ภาวะความดันสูงในแมวเป็นภาวะที่สามารถพบได้บ่อยในแมวและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแมวได้ ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนแมวที่สูงอายุ อาการที่เกิดขึ้นตามมาสามารถส่งผลร้ายแรงเนื่องจากอาจเกิดความเสียหายต่ออวัยวะที่เป็นเป้าหมาย (target organ damage) ได้แก่ ตา หัวใจ สมอง และไต ซึ่งความเสียหายในบางกรณีอาจส่งผลเสียที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น ควรมีการวัดความดันในแมวอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะความดันสูงได้ในระยะต้น ๆ ภาวะความดันสูงในแมวสามารถพบได้มากขึ้นในแมวสูงอายุ ซึ่งสามารถพบโอกาสที่จะมีโรคอื่นๆ ทางระบบแอบแฝงอยู่ได้ค่อนข้างมาก เป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันสูงได้ แต่อย่างไรก็ตาม ประมาณร้อยละ 20 ของแมวที่มีภาวะความดันสูงไม่พบว่ามีโรคแอบแฝงที่โน้มนำให้เกิดภาวะความดันสูง การที่แมวมีโรคอื่นแทรกซ้อนจนทำให้เกิดภาวะความดันสูงทุติยภูมิ ซึ่งหากเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องรักษาทั้งภาวะความดันสูงควบคู่กับการรักษาโรคที่เกิดขึ้นแทรกซ้อนด้วย
ความดันเลือด (blood pressure; BP) เป็นผลที่ได้จาก cardiac output (CO) ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate; HR), stroke volume (SV), และแรงต้านภายในหลอดเลือด (systemic vascular resistance; SVR) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า BP = HR x SV x SVR
การจำแนกชนิดภาวะความดันสูงในแมวแบ่งได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ idiopathic ซึ่งเป็นภาวะความดันสูงโดยไม่มีสาเหตุ พบได้ร้อยละ 13-20 ของแมวที่มีภาวะความดันสูงชนิดปฐมภูมิ และชนิดทุติยภูมิ secondary ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เกิดจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันสูง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะความดันสูงในแมว โดยมักพบว่าร้อยละ 74 ของแมวที่ความดันสูงมีภาวะ azotemia ร่วมด้วย ในขณะที่ประมาณร้อยละ 19-65 ของแมวที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังพบความดันสูง, hyperthyroidism มักพบว่าแมวที่เป็นโรคนี้ร้อยละ 10-23 มีภาวะความดันสูงร่วมด้วย และอาจพบภาวะ CKD ร่วมด้วยได้ ประมาณร้อยละ 25 ของแมวที่เป็น hyperthyroid พบว่ามีความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติเมื่อเริ่มวินิจฉัย แต่อาจมีความดันสูงขึ้นได้หลังจากที่ hyperthyroid ได้รับการควบคุมแล้ว การเกิดภาวะ hyperthyroid ที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะความดันสูงยังไม่ได้มีการศึกษาแน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากการที่ฮอร์โมน thyroid ส่งผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac myocytes) และอาจลด SVR ด้วย, primary hyperaldosteronism (PHA) เป็นภาวะที่มีการหลั่ง aldosterone โดยไม่ขึ้นกับ angiotensin II ที่เป็นตัวกำหนดการหลั่ง โดยพบภาวะความดันสูงได้ในแมวร้อยละ 40-60 ที่ป่วยเป็น PHA อาจเกิดได้จากการมีปริมาณโซเดียมคงค้างในร่างกายและมีการเพิ่มปริมาณซึ่งทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ CO, hyperadrenocorticism (HAC) และ phaeochromocytoma เป็นเนื้องอกที่มักไม่ค่อยพบในแมว สัมพันธ์กับการหลั่ง catecholamine ปริมาณมากภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังมี white coat hypertension ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่แมวมีภาวะตื่นตัว หรือเครียดที่สัมพันธ์กับการเกิดการกระตุ้นระบบประสาท sympathetic
ภาวะความดันสูงมักส่งผลกระทบต่ออวัยวะที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก และเพิ่มปริมาณแรงต้านภายในหลอดเลือดในระบบหัวใจและหลอดเลือด ตา สมอง ไต และกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดความเสียหายได้จากภาวะแรงดันเลือดสูง หรือที่เรียกว่า target organ damage (TOD) ในบางกรณีอาจไม่พบ TOD และในแมวบางตัวอาจพบว่าอาการของโรคที่แทรกซ้อนอาจชัดกว่าการเกิด TOD โดยภาวะความดันสูงส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ที่เป็น TOD ดังนี้ ตา  มักพบปัญหามากถึงร้อยละ 50 ในแมวที่มีภาวะความดันสูง อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ retina ในกรณีที่ความดันสูงมากกว่า 160 mmHg การเกิด hypertensive retinopathy อาจแสดงอาการออกมาในรูปแบบที่มีเลือดออก hypertensive choroidopathy สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือดที่เรตินา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการติดกันของเรตินา (retinal detachment) ซึ่งส่งผลให้เกิดการบวม แบนติดกัน และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งเรตินา การเกิด retinal detachment อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อ photoreceptor แบบไม่สามารถแก้ไขได้ อาการอื่นๆ ที่เกิดได้แก่ เลือดออกในตา (hyphaema) ซึ่งสามารนำไปสู่การเกิดต้อหินได้ (glaucoma) สมอง  ภาวะความดันสูงอาจส่งผลให้เกิด hypertensive encephalopathy ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะความดันสูงมากและต่อเนื่องจนแรงดันสามารถเอาชนะระบบ autoregulatory ในแมวมีโอกาสเกิดภาวะสมองบวม (cerebral oedema) และเส้นเลือดในสมองตีบ (arteriosclerosis) มักพบอาการทางระบบประสาทในแมวที่มีความดันสูงร้อยละ 15-46 หัวใจและหลอดเลือด การเพิ่มขึ้นของ SVR ส่งผลให้เกิดการเพิ่มแรงตึงตัวในหัวใจห้องล่างซ้ายและส่งผลให้เกิดปัญหา concentric left ventricular hypertrophy อาจได้ยินเสียงหัวใจที่ผิดปกติในแมว และอาจโน้มนำให้เกิดผลเสียร้ายแรง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ aortic dissection เกิดขึ้นได้ ไต  ภาวะความดันสูงทำให้เกิด glomerulosclerosis และ arteriosclerosis ในแมว อย่างไรก็ตามการเกิดรอยโรคดังกล่าวอาจไม่ได้มีสาเหตุจากภาวะความดันสูงเพียงอย่างเดียว การเกิดภาวะความดันสูงมีโอกาสโน้มนำให้เกิดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพยากรณ์โรคในกรณีที่แมวมีภาวะไตวายเรื้อรังและความดันโลหิตสูงร่วมกัน
การวัดความดันในแมวควรวัดในห้องหรือบรรยากาศที่สงบเงียบ ห่างจากสัตว์ตัวอื่นๆ ให้อยู่ในห้องประมาณ 5- 10 นาทีเพื่อให้ชินกับสภาพแวดล้อม ให้แมวอยู่ในเบาะรองนอนของตัวเอง หรือบริเวณที่มีกลิ่นของตัวเองอยู่ หรืออาจใช้พวก synthetic facial pheromone เพื่อช่วยลดความเครียด อาจให้เจ้าของอยู่ในห้องด้วยเพื่อลดความเครียดของแมว พยายามจับบังคับให้แมวอยู่ในสภาพที่สงบ สบาย ไม่เครียด หลีกเลี่ยงการขยับตัวขณะวัดความดัน
การรักษากรณีเกิดภาวะความดันสูงในแมวมีเป้าหมายหลักคือลดการเกิดความเสี่ยงของ TOD และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแมว ความเสี่ยงของการเกิด TOD ในแมวจะลดลงถ้าความดันโลหิตน้อยกว่า 150 mmHg การใช้ยา amlodipine และ telmisartan จัดเป็น drug of choice ที่แนะนำให้ใช้ในกรณีความดันโลหิตสูงในแมว ซึ่ง telmisartan เป็นยาในกลุ่ม angiotensin receptor blocker ซึ่งมีความสามารถในการออกฤทธิ์สูงและระยะเวลาในการออกฤทธิ์ยาวนานกว่ายาชนิดอื่นในกลุ่มเดียวกัน โดยให้ทางการกินในรูปแบบยาน้ำ สามารถดูดซึมได้ดีหากให้ในเวลาที่ท้องว่าง ปริมาณที่ให้ในแมวคือ 2 mg/kg ทุก 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ telmisartan ยังมีผลช่วยลดการเกิดโปรตีนหลุดรั่วในปัสสาวะ (proteinuria) ในแมวที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการใช้ยา amlodipine ควบคู่กับการใช้ยา telmisartan ควรเฝ้าระวังการเกิดภาวะความดันต่ำโดยการวัดความดันอย่างต่อเนื่อง สำหรับ amlodipine ออกฤทธิ์โดยตรงที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดส่งผลให้ลด SVR และ BP โดยส่งผลกระทบต่อหัวใจน้อย โดย amlodipine สามารถลดความดันโลหิตได้ 30-70 mmHg ในแมวร้อยละ 60-100 ที่ตอบสนองต่อการให้ยา amlodipine โดยปริมาณที่แนะนำอยู่ที่ 0.625 mg ต่อตัวสัตว์ หรือ 0.125 mg/kg ต่อวัน โดยสามารถเพิ่มปริมาณได้ หากพบว่าไม่มีการตอบสนองภายใน 1-3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาตัวอื่นเสริม เช่น atenolol prazosin และ spironolactone เป็นต้น
ภาวะความดันสูงในแมวคือหนึ่งในภาวะอันตรายที่สามารถพบได้เมื่อสัตว์ป่วย โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง การทำความเข้าใจถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความดันและการใช้ยาอย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญต่อการดูแลสัตว์เพื่อบรรเทาอาการและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้
เอกสารอ้างอิง
1 Acierno M. J., Brown S., Coleman A. E., Jepson R. E., Papich M., Stepien R. L., and Syme H. M., 2018. ACVIM consensus statement: Guidelines for the identification, evaluation, and management of systemic hypertension in dogs and cats. Journal of Veterinary Internal Medicine. 32: 1803-1822.
2 Elliott J., 2002. Feline hypertension: Diagnosis and management. WSAVA2002
3 International Renal Interest Society (IRIS). 2023. Treatment recommendations for cats. [online]. Available : http://www.iris-kidney.com/education/guidelines/guidelines_updates_2023.html. Accessed date : 16 February 2024,.
4 Taylor S. S., Sparkes A. H., Briscoe K., Carter J., Sala S. C., Jepson R. E., Reynolds B. S., and Scansen B. A., 2017. ISFM Consensus Guidelines on the Diagnosis and management of hypertension in Cats. Journal of Feline Medicine. 19: 288-303.