โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส rabies ซึ่งเป็น single strand virus อยู่ในตระกูล Rhabdoviridae family การติดเชื้อrabies ส่งผลให้เกิดอัตราการตายสูงทั้งในคนและสัตว์ ในการรายงานขององค์กร (World Health Organization) มีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 3000-7000 ราย คนสามารถติดเชื้อโดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือถูกเลียที่บริเวณเยื่อเมือกหรือบริเวณแผลเปิด โดยเชื้อไวรัสนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ดังนั้นจึงพบได้ในสุนัขแมว หนู ค้างคาว ฯลฯ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายไหลมาก กลัวแสง กระสับกระส่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว แล้วซึมลง บางคนชัก หมดสติ หรือ ในบางกรณีจะกลายเป็น อัมพาตคล้ายกับผู้ป่วยโรค Guillain-Barreʹsyndrome ระยะฟักตัวของเชื้อนี้ใช้เวลาแตกต่างกัน โดยฟักตัวตั้งแต่5-6วัน หรือนานกว่า 6 เดือน ส่วนใหญ่มักพบใน 20-60วัน หลังจากการสัมผัสเชื้อ การป้องกันโรคนี้ทำได้โดย การป้องกันที่ดีที่สุดคือการพาสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า หากเป็นสัตว์เลี้ยงแนะนำให้ฉีดตามโปรแกรมวัคซีนแบบสากลคือ เข็มแรกตอนอายุ3เดือน และกระตุ้นอีกเข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะทำเป็นวัคซีนประจำปี ส่วนในคน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคนมี 2 วัตถุประสงค์ คือ ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคก่อนการถูกสัตว์กัด และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนทั้ง 2 แบบ มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค (ยังไม่ได้สัมผัสสัตว์หรือถูกสัตว์กัด) แนะนำในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ บุรุษไปรษณีย์ หรือผู้ที่จะเดินทางในพื้นที่ที่พบโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวนทั้งหมด 3 เข็ม และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคหลังสัมผัสหรือถูกสัตว์กัด ควรล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันทีหลังถูกสัตว์กัดและรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการฉีดวัคซีน รวมถึงการฉีด rabies immune globulin (RIG) โดยเร็วที่สุดเพื่อทำลายเชื้อที่แผล นอกจากนี้แผลสุนัขหรือแมวกัด อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด รวมทั้งเชื้อบาดทะยัก จึงควรพิจารณาการให้วัคซีนบาดทะยักและยาต้านจุลชีพด้วย โรคนี้ไม่มีการรักษา ดังนั้นวิธีการควบคุมและป้องกันโรคจึงสำคัญมาก คือ เมื่อนำสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยเฉพาะในที่สาธารณะที่มีผู้คนพลุกพล่าน จะต้องผูกล่ามสัตว์เลี้ยง ในกรณีที่มีสัตว์ป่วยหรือมีสัตว์กัดคนหรือกัดสัตว์อื่นๆ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือตำรวจในท้องที่ และกักขังเพื่อสังเกตอาการสัตว์นั้น สุนัขและแมวที่กัดคน (แม้ว่ามีอาการปกติขณะที่กัด) ต้องกักขังไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หรืออาจทำลายสัตว์นั้นทันที และส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ สุนัขและแมวที่มีอาการผิดปกติควรทำลาย และส่งตรวจทันที สุนัขและแมวที่มีราคาหรือเจ้าของไม่ต้องการทำลาย ต้องระมัดระวัง ถ้าทำได้ควรกักขังและสังเกตแสดง ถ้ามีสัตว์เสียชีวิต ควรส่งหัวสัตว์ไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยใส่ในถุงพลาสติกหนาๆ และแช่ในน้ำแข็ง (ห้ามแช่แข็ง) สุนัข แมว ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ควรทำลายทิ้งทันที หากไม่ทำลายต้องกักขังสัตว์ในกรงที่แข็งแรงนานอย่างน้อย 6 เดือน ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ และต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เดือน ก่อนอนุญาตให้เจ้าของรับกลับ ถ้าเป็นสุนัขหรือแมวที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ก็ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ 1 เข็มทันที พร้อมทั้งกักบริเวณหรือผูกล่ามอย่างน้อย 3เดือน

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการท้องเสีย

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการท้องเสีย เช่น แบคทีเรียกลุ่ม Campylobacter spp. เช่น Campylobacter jejuni และ Campylobacter coli ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบมีผลทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร โดยส่วนมากแล้วจะอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของสัตว์หลาย ๆ ชนิด โดยสุนัขและลูกสุนัขจะเป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้ การติดเชื้อจะติดผ่านทางการสัมผัสโดยตรง (direct contact) โดยในการศึกษาหนึ่ง ร้อยละ 47 จากตัวอย่างอุจจาระของสุนัขที่ถูกสุ่มมาตรวจในการศึกษา พบว่ามีแบคทีเรียชนิดนี้ โดยระยะฟักตัวของเชื้อชนิดนี้คือ 7 วัน สัตว์ที่ติดเชื้อถูกพบว่ามีไข้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง ในบางรายพบว่าถ่ายเหลวเป็นเลือด ในบางรายอาจพบอาการชักได้ การติดเชื้อมักหายเองได้ และไม่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะ เน้นการแก้เรื่องของการสูญเสียอิเล็กโทรไลท์เนื่องจากการถ่ายเหลวและอาเจียน และแก้ไขภาวะแห้งน้ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ จะใช้เป็นกลุ่ม fluoroqunolones macrolides หรือ aminoglycoside ซึ่งแล้วแต่ความรุนแรงของโรค
แบคทีเรียกลุ่ม Samonella spp. เป็นแบคทีเรียแกรมลบชนิดไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic) โดยจะเจริญเติบโตในลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่ และต่อมน้ำเหลืองมีเซนเทอริค โดยเฉพาะในของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม คนสามารถติดเชื้อได้จากการปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์ที่เป็นพาหะ (fecal transmission) ในบางรายถ้าติดเชื้อแล้ว อาจไม่แสดงอาการและมักแพร่เชื้อผ่านอุจจาระ ใช้เวลาในการแพร่เชื้อ 6 สัปดาห์ โดยการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ fluoroquinolones, beta lactams และ macrolide
Capnocytophaga canimorsus เป็นแบคทีเรียแกรมลบ ซึ่งพบได้ตามช่องปากจนถึงคอหอยของสุนัขและแมว โดยทั่วไปเชื้อจะถูกแพร่ทางการกัด กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อคือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งความรุนแรงจะต่างกันไป เช่นอาจทำให้เกิด ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ หรือถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ การรักษาหากติดเชื้อชนิดนี้ ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้ คือกลุ่ม 3rd generation cephalosporin

พยาธิหรือปรสิตภายในที่มีผลต่อร่างกายมนุษย์

พยาธิหรือปรสิตภายในที่มีผลต่อร่างกายมนุษย์ เช่น Toxocra canis ซึ่งเป็นพยาธิไส้เดือนจะติดต่อในสุนัขโดยตัวอ่อนของพยาธินั้นจะเข้าไปในกระแสเลือดแล้วไปสู่อวัยวะต่างในร่างกาย เข้าไปในลำไส้จะทำให้สุนัขเกิดอาการท้องเสีย ตัวผอม หากเข้าไปในปอดจะทำให้เกิดอาการไอ และมีอาการอื่นๆ เช่น ท้องโต ขนหยาบ คนสามารถได้รับพยาธิทางการกินไข่ของพยาธิชนิดนี้เข้าไป ซึ่งมีการปนเปื้อนมากับมูลของสุนัข ในมนุษย์บางทีอาจไม่แสดงอาการของโรค แต่ถ้าหากรุนแรงมากซึ่งขึ้นกับปริมาณของตัวพยาธิ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิ (larva) จะเคลื่อนที่ไปตามอวัยวะเป้าหมาย โดยเฉพาะตา ซึ่งสามารถทำให้การมองเห็นผิดปกติ หรือสูญเสียการมองเห็นได้
พยาธิปากขอ เช่น Ancylostoma ceylanicum, Ancylostoma braziliense และ Ancylostoma caninum โดยส่วนมากแล้วคนที่ติดเชื้อจะพบว่าอาศัยอยู่ในบริเวณชุมชนแออัด อับชื้น หรือบริเวณที่มีดินหรือปุ๋ยที่มีกรปนเปื้อนของอุจจาระของสุนัขทีมีตัวอ่อนของพยาธิปากขอชนิดนี้ โดยตัวอ่อนของพยาธิจะไชตามผิวหนังของมนุษย์ (cutaneous larval migration) ทำให้เกิดตุ่มนูนและคัน ภายใน 2-3 วันตุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นโพรงใต้ผิวหนัง หรืออีกช่องทางในการติดเข้าไปในตัวมนุษย์ที่ยังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนมาก คือการกินตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปทำให้เกิดลำไส้อักเสบได้ (eosinophilic enteritis) ซึ่งมีการพบการอักเสบขอลำไส้รูปแบบนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่ยังต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมอีก
พยาธิตัวแบน เช่น Dipylidium caninum สุนัขจะติดจากการกินไข่พยาธิชนิดนี้เข้าไปเช่น จากเนื้อสัตว์หรือซากสัตว์ที่มีไข่ รวมไปถึงตัวหมัดที่มีไข่พยาธินี้อยู่ กลุ่มคนที่มักพบการได้รับเชื้อพยาธิชนิดนี้คือกลุ่มอายุน้อย ที่กินอาหารหรือได้รับการปนเปื้อนของตัวอ่อนพยาธิตัวแบนชนิดนี้ ส่งผลให้เกิดอาการคัน และท้องเสียได้เช่นกัน ความรุนแรงของอาการนั้นหากร่างกายมีพยาธิชนิดนี้อาจไม่อันตรายมากนัก ดังนั้นควรดูแลสุนัขไม่ให้กินอะไรหรือว่าซากสัตว์ที่ตายแล้วให้กำจัดออกเพื่อป้องกันสุนัขไปเลีย กำจัดหมัดที่อยู่ตัวสุนัข
สิ่งสำคัญที่ควรจัดการในสุนัขเพื่อกำจัดพยาธิคือการถ่ายพยาธิ ถ้าในสุนัขเด็ก อายุไม่เกิน5เดือน ควรทำทุกเดือน เมื่ออายุเกิน 5เดือนแล้วสามารถปรับมาเป็นทุก3เดือนได้ หรืออาจประเมินตามความเหมาะสม และการจัดการเลี้ยงดูของเจ้าของแต่ละท่าน

ปรสิตภายนอกที่มีผลต่อร่างกายมนุษย์

ปรสิตภายนอกของสุนัขที่สามารถก่อให้เกิดความรำคาญหรือเกิดอันตรายกับคนได้ คือ เห็บ ที่มักพบในสุนัขคือ เห็บสุนัขสีน้ำตาล (brown dog tick) หรือชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Rhipicephalus sanguineus Latreille จัดว่าเป็น 3-host tick คือมีการขึ้น-ลงจากตัวโฮสต์ 3 ครั้ง ตลอดวัฎจักรชีวิต โดยวงจรชีวิตของเห็บจะมีทั้งหมด 4 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัย เห็บตัวเมียจะผสมพันธุ์กับเห็บตัวผู้บนตัวสุนัขก่อนที่จะลงพื้นแล้วไปหาที่วางไข่ เห็บสามารถวางไข่ได้ถึง 7,000 ฟอง ขึ้นกับปริมาณเลือดที่เห็บดูดกินเข้าไป โดยใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 10 วัน และปริมาณของไข่ขึ้นกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม โดยจุดที่เห็บวางไข่จะอยู่ตามจุดอับต่างๆ เช่น ซอกกรงสุนัข รอยแตกของผนัง พื้นบ้าน สนามหญ้า โดยเราสามารถสังเกตเห็นไข่ของเห็บได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ เมื่อเห็บวางไข่แล้วไข่จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ในการฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่มี 6 ขา จากนั้นตัวอ่อนก็จะกลับขึ้นไปกินเลือดบนตัวสุนัขจนตัวเปล่ง ประมาณ 2-3 วัน และทิ้งตัวลงไปลอกคราบเป็นเห็บตัวกลางวัย 8 ขา และกลับขึ้นไปกินเลือดสุนัขอีกครั้ง ก่อนที่จะลงสู่พื้นเพื่อลอกคราบกลายเป็นตัวเต็มวัย และผสมพันธุ์ตามวงจรไปเรื่อยๆ ซึ่งวงจรชีวิตของเห็บจะสมบูรณ์ได้ในเวลาประมาณ 45-50 วัน โดยอุณหภูมิเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็บเป็นอย่างมาก ความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะจะช่วยเพิ่มการแพร่พันธุ์ของตัวอ่อนมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะฟักไข่ ยิ่งความชื้นสูงก็จะยิ่งช่วยให้ไข่สมบูรณ์มากที่สุด การโดนเห็บหัดอาจไม่ได้รุนแรงหรืออันตรายในคนมาก แต่เป็นพาหะก่อโรคที่สำคัญในสุนัข เช่นพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งความรุนแรงของโรคนั้นต่างกันไป ขึ้นกับการวินิจฉัยและผลเลือด ซึ่งพิจารณาโดยสัตวแพทย์ การรักษาพยาธิเม็ดเลือดอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ในบางตัวที่มีภาวะเลือดจางรุนแรง อาจต้องพิจารณาถ่ายเลือด จากนั้นจึงค่อยกินยารักษาพยาธิเม็ดเลือด และเมื่อหายดีแล้วควรใช้ยาหรืออุปกรณ์ป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำทุกเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการป้องกันสุนัขให้ห่างไกลจากเห็บหมัดไว้ก่อน ซึ่งปัจจุบันการกำจัดเห็บหมัดมีหลายรูปแบบ ทั้งยารูปแบบกิน และ ยาหยดหลังคอ ยาบางชนิดสามารถป้องกันได้ทั้งเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ เช่น ยาในกลุ่ม combination drug อย่าง afoxolaner และ milbemycine oxime เป็นต้น สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก หรือหากบริเวณบ้านหรือรอบๆ บ้านมีเห็บหมัดเยอะอาจใช้ยากำจัดเห็บหมัดในสิ่งแวดล้อมที่มีฤทธิ์ฆ่าเห็บมาฉีดพ่นตามฝาผนัง ซอกต่างๆ เนื่องจากเห็บมักจะเข้าไปหลบและฝังอยู่ตามผนังที่มีช่องว่าง ขณะพ่นยากำจัดเห็บ ควรใส่หน้ากากป้องกันการสูดดมยาเข้าไป และควรระวังทั้งเด็ก และสัตว์เลี้ยง

อ้างอิง

Molina CP, Ogburn J, Odegboyega P. Infection by Dipylidium caninum in an infant. Arch Path Lab Med 2003;127:e157-159.

Croese J, Loukas A, Opdebeeck J, et al. Occult enteric infection by Ancylostoma caninum: a previously unrecognized zoonosis. Gastroenterology 1994;106:3-12.

Janda JM, Graves MH, Lindquist D, Probert WS. Diagnosing Capnocytophaga canimorsus infections. Emerging Infectious Diseases. 2006;12(2):340. PMC free article PubMed Google Scholar

Hermans D, Pasmans F, Messens W, Martel A, Van Immerseel F, Rasschaert G, et al. Poultry as a host for the zoonotic pathogen Campylobacter jejuni. Vector-Borne and Zoonotic Diseases. 2012;12(2):89-98. PubMed Google Scholar