โรคไข้หัดแมว (Feline Panleukopenia)

โรคไข้หัดแมว หรือ โรคลำไส้อักเสบในแมว (Feline Panleukopenia) เป็นโรคที่มีความรุนแรง และติดต่อได้อย่างรวดเร็วในแมว โดยเฉพาะในแมวเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาการของโรค คือ ท้องเสีย อาเจียน แห้งน้ำ เบื่ออาหาร ซึม ปริมาณเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล และลิมโฟไซต์ต่ำ อัตราการตายสูง หากมีการติดเชื้อช่วงตั้งท้อง สามารถทำให้แท้ง, ลูกตายช่วงระหว่างคลอด หรือหลังคลอด เชื้อสามารถส่งผ่านจากแม่ไปยังลูกได้ โดยลูกที่เกิดมาจะมีสมองส่วน cerebellum เจริญเติบโตไม่เต็มที่ (Cerebella hypoplasia) ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน โรคไข้หัดแมวเกิดจาก เชื้อไวรัส FPV ซึ่งเป็นไวรัสขนาดเล็ก และมีความทนทานต่อน้ำยาฆ่าเชื้อและความร้อนสูง เชื้อแพร่ได้เร็วในเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์ไขกระดูก เนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลือง (lymphoid tissue) โรคนี้สามารถพบได้ในแมวทุกเพศทุกช่วงอายุ แต่ในแมวเด็กจะพบว่าไวต่อการเกิดโรคมากที่สุด การติดต่อสามารถติดต่อได้ทั้งการสัมผัสโดยตรงกับแมวที่เป็นโรค หรือ ทางอ้อม เช่น สัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งขับถ่ายของแมวที่มีเชื้อ (อุจจาะระ ปัสสาวะ หรืออาเจียนที่ขับออกมา)

ความรุนแรงของอาการขึ้นกับตัวสัตว์และปริมาณเชื้อในร่างกาย อัตราการเสียชีวิตประมาณ 25%-100% สามารถแบ่งเป็น (1) ชนิดไม่แสดงอาการ มักพบในแมวที่มีอายุ และมีภูมิต้านทานสูง (2) แบบแสดงอาการเล็กน้อย จะมีอาการป่วย แต่ไม่รุนแรง และ ​(3) ชนิดรุนแรง ซึ่งมักจะพบบ่อยเนื่องจากมีอาการป่วยชัดเจน และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังจากได้รับเชื้อไวรัส สัตว์ป่วยมักมีอาการ มีไข้ อุณหภูมิร่างกายสูงประมาณ 104 องศาฟาเรนไฮต์ หรือสูงกว่า ซึม อาเจียน และท้องเสียอย่างรุนแรงภายใน 24-48 ชั่วโมง แมวจะมีท่าทางเฉพาะที่เรียกว่า haunced หรือ praying ลักษณะอย่างอื่น เช่น ขนหยาบ ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น แห้งน้ำ เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำออกจากร่างกายทั้งทางการอาเจียน และขับถ่าย แมวที่ใกล้เสียชีวิต อุณหภูมิร่างกายจะต่ำลงเรื่อยๆ มักจะพบว่าแมวเสียชีวิตภายใน 5 วัน หลังจากที่แสดงอาการ ดังนั้นหากแมวที่ได้รับเชื้อแล้ว สามารถรอดชีวิตหลังจาก 5-7 วัน โอกาสหายจากโรคจะมีมากขึ้น แบบเฉียบพลัน มักพบในลูกแมว โดยไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่ซึม และอุณหภูมิต่ำลงจนเสียชีวิต ภายใน24 ชั่วโมง ส่วนในลูกสัตว์ที่ได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในท้องจะตายทันที หรือตายหลังจากที่แสดงอาการ ataxia หรือ incoordination ในลูกแมวอายุ 2-3 อาทิตย์ จะแสดงอาการกลิ้งไปมา ชักกระตุกของศีรษะ แบบควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าได้รับการดูแลอาจมีชีวิตรอดได้ อาจจะยังมีอาการป่วยแต่ไม่ป่วยแบบรุนแรง

การวินิจฉัยของโรคนี้ทำได้โดย การซักประวัติ และสังเกตอาการที่สำคัญตามที่กล่าวไว้ข้างต้น การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกัน เบื้องต้นหลายๆ โรงพยาบาล มักใช้ชุดตรวจสอบได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือใช้วิธีแยกหาชนิดของเชื้อในอุจจาระของแมวที่คาดว่ามีเชื้อ โรคนี้อัตราการตายค่อนข้างสูง แต่หากได้รับการรักษาความรุนแรงของโรคอาจลดลง หรือหายจากโรคได้ จุดประสงค์ในการรักษาหลักๆ คือ รักษาตามอาการ เน้นเรื่องรักษาอาการอาเจียนท้องเสีย และภาวะแห้งน้ำ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยให้สัตว์มีชีวิตรอด และดูแลสุขภาพให้สัตว์มีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ เพื่อสู้กับเชื้อ ดังนั้น ถ้าดูแลหรือรักษาสัตว์ภายใน 5-7วัน หลังแสดงอาการ โอกาสรอดชีวิตของสัตว์จะมีมากขึ้น และการป้องกัน คือให้ทำวัคซีนตามโปรแกรมวัคซีน เพื่อลดการติดเชื้อและความรุนแรงของโรค หรือควรมีการกักโรคแมวตัวใหม่ที่เข้ามาเลี้ยง

โรคมะเร็งเลือดขาวในแมว (Feline Leukemia)

โรคมะเร็งเลือดขาวในแมวเกิดจาก การติดเชื้อรีโทรไวรัส ซึ่งอยู่ในสกุล gammaretovirus ซึ่งป็น RNA ไวรัสที่มีความสามารถในการเปลี่ยนสารพันธุกรรมของตัวเองให้เป็นดีเอ็นเอได้เมื่อเข้าสู่เซลล์ของโฮสต์ หลังจากนั้น ดีเอ็นเอของไวรัสจะแทรกเข้าโครโมโซมของเซลล์โฮสต์ ทำให้มีการกระตุ้นเซลล์โฮสต์ให้สร้างสารที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของไวรัส และเกิดการแบ่งตัวในเซลล์โฮสต์ อัตราการติดเชื้อในแมวสูง โดยเฉพาะในแมวที่ถูกเลี้ยงรวมกันหลายตัว และเลี้ยงแบบปล่อย การติดเชื้อในลูกแมวมีอัตราการตายสูง โดยการติดต่อสามารถติดต่อได้ทั้งทางตรง และทางอ้อมกับแมวที่เป็นโรค หรือสิ่งขับถ่ายของแมวที่ขับออกมาในช่วงที่แสดงอาการของโรค แมวจะขับเชื้อออกมาผ่านทางน้ำลาย ดังนั้นพฤติกรรมของแมว เช่น การกัดกัน การเลียขน หรือตกแต่งขน ส่งผลให้แมวแพร่เชื้อต่อไป นอกจากนี้ การติดต่อยังผ่านทางรก น้ำนม และการให้เลือด เชื้อ FeLV จะไม่คงทนในสิ่งแวดล้อม ดังนั้นสามารถทำลายโดยด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ การติดเชื้อในแมวมีอยู่ 3 รูปแบบขึ้นกับภูมิคุ้มกันและความรุนแรงของโรค Progressive infection คือ หลังจากแมวได้รับเชื้อจากทาง oronasal route ไวรัสจะไปเพิ่มจำนวนที่ต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านเซลล์ monocyte และเซลล์ lymphocyte ช่วงนี้จะเรียกว่า primary viremia ไวรัสจะเข้าสู่ไขกระดูก ทำให้เกิดการติดเชื้อภายในไขกระดูก และทำให้เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดติดเชื้อไปด้วย โดยเรียกช่วงนี้ว่า secondary viremia เมื่อภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสได้ ไวรัสยังมีการเพิ่มจำนวนบริเวณเยื่อบุผิวของเยื่อเมือกและต่อมต่าง ๆ จะพบว่าแมวที่ติดเชื้อในลักษณะนี้สามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังแมวอื่นได้ โดยผ่านทางสิ่งคัดหลั่งของร่างกายได้ เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำนม ปัสสาวะ และอุจจาระ โดยมักพบว่ามีการแพร่กระจายผ่านทางน้ำลายเป็นหลัก จึงพบว่า เชื้อ FeLV นั้นมีการแพร่ระบาดในแมวที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หรือสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดต่อจากแม่แมวสู่ลูกแมว โดยการติดเชื้อแบบ progressive infection ส่งผลให้แมวมีอายุสั้นกว่าการติดเชื้อในรูปแบบอื่น อีกทั้งพบว่าแมวมีการพัฒนาของโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันกับ FeLV ได้มากกว่าลักษณะการติดเชื้อแบบอื่นๆ การติดเชื้อแบบ regressive infection คือการที่แมวมีเชื้อ แต่มีภูมิคุ้มกันที่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้ สามารถตรวจพบแอนติเจนได้แค่ระยะสั้นๆ หลังจากนั้นจะตรวจไม่พบอีก ต้องใช้วิธี PCR เพื่อตรวจสอบ Proviral DNA แมวที่มีการติดเชื้อแบบนี้ จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปให้ตัวอื่นได้ และไม่ค่อยพบการพัฒนาของโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ FeLV และถ้าหากแมวภูมิคุ้มกันตกจนไม่สามารถควบคุมเชื้อได้ อาจเปลี่ยนจาก Regressive infection เป็น progressive infection ได้ และการติดแบบ Abortive infection คือ การที่แมวติดเชื้อแต่ตรวจไม่พบทั้งแอนติเจน และ Proviral DNA จะตรวจได้แค่แอนติบอดีเท่านั้น อาการทางคลินิกของโรคนี้พบได้หลายอย่าง เช่น กดการทำงานของไขกระดูก ส่งผลให้เกิดภาวะ anemia, thrombocytopenia, neutropenia และ pancytopenia อาการอื่นๆ เช่น ปากอักเสบ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเนื้องอก โดยแมวที่ติดเชื้อ FeLV มีโอกาสพบเนื้องอกมากว่าแมวปกติ ถึง62 เท่า ซึ่งมักจะพบเนื้องอกที่เกี่ยวข้องกับ T cell lymphoma

การตรวจหาการติดเชื้อ FeLV นั้น โดยเบื้องต้นมักใช้ชุดตรวจอย่างง่ายในคลินิก โดยใช้เทคนิค ELISA เพื่อตรวจหาแอนติเจนของ FeLV ในเลือด และทำการยืนยันผลตรวจด้วยเทคนิค IFA เพื่อตรวจหาแอนติเจนของ FeLV ใน เม็ดเลือดขาว และเกล็ด แต่อย่างไรก็ตามหากตรวจไม่พบแอนติเจนของ FeLV จากเทคนิค ELISA และ IFA แต่สงสัยว่าแมวนั้นมีโอกาสได้รับเชื้อ สามารถตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไปอย่างน้อย 30 วัน หรือหากสงสัยว่าแมวติดเชื้อในลักษณะ regressive infection อาจส่งตรวจหาสารพันธุกรรม proviral DNA โดยวิธี PCR การรักษาของโรคนี้ เพื่อลดความรุนแรงของอาการ และยืดอายุขัยของแมว แต่ควรรักษาในแมวที่มีการพยากรณ์ของโรคดี เนื่องจากการรักษา persistent viremic cat ส่งผลให้เพิ่มโอกาสการแพร่เชื้อต่อไปได้ ดังนั้น ควรเน้นเรื่องการป้องกันโรคมากกว่า โดยแมวที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อควรได้รับวัคซีนทุกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแมวที่เลี้ยงแบบปล่อย หรือไม่ได้เป็นระบบปิด 100% ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับแมวตัวอื่น หรือแมวที่ถูกเลี้ยงรวมกับแมวที่มีการยืนยันว่าติดเชื้อ ควรพิจารณาตรวจการติดเชื้อ FeLV ในแมวทุกครั้งก่อนทำวัคซีน เนื่องจากการทำวัคซีนให้แก่แมวที่มีการติดเชื้ออยู่แล้วนั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

โรคเอดส์แมว(Feline immunosuppressive virus, FIV)

เชื้อ FIV จัดเป็นเชื้อในกลุ่มรีโทรไวรัส เหมือนกับเชื้อ FeLV แต่อยู่คนละสกุล โดยเชื้อ FIV อยู่ในสกุล lentivirus การติดเชื้อ FIV มักเกิดจากการกัดกันเป็นหลัก โดยพบเชื้อไวรัสปริมาณมากในน้ำลายของแมวที่มีเชื้อ ส่วนกรณีการติดต่อจากแม่ไปยังลูกแทบไม่พบเลย ในระยะแรกของการติดเชื้อมักตรวจพบเชื้อปริมาณมากในกระแสเลือด และจะพบว่าปริมาณ lymphocyte ลดลง แต่พอระยะถัดไปจะพบว่าแมวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น จึงทำให้พบปริมาณเชื้อลดลง แมวอาจไม่แสดงอาการใดๆ เป็นเวลาหลายปีได้ อาการทางคลินิกของโรคนี้จะคล้ายกับเชื้อ FeLV เช่น ปากอักเสบ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนการกดไขกระดูกในแมวโรคนี้อาจไม่ค่อยพบ แต่มักพบ neutropenia ส่วนโอกาสในการเกิดเนื้องอกจะมากกว่าแมวปกติประมาณ 5 เท่า และเป็นเนื้องอกที่เกี่ยวข้องกับ B cell lymphoma การตรวจหาการติดเชื้อ FIV นั้น นิยมตรวจหาจากแอนติบอดีในเลือดของแมว ทั้งนี้ ในชุดตรวจที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในคลินิกสัตวแพทย์นั้นสามารถตรวจหาแอนติบอดีได้จากเทคนิค ELISA อาจใช้เทคนิค western blot เพื่อยืนยันผลตรวจอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานหนึ่งพบว่าเทคนิค western blot นั้นมีความแม่นยำและความไวต่ำกว่าการใช้ชุดตรวจในการตรวจ หากตรวจไม่พบแอนติบอดีของเชื้อ FIV จากเทคนิค ELISA แต่สงสัยว่าแมวมีโอกาสได้รับเชื้อ ให้ตรวจหาแอนติบอดีซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อผ่านไปอย่างน้อย 60 วัน ข้อควรระวังในบางประเทศนั้นมีการใช้วัคซีนป้องกันเชื้อ FIV กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้นการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อ FIV นั้นอาจหมายถึงแมวนั้นเคยได้รับเชื้อ FIV หรือเคยได้รับวัคซีนป้องกัน FIV แล้ว หากต้องการวินิจฉัยแยกแมวที่เคยได้รับเชื้อ FIV ออกจากแมวที่ได้รับวัคซีน FIV นั้นต้องอาศัยการตรวจด้วยเทคนิค PCR เพื่อความแน่นอน ส่วนการรักษาจะเน้นการรักษาอาการแทรกซ้อนเพื่อไม่ให้อาการของโรครุนแรง เช่น การให้สารน้ำ ถ่ายเลือด การให้ยาปฏิชีวนะกรณีติดเชื้อแทรกซ้อน หรือให้สเตียรอยด์ กรณีแมวน้ำหนักลด หรือซูบผอม หรือให้ Zidovudine (AZT) เพื่อฆ่าไวรัส แต่ยามีราคาแพง และมีผลข้างเคียงข้อนข้างรุนแรง หรือยาเพิ่มการสร้างภูมิต้านทาน เช่น interferon แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ส่วนวัคซีนป้อนกันโรค FIV ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ ดังนั้น การป้องกันโดยการเลี้ยงดูจึงสำคัญมาก โดยป้องกันไม่ให้แมวสัมผัสกับแมวที่เป็นโรค หรือถ้าเลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัว ควรมีการตรวจและมีการกักโรคแมวตัวที่เข้ามาใหม่ก่อน 8-12อาทิตย์ และตรวจซ้ำอีกทีก่อนที่จะนำเข้าฝูง

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (feline infectious peritonitis; FIP)

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว (feline infectious peritonitis; FIP) เป็นโรคที่ความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเกิดจากไวรัสโคโรนาในแมว (feline coronavirus หรือ FCoV) ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถพบได้ในลำไส้ของแมวและก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โดยส่วนมากมักพบในแมวที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่หนาแน่น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อ FCoV ผ่านทางอุจจาระ (fecal-oral transmission) อีกทั้งยังโน้มนำทำให้เกิดความเครียดและเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย กลไกการเกิดโรคแบ่งได้เป็น 2 ทฤษฎี ได้แก่ หลังจากได้รับเชื้อ FCoV ไวรัสจะการกลายพันธุ์ด้วยตนเองไปเป็น feline infectious peritonitis virus (FIPV) และอีกทฤษฎีคือ เชื้อ FCoV มี 2 biotypes ได้แก่ type I และ type II ซึ่งทั้งเชื้อ feline enteric coronavirus (FECV) และ FIPV นั้น ล้วนมาจากทั้ง 2 biotypes โดย FECV คือ avirulent strain ของ FCoV และ FIPV คือ virulent strain ของ FCoV โดยมักพบในแมวอายุน้อย หรือแมวที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือในแมวพันธุ์แท้ เช่น Abyssinians, Australian mist, Bengals, Birmans, Bermese, British shorthairs, Himalayans, Ragdolls และ Cornish rexes ระยะฟักตัวของโรค FIP ของแมวแต่ละตัวจะแตกต่างกัน ตั้งแต่สัปดาห์ไปจนถึงเป็นปีหลังจากการได้รับเชื้อครั้งแรก อาการแรกเริ่มของโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมวจะคล้ายกับโรคอื่นๆ ในแมวบางตัวอาจเกิดแบบกะทันหัน อาการแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเปียก (effusive form) และแบบแห้ง (non-effusive form) ซึ่งทั้งสองแบบนี้ เจ้าของมักไม่ทันได้เห็นการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของแมวจนแมวแสดงอาการที่รุนแรง โดยแมวอาจแสดงอาการแบบใดแบบหนึ่ง หรือบางตัวอาจพบอาการทั้งสองรูปแบบพร้อมกันก็ได้ อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ซึม ไม่กินอาหาร มีไข้ น้ำหนักลด เหงือกซีดหรือเหลือง เป็นต้น ในรายที่เป็นแบบเปียก มักพบการสะสมของเหลวในช่องท้อง ที่เป็นผลมาจากการอักเสบของหลอดเลือด เนื่องจากการจับของ immune complex บริเวณหลอดเลือด โดยจะสังเกตเห็นจากท้องขยายใหญ่ หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว หรือการเต้นของหัวใจผิดปกติ เนื่องจากการสะสมของเหลวในช่องอกหรือในเยื่อหุ้มหัวใจ หรืออาจไม่แสดงอาการก็ได้ สำหรับแบบแห้ง มักสังเกตอาการได้ยากกว่า แต่อาจพบก้อนผิดปกติในช่องท้อง หรือ pyogranulomatous lesions ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้าง immune complexes รวมกับสารประกอบบนผนังหลอดเลือด และมีเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบเข้ามายังตำแหน่งดังกล่าว โดยอาการส่วนใหญ่จะไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร ซึม หรืออาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น การก้าวเดินไม่สัมพันธ์กัน ลูกตากรอกกลิ้งไปมา และชัก หรือความผิดปกติของดวงตา เช่น การเกิดม่านตาอักเสบ เป็นต้น

การวินิจฉัยของโรคทำได้หลายวิธี เช่น ดูค่าทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีของเลือด โดยพบภาวะ Chronic non-regenerative anemia, Leukocytosis, hyperproteinemia (hyperglobulinemia และ hypoalbuminemia) และมักตรวจ A:G ratio โดย หากค่า < 0.45 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ พบภาวะ hyperbilirubinemia และ hyperbilirubinuria ร่วมกับ liver enzymeสูงขึ้น หรือส่งตรวจของเหลวในช่องว่างร่างกาย โดยลักษณะเป็นน้ำใสไปจนถึงเป็นเมือกคล้ายไข่ขาว (clear to moderately cloudy และ viscous) ค่าความถ่วงจำเพาะ 0.17 – 1.047 ค่าโปรตีนสูงอยู่ที่ 9.0 – 9.8 g/dL จึงอาจทำให้เห็นลักษณะของการแข็งตัว หรือเห็นเป็นเส้นสายของโปรตีนสีของเหลวอาจเป็น สีเหลืองใสถึงเหลืองเข้ม และเซลล์ส่วนใหญ่ที่พบมีปริมาณปานกลาง (500–5000/μL) มักพบเซลล์ macrophages neutrophils และ lymphocytes หรืออาจทำ Rivalta test ซึ่งเป็นการทดสอบที่ทำได้ในคลินิก และค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่ไม่สามารถใช้ในการยืนยันและสรุปผลการเป็นโรคได้ ทำได้แค่วิธีการแยก exudate และ transudate ออกจากกันอย่างรวดเร็ว และยังมีอีกหลายวิธี เช่น อัลตราซาวด์หรือรังสีวินิจฉัยเพื่อดูว่ามีของเหลวในช่องว่างของร่างกาย หรือส่งตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจการติดเชื้อ active corona virus ในตัวอย่างที่เก็บมา เช่น ของเหลวที่เจาะมา หรือวิธี Histopathology ซึ่งเป็น gold standard ในการวินิจฉัยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว โดยรอยโรคที่พบได้ คือ perivascular granulomatous inflammation และ vasculitis โดยอาจทำร่วมกับ immunostaining (immunofluorescence/immunohistochemistry) เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยจากรอยโรคที่พบ โดยเป็นการตรวจแอนติเจนของ coronavirus ใน macrophage อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ไม่สามารถแยกระหว่าง virulent และ avirulent coronavirus ออกจากกันได้ แต่หากพบใน macrophages ที่อยู่ใน granulomatous lesion หรือ effusion อาจพิจารณาได้ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว

การรักษาโรคนี้ ยังไม่มีวิธีทำให้หายขาดได้ เป็นการรักษาเพื่อพยุงอาการ เช่น ยาต้านไวรัส anti-inflammatory drug เช่น prednisolone หวังผลในการลดอักเสบ และการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ายากลุ่มนี้มีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินไปของโรค ในปัจจุบันยังคงมีการพัฒนายาต่าง ๆ เพื่อรักษาโรคFIP เช่น ยา GS-441524 ซึ่งเป็น RNA transcription inhibitors อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในแง่ของประสิทธิภาพในการรักษาโรค และผลข้างเคียงที่ตามมาภายหลังจากการใช้ อีกทั้งยานี้ยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA ดังนั้นการเลือกใช้ยาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยความระมัดระวังสูง และควรมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังจากการใช้

โรคหวัดแมว

โรคหวัดแมวหรือโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เกิดได้จากเชื้อหลายชนิดโดยกลไกของแต่ละเชื้อจะแตกต่างกันไป โดยเชื้อ Feline herpes virus (FHV) จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก หรือตา และเข้าสู่เซลล์เยื่อบุ pharynx, trachea, bronchi และ bronchioles ทำให้เกิดการอักเสบ ไวรัสเข้ามาแบ่งตัวใน mononuclear cell ในกระแสเลือด และจะแพร่ไปตาม sensory nerve และแฝงตัวใน nucleus ของ neuron จากการชันสูตรพบการแฝงตัวบ่อยในเส้นประสาท trigeminal nerve สัตว์จะอยู่ในระยะแพร่เชื้อนี้นานประมาณ 1-3 สัปดาห์ จากนั้นเมื่อร่างกายของสัตว์มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ไวรัสจะหยุดการแบ่งตัวและซ่อนอยู่ในเส้นประสาท และจะแบ่งตัวและแพร่เชื้ออีกครั้งเมื่อสัตว์มีภูมิคุ้มกันต่ำลง ส่วน Feline calicivirus (FCV) มีระยะฟักตัว 2-14 วัน ขับเชื้อหลังติดเชื้อ 30 วัน แมวส่วนหนึ่งสามารถกำจัดไวรัสได้ด้วยตัวเอง แต่แมวบางตัวอาจขับเชื้อได้ตลอดชีวิต โดยเชื้อจะซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อคอหอยและต่อมทอมซิล และเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่พบมากคือ Bordetella bronchiseptica รองลงมาคือ Chlamydophila felis และ Pasteurella multocida โดย B. bronchiseptica และ P. multocida เป็นเชื้อที่พบปกติในระบบทางเดินหายใจแมว ส่วนเชื้อ Chlamydophila felis เป็นเชื้อก่อโรค โดยมีเซลล์เป้าหมายเป็นเซลล์เยื่อบุตา ระยะฟักโรคประมาณ 2-5 วัน และแพร่เชื้อนาน 60 วันหลังการติดเชื้อ อาการทางคลินิกของโรคหวัดแมวที่พบได้ คือ ซึมและเบื่ออาหาร เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่นและรส โดยอาจพบร่วมกับการมีแผลในปาก มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก น้ำตาใสหรือเป็นน้ำเหลืองปนเลือด หรือน้ำลายไหลมาก

เมื่อพิจารณาจากอาการ เราสามารถจำแนกเชื้อที่ก่อโรคได้คร่าวๆ เท่านั้น เช่น FHV-1 มักทำให้แมวมีอาการเฉียบพลันร่วมกับความผิดปกติของเยื่อบุตา ในลูกแมวระยะก่อนหย่านมอาจตาบอดหรือเสียชีวิตฉับพลันจากการติดเชื้อในกระแสเลือดและแม่แมวอาจแท้งได้แต่พบได้น้อย อาการจำเพาะของเชื้อนี้ คือการพบแผลที่กระจกตา ลักษณะเป็น dendritic ulcer หากเป็นเรื้อรังจะพบกระจกตาบวม uveitis ร่วมกับอาการทางระบบหายใจ ส่วนแมวที่ติด FCV มักพบแผลหลุมในช่องปาก และมีอาการของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ส่วนมากหากเป็นติดเชื้อที่ไม่รุนแรง แมวมักจะไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการแต่หายได้เองภายใน 7-14 วัน ส่วนน้อยมากที่พบการติดเชื้อที่รุนแรงสูง (virulent systemic FCV, VS-FCV) โดยสรุปแล้วมักพบว่าอาการหวัดแมวคือเยื่อบุตาอักเสบ และแผลในช่องปาก การรักษาของโรคนี้คือรักษาตามอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะลดการติดเชื้อแทรกซ้อน ยาลดอักเสบ ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม หรือการพ่นยา ส่วนมากจะนิยมการดม Normal saline เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับทางเดินหายใจส่วนต้น ดังนั้น การป้องกันในโรคนี้จึงสำคัญมาก โดยการทำตามโปรแกรมวัคซีนในแมว และหากเพิ่งรับแมวเข้ามาใหม่ในบ้านแนะนำให้แยกกักโรกก่อนนำเข้าฝูง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ตัวอื่นในบ้าน หรือติดเชื้อจากแมวตัวอื่นๆ ได้

References

Feline parvovirus infection and associated diseases - ScienceDirect

(PDF) Feline Panleukopenia: ABCD Guidelines on Prevention and Management (researchgate.net)

Hartmann, K. (2012). Clinical aspects of feline retroviruses: A Review. Viruses. 4: 2684-2710

Little, S., Levy, J., Hartmann, K., et al. (2020). 2020 AAFP feline retrovirus testing and management guidelines. J Feline Med Surg. 22 (1): 5-30. 

Julie C., Deborah E., et al. 2013. 2014 AAHA Weight Management Guidelines for Dogs and Cats. Journal of the American Animal Hospital Association – November 2013: 6-8.

Etienne T., Dianne A., et al. 2009. Feline Herpesvirus Infection ABCD guidelines on prevention and management. Journal of Feline Medicine and Surgery 11: 547-555.

Séverine Tasker. 2013. Update on Feline Infectious Upper Respiratory Tract Disease (URTD). World Small Animal Veterinary Association World Congress Proceeding, 2013.