พยาธิเม็ดเลือดในสุนัข ถือเป็นโรค vector-borne diseases หรือโรคที่เกิดพาหะนำโรค เช่น เห็บ หมัด หรือเหาต่าง ๆ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น จึงเหมาะต่อการเจริญเติบโตของพาหะนำโรค ไม่ว่าจะเป็น Ehrlichia spp., Anaplasma spp., Hepatozoon spp, Babesia spp., Bartonella spp. เป็นต้น ดังนั้นโรคพยาธิเม็ดเลือดจึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยชนิดของพยาธิเม็ดเลือดที่สามารถพบได้ มีดังนี้

1. กลุ่มริคเก็ตเซีย (Rickettsial infections)

กลุ่มริคเก็ตเซียจะทำให้เกิดโรค Rickettsiosis จากเชื้อในกลุ่ม Ehrlichia spp. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น E.canis, E chaffeensis, and E.ewingii (ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Ehrlichiosis) และ Anaplasma spp. (A. phagocytophilum, A platys, A marginale) (ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า Anaplasmosis) ซึ่งถือเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดที่พบได้บ่อย โดยมีเห็บเป็นพาหะ เช่น Rhipicephalus spp., Ixodes spp., Dermacentor spp., Amblyomma spp. โดยสุนัขที่เป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดทั้งสองชนิดนี้ มักจะมีอาการไข้ เจ็บกล้ามเนื้อ เดินกะเผลก เกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) ซึ่งถือเป็นอาการที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะโลหิตจางแบบ non-regenerative anemia ภาวะหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) ยูเวียอักเสบ (uveitis) ไตอักเสบ (glomerulonephritis) พบโปรตีนในปัสสาวะ และพบระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าปกติ ส่วนภาวะ immune-mediated hemolysis สามารถพบได้บ้าง โดยสุนัขจะมีอาการทางคลินิก ได้แก่ ภาวะเลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดยาก ซึ่งในกรณีนี้ควรตรวจการแข็งตัวของเลือด (coagulation testing) เบื้องต้น ร่วมกับการตรวจซีรั่มวิทยาต่อพยาธิเม็ดเลือด (serology) ร่วมด้วย นอกจากนี้การตรวจสเมียร์เลือดจาก buffy coat หรือน้ำไขข้อ ยังสามารถพบ Ehrlichia spp. แบบ basophilic cytoplasmic inclusion bodies (morulae) ในเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซด์ และ Anaplasma spp. ในเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล และเม็ดเลือดแดง

ในกรณีที่ผลซีรัมวิทยาของทั้ง Ehrlichiosis และ Anaplasmosis ออกมาเป็นบวก ประกอบกับสุนัขมีอาการป่วยข้างต้น ควรเริ่มต้นการรักษาสุนัขด้วย doxycycline ขนาด 5 mg/kg q12h หรือ 10 mg/kg q24h เป็นเวลา 28 วัน ซึ่งโดยปกติเราจะพบว่าสุนัขมีอาการดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน

2. Babesia spp.

Babesia spp. ในสุนัขสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มที่มีขนาดใหญ่ (Large Babesia spp.) ที่มีขนาดประมาณ 3 – 7 μm และกลุ่มที่มีขนาดเล็ก (Small Babesia spp.) ที่มีขนาดประมาณ 1 - 3 μm ที่พบในเม็ดเลือดแดง (intraerythrocytic form) ซึ่งในประเทศไทยเราสามารถพบได้ทั้งสองแบบ โดยส่วนใหญ่จะพบชนิด B.canis, B.canis vogeli และ B.gibsoni

Babesiosis ทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดง จากการเหนี่ยวนำทางภูมิคุ้มกัน (immune-mediated destruction) ทั้งแบบ intra- และ extravascular และเกิดเป็นภาวะโลหิตจางแบบ hemolytic anemia นอกจากนี้พบภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) ร่วมด้วย โดยอาการทางคลินิกที่พบ ได้แก่ เยื่อเมือกซีด ม้ามโต มีไข้ ชีพจรเต้นแรง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนแรง ดีซ่าน และอาเจียนร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยโรค Babesiosis สามารถตรวจได้ด้วยการสเมียร์เลือด โดยเราจะพบพยาธิเม็ดเลือดอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแดง แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะมีความไวในการตรวจต่ำ (low sensitivity) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจได้ด้วยวิธี Coomb’s test โดยมีโอกาสพบเป็นผลบวกได้ 85% ส่วนการตรวจซีรั่มวิทยาควรมีไตเตอร์มากกว่า 1:64 จึงจะวินิจฉัยได้ว่าสุนัขได้รับเชื้อ โดยจะมีโอกาสเกิดเป็นผลลบลวง (false-negative)ได้ กรณีที่สุนัขติดเชื้อในระยะแรก ๆ (peracute หรือ acute) และที่สำคัญการตรวจแอนติเจนด้วยเทคนิคพีซีอาร์ (PCR) ยังเป็นวิธีการที่มีความไวและความจำเพาะในการตรวจหาชนิดของ Babesia สูง

กการรักษาโรค Babesiosis จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการรักษาที่จำเพาะต่อชนิดของ Babesia ปกติแล้วสุนัขป่วยมักจะตอบสนองต่อการรักษา ภายใน 24 - 72 ชั่วโมง และอาการของสุนัขควรดีขึ้นในช่วง 7 วันแรก ในกรณีที่มีค่าฮีมาโตคริตต่ำกว่า 15% ควรมีการถ่ายเลือด (blood transfusion) และการให้สารน้ำ (fluid therapy) เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ โดยยาที่นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ Imidocarb dipropionate (ขนาด 6.6 mg/kg IM และให้ซ้ำ 7–14 วัน) โดยควรให้ Atropine (0.02 mg/kg SC) ประมาณ 30 นาทีก่อนให้ Imidocarb dipropionate จะช่วยลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตของสุนัขจากผลข้างเคียงของ Imidocarb dipropionate ได้ ซึ่งถือเป็น treatment of choice ของการรักษา B.canis vogeli

ส่วนยา Diminazene aceturate (ขนาด 3.5–7 mg/kg SC หรือ IM q1–2wk), Atovaquone (ขนาด 13.3 mg/kg PO q8h) และ Azithromycin (ขนาด10 mg/kg PO q24h) รวมทั้งยาปฏิชีวนะ Clindamycin (ขนาด 25 mg/kg PO q12h) Metronidazole (ขนาด 15 mg/kg PO q12h) และ Doxycycline (ขนาด 5 mg/kg PO q12h) นั้น สามารถจำกัด B.gibsoni หลังจากรักษาประมาณ 3 เดือน ซึ่งประสิทธิผลในการรักษายังไม่เป็นที่แน่ชัด

3. Hepatozoon spp.

Hepatozoonosis เกิดจากเชื้อ Hepatozoon spp. โดยชนิดที่พบได้ในสุนัขมี 2 ชนิด ได้แก่ H. canis และ H.americanum ที่มีความใกล้เคียงกับ Babesia spp.โดยพยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้จะมีรูปร่างคล้ายแคปซูลอาศัยอยู่ภายในเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลล์หรือโมโนไซด์ สามารถตรวจพบได้จากสเมียร์เลือดหรือ buffy coat และการตรวจแอนติเจนด้วยเทคนิคพีซีอาร์ สุนัขที่ติดพยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้อาจไม่แสดงอาการ เนื่องจากมี Hepatozoon ในกระแสเลือดระดับต่ำ ไปจนถึงสุนัขแสดงอาการมีไข้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ เดินกะเผลก โลหิตจาง เป็นต้น โดยพบว่าเชื้อจะสามารถเข้าไปในไขกระดูก ต่อมน้ำเหลือง และม้าม นอกจากนี้ H.americanum ยังสามารถเข้าไปที่กล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจ

ในการตรวจวินิจฉัย มักตรวจได้จากอาการทางคลินิกร่วมกับผลทางห้องปฏิบัติการ ที่พบว่ามีเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลล์สูง (neutrophilia) อัลบูมินในเลือดต่ำ (hypoalbuminemia) ค่า alkaline phosphatase สูงขึ้น จากการตรวจสเมียร์เลือดจะพบ intracellular H. canis gamonts อยู่ภายในเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลล์หรือโมโนไซด์ นอกจากนี้การตรวจซีรัมวิทยา และการตรวจแอนติบอดีด้วยวิธีการ indirect fluorescent antibody test (IFAT) ยังสามารถพบการติดเชื้อได้ ประมาณ 16 - 22 วันหลังจากติดเชื้อ ซึ่งถือว่ามีความไวกว่าการตรวจจากสเมียร์เลือดที่ตรวจพบ gamont ที่ 28 วันหลังจากการติดเชื้อ

การรักษาทำได้โดยการให้ Imidocarb dipropionate ขนาด 5 - 6 mg/kg ทุก 14 วัน จนกว่าจะตรวจไม่พบ gamont ของเชื้อ ร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะ Doxycycline ขนาด 10 mg/kg PO q24h เป็นเวลา 21 วัน หรือให้ Trimethoprim/sulfa ขนาด 15 mg/kg PO q12h, Pyrimethamine ขนาด 0.25 mg/kg PO q24h และ Clindamycin ขนาด 10 mg/kg PO q8h โดยหลังจากที่ให้ยาแล้ว สุนัขอาจใช้เวลานานถึง 2 เดือนจึงจะมีอาการดีขึ้น กรณีการรักษาในระยะยาวอาจให้ Decoquinate ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Coccidiostat ขนาด 10 - 20 mg/kg ผสมในอาหาร ให้ทุก 12 ชั่วโมงได้นอกจากนี้อาการต่าง ๆ ยังสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีกครั้งหลังจากที่หยุดยา โดยสามารถให้การรักษาแบบพยุงอาการ เช่น การให้ยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดไข้และการอักเสบกล้ามเนื้อ เป็นต้น

4. Bartonella spp

Bartonella spp. สามารถพบได้ทั้งในสุนัข (Bartonella vinsonii subsp. Berkhoffii และ Bartonella henselae) และแมว (Bartonella henselae) โดยมีหมัด เห็บ หรือเหาเป็นพาหะ ในสุนัขมักทำให้เกิดเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (endocarditis) และลิ้นหัวใจทำงานได้ไม่ดี จนเกิดเป็นภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้ได้ยินเสียง heart murmur และตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac arrhythmias) และอาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายตามมา (congestive heart failure) นอกจากนี้ยังอาจพบ granulomatous lymphadenitis ที่สุนัขอาจมีน้ำมูก และเลือดกำเดาไหล

การวินิจฉัยสามารถตรวจได้จากเพาะเชื้อจากเลือด เนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง และลิ้นหัวใจ การตรวจแอนติเจนของเชื้อด้วยเทคนิคพีซีอาร์ โดยวิธีที่มีความไวมากคือการตรวจทางซีรัมวิทยาด้วยเทคนิค immunofluorescence antibodies สำหรับการรักษาทำได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Doxycycline, Amoxicillin, Enrofloxacin, และ Rifampin เป็นระยะเวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์

เอกสารอ้างอิง :

1. Birkenheuer A.J. 2014. Top5 Global Vector-Borne Diseases. Clinician’s Brief. August: 77-79.

2. Suksawat, F. 2016. Top 5 Tick-Borne Diseases in Southeast Asia. Clinician’s Brief. August: 25-33.

3. Littman, M.P. 2013. How, When, & Whether to Treat Subclinical Rickettsial Disease. Clinician’s Brief. July: 19-22.

4. Di Cicco, M.F. 2012. Canine Babesiosis. NAVC Clinician’s Brief. July: 31-35.

5. Baneth, G. 2004. Canine Hepatozoonosis--Two Different Diseases. World Small Animal Veterinary Association World Congress Proceedings, 2004.