fipronil รูปแบบหยดหลัง (spot-on) เช่น imidacloprid fipronil สารผสมระหว่าง fipronil และ S-methoprene รูปแบบยากิน เช่น milbemycin oxime และยากลุ่ม isoxazolines เช่น fluralaner afoxolaner และ sarolaner เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง

Eamudomkarn C. 2017. Tick-borne pathogens and their zoonotic potential for human pathogen in Thailand.Chiang Mai Veterinary Journal. 15(3). 127-136.

Ihrke PJ. 2006. New approaches to common canine ectoparasites. World small animal veterinary association world congress proceedings.

Nitthikathkul C. et al. 2002. Ixodid tick on domestic animals in Samut Prakan Province, Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health. 33(3); 41-44.

Nitthikathkul C. et al. 2005. A study of ectoparasites of Canis lupus familiaris in Mueang district Khon Kaen Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health. 36(4); 149-151.

Starkey LA. and Little SE. 2015. Canine tick-borne disease. Today’s veterinary practice. 55-60.

อาคม สังข์วรานนท์. 2553(2010). ขี้เรื้อนของสุนัขในประเทศไทย. บทความวิชาการ. 1-26..